มาเป็นช่างกันเถอะ

การบำรุงรักษาและการปรับแต่งจอมอนิเตอร์อย่างง่าย

บทความนี้ขอแนะนำเฉพาะท่านที่มีจอมอนิเตอร์ที่หมดระยะประกันแล้วเท่านั้น สำหรับเครื่องที่ยังอยู่ในระยะประกันผมขอแนะนำให้คุณนำไปเคลมกับร้านที่คุณซื้อมาดีกว่าครับ และสำหรับท่านที่จะนำไปใช้งานจริงผมขอแนะนำให้ทำตามขั้นตอน อย่านอกขั้นตอนนะครับ

คำนำ : จอมอนิเตอร์เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นกับอุปกรณ์ชิ้นนี้เรามักจะยกไปที่ร้านซ่อม เพราะว่าถ้าจะให้ถอดออกมาตรวจเช็ค,ซ่อมก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะจะต้องมีความรู้เฉพาะโดยตรงและต้องมีเครื่องมือซ่อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับ USER ทั่วๆ ไป ดังนั้นถ้ามีวิธีการที่ง่ายๆ และปลอดภัย ที่คุณสามารถที่จะตรวจเช็ค,ซ่อมได้ด้วยตนเองในขั้นพื้นฐาน ก่อนที่เราจะยกไปที่ร้านซ่อมก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีทีเดียว เพราะจะทำให้ประหยัดทั้งเงินและเวลาด้วย ขอเพียงคุณมีไขควงปากแฉกด้ามยาวและไขควงปากแบนสำหรับปรับจูนก็พอ

ก่อนอื่นให้คุณเตรียมเครื่องมือที่จะนำมาทำการซ่อม,ปรับแต่งซึ่งเครื่องมือที่ต้องการมีดังนี้

  1. ไขควงปากแฉกยาว
  2. ไขควงปากแบนเล็กสำหรับปรับ,จูน
  3. ไขควงปากแบนธรรมดา (ใช้ในกรณีที่ต้องงัดฝาทางด้านบนของตัวจอในบางยี่ห้อ)

 

ขั้นตอนที่ 1.

ก่อนอื่นคุณจะต้องทำการปรับสีและความละเอียดของจอภาพไว้ที่ 16 บิต 800X600 ก่อนเพราะว่าเป็นโหมดสีที่เราใช้กันทั่วไป หรือว่าคุณจะตั้งไว้ที่โหมดสีที่คุณใช้งานอยู่เป็นประจำก็ได้ หลังจากนั้นให้คุณปิดเครื่องถอดสายสัญญาณและสายไฟที่จอออก ให้คุณทำการคว่ำหน้าจอลงบนกระดาษหนาหรือบนผ้า ทำการถอดฐานตั้งจอออกและคลายน๊อตทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตรงมุมทั้งสี่ด้านของจอ สำหรับในบางยี่ห้อคุณอาจจะต้องใช้ไขควงปากแบนงัดตรงด้านบนของจอด้วย ขอแนะนำว่าให้คุณงัดบริเวณที่ห่างจากมุมจอด้านบนประมาณ 2-3 นิ้ว

ขั้นตอนที่ 2.

เมื่อคุณคลายน๊อตและถอดฝาครอบออกมาแล้ว คุณจะพบว่าฝาครอบสกปรกและถ้าเป็นจอที่ทำงานหนักหรือมีอายุการใช้งานมากก็จะมีเขม่าดำติดที่ฝาครอบมาก ตรงนี้คุณสมารถนำฝาครอบไปทำความสะอาดได้โดยการล้างและตากให้แห้ง หลังจากที่คุณถอดฝาครอบออกมาแล้วขอให้คุณทำตามขั้นตอนที่จะกล่าวต่อไปด้วยความนิ่มนวลและระมัดระวัง เพราะว่าอาจมีไฟค้างอยู่ในวงจรได้และอาจทำให้วงจรเกิดเสียหายได้ เริ่มจากให้คุณหาฟลายแบ็คให้เจอก่อน โดยส่วนมากจะอยู่ทางบริเวณมุมขวาของแผงวงจร ซึ่งในขณะที่จอคว่ำอยู่ตัวฟลายแบ็คจะอยู่ทางด้านขวามือของคุณพอดีอาจจะมีซิ๊งค์บังอยู่ ให้สังเกตุสายไฟเส้นใหญ่สีแดงที่ปลายสายจะมีจุบยางสีดำครอบอยู่ที่ตรงหลอดภาพ ตรงจุบยางคุณอย่าไปยุ่งกับมันเพราะจะมีกระแสไฟตรงประมาณ 2,500 โวลต์วิ่งอยู่ในขณะที่เครื่องทำงาน แต่ให้คุณแน่ใจว่าที่ปลายสายอีกด้านหนึ่งจะเป็นแท่งกลมๆ เหลี่ยมๆ เป็นอุปกรณ์ขิ้นใหญ่ที่สุดในแผงวงจรตัวนั้นแหละที่เค้าเรียกกันว่าฟลายแบ็ค โดยหน้าที่ของมันแล้วจะผลิตกระแสไฟสูงไปที่หลอดภาพเพื่อสร้างความสว่างและความคมชัดของภาพ ให้คุณสังเกตุบริเวณรอบๆ ตัวฟลายแบ็คคุณจะพบปุ่มสองตัวอยู่ติดกันที่ด้านใดด้านหนึ่งของตัวฟลายแบ็คนี้ โดยแท้จริงแล้วมันคือวอลลุ่มปรับค่าได้นั่นเองเมื่อพบแล้วให้สังเกตุตัวหนังสือที่ทางผู้ผลิตพิมพ์ตรงวอลลุ่มไว้ คำว่า “FOCUS” หมายถึงการปรับแต่งความคมชัดของภาพ อีกคำหนึ่งคือ “SCREEN” หมายถึงการปรับแต่งความสว่างของภาพ สรุปแล้วตอนนี้เราได้พบจุดที่จะทำการปรับแต่งอาการภาพเบลอแล้ว โดยวอลลุ่มที่มีคำกำกับไว้ว่า“FOCUS” จะเป็นการปรับแต่งความคมชัดของภาพและวอลลุ่มที่มีคำกำกับไว้ว่า “SCREEN” จะเป็นการปรับแต่งความสว่างของภาพ

ฟลายแบ็คมักจะอยู่ทางด้านขวามือเสมอในขณะที่คุณคว่ำหน้าจอ

ขั้นตอนที่ 3.

ให้คุณทำการพลิกจอขึ้นเหมือนเดิมในกรณีที่จอของคุณมีโครงสร้างที่รองแผงวงจรไว้ซึ่งจะมีเพียงบางยี่ห้อเท่านั้นช่นSOCOS,PHILLIPS,NEC,MAG,AOC เป็นต้น แต่ถ้าเป็นยี่ห้อ ADI,TOPVIEW,TVM และอีกหลายๆ ยี่ห้อที่ไม่มีโครงสร้างที่คุณจะสามารถนำจอตั้งเหมือนเดิมได้ ขอแนะนำให้คุณค่อยๆ จับตะแคงโดยที่ให้ตำแหน่งฟลายแบ็คอยู่ด้านบนหรืออยู่ในตำแหน่งที่คุณสามารถจะทำการปรับจูนได้ การที่คุณจับตะแคงนั้นในจอบางรุ่นสามารถกระทำได้โดยที่แผงวงจรทำหน้าที่เป็นตัวค้ำจอให้แต่ก็ควรกระทำอย่างถนุถนอมเพราะแผงวงจรเปราะหักได้ง่าย อย่างไรก็ดีในการตะแคงจอคุณไม่ควรให้แผงวงจรที่ปลายหลอดภาพเป็นตัวค้ำหรือเป็นตัวรับน้ำหนักของจอเป็นอันขาดเพราะจะทำให้หลอดภาพแตกทันที ขอแนะนำว่าในกรณีที่จอของคุณไม่สามารถที่จะตั้งหรือตะแคงได้ ให้คุณหาวัสดุที่ไม่ไช่เหล็กหรือสื่อนำไฟฟ้าและแข็งแรงสามารถตั้งแล้วมีความสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณสัก 5 นิ้ว และเศษผ้าแห้งสักชิ้น ค่อยๆ จับจอตะแคงและนำเศษผ้าแห้งหนาๆ รองกับวัสดุที่จะนำมาเป็นตัวค้ำจอสอดเข้าไปตรงบริเวณโคนหลอดภาพจะมีขดลวดทองแดงขดใหญ่ๆ อยู่ตรงนั้น ให้คุณนำวัสดุที่รองผ้าแล้วหนุนเข้าไปตรงที่บริเวณขดลวดนั่น ในขั้นตอนนี้ให้กระทำอย่างนิ่มนวลที่สุดเพราะอาจทำให้ขดลวดขาดได้ พึงจำไว้ว่าอย่าให้แผงวงจรที่ปลายหลอดภาพเป็นตัวรับน้ำหนักเป็นอันขาด

ขั้นตอนที่ 4.

หลังจากที่คุณจับจอตั้งหรือตะแคงแล้วให้คุณตรวจดูว่าไม่มีสิ่งที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าสัมผัสกับแผงวงจร และจอได้ถูกตั้งหรือตะแคงอยู่อย่างมั่งคงไม่ล้มเอนแน่นอนให้คุณต่อสายสัญญาณจอและสายไฟเพื่อทำการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณและเข้าสู่หน้าจอวินโดว์แล้วให้คุณเปิดไฟล์เอกสารที่มีตัวหนังสือเยอะๆ ขึ้นมาหนึ่งไฟล์ และทำการปรับเร่งวอลลุ่ม BRIGHTNESS และวอลลุ่ม CONTRAST ที่อยู่ตรงด้านหน้าจอภาพของคุณให้สุด นำไขควงปรับจูนทำการปรับจูนที่ FOCUS ก่อนโดยปรับทวนหรือตามเข็มนาฬิกาก็ได้ ครั้งแรกอาจจะหมุนยากสักหน่อยเพราะว่าทางโรงงานจะหยอดกาวไว้ คุณอาจจะใช้ทินเนอร์หยดตรงวอลลุ่มนั้นเพื่อให้กาวอ่อนตัวก็ได้ คุณจะพบว่าภาพจะเบลอและชัดขึ้นตามที่คุณปรับ ให้คุณปรับไว้ที่ ณ. ตำแหน่งที่คุณคิดว่าชัดที่สุด และปรับ SCREEN เพื่อลดความสว่างลงนิดหน่อยเพราะว่าถ้าความสว่างมากเกินไปนั่นหมายถึงภาพก็จะยิ่งเบลอมากตามไปด้วย ในขณะที่คุณปรับให้คุณสังเกตุความสว่างที่หน้าจอด้วย คุณต้องเผื่อความสว่างไว้นิดนึงในเวลาที่คุณดูหนังเพราะว่าเวลาที่ดูหนังส่วนใหญ่ภาพจะมืดลงเราต้องมาปรับให้สว่างเกือบทุกครั้ง แต่คุณต้องไม่ลืมว่ายิ่งสว่างภาพก็ยิ่งเบลอตามไปด้วย ดังนั้นให้คุณปรับไว้ในระดับที่ไม่สว่างจนเกินไป คุณอาจจะทดสอบความมืดสว่างของภาพได้โดยการปรับวอลลุ่ม CONTRAST ที่ด้านหน้าจอภาพไปด้วยก็ได้ หลังจากที่คุณทำการปรับจูนจนได้ภาพที่น่าพอใจแล้วก็ให้คุณปิดเครื่องและนำจอคว่ำลงเหมือนเดิมนำฝาครอบมาประกอบขันน๊อตให้แน่นเป็นอันเสร็จพิธี

ตรงที่เป็นจุกยางนี้ขอแนะนำว่าให้คุณอย่าไปยุ่งกับมันจะดีที่สุด

ส่วนใหญ่แล้ววอลลุ่ม FOCUS จะอยู่ด้านบนและวอลลุ่ม SCREEN จะอยู่ด้านล่าง

อนึ่ง…การปรับจูนความคมขัดหรือภาพเบลอนี้เป็นเพียงแค่การช่วยให้คุณสามารถใช้งานจอภาพนี้ไปได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอาการเดิมนี้จะกลับมาอีกเมื่อไหร่ในบางครั้งจะพบว่าเมื่อเปิดใช้ไปนานๆ ภาพจะเริ่มมีอาการเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะว่าฟลายแบ็คเริ่มเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะไม่ค่อยมีอะไหล่มาทดแทนหรือเปลี่ยนได้ เป็นเพราะการใช้งานในตรงนี้ยังมีไม่มากพอที่ทางโรงงานจะผลิตอะไหล่ออกมาขายเหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป เท่าที่พบก็จะมีในยี่ห้อ MAG,THILLIPS,SOCOS,SUMSUNG ซึ่งเฉพาะราคาเจ้าฟลายแบ็คตัวนี้ก็อยู่ที่ 850 บาทขึ้นไป ร้านอมรจะรับปลี่ยน ราคาอยที่ 1500 บาท ถ้าเพิ่มเงินอีกหน่อยก็จะได้จอใหม่แถมมีประกันอีกหนึ่งปีและถ้าเป็นแบบนี้คุณคิดว่าจะซ่อมหรือซื้อใหม่ดีล่ะครับ ?

วิธีการบำรุงรักษาจอให้อยู่กับเรานานๆ

การที่จอภาพจะมีอายุการใช้งานได้ยาวนานนั้นขึ้นอยู่กับ :

  1. ระยะเวลาการใช้งานในแต่ละครั้ง
  2. ถ้าคุณใช้งานเป็นระยะเวลานานในแต่ละครั้ง นั่นก็หมายถึงอายุการใช้งานของจอภาพก็จะลดลงตามลำดับ เอ๊ะ ! ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเปิดใช้มันซะ มิได้ครับผมหมายความว่าโดยปกติแล้วทางบริษัทฯ ผู้ผลิตเค้าจะกำหนดระยะเวลาในการรับประกันไว้แล้วประมาณ 1-2 ปีหรือมากกว่านี้ ซึ่งการกำหนดระยะเวลานี้ผมเชื่อว่าทางบริษัทฯ ผู้ผลิตได้ทำการคำนวนใว้แล้วว่าปกติเวลาของการทำงานโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 8 - 10 ชั่วโมงต่อวันและต้องมีการปิดพักเครื่องบ้าง แล้วทีนี้คุณเกิดขยันเปิดเป็นเวลานานกว่าที่เค้ากำหนดไว้ก็ตัวใครตัวมันละครับ ทีนี้คงมีบางท่านออกมาโต้แย้งว่าแล้วจอของผมซื้อมาตั้ง 5 ปี 10 ปีแล้วไม่เคยมีปัญหาทีของสมัยนี้ซื้อมาแค่ยังไม่ทันข้ามปีเลยด้วยซ้ำต้องส่งซ่อมซะแล้ว แนะนำคุณบทความนี้จนจบแล้วคุณจะเข้าใจครับ

  3. อณูภูมิของห้อง
  4. ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญนิดนึงเพราะจะเป็นการดีถ้าคุณใช้คอมพิวเตอร์กับห้องที่ติดแอร์จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เป็นอะไรที่คุณทดสอบได้ด้วยตัวเองเมื่อคุณเปิดฝาครอบจอออกมาคุณจะพบว่ามีเขม่าสีดำเต็มไปหมด นั่นก็หมายถึงคุณต้องย้ายเครื่องชุดนี้เข้าห้องแอร์แล้วล่ะ ถ้าอยากจะให้มันอยู่กับเรานานๆ

  5. มีคัตรู !
  6. นอกเหนือจากความสกปรกเช่น ฝุ่นที่จะเข้าไปเกาะแผงวงจรทำให้เครื่องคุณร้อนหนักกว่าเก่า และมด,แมลงสาปที่จะเป็นตัวทำลายวงจรให้เสียหายได้แล้ว สิ่งที่คุณต้องระวังมากที่สุดคือสนามแม่เหล็ก โดยเฉพาะเจ้าลำโพงนี่ตัวดีเลย ในช่วงแรกๆ คุณยังไม่เห็นพิษสงของมันหรอกแต่พอนานๆ ไปคุณจะพบว่าตรงมุมทั้งสี่ด้านของจอภาพหรือมุมใดมุมหนึ่งจะมีสีม่วงๆ เหลืองๆ แดงๆ เขียวๆ โผล่ออกมาเป็นสีสันให้คุณแปลกใจเล่นๆ และมันจะไม่หายไปแน่นอนจนกว่าคุณจะเอาสนามแม่เหล็กออกไปให้พ้นจากจอภาพ แต่ถ้าคุณนำมันออกไปแล้วไม่หายให้คุณลองปิดเครื่องทิ้งไว้สักชั่วโมงนึงแล้วเปิดใหม่ถ้ายังอีก คุณลองย้ายไปตั้งที่ใหม่อาจจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ผลในครั้งสุดท้ายนี้คุณไปหาอะไรที่เป็นแม่เหล็กเช่นปลายไขควงหรือไปถอดเอาลำโพงที่คุณมีอยู่นั่นแหละ ถอดมันออกมาแล้วคุณจะเห็นแม่เหล็กติดอยู่ที่ก้นตัวลำโพงเอาตรงนี้มาทำการกวนหรือวนไปวนมาตรงที่มีสีสันแปลกๆ ต้องดีขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าไม่..ผมขอแนะนำให้คุณเก็บเงินแล้วซื้อจอใหม่ซะเพราะว่ามันสายเกินแก้แล้ว แต่ถ้าคุณเสียดายสติ๊กเกอร์รูปภาพที่ติดอยู่กับจอสุดที่รักของคุณ และยังไม่อยากจะซื้อจอใหม่ล่ะก้อ ขอแนะนำให้คุณซื้อหลอดภาพมาเปลี่ยนใหม่ ราคาก็ประมาณพันกว่าบาทต้นๆ สำหรับหลอดใหม่ และร้อยกว่าบาทถึงห้าหกร้อยบาทก็มีสำหรับหลอดภาพมือสอง อ้อ..ยังไม่รวมค่าบริการนะครับแต่ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนเองผมขอแนะนำว่าถ้าคุณไม่มีความรู้ทางด้านนี้โดยเฉพาะแล้ว อย่าลองดีกว่าครับ เพราะว่ามีกระแสไฟฟ้า 2,500 โวลท์กำลังรอคุณอยู่ แต่สิ่งที่ผมอยากจะให้คุณทำก็คือการทำความสะอาดครับ ปีละสองครั้งก็จะดี ถ้าคุณถอดฝาครอบออกมาปัดฝุ่นบ้าง แต่ต้องเป็นเครื่องที่หมดระยะประกันแล้วนะ ถ้ายังไม่หมดระยะประกันแล้วคุณไปถอดถ้าเกิดเสียข้นมา คุณหมดสิทธิ์ส่งเคลมแน่นอนครับ

  7. ความสว่าง

คงไม่มีท่านใดที่เร่งวอลลุ่ม BRIGHTNESS และวอลลุ่ม CONTRAST จนภาพสว่างแสบตา ดังนั้นผมขอแนะนำให้คุณปรับไว้ที่ระดับแสงที่คุณคิดว่าดูแล้วสบายตา เย็นตา ไม่จ้าจนเกินไป แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับท่านที่ใช้แผ่นกรองแสงเพราะว่าเจ้าแผ่นนี้จะทำให้คุณต้องเร่งวอลลุ่ม BRIGHTNESS และวอลลุ่ม CONTRAST มากกว่าปกติ ทำให้ฟลายแบ็คต้องทำงานหนักมากขึ้นรังสีก็มากขึ้นด้วยตามลำดับ แบบว่ามันได้อย่างเสียอย่างน่ะ ถ้าคุณอยากจะสบายตามากกว่าที่ทางบริษัทฯ ผู้ผลิตจอภาพเค้ากำหนดไว้ คุณก็ต้องไปซื้อแผ่นกรองแสงมาใส่และก็เร่งความสว่างมากขึ้นกว่าเก่าหน่อยนึงเพื่อที่ภาพจะได้ไม่มืดจนเกินไป ในขณะเดียวกันคุณก็กำลังปั่นทอนอายุการใช้งานของจอภาพคุณลงไปด้วย ดูๆ แล้วก็น่าสนุกดีนะคุณว่ามั้ย ?

คุยเฟื่องเรื่องจอ

ตรงนี้เป็นเรื่องของคุณภาพในแต่ละยี่ห้อ จะไม่ขอเน้นยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง แต่จะให้คุณคิดกันเอาเอง เมื่อก่อนในสมัยที่เครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ยังคงมีใช้กันแค่สำหรับนักธุระกิจ,งานออกแบบและตามสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งราคาก็แพง สรุปง่ายๆ ก็คือยังมีคนใช้มันน้อยว่างั้นเถอะ ดังนั้นการที่ผู้ผลิตจะผลิตจะสร้างออกมาในแต่ละชิ้นแต่ละเครื่องนั้นต้องพิถีพิถัน มีการทดสอบกันอย่างละเอียดรอบคอบกันจริงๆ กว่าจะได้ออกมาขายกันในแต่ละครั้ง ในสมัยนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้วครับ มันมีคนใช้มากกว่าเก่า เรียกว่าขายดิบขายดีกันจนผลิตแทบไม่ทัน จะให้มานั่งทดสอบแบบละเอียดเหมือนแต่ก่อนคงไม่ไหวแน่ ทั้งคู่แข่งก็มาก ออเด้อร์สั่งของก็เข้าคิวรอกันพอๆ กับโทรศัพท์ PCT นั่นแหละ รวมทั้งยุค IMF ครอบงำซ้ำเติมเข้าไปอีก อุปกรณ์อิเลคโทรนิคชิ้นนี้เคยสั่งนำเข้ามาก็ยกเลิก สั่งมันในประเทศนี่แหละ อ้ายที่เคยซื้อชิ้นละ ห้าบาทสิบบาท มาประกอบเครื่องขายก็เอาแถวๆ บ้านหม้อกิโลละ สามสิบห้าบาท ฟลายแบ็คที่เคยนำเข้าจากไต้หวัน ก็สั่งให้พี่ไทยเราทำเองซะต้นทุนถูกดีเงินทองก็ไม่ไหลออกนอกประเทศ คนงานที่เคยมีสองสามร้อยคนก็ลดๆ ลงไปบ้างเพราะว่ามันมากเกินความจำเป็น ของก็ขายไม่ค่อยได้จ้างไว้มากก็ไม่ดี ทีนี้เจ้าคนงานที่หลืออยู่ก็ได้ทำ OT สนุกสิ ข่มตาหลับขับตานอน ใส่ผิดใส่ถูก โรงงานที่ใช้เครื่องจักรก็ลดๆ ในเรื่องตะกั่วบัดกรีหน่อย หยอดน้อยๆ ตะกั่วมันแพง ที่ผมกล่าวมานี่ไม่ได้เกินเลยครับ เพราะว่าผมเป็นช่างซ่อมมากว่า 5 ปี ย่อมมีอะไรดีๆ มาฝากคุณแน่นอน แล้วก้อไม่ใช่ของพี่ไทยไม่ดีนะครับ แต่ผมใคร่อยากจะขอยกตัวอย่างจอมอนิเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง TOPVIEW รุ่น PR - 1531DSL ครับ เมื่อปีที่แล้ว (ปี1998) ราคาของมันอยู่ที่ สามพันกว่าบาท เป็นระบบดิจิตอลใครไม่ซื้อก็โง่ล่ะ ราคาถูกแบบนี้ รับประกันอีกหนึ่งปี ปรากฏว่าพอผ่านไปครบหนึ่งปีพอหมดประกัน ฟลายแบ็คเสียครับ ! แล้วก็ที่ดีไปกว่านั้นก็คือไม่มีอะไหล่อย่างที่บอกกัน ลองคว่ำจอภาพดูตรงด้านหลังฝาครอบชัดๆ ซิ ผลิตโดยพี่ไทยครับ ไม่บอกด้วยว่าโรงงานอยู่ที่ใหนจะได้ตามไปขอซื้ออะไหล่ พอดีมีสติ๊กเกอร์รูปน้องเมียแปะไว้แล้วมันแกะไม่ออกน่ะ เสียดายแย่เลยครับท่าน ผมลองประเมินลูกค้าที่ยกจอยี่ห้อนี้มาที่ร้านเพื่อซ่อม หนึ่งร้อยตัวจะมีซักสามสี่ตัวที่รอดชีวิตมาได้อย่างน่าใจหายครับ และคุณจะไม่แปลกใจเลยถ้าพบว่าจอภาพยี่ห้อ SOCOS รุ่น MA-1450 VA ใช้ๆ ไปซักปีสองปี แล้วภาพจะเริ่มเบลอ ยิ่งเปิดไปนานๆ ตัวหนังสือจะตัวหนาขึ้นเลยครับ อ่านแล้วเหมือนชวนให้เอาฆ้อนมาทุบจอจริงๆ เลย เอาอีกยี่ห้อที่กำลังฮิตๆ กัน MAG ครับ ถ้าคุณเป็นแฟนยี่ห้อนี้ย่อมรู้ดี ผมไม่บอกล่ะ พูดมากเดียวบริษัทฯ ผู้ผลิตมาเปิดอ่านเจอเข้าผมก็เสียวๆ อยู่นะ แต่ก็อย่างที่บอกไว้ว่าผมเป็นช่างและอาการนี้เป็นอาการที่เจอบ่อยมาก เป็นอาการที่เจ้าของเครื่องต้องทำใจเลยล่ะ แต่ผมดูๆ แล้วไม่ได้เสียดายจอนะ แต่งานที่ทำค้างไว้นี่ซิ และก็รูปภาพสติ๊กเกอร์ที่แปะไว้อีก อันนี้สำคัญเพราะว่าติดง่ายแกะยาก สุดท้ายแล้วผมประทับใจจอภาพรุ่นเก่าๆ ครับซื้อมาตั้งแต่ปี 1992 ตั้งแต่มีเครื่องที่ใชีซีพียูรุ่น 386 จนปัจุบัน ผมใช้เซเลอลอนมันก็ยังมีสุขภาพที่ดีครับ ไม่เคยเข้าร้านซ่อมเหมือนเครื่องที่ผลิตในปัจุบัน แต่พูดๆ ไปก็น่าเห็นใจทางผู้ผลิตนะ ถ้าเค้าผลิตออกมาให้มันมีอายุการใช้งานที่เรียกว่าอยู่กันได้แบบตลอดชีวิตแล้ว เค้าคงขายสินค้านี้ให้คุณได้เพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตนี้แน่ ของแบบนี้มันต้องมีการอัพเกรดครับ คนที่มีจอ 14 นิ้วแล้วก็อยากได้ 15 นิ้ว คนที่มี 15 นิ้ว ก็อยากมี 17 นิ้ว ตามลำดับ ทางผู้ผลิตเค้าเลยกะว่าภายในปีสองปีคุณน่าจะอัพเกรดบ้าง เพื่อความสดวกสบายและความทันสมัยของของคุณงัยล่ะครับ

บทความที่ปรากฏอยู่ในหน้านี้ เป็นวิทยาทานให้กับทุกท่านที่สนใจในงานซ่อมจอมอนิเตอร์ มิได้เป็นการหมิ่นประมาทหรือจงใจทำให้ผู้ใดเสียหาย หากพลาดพลั้งประการใดต้องขออภัยมาในณ. ที่นี้ด้วย และขอสงวนสิทธิเฉพาะผู้ที่แวะเข้ามาชมและนำไปใช้งานเท่านั้น ไม่อนุญาติให้นำไปเผยแพร่ที่อื่นก่อนได้รับอนุญาติจากผู้เขียนโดยตรง หากท่านต้องการติชมหรือสนใจในอาการเสียของจอมอนิเตอร์เพิ่มเติม กรุณาติดต่อช่างได้โดยตรง 01-297-6757 (คุณพาโชค) หรือที่.. Phachok@hotmail.com 1