return to
dhamma tips

4Z
r's Dhamma Tips
  สมาธิร้อยสาย
 
 

Last updated
11-06-1999


สมาธิร้อยสาย

บันทึกการฝึกสมาธิของ ฟ.ส.ก.
สำหรับแจกเป็นธรรมทาน ให้จัดทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต สำหรับกรณีอื่น ขอสงวนลิขสิทธิ์


วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2541

สมาธิร้อยสาย

บันทึกการฝึกสมาธินี้ รวบรวมวิธีฝึกสมาธิและลูกเล่นต่างๆที่ใช้ เพื่อมุ่งเตือนตนเองให้หาทางกำหนดจิตให้รวมตัวและรับมือกับปัญหารอบด้านซึ่งคอยขัดขวางอารมณ์สมาธิ เนื้อหาเป็นความรู้ที่ได้จากการฝึก เป็นการนำประสบการณ์จริงๆมาบันทึกไว้ พร้อมทั้งนำความเข้าใจที่ได้จากการอ่านมาตีความและดัดแปลงสู่การฝึกสมาธิ ที่ตั้งชื่อว่า ร้อยสาย เพราะไม่ยึดติดกับวิธีใดวิธีหนึ่ง หากแต่ต้องรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ในแต่ละขณะจิต จากร้อยสายกลายเป็นสายเดียว


วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2541

ฝึกสมาธิแบบง่ายๆสบายๆ

สมาธิมีหลายแบบหลายวิธี มีทั้งวิธีบริกรรมภาวนา บริกรรมนิมิต หรือจับอารมณ์ความรู้สึก บางขณะอาจสามารถนำหลายๆวิธีมาใช้พร้อมกันได้ แต่บางขณะยิ่งฝืนฝึกผสมหลายๆวิธี ยิ่งทำให้เกิดความสับสน อารมณ์ไม่สงบมากขึ้น ผู้ฝึกต้องฉลาดใช้วิธีที่ตนฝึกได้ง่ายและไม่มีความรู้สึกว่าตนต้องทรมาณ ยิ่งคนที่เพิ่งหัดใหม่แล้วยิ่งต้องหาจังหวะเวลาและสถานที่ที่เหมาะกับการฝึกเป็นพิเศษ เพื่อให้กายสบายก่อนแล้วจิตจึงจะสงบเป็นสมาธิได้ง่าย แต่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าสบายแบบปล่อยตัวปล่อยใจจนเกินไป

สมาธิที่แนะนำเผยแพร่ที่วัดสะแก จังหวัดอยุธยานั้นง่ายมาก แค่เริ่มต้นจากสวดระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกำพระเครื่องไว้ในมือ หลับตาลงแล้วนึกบริกรรมภาวนาไว้ในใจว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ ธัมมังสรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเพ่งอะไรอีก ไม่ต้องสนใจกับลมหายใจหรืออย่างอื่นอีกเลย ภาวนาเช่นนี้ต่อไปแล้วเมื่อจิตสงบจะรู้เองว่าขั้นต่อไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปฝึกที่วัดด้วย ขอให้กลับมาฝึกต่อไปที่บ้าน แล้วหลวงปู่ท่านจะมาสอนให้ถึงบ้านเอง

หลวงปู่ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะหลวงปู่ดู่ แต่เป็นหลวงปู่ทุกๆองค์ ขอให้พยายามฝึกสมาธิเป็นประจำ เริ่มต้นอย่างง่ายๆสบายๆ


ฝึกหรือไม่ฝึกสมาธิ ใครเสียเวลามากกว่ากัน

ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆว่า ยังไม่มีเวลามาฝึกสมาธิหรอก ตอนนี้ต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัวก่อน วันๆยังวุ่นวายยุ่งมาก ขอไว้ฝึกกันทีหลังเถอะ

จุดประสงค์อย่างหนึ่งของสมาธิ คือการฝึกให้มีสติ สามารถรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ แต่สติของเรานั้นมักจะมีเป็นวูบๆ เดี๋ยวมีสติ เดี๋ยวกลับคิดเพลิน คิดถึงอดีต ฝันถึงอนาคต ฝันกลางวันกันอยู่เสมอ เวลาที่เสียไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์นั้นมีมากเหลือเกิน ส่วนเวลาที่มีสติกลับเป็นเพียงส่วนน้อยนิด ถ้าคนเราหันมาฝึกสมาธิเพื่อให้มีสติกันมากขึ้นคงจะดีไม่ใช่น้อย สติช่วยให้เราใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากขึ้นและเกิดประโยชน์มากขึ้น และวิธีฝึกสมาธิยังง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย

ส่วนคนที่มีสติดีอยู่แล้วนั้นต้องหาทางฝึกสติของตนให้ดีขึ้นอีก พยายามให้ตนสามารถดำรงสติได้ทุกขณะในทุกสถานการณ์ แม้ในยามคับขันหรือมีปัญหาเฉพาะหน้าก็ตาม ยิ่งกว่านั้นสติต้องละเอียดมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่ามีสติแค่รู้ตัวอยู่ว่ากำลังอ่านหนังสือดูหนังอยู่เท่านั้น แต่ต้องรู้สภาพจิตใจอารมณ์ของตนทุกจังหวะ อาจมีสติละเอียดถึงขั้นรู้ตัวทุกขณะที่กำลังอ่านหนังสือแต่ละตัว อาการเคลิ้มตามบทหนังหรือบทความที่ดูอยู่นั้นเป็นไม่มีหรือเกิดขึ้นได้ยาก

สติเป็นเป้าหมายหนึ่งของการฝึกสมาธิ แต่สมาธิยังมีประโยชน์มากกว่าแค่ให้เกิดสติ ผู้ที่มีสติต้องรู้ตัวว่าสติของตนเด่นด้านไหนเป็นพิเศษ เช่น สติด้านการมอง หรือสติจากการสัมผัส แล้วพยายามฝึกฝนสติด้านนั้นๆให้เด่นขึ้น พร้อมกับสติด้านอื่นๆตามไป อย่าปล่อยให้สติเกิดขึ้นเองอย่างไม่รู้ที่มา


ปราณอภิญญา

วิธีฝึกสมาธิแบบนี้ดัดแปลงมาจาก ลมหายใจอภิญญา และรวมวิชชาธรรมกายเข้ากับวิชชาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ลำดับขั้นการฝึกมีดังนี้

  1. กำหนดสติตามรู้ลมหายใจเข้าออก ณ จุดกระทบ 3 ฐาน ได้แก่ จมูกอันเป็นต้นทางลมหายใจเข้าและปลายทางลมหายใจออก หลอดลมทางเดินลมหายใจ และศูนย์กลางกายอันเป็นสุดทางลมหายใจเข้าและต้นทางลมหายใจออก
  2. เมื่อรู้ว่าหายใจเข้า ให้ภาวนาในใจว่า สัมมา เมื่อรู้ว่าหายใจออก ให้ภาวนาว่า อะระหัง ให้รู้ละเอียดตลอดว่า ลมหายใจกำลังผ่านที่ฐานใด
  3. กำหนดนิมิตเป็น ลูกแก้วกลมใส ตั้งอยู่ที่กลางกายสุดทางลมหายใจเข้า เมื่อหายใจเข้าให้กำหนดภาพนิมิตให้สว่างขึ้นออกมาจากใจกลางดวง เป็นดวงสว่างกว่าดวงเล็กๆซ้อนอยู่ที่กลางดวงเดิม เมื่อหายใจออกให้เพ่งเข้ากลางดวงเล็กๆที่สว่างกว่านั้นแล้วทำให้ดวงขยายขึ้นเท่าดวงเก่า ทำให้ดวงเก่าสว่างสดใสขึ้น
  4. กำหนดนิมิตข้างต้นต่อไปเรื่อยๆตามจังหวะลมหายใจเข้าออก
  5. เมื่อจิตสงบได้ที่จนสามารถนึกเห็นภาพนิมิตชัดเจนดีแล้ว ให้เลิกบริกรรมภาวนา คงเหลือแต่บริกรรมนิมิตตามอาการรู้ตามลมหายใจ
  6. เมื่ออาการรู้ตามลมหายใจเบาบางลงจนหายไป ให้กำหนดจิตบริกรรมนิมิตต่อไป โดยเพ่งเข้ากลางดวง เดินเครื่องปั่นเข้ากลางเป็นดวงใหม่แทนดวงเก่า และใสสว่างมากขึ้น แผ่พลังออกมารอบด้านจนปกคลุมกายและสถานที่
  7. เดินลมปราณทุกทิศทางทุกอณูรอบด้านของร่างกาย เข้ากลางกายสู่กลางดวงเกิดเป็นดวงเล็กใหม่สว่างไสว แล้วเดินลมปราณออกหมุนเวียนทั่วร่างกาย ผลักพลังเข้ากลางดวง แผ่ออกจากกลางดวง
  8. อวตารให้เกิดกับทุกอณูทั่วร่าง ทั้งธาตุน้ำดินไฟลม ให้ละเอียดสุดละเอียด โดยมีดวงสว่างกลางกายเป็นประธานไว้ตลอดเสมอ

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2541

ค่อยๆฝึก อย่าใจร้อนอยากได้

กรรมฐานสี่สิบวิธี เป็นพื้นฐานของวิธีฝึกสมาธิ แต่ละวิธีเหมาะกับนิสัย อัชฌาศัย และจริตต่างกันไป ปราณอภิญญาเป็นกรรมฐานแบบผสม แม้จะแปลกกว่าสมาธิที่ทราบกันทั่วไป แต่ที่จริงแล้วก็ประกอบไปด้วยกรรมฐานพื้นฐานนั่นเอง เราต้องรู้จักประมาณกำลังความสามารถของตน ว่าสามารถฝึกขั้นใด พอฝึกขั้นนั้นจนชำนาญแล้วจึงเริ่มขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าฝืนฝึกเกินกำลังของตน ย่อมยากจะเกิดผล

ยิ่งกว่านั้นเมื่อฝึกสมาธิจนเกิดความก้าวหน้า เราต้องรู้จักฉวยโอกาสนำสมาธิไปสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นหรือนำกำลังสมาธิไปใช้ฝึกในขั้นที่สูงขึ้น เช่น เมื่อบริกรรมภาวนาจนสามารถตามรู้อาการกระทบของลมหายใจได้ตลอดแล้ว การภาวนาก็ไม่จำเป็นอีก ให้เลิกภาวนาแล้วกำหนดจิตตามรู้ด้วยจิตต่อไป ในขั้นนี้จะรักษาอารมณ์สมาธิไว้ได้แม้ว่ามีเสียงดังภายนอก เรียกว่าฝึกได้โดยไม่รำคาญต่อเสียง


ตามรู้เหตุและผล เริ่มที่กาย แต่อย่ายึดติดกับกาย

สิ่งที่ใช้ยกขึ้นเป็นที่ให้จิตระลึกตามรู้ต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นตัวของเราเอง โดยให้ใช้กายเป็นเหมือนสิ่งหนึ่งให้ศึกษา อย่าส่งจิตออกนอกกาย จากกายนี่แหละที่เป็นต้นตอบ่อเกิดแห่งเวทนาความรู้ความรู้สึกและความคิดความทรงจำทั้งหลาย

การกำหนดสติตามรู้ลมหายใจเข้าออก ณ จุดกระทบ 3 ฐาน ต่างจากการกำหนดสติตามรู้การหายใจหรือการตามรู้อาการพองยุบของหน้าท้อง จุดพิจารณาสำคัญคือ ลักษณะการตามรู้ที่เหตุหรือตามรู้ที่ผล

การตามรู้ที่เหตุ หมายถึงตัวต้นตอสาเหตุของสภาวะอาการนั้นๆ เช่น อาการขยับตัวของร่างกายเพื่อหายใจเป็นเหตุ ส่วนลมหายใจซึ่งผ่านเข้าออกร่างกายกระทบประสาทสัมผัสที่จมูกหรือภายในทางเดินลมหายใจเป็นผล จึงเป็นการตามรู้ที่ผล เท่ากับใช้อาการของกายที่รับรู้เป็นสิ่งให้ตามรู้

เราจะเลือกใช้การตามรู้ที่เหตุหรือตามรู้ที่ผลอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่นำมาฝึกปะปนกัน เมื่อจะมุ่งฝึกจับที่ผลก็ต้องใช้สติกำหนดตามรู้ที่จุดลมหายใจตกกระทบ อย่าไปใช้สติตามรู้อาการของร่างกายที่ขยับหรือสลับไปมาระหว่างเหตุและผล

การกำหนดสติตามรู้ลมหายใจเข้าออก ณ จุดกระทบ 3 ฐาน เป็นการใช้กายฝึกจิตให้มีกำลังมากขึ้น และเน้นจับความรู้สึกลมกระทบภายในกายตามเส้นทางลมหายใจสู่ศูนย์กลางกาย ทำให้กำหนดจุดศูนย์กลางกายได้ไปในตัว

ยามใดที่เกิดปัญหาให้ครุ่นคิดหาคำตอบ ยามนั้นยิ่งคิดแม้แต่เพียงนึกคิดคำบริกรรมภาวนา ส่งผลให้จิตคิดมากขึ้นมาเองอีก ยากจะทำสมาธิสงบจิตสงบใจ จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความคิดทั้งหลายทั้งปวง แล้วหันมาการกำหนดสติตามรู้ลมหายใจเข้าออก ณ จุดกระทบ 3 ฐาน เมื่อรู้ว่ากำลังหายใจเข้า จึงภาวนาในใจว่า สัมมา เมื่อรู้ว่าหายใจออก จึงภาวนาว่า อะระหัง ใช้การคิดบริกรรมภาวนาเพื่อกำกับตามรู้ลมหายใจเพียงเท่านี้จิตจะสงบง่ายขึ้นมาก


จุดกระทบ 3 ฐานยากไป

หากยากไปสำหรับตอนเริ่มต้น ให้กำหนดตามรู้ลมกระทบแต่ละฐานให้ชำนาญก่อนจนรับรู้ลักษณะอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละฐานไดัชัดเจน ต่อไปจึงค่อยเพิ่มฐานอื่นเข้าไปจนสามารถตามรู้ลมหายใจได้ตลอด ไม่จำกัดเฉพาะเพียง 3 ฐาน


วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2541

ทำงานวุ่น เพื่ออนาคต

มนุษย์เราต่างต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีวิต สร้างฐานะความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว พยายามเก็บเงินออมไว้ ต้องดิ้นรนขวนขวายทุ่มเทกำลังกายใจเพื่อความสุขความสบายในอนาคต หลายคนบอกว่าตัวเองวุ่นมากในแต่ละวัน วุ่นวายเสียจนไม่มีเวลาให้กับตนเอง ไหนเลยจะมีเวลามานั่งสมาธิ

ขอให้คิดถึงอนาคตดูให้ดี สาเหตุที่ตัวเราต้องทำงานตัวเป็นเกลียวเป็นเพราะความกลัวว่าจะไม่มีกินในวันข้างหน้าใช่ไหม ไหนๆคิดถึงอนาคตกันแล้วเลยขอให้คิดกันให้ตลอด อนาคตสุดท้ายของทุกคนย่อมหลีกหนีความตายไปไม่พ้น คิดเลยไปกว่านั้นอีกว่าถ้าชาติหน้ามีจริงแล้ว เราจะมาเกิดใหม่เป็นอะไรก็ยังไม่รู้ สุดแต่บุญแต่กรรมอีกนั่นแหละ

หากอนาคตทำให้กลัว ก็ขอให้คิดให้ตลอดว่า เราคิดถึงความตายกันบ่อยแค่ไหน พอหายใจเข้าปอดแล้วแน่ใจหรือไม่ว่า เวลาใดที่เราจะมีโอกาสหายใจออกอีก ถ้ารู้วันตายได้ก็คงดีไม่ใช่น้อย จะได้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม มีโอกาสสั่งเสียและหาทางลดภาระปัญหาไม่ให้ทิ้งไว้ให้กับคนที่ยังอยู่ข้างหลัง จะได้รีบเร่งทำบุญเพื่อจากโลกนี้ไปจะได้ขึ้นสวรรค์ แล้วพอหมดบุญต้องมาเกิดใหม่จะได้เกิดในภพที่ดีกว่าเดิม

ขอให้คิดถึงอนาคตดูให้ตลอด อนาคตไม่แน่ไม่นอน อาจไม่เป็นอย่างที่หวัง ธนาคารที่ฝากเงินไว้อาจล้มละลาย ความเหนื่อยยากแทบเป็นแทบตายหาเงินมาฝากธนาคาร จะกลายเป็นแค่เศษกระดาษเมื่อใดก็ได้ แล้วเราเตรียมตัวสำหรับอนาคตแค่ไหนไว้แล้วบ้าง ไม่ต้องมองสิ่งที่เตรียมไว้สำหรับคนอื่นหรอก แค่สิ่งที่ตนเองเตรียมไว้สำหรับอนาคตหลังความตายของตนเองนั้นมีอะไรบ้าง

เชื่อไหมว่า ช่วงจังหวะเวลาที่สิ้นลมหายใจนั้นสำคัญมาก หากตายไปแบบมีสมาธิมีสติรู้ตัวตลอดนั่นจะส่งผลให้ไปสู่สวรรค์ แต่ถ้าจิตยังห่วงกังวลถึงภาระทรัพย์สินแล้วจะเป็นแรงส่งให้ไปเกิดตามบุญตามกรรม อีกทั้งคนเราตอนตายมักป่วยเจ็บจนยากจะรักษาสติไว้ได้ สติและสมาธิจึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งฝึกฝนให้ชำนาญตั้งแต่วันนี้

คนที่คิดถึงอนาคตโดยตลอดนั้น ไม่กลัวตายหรอก เพราะความตายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่กลัวเกิดใหม่มากกว่าการกลัวตาย เพราะอาจเกิดใหม่อย่างที่ไม่ได้เตรียมไว้ จึงขอให้แบ่งเวลาที่ยังมีชีวิตให้ดี ใช้เวลาในปัจจุบันเผื่อให้กับอนาคตจริงๆ


มีสติทุกขณะ

หากเรามีสติดีอยู่ตลอดเวลา เรื่องผิดพลาดพลั้งเผลอและอุบัติเหตุต่างๆคงมีขึ้นน้อยมาก เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คงผ่อนจากหนักเป็นเบา เพราะในยามคับขันนั้น สติจะช่วยกำกับให้หาทางแก้ไขได้ทันต่อเหตุการณ์

ปกติคนเรามีสติมากบ้างน้อยบ้าง แต่ละคนยังมีสติต่างกันไปในแต่ละเวลาอีก โดยเฉพาะในเรื่องที่ตนเคยทำจนคุ้นเคย แบบสามารถหลับตาทำยังได้เลยด้วยแล้ว การใช้สติยิ่งไม่จำเป็น ต่อเมื่อเกิดเรื่องเกิดปัญหาอย่างกระทันหันขึ้นมา สติจึงโผล่ขึ้นมาให้เห็นอีกในจังหวะนั้น มนุษย์จึงมักทำเรื่องต่างๆจนดูเหมือนหุ่นยนต์ซึ่งถูกกำหนดขั้นตอนต่างๆไว้ก่อนแล้ว มากกว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีสติอยู่ในทุกขณะ

นอกจากนี้มนุษย์ยังตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสิ่งกระตุ้นต่างๆรอบตัว ตามธรรมชาติ สัญชาตญาณ และการเรียนรู้ ซึ่งมักเป็นการตอบสนองในทันทีที่ถูกกระตุ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกสถานการณ์บีบบังคับด้วยแล้ว หลายเรื่องที่ทำไปจึงอาจไม่ได้ใช้สติเลยก็เป็นได้ แล้วกลับมานั่งเสียใจในภายหลัง

ศัตรูของสติจึงเกิดจากทั้งภายนอกและภายในจิตใจของตัวเอง เราต้องพยายามฝึกสติให้เข้มแข็งพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ให้มีสติในทุกขณะจิตและทุกขณะเวลา เพื่อเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆเมื่อใดก็ได้ ซึ่งการสร้างสติให้เกิดขึ้นและมีกำลังสติตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อสมาธิ ใช่ว่าปล่อยให้สติเกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ว่าสติของตนมีมาได้อย่างไร หรือจะควบคุมสติ แล้วใช้สติให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไร


ภาษาใจของการบริกรรมภาวนา

ในเวลาที่เรารู้สึกร้อน หนาว อิ่ม หิวกระหาย หรือมองที่หนังสือเล่มนี้แล้ว ย่อมนำความรู้สึกและสิ่งที่มองเห็นไปตีความเกิดเป็นภาษาขึ้นในใจ ภาษาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสมมุติบัญญัติขึ้นเพื่อใช้โต้ตอบสื่อสารและทำความเข้าใจในชีวิต แทนที่จะรับรู้ความรู้สึกร้อนว่าเป็นความรู้สึกหนึ่งๆ เรายังนำความรู้สึกนั้นมาตีความเทียบกับความทรงจำที่เรียนรู้มาอีกว่า นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า ความรู้สึกร้อน บางคนอาจนึกเห็นตัวอักษรสะกดคำว่า ร้อน ขึ้นในใจเสียอีก

ไม่ว่าจะรับรู้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือความนึกคิดจากภายในก็ตาม กระแสการรับรู้เหล่านี้จะถูกส่งไปตีความและนำไปส่งผลที่จิตอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไม่มีเวลาใดที่จิตว่างเลยก็ได้ จิตจึงคุ้นเคยกับภาวะโต้ตอบ ยากจะกำหนดจิตให้สงบนิ่งจับอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้นานเท่าที่ต้องการ จิตจึงมีนิสัยเหมือนลิงแสนซน ซึ่งเราต้องหาทางจับลิงนี้ให้ได้ก่อน

การบริกรรมภาวนาเป็นวิธีฝึกลิงให้เชื่องลง ทำให้จิตคิดถึงคำบริกรรมหนึ่งๆซ้ำไปซ้ำมาจนหยุดคิดเรื่องอื่น จะเลือกคำบริกรรมภาวนาใดก็ได้แต่ต้องเป็นคำที่ไม่กระตุ้นจิตให้เกิดความอยากหรือโลดแล่นไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อใช้คำที่เกี่ยวข้องกับความสุขความสงบหรือความดี เช่น พุทโธ สัมมาอะระหัง หรือบทสวดระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมส่งผลให้ผู้ภาวนามีจิตใจสงบตามคำบริกรรมไปในตัว

พยายามบริกรรมภาวนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเร็วไปหรือช้าไป ที่สำคัญอย่าให้ขาดตอน เพื่อกันไม่ให้จิตมีโอกาสคิดเรื่องอื่นเกิดคำอื่นแทรกขึ้นมาได้ หากจิตยังไม่สงบอีกให้เน้นคำภาวนาในใจนั้นดังๆเหมือนกับที่เราพูดออกมาเน้นดังๆ

การบริกรรมภาวนากำกับจังหวะลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นการภาวนาที่พิเศษเหนือกว่าการคิดภาวนาเฉยๆ เพราะต้องภาวนาเนื่องจาก สาเหตุ ของการกระทบของลมหายใจ หากไม่รู้ว่าลมหายใจเข้ากระทบส่วนใด ก็ยังไม่ต้องบริกรรมภาวนา แต่เป็นการนำความรู้สึกจากการที่ลมตกกระทบ มาเป็นอาการตามรู้เป็นสัญญาณให้เริ่มภาวนากำกับตามจังหวะนั้น ไม่ต้องแปลความในใจเป็นภาษาว่า หายใจออก หรือหายใจเข้า เท่ากับข้ามภาษาที่เราคุ้นเคยจากการสมมุติออกไปเป็นภาษาใจ

หากฝึกภาวนาแล้วจิตยังไม่ยอมหยุดไม่ยอมช้าลงอีก ไม่ควรฝืนบังคับจิต แต่ให้ปล่อยจิตให้คิดไปตามสบาย คอยกำกับจิตตามรู้ไปจนกระทั่งจิตเหนื่อยและหยุดคิดเอง แล้วฉวยจังหวะเวลานั้นเริ่มต้นฝึกสมาธิตามแบบที่ตนถนัดต่อไป


วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2541

ลมหายใจสายลวง

ปกติเรามีลมหายใจเข้าออกกันอยู่แล้ว สามารถรู้สึกถึงกระแสของลมหายใจที่ตกกระทบผ่านหลอดลมและจมูกได้ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่ได้ใส่ใจกับความรู้สึกนี้เพราะเอาแต่ใส่ใจกับการใช้ชีวิตเรื่องอื่น

แต่พอจะฝึกให้รู้ตามจังหวะลมหายใจขึ้นมา กลับไปฝืนลมหายใจตามธรรมชาติให้กลายเป็นลมหายใจที่เราสามารถรู้ตามได้ขึ้นมาอีก ลมหายใจสายลวงนี้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของเราเอง เป็นเพราะเริ่มฝึกจึงยังไม่คุ้นเคยกับการเฝ้าดูอยู่เฉยๆ

มุ่งเฝ้าตามดูและรู้อาการของลมหายใจเหมือนว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ลมหายใจนี้ไม่ได้เป็นของเรา เราไม่สามารถสั่งการให้ลมหายใจเข้าออกหรือหายใจแรงค่อยแต่อย่างใด เราต้องรู้ทันว่ากำลังเฝ้าตามดูลมหายใจที่เป็นไปตามธรรมชาติของมันเองหรือไม่ หากไม่สามารถปล่อยลมหายใจให้เคลื่อนไหวอย่างที่มันเคยเป็น แสดงว่าเราไปใส่ใจ แทรกแซง และกังวลกับการเฝ้าดูมากเกินไป ซึ่งแก้ไขได้โดยกระจายความสนใจจากการจับลมหายใจไปยังร่างกายทุกส่วน ให้กายสบาย ผ่อนคลาย และสงบลง แล้วจะรู้สึกถึงอาการเคลื่อนไหวของกระแสลมหายใจเด่นชัดขึ้นมาเอง

นอกจากลมหายใจสายลวงเกิดขึ้นได้จากการกำหนดกระแสลมขึ้นเองดังกล่าวแล้ว ลมหายใจสายลวงยังเกิดขึ้นได้จาการคิดและนึกขึ้นมาเองได้ด้วย เมื่อจิตเฝ้าดูลมหายใจจนเพลินจนเกิดความคุ้นเคยบ่อยครั้งเข้า จะเกิดความทรงจำของทั้งอาการลมหายใจและอาการตามรู้ พอจิตเผลอนิดเดียวจะยกความทรงจำนี้มาแทนการตามรู้ของจริง กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนมาเฝ้าดูความทรงจำของตนเอง เรียกว่าฉายหนังเก่าหลอกให้ดูแทนก็ได้

สภาพการฝึกจับลมหายใจ ต้องเริ่มจากลมหายใจปกติตามธรรมชาติของเราเอง เคยหายใจสั้นยาวแรงหรือค่อยอย่างไรมาก่อน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเดิม แล้วจับตามรู้อาการของลมหายใจที่รู้สึกนั้น เมื่อกายสงบขึ้นจะทำให้ลมหายใจแผ่วบางลงจนดูเหมือนหยุดหายใจ แต่จิตที่มีกำลังจะยิ่งสามารถตามรู้อาการของลมหายใจได้ชัดเจนโดยตลอด


วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2541

ใช้กายฝึกจิต ละกายเหลือจิต

กว่าจะฝึกสมาธิได้จนเหลือแต่จิตเหลือเด่นอยู่นั้น ต้องฝ่าฟันกับเวทนาอารมณ์ที่เกิดกับกายให้ได้ก่อน แม้นั่งสมาธิแบบปิดตาแล้วยังมีหู จมูก ลิ้น กายที่ทำหน้าที่อย่างดีจนแทบจะหาความสงบไม่ได้ จิตถูกรบกวนทั้งเสียงนาฬิกาดังติ้กต้อก อากาศร้อน กลิ่นควันอาหาร น้ำลายที่มาคั่งอยู่ในปากรอให้กลืน และที่เจอะเจอเสมอคือ อาการเมื่อยขบเมื่อนั่งนาน

การใช้กายฝึกจิต เป็นการใช้หนามบ่งหนาม เพียงแต่หลีกเลี่ยงไม่ใส่ใจกับสิ่งรบกวนอารมณ์เหล่านั้น แล้วหันไปใช้กายส่วนของลมหายใจเป็นสิ่งให้จิตรู้และระลึกแทน ค่อยๆทำให้จิตรวมตัวทีละน้อยจนหูจมูกลิ้นกายสงบลงเหมือนหยุดทำงาน

จุดประสงค์หลักในการฝึกสมาธิ คือต้องฝึกจิตจนมีกำลังมากขึ้นกว่าเดิมก่อน แล้วจึงนำกำลังจิตไปใช้ต่อสู้กับกิเลสต่างๆ และได้รู้จริงเห็นจริงต่อสิ่งสมมุติที่เราต้องละจนเหลือแต่สิ่งแท้จริง ทั้งนี้ไม่ควรมุ่งแต่ใช้ปัญญาพิจารณาเร็วเกินไป เพราะปัญญาที่ใช้เพียงความรู้จากการเล่าเรียน จากการฟัง และจากความรู้สึกนั้น เป็นปัญญาที่ยังมีสิ่งหลอกลวงและยังห่างไกลจากปัญญาจากการใช้สติที่มีกำลังอยู่มาก อารมณ์สมถะจึงเป็นกำลังสำคัญของวิปัสสนา ยิ่งจิตมีกำลังมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเกิดปัญญาและใช้สะสางกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ได้มากขึ้นเท่านั้น

อารมณ์ที่ผูกพันกับกายเป็นทั้งเวทนาและสัญญาความทรงจำ ความจำนี่แหละที่ช่วยนำการรับรู้สัมผัสทางกายมาตีความเป็นอารมณ์เวทนา เมื่อละกายเสียแล้วจะทำให้เวทนาและสัญญาหมดตามไปด้วย อย่างไรก็ตามสัญญาความทรงจำนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ขึ้นกับความคิดของจิตเอง เป็นตัวกระตุ้นจากภายในที่ต้องทำให้สงบด้วยสมาธิ เพื่อให้เหลือแต่จิตที่มีกำลัง สงบแต่พร้อมต่อการใช้งาน

วิธีละอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกาย สามารถใช้ปัญญาช่วยได้ด้วย ให้พิจารณารูปกายกับหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แยกกายออกเป็นส่วนประกอบของธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณ ช่วยลดความยึดติดกับรูปกายและทำให้จิตเด่นขึ้นมาก เพียงนึกว่าเราตายแล้วคงเหลือแต่จิต ภาระหน้าที่ความห่วงใยและความรู้สึกทางกายจะหมดสิ้นลงทันทีเมื่อรูปกายของเราสลายไป


วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2541

กายหลับ จิตตื่น

สมาธิกับการนอนหลับมีจุดเริ่มเหมือนกันตรงที่ต้องปล่อยกายให้สบาย หาที่นั่งที่นอนให้สบายแล้วจึงจะเข้าสมาธิหรือหลับลงไปได้ ตอนที่เริ่มนั่งสมาธิต้องปล่อยวางภาระทางกายและใจทั้งหมด ทำกายให้สดชื่น ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน จัดกระดูกสันหลังให้ตรง จะนั่งนอนหรือเดินก็ฝึกสมาธิได้ทั้งนั้น ส่วนจิตทำให้สดใสด้วยการสวดมนตร์ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลคุณงามความดีทั้งหลายที่เราสร้างสมมา อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาคุ้มครองเกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จในการฝึกสมาธิ

เมื่อสงบกายได้แล้ว จิตจะเด่นขึ้นมาก ให้คอยกำหนดจิตตามรู้อาการของจิต อย่าปล่อยให้เผลอมิฉะนั้นจะหลับ จึงต้องยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นเป็นที่ระลึกรู้ของจิต ให้จิตอาศัยอยู่กับสิ่งนั้น จะเป็นการบริกรรมภาวนาหรือบริกรรมนิมิตก็ได้


หยุดคิด เริ่มนึก

คิดกับนึกเป็นคำที่เราใช้คู่กันอยู่เสมอ หากแต่ละคำมีความหมายที่ส่งผลต่อสมาธิต่างกันมาก การคิดเป็นการใช้จิตทำงาน อาจคิดถึงเรื่องที่ยังคั่งค้างแล้วคิดหาทางแก้ไข อาจคิดถึงคำสวดมนตร์ยาวๆที่ตนเองจำไม่ค่อยได้ อาจคิดถึงภาพนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสหรือรูปพระพุทธรูปที่จำยังไม่ติดตา การคิดทำให้จิตไม่สงบและเสียกำลังจนจิตเหนื่อย ไม่สามารถรักษาและประคองสติได้นานๆ

ส่วนการนึก เป็นการนึกถึงสิ่งที่ตนทำจนคุ้นเคยแล้วและจำได้จนติดหูติดตา ให้ใช้การระลึกนึกถึงแทนการคิด จิตจะสงบรวมตัวง่ายขึ้นมาก


หยุดคิด หยุดนึก แล้วเริ่มกำหนดรู้ลงที่จิต

อย่าลืมว่าการนึกบริกรรมภาวนาหรือบริกรรมนิมิตนั้นเป็นอุบายที่ช่วยทำให้จิตช้าลง แล้วรวมตัวแนบแน่นเป็นสมาธิ คำที่ใช้บริกรรมและสิ่งของที่ใช้กำหนดเป็นนิมิตเป็นเหมือนของปลอมที่ใช้ฝึกจิตเพื่อค้นหาให้เห็นของจริง เมื่อจิตรวมตัวลงแล้วจะรู้สึกสงบสะอาดสว่างขึ้นแทน สิ่งที่นึกถึงตอนต้นจะหายไปเองและเราไม่ต้องห่วงหาตามนึกขึ้นมาอีก ระยะเวลากว่าจิตจะสงบจนละบริกรรมได้นี้ เร็วช้าต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งเราต้องหมั่นฝึกฝนให้เข้าสมาธิสู่จุดนี้ได้เร็วขึ้น

บางครั้งเราฝึกสมาธิก้าวหน้าจนจิตรวมตัวได้แล้วแต่เราไม่รู้ตัว อาจเป็นเพราะมุ่งบริกรรมมากไปหรือไม่ใช้สติตามรู้อาการของจิตในแต่ละจังหวะให้ดี กลายเป็นว่ามัวฝึกอยู่กับขั้นต้นนี่แหละ ดังนั้นเราต้องฉลาดรู้ขั้นตอนของสมาธิ แล้วฉวยโอกาสจังหวะเวลาที่จิตรวมตัวกัน กำหนดรู้ลงที่จิต แล้วฝึกขั้นตอนที่สูงขึ้นต่อไป


วิปัสสนาแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม

เมื่อจิตรวมตัวกันจะทำให้เกิดอาการปีติและสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ความรู้สึกทางร่างกายจะค่อยๆหายไป หูจะไม่ได้ยินเสียง ความสุขใจจะเกิดขึ้นแล้วหายไปเหลือแต่ตัวรู้ของจิตเองที่ตั้งมั่นอยู่ (ตามอาการของรูปฌาน 1 - 4)

พอฝึกสำเร็จถึงขั้นนี้หรือแม้แต่บางคนที่ยังฝึกไม่ถึงขั้น ก็นำกำลังของจิตจากสมถะกรรมฐานที่ได้ไปใช้กับวิปัสสนากรรมฐาน ยุคนี้สมัยนี้เน้นกันที่วิปัสสนา ว่าเป็นการใช้ปัญญา ส่วนสมถะเป็นแค่การสงบจิตสงบใจไม่ได้ช่วยด้านปัญญา และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ฝึกสมถะกรรมฐานกันได้ไม่ลึกซึ้งก็พอใจกับความสำเร็จเหล่านั้นกันแล้ว อีกทั้งสังคมยังคุ้นเคยกับการใช้ปัญญาที่ได้มาจากการเรียนรู้มาใคร่ครวญพิจารณา ไม่เคยมีประสบการณ์การใช้ปัญญาที่มีต้นตอจากสมาธิมาก่อน จึงทำให้เราฝึกวิปัสสนาแบบกระจุ๋มกระจิ๋มกันส่วนมาก

ศัตรูตัวสำคัญที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือกิเลส สมถะกรรมฐานฝึกจิตให้สงบเกิดกำลังแต่ส่งผลต่อเนื่องกดตัวกิเลสไม่ให้แสดงออกมา วิปัสสนาเป็นการใช้ปัญญาความรู้จัดการกับกิเลสตามขันธ์ห้า อายตนสิบสอง ธาตุสิบแปด (6x3) อินทรีย์ยี่สิบสอง และอริยสัจจ์สี่

มุ่งใช้กำลังสมาธิสู้กับกิเลส พอจิตถอยสูญเสียกำลัง ต้องกลับไปเข้าฌานสมาธิเพื่อรวบรวมกำลังจิตมาสู้กันต่อ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววิปัสสนาแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม จะใช้กำลังสมาธิมาสู้กับขันธ์ห้าได้ลึกและละเอียดแค่ไหนกัน


วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ปัญญา 3 ระดับ

ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ รู้ทั่ว เข้าใจ หรือรู้ซึ้ง ซึ่งมีต้นตอของปัญญาอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ ปัญญาที่เกิดแต่การคิดพิจารณาหาเหตุผล ปัญญาที่เกิดแต่การสดับการเล่าเรียน และปัญญาที่เกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ

หากเรามัวยึดติดกับปัญญาที่มีอยู่กันทั่วไปในสมัยนี้ มัวแต่เข้าโรงเรียน อ่านหนังสือ รอสอบเพื่อรับประกาศนียบัตร แล้วโอ้อวดทับถมกันไปมา หากพอใจกับปัญญาแค่นี้คงไม่ได้พบกับปัญญาแบบรู้แจ้งเห็นจริง วิปัสสนาจะเป็นแค่วิปัสสนึก

ปัญญาที่เกิดจากการฝึกสมาธิไม่ใช่ของง่ายและไม่ได้ยากเกินไป เพราะเราจะค่อยๆรู้เห็นมากขึ้นทีละน้อยเองตามระดับกำลังของฌานสมาธิ บ้างที่ยังไม่เห็นก็อาจเกิดความเข้าใจขึ้นเองในทันที


ข้ามไปฝึกธรรมกาย

เมื่อกายใจมีความพร้อมกำลังดี โดยเฉพาะที่ใจว่าไม่ว้าวุ่น ไม่มีเรื่องคิดเรื่องปัญหามากให้กังวล อย่างนี้ไม่ต้องกำหนดรู้ตามลมหายใจก็ได้ เพราะการกำหนดรู้ตามลมหายใจเป็นเพียงอุบายใช้กำกับความคิดให้ช้าลงและรวมตัวไม่หลุดลอยออกจากจังหวะการหายใจ หากใจสงบพอจะบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง คู่กับการบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสตั้งอยู่กลางกาย ก็เริ่มได้เลยจะได้ไม่ต้องพะวงกับกายหยาบซึ่งใช้เป็นที่ตามรู้ลมหายใจ


วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ธรรมกายฝึกการมองเห็น

ลักษณะเด่นของวิชชาธรรมกาย เน้นที่การฝึกมองเห็นด้วยตาใน เริ่มจากเพ่งกสิณที่ดวงแก้วกลมใส หัดเดินดวงเดินกายซึ่งเท่ากับฝึกปฏิภาคนิมิตให้คล่อง เตรียมการเกิดปัญญาแบบรู้จริงเห็นจริง ไม่ใช่ฝึกแต่คิดพิจารณาและรู้จากความรู้สึก


เพ่งมองปลายลูกศร

หลับตานอกแล้วเปิดตาใน นึกถึงดวงแก้วกลมใสติดอยู่ที่ปลายลูกศรหรือปลายเข็ม และเข็มลูกศรนี้ชี้แตะไปที่จุดศูนย์กลางกาย ดวงแก้วใสสว่างมีขนาดเท่ากับปลายเข็มพอดี ปลายเข็มยังมีส่วนสุดยอดของปลายเปรียบเสมือนหัวใจของหัวใจ ส่วนปลายสุดยอดของเข็มยังเล็กคมลงไปอีกไม่รู้จบ พร้อมไปกับดวงแก้วกลมใสขนาดเรียวเล็กลงตามไปกับขนาดของปลายเข็ม เป็นวิธีฝึกจิตให้เพ่งคมขึ้น


วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ไขกระแสธรรม

หลวงตาบัว เทศนาไว้ในหนังสือชื่อ ฟังธรรมปฏิบัติธรรม ดังนี้

“..พอได้กำลังทางสมาธิ แล้วปัญญาถูกท่านขนาบ แล้วมันก็ออก เอาละที่นี่กิเลสนอนหมอบอยู่ไม่ได้ที่นี่ ลากคอมันมาฟันหัวมันหมดเลย พอคว้าได้แขนก็ลากแขนมันออกมา คว้าขาได้ก็ลากขาออกมาฟันเรื่อย คว้าได้คอก็ลากคอมาฟันเรื่อย นี่ถึงขั้นปัญญาแล้วก็หมุนติ้ว

..ลงว่าได้เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ หรือพูดให้เต็มปากก็มหาสติปัญญาแล้ว อะไรจะผ่านไปได้ เมื่อถึงขั้นมันหมุนรอบตัว มันรอบตัวอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องได้บังคับบัญชา

..สติปัญญาอันนี้ก็เหมือนกัน พอได้กำลังแล้วก็ออกพิจารณา ไม่นานนะขาดสะบั้นๆไปเลย นั่นเห็นคุณค่าของสมาธิ จิตหมุนติ้วๆ”

หลวงตาบัวกล่าวถึงคำว่าหมุน หมุนติ้วอยู่เสมอ สอบถามคนใกล้ชิดติดตามฟังท่านเทศนาก็ยังนึกว่าเป็นแนวการพูดของท่านเฉยๆ ไม่ได้นึกว่าจะมีความหมายในตัวเองอะไรไปอีก

ปัญญาที่ใช้เอาชนะอวิชชานั้นต้องอาศัยกำลังฌานกำลังสมาธิ เมื่อมีกำลังมากก็สู้กับอวิชชากิเลสได้มาก ฌานสมถะที่เน้นแต่สงบก็จะนิ่งจนไม่สามารถใช้ปัญญา ดังนั้นการฝึกสมถะจึงต้องใช้วิธีที่ฝึกได้ทั้งความสงบ กำลัง และความตั้งมั่นอยู่ได้แม้จะใช้ปัญญาอยู่ก็ตาม วิธีนั้นก็คือ สมาธิจิตหมุนติ้ว

สมาธิจิตหมุนติ้ว ไม่ได้ทำให้จิตนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้เป็นกำลังที่กดกิเลสให้หยุดแสดงตน แต่สมาธิจิตหมุนติ้วเป็นกำลังสงบที่สามารถเจาะคว้าหาต้นตอของกิเลสต่างๆมาใช้ปัญญาพิจารณาพร้อมกันไป เพื่อทำลายตัวกิเลสให้หมดสิ้น


ฝึกเปลี่ยนภาษา

ลองภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหัง ลองคิดนึกในใจว่า สัมมาอะระหัง ไม่ว่าจะนึกคิดถึงเรื่องใดก็ใช้คำบริกรรมนี้แทนตลอด อย่าให้ขาดตอน อย่าให้ภาษาไทยหรือภาษาอื่นที่เรียนรู้โผล่แทรกขึ้นมา จะใช้คำบริกรรมภาวนาอื่นแทนก็ได้

น่าฝึกเปลี่ยนภาษานี้ให้คล่องก่อนจะไปบริกรรมกำกับอาการหายใจหรือนิมิตที่กำหนดขึ้นเสียด้วยซ้ำไป เป็นพื้นฐานจริงๆ นี่เองที่หลวงน้าสายหยุดสอนว่า อย่าเพิ่งข้ามขั้นไปเพ่งอะไรอีกเมื่อเพิ่งเริ่มฝึกสมาธิ

หากกำหนดจิตตามรู้การภาวนาเพียงอย่างเดียวยังไม่ได้แล้ว ไหนเลยจะฝึกผสมหลายอย่างได้สำเร็จ


ฝึกเปลี่ยนภาพความฝัน

ทำนองเดียวกับคำบริกรรมภาวนาที่ดังขึ้นเมื่อนึกคิด ภาพที่จิตเห็นว่าเรากำลังอยู่ที่นั่นหรือเห็นสิ่งของต่างๆตามอารมณ์ในแต่ละวูบ สมควรเปลี่ยนเป็นภาพง่ายๆภาพเดียว กำหนดเป็นภาพดวงแก้วกลมใสขึ้นแทน หรือจะเป็นดวงแสงขาวสว่างก็ได้ หากเห็นภาพอื่นใดแทรกขึ้นมาแทน ให้เพ่งเข้าไปในแต่ละอณูของภาพนั้น แล้วกำหนดเป็นแสงสว่างสลายภาพทั้งหมดเปลี่ยนเป็นดวงสว่างดวงเดียวขึ้นแทน

ปกติเรานึกคิดเป็นภาพเป็นคำพูดอยู่ตลอด ให้ใช้สติตามรู้ฝึกเปลี่ยนภาษาและฝึกเปลี่ยนภาพความฝัน ฝึกทำอย่างนี้ในทุกขณะจิต ฝึกจิตให้มีกำลัง และหยุดนึกคิดสิ่งที่ไม่ต้องการ


รู้มากไปก็เท่านั้น

เรื่องบางอย่างรู้มากไปก็เท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่ได้เห็นจริงรู้จริง เรื่องที่เป็นวิธีฝึกสมาธิขั้นสูง เรื่องปัญหาต้นตอกำเนิดของอะไรๆในธรรมชาติ เรื่องอย่างนี้รู้ไปเพื่อจะได้เอาไว้คุยซึ่งไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เสียเวลาฝึก สู้ค่อยๆฝึกไปหัดไปแล้วเราจะได้รู้เห็นจริงขึ้นเองเมื่อถึงเวลาดีกว่า

ขอให้รู้ไว้บ้างเป็นแนวทางว่า เราต้องทำตนอย่างไรต่อไปในวันนี้เวลานี้


วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

สอนมากไปก็เท่านั้น

ด้วยความหวังดีอยากให้ผู้อื่นได้ความรู้ได้ธรรมะเช่นเดียวกับที่เราได้ เลยยอมเสียเวลาเสียแรงมาเขียนมาบอกเล่าเรื่องที่ตนเคยประสบมาก่อน ซึ่งที่จริงแล้วเราต่างหากที่ควรหาทางสอนตนเอง และฝึกตัวเองให้รู้แจ้งเห็นจริงก่อน เมื่อถึงเวลานั้นจะสอนใครก็ย่อมได้และน่าจะมีแนวทางถ่ายทอดได้ตรงมากกว่านี้อีก แต่ยิ่งฝึกฝนยิ่งรู้มากขึ้น ยิ่งยากจะถ่ายทอดเป็นภาษาสมมติให้เข้าใจตรงกัน

เวลาสอนใครแล้วต้องทำใจไว้บ้าง เพราะยุคนี้เจอบทเรียนแบบชาวนากับงูเห่า หรือลูกศิษย์คิดล้างครูได้ง่ายมาก เรามักคิดว่าตนเป็นครูแล้วให้ความเมตตากับศิษย์ แต่ศิษย์เองอาจไม่ยอมรับนับตนเองว่าเป็นศิษย์

ควรมุ่งฝึกตนเองก่อน แล้วค่อยฝึกคนอื่น


เดินพลังปราณ

เมื่อจิตรวมตัวเกิดกำลังมากขึ้นด้วยสมาธิ แล้วจะนำพลังนี้ไปใช้วิปัสสนาก็ได้ หรือจะนำไปใช้สร้างเสริมสุขภาพร่างกายก็ได้ ไม่น่าฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ของจิตใจอย่างเดียว เพื่อใช้พลังให้คุ้มค่า

เพ่งเข้ากลางของกลางดวง หมุนปั่นเจาะกลางดวงให้สว่างไสว หลอมกายกลั่นดวงให้เป็นดวงเดียวกัน ให้ใสสะอาดและเปล่งประกายออกมารอบด้าน นี่เป็นวิธีแรก

หากต้องการเดินลมปราณแบบจีน ให้รวมพลังอัดเข้ากลางกายเป็นดวงสว่างเล็กๆ แล้วเดินดวงสว่างนี้ลงจากกลางกายไปที่ก้นกบผ่านทางใต้ผิวหนังหน้าท้องด้านหน้า แล้วเดินลมปราณไหลขึ้นจากก้นกบไปยังศรีษะผ่านทางกระดูกสันหลัง แล้วเดินลมปราณลงจากศรีษะกลับไปที่ศูนย์กลางกายทางใต้ผิวหนังด้านหน้าอีก เป็นอันครบวงจรลมปราณ


วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ทดลองภาวนา

เมื่อภาวนาไม่ขาดตอน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ภาวนาในใจตลอดว่า สัมมา อะระหัง น่าแปลกว่า ทำไมเรายังมีสติมีจิตใจควบคุมตนเองให้ทำอะไรต่ออะไรอยู่อีก จะดูหนังฟังเพลงต่อไปก็ได้ แสดงว่าตัวภาวนาเป็นการนึก ส่วนตัวคิดนั้นภาวนาไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย หรือตัวคิดใช้กระตุ้นให้นึกคิดถึงความทรงจำในคำบริกรรมช่วงแรกเท่านั้น แล้วก็ปล่อยให้นึกบริกรรมต่อไปเองเหมือนเปิดเทปซ้ำๆ

ลองกำหนดสติตามรู้คำบริกรรมทุกขั้นทุกจังหวะ คราวนี้หมดโอกาสคิดเรื่องอื่นแล้ว สตินี่เกี่ยวข้องกับการคิดรู้ ดังนั้นภาวนาต้องมีสติตามทุกประโยคทุกคำทุกจังหวะตัวอักษร ภาวนาเพื่อสงบแล้วจับตัวสติ จับตัวคิดให้ได้


หรี่ตาเพ่งกสิณ ทำสมมติให้เป็นวิมุติ

ประโยคหัวข้อนี้เป็นคำสอนของหลวงปู่ดู่ หลับตาลงแล้วนึกภาพดวงแก้ว จนเห็นได้ชัดเรียกว่าเป็นอุคคหนิมิต สามารถบังคับย่อขยายขนาดดวงแก้ว แล้วเปล่งแสงประกายพรึก เรียกว่าเป็น ปฏิภาคนิมิต ขั้นแรกนี้ต้องฝึกกับของปลอมที่สมมติขึ้นนี้ให้ชำนาญก่อน จนกระทั่งจิตรวมตัวกันเห็นดวงปฐมมรรค สว่างไสวเปล่งประกายใสสว่าง เริ่มเป็นของจริง


วิธีนั่งสมาธิแล้วไม่เผลอหลับ

เวลาจะหลับได้นั้น กายต้องสบาย ดังนั้นอย่าปล่อยกายให้สบายเกินไป คอยควบคุมให้นั่งตัวตรงเสมอ ไม่ต้องพิงพนัก


ศีลนำสมาธิ

หลายคนเอาแต่ท่องจำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของคู่กันแต่ไม่เข้าใจต้นสายปลายเหตุว่าสิ่งใดเป็นเหตุ ที่จริงทุกตัวเป็นเหตุได้เหมือนกันแล้วแต่ว่าใครมีความพร้อมอยู่แล้วแค่ไหน

ถ้าอยากมีสมาธิ ทำจิตให้สงบได้ ต้องหยุดภาระผูกพันทั้งกายและใจให้ได้ ทำตนให้เป็นคนดี ใช้สติปัญญาเลือกวิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้ใช้ความอยากและกิเลสนำ

บางคนเอาทางสายกลางเป็นหลักนำศีล เลยเพี้ยนไปว่าทางสายกลางของใครกัน พอยึดว่านี่แหละเป็นทางสายกลางของฉัน ไม่สนใจว่าพอดีกับศีลหรือไม่ แต่ขอให้พอดีกับชีวิตของตนก็แล้วกัน เข้ากับสังคมรอบข้างได้ อย่างนี้ไม่ใช่ทางสายกลาง

แต่การหันมาสู่ทางสายกลางของธรรมะนั้นต้องค่อยๆดัดค่อยๆแก้กันไป บางทีต้องใช้หนามบ่งหนาม ใช้พิษแก้พิษเสียก่อน แล้วจึงได้กลางจริงๆ


ฝึกอย่างนี้สิ เป็นทางสายตรง

เคยพบเจอะเจอมานักต่อนักแล้วที่ยึดติดกับวิธีฝึกของตนอย่างเดียวเท่านั้นว่า นี่แหละเป็นทางสายตรง แล้วพาลจู่โจมป้ายร้ายวิธีอื่น

ทางสายตรงนั้นแล้วแต่ทางใครทางมัน แต่ละคนถนัดฝึกหัดต่างวิธีกันไป โรคบางอย่างไม่ต้องกินยา แต่รอให้ได้พักผ่อนหน่อยก็หายได้ บางโรคต้องทานยาสารพัด เพียงแต่ให้เข้าใจใช้ปัญญาแยกให้ออกระหว่างสมมติวิมุติ หยาบละเอียด นอกใน รูปนาม ธาตุธรรม แล้วจะฝึกวิธีใดก็ได้แหละ

มุ่งใช้ความรู้จากการอ่านเรียนรู้มา สู่การปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง ยิ่งกว่านั้นแล้ว แค่รู้แจ้งเห็นจริงยังไม่พออีก ยังไม่ใช่จุดสูงสุด ยังต้องใช้ความรู้นั้นเพื่อสะสางอาสวะกิเลสให้ได้ ให้กลับไปสู่สภาวะทิพย์ที่เคยเป็นตั้งแต่ต้น แล้วเข้าสู่นิพพานให้ได้

ยิ่งกว่านั้นเส้นทางที่ต้องฝึกฝนยังอีกไกลไม่ใช่ง่าย ขอให้ฝึกสมถะกรรมฐานให้ได้ฌานก่อน อย่างน้อยต้องให้ได้ขั้นอุปจาระสมาธิ เอาแค่นี้ให้ผ่านก่อนดีกว่า


เทียบสาย

ขั้นของสมาธิตามที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านอธิบายไว้ ช่วยให้เข้าใจวิธีฝึกธรรมกายได้ดีขึ้นมาก เพราะธรรมกายมีวิธีฝึกที่แปลกแตกต่างจากวิธีอื่นและไม่กล่าวอ้างอิงเทียบสายเทียบชั้นกับวิธีอื่นเท่าใดนัก

อุคคหนิมิต = อุปจารสมาธิ = ดวงแก้วชัดเจนแจ่มใส สามารถบังคับให้สูง ต่ำ ใหญ่ เล็ก ได้ตามประสงค์ และเปลี่ยนสีเป็นสีใสสะอาด เป็นระดับที่ใช้อารมณ์ฌานในการวิปัสสนาและใช้ทำงานได้

ปฏิภาคนิมิต = อัปปนาสมาธิ = ปฐมฌานขึ้นไป = ดวงแก้วมีสีขาวใสสวยสดงดงาม มีประกายคล้ายดาวประกายพรึก อารมณ์สงบเงียบ อารมณ์จิตแนบสนิทไม่เคลื่อนไหว แม้เสียงจะดังกังวานเพียงใด จิตก็ไม่หวั่นไหว (ขั้นปฏิภาคนิมิตนี้สูงกว่าที่ผู้รู้ท่านอื่นซึ่งกำหนดข้อสังเกตุไว้ว่า เป็นขั้นที่สามารถกำหนดย่อขยายนิมิตได้ชำนาญเท่านั้น โดยไม่ได้เริ่มจากการเกิดประกายพรึก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ช่วงการฝึกย่อขยายขนาดนิมิตนั้นเป็นช่วงต่อระหว่างอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต)

ธรรมกายฝึกเพ่งดวงแก้ว เดินกายเดินดวง ซ้อนกายสับกาย ซ้อนสับทับทวี จึงเป็นการฝึกอุคคหนิมิต ในขั้นอุปจารสมาธินี้จิตยังสามารถใช้ทำงานได้ จึงยังกำหนดนิมิตให้ย่อขยายแล้วซ้อนกัน และเปลี่ยนเป็นสีใสสะอาด

ธรรมกายฝึกพิสดารกายสุดหยาบสุดละเอียด ตั้งดวงปฐมมรรคมีประกายคล้ายดาวประกายพรึก ทำกายและดวงที่ซ้อนกันอยู่ให้ใสสะอาดทุกกายและทุกดวง เป็นขั้นฝึกปฏิภาคนิมิตในระดับปฐมฌาน ซึ่งจิตจะนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหวแต่มีกำลังสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

ธรรมกายฝึกเดินอุคคหนิมิต - ปฏิภาคนิมิต – อุคคหนิมิต – ปฏิภาคนิมิต ติดต่อกันไปให้ชำนาญเพื่อให้จิตคุ้นกับการทำงานพร้อมกับมีจิตสงบเป็นหลักแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ เตรียมการไว้เพื่อออกสนามสู้กับกิเลสตัวจริง


วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

เทียบกาย

เมื่อเราฝึกสมาธิจนจิตและกายมีความละเอียดขึ้นเรื่อยๆ กายซึ่งเป็นธาตุหยาบให้จิตอาศัยจะมีสภาวะสอดคล้องกับสภาพระดับชั้นของจิตใจไปพร้อมกัน คล้ายกับตอนเราตายไปแล้วต้องละทิ้งร่างมนุษย์นี้ออกไป แล้วเกิดกายใหม่ตามสภาวะของบุญกรรมที่สร้างสมมา ธรรมกายฝึกให้พิจารณากายและสะสางธาตุธรรมในแต่ละกายในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่แหละ เพราะกายต่างๆล้วนซ้อนกันอยู่แล้ว เมื่อจิตละเอียดขึ้นจะสามารถรับรู้ถึงสภาวะของแต่ละกาย

กายมนุษย์ = จิตในสภาพปกติธรรมดา

กายทิพย์ = จิตในขั้นอุปจารสมาธิ = ภพสวรรค์

กายพรหม = จิตในขั้นรูปฌาน = ภพรูปพรหม

กายอรูปพรหม = จิตในขั้นอรูปฌาน = ภพอรูปพรหม

ตั้งแต่กายมนุษย์จนถึงกายอรูปพรหมนี้ ใช้กำลังของสมถะสมาธิ ต่อจากนี้ไปเป็นกายธรรม ซึ่งใช้กำลังของวิปัสสนาและตาพระธรรมกาย จัดการกับขันธ์ห้า อายตนสิบสอง ธาตุสิบแปด อินทรีย์ยี่สิบสอง อริยสัจจ์สี่


กายปลอม จิตเดียว

ปัญหาหนึ่งซึ่งผู้เริ่มฝึกธรรมกายเจอะเจอแล้วทำให้เลิกฝึกต่อก็คือ หลับตาลงแล้วไม่เห็นดวงไม่เห็นกายที่ตำราบอกไว้ สงบอย่างไรก็ไม่เห็น ยิ่งอยากเห็นยิ่งไม่สงบ พอเห็นบ้างแล้วอยากให้เห็นชัดขึ้น กลับไม่เห็นอีกแล้ว

ก่อนอื่นอย่าสนใจกับของปลอมของจริงให้มากนัก สิ่งที่มองเห็นในจิตเป็นเหมือนภาพที่เราฝันเห็น ไม่ได้ผ่านตาเนื้อ แต่เป็นภาพที่คิดนึกขึ้นในจิตเหมือนว่ากำลังฉายภาพบนสมอง ภาพนิมิตที่เห็นด้วยจิตนี้ย่อมมีความเป็นจริงในระดับสัมพัทธ์กับความละเอียดของจิต แม้จะไม่มีตัวตนจับต้องได้ด้วยกายหยาบ แต่ก็มีตัวตนในระดับของจิต นับว่าเป็นของจริงขึ้นมา

ขั้นแรกสุดของการเพ่งดวง เริ่มจากนึกภาพดวงแก้วที่เราจำได้ขึ้นมาก่อน แล้วเพ่งดวงแก้วจนกระทั่งเกิดดวงปฐมมรรคเป็นปฏิภาคนิมิต เป็นการใช้ดวงแก้วที่เราจำได้เป็นของปลอมเพื่อใช้ฝึกจิต

ต่อจากนั้นเพ่งเข้าที่กลางของกลางดวงปฐมมรรคดิ่งเข้าไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นเราจะไม่รับรู้สภาพของกายว่ามีตัวตนอยู่อย่างไรซึ่งอาจทำให้สติขาดที่ตั้งที่อาศัย ดังนั้นจึงให้กำหนดภาพกายทิพย์เกิดขึ้นขยายจากกลางดวงขึ้นมา แล้วให้วางดวงที่กลางกายทิพย์แล้วเพ่งเดินดวงเดินกายเกิดกายและดวงต่อไป (แบบนี้เรียกว่า ดวงนิ่ง เดินกาย)

อีกหนทางหนึ่ง ในขณะที่จิตดิ่งเข้ากลางดวงเห็นกายใหม่ใสละเอียดขึ้นกว่ากายเดิมนั้น พลังจากดวงที่จิตดิ่งเข้าไปจะส่องประกายออกมาสะสางธาตุธรรมกายหยาบภายนอก ดังนั้นแทนที่จะมุ่งกำหนดให้เกิดกายใหม่ผุดขึ้นจากกลางดวง อาจเลือกสะสางธาตุธรรมของกายเดิมให้กลายเป็นกายใหม่ที่ละเอียดขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยเพ่งเข้ากลางดวงให้พลังขยายออกมาห่อหุ้มและล้างกายหยาบ วิธีนี้น่าจะสอดคล้องกับการตั้งจิตที่จุดเดียว ณ กลางกาย และจิตนี้จะรับรู้สภาพของกายในแต่ละขณะจิตได้โดยตลอด และจะรับรู้ขนาดของกายละเอียดซึ่งจะมีขนาดโตเต็มที่ขยายขึ้นด้วย (แบบนี้เรียกว่า กายนิ่ง เดินดวง)

อีกแง่หนึ่งเป็นการตีภาษาในตำรา ที่ว่าเพ่งเข้ากลางดวงแล้วจะเห็นกายใหม่ผุดขึ้นมานั้น เป็นไปได้ว่ากายที่ผุดขึ้นเกิดจากดวงที่เปล่งประกายออกมา ทำให้กายละเอียดขึ้นตามรัศมีของดวง โดยเริ่มละเอียดขึ้นแผ่ออกมาจากศูนย์กลาง ซึ่งดูเหมือนเกิดกายใหม่ผุดขึ้น หากเป็นเช่นนี้แล้ว เดินกายย่อมเท่ากับเดินดวง

ใครถนัดเดินกายหรือเดินดวงได้ทั้งนั้น ฝึกให้ชำนาญทั้งสองวิธีเพราะจะเป็นฐานการฝึกเข้านิพพานด้วยกายธรรมและการฝึกเข้านิพพานด้วยกายมนุษย์ต่อไป ทั้งนี้ต้องไม่เพลินกับการเดินกายและดวงจนลืมฝึกให้เข้าขั้นฌาน


วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

สร้างบุญบนถนน

กรุงเทพรถติด ขับรถไร้วินัย ชีวิตเสียเวลาไปบนถนน คนรีบเร่งไปให้ถึงที่หมาย คนทุกข์เพราะกลัวว่าจะไปไม่ทันเวลา แต่บนถนนนี่เองที่เราสามารถให้ทานกับผู้อื่น ฝึกเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เอื้อเฟื้อเพื่อนร่วมใช้ถนน และพร้อมกันนั้นไม่เอาเปรียบผู้อื่นที่ใช้ถนนด้วยกัน อย่าเอาแต่ขับตามใจฉันจนถูกด่าข้างหลัง

บุญสร้างได้บนถนน สมาธิก็ฝึกได้บนถนน ยามขับขี่ให้มีสติอยู่กับการขับรถ ยามรถติดให้ฝึกภาวนาในใจ อย่าฝึกสมาธิจนทำให้จิตไม่อยู่กับการขับขี่


ทำเรื่องยากให้ง่าย

มุ่งฝึกสมาธิ ต้องค่อยๆดัดจิตจับใจให้ช้าลงจนความคิดอยู่ในกำมือ ฝึกการรับรู้ใหม่ไม่ว่าทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ฝึกให้อยู่ในความควบคุม ทีละอย่างจนชำนาญแล้วจึงค่อยเพิ่มความยากความซับซ้อนในภายหลัง

เดิมจากการมองเห็นภาพรอบข้าง ทั้งที่เห็นด้วยตาเนื้อและที่เห็นขึ้นในจิตเป็นเรื่องเป็นราว ให้เปลี่ยนมาเพ่งดวงแก้วกลมใส ซึ่งเป็นภาพง่ายๆ

เดิมจากการนึกถึงเรื่องต่างๆที่เคยจำ เรามักนึกถึงเรื่องราวที่เคยรู้เห็นมาก่อนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากการกระตุ้นจากการมองเห็น ให้เปลี่ยนมานึกถึงภาพลูกแก้วกลมใส พร้อมไปกับนึกถึงคำบริกรรมภาวนา

เดิมจากการคิดเรื่องต่างๆต่อจากการนึก และคิดเรื่องต่างๆเนื่องจากประสาทสัมผัสถูกกระตุ้น ให้เปลี่ยนมาคิดถึงและพยายามรักษาภาพนิมิตและคำบริกรรมภาวนาให้เกิดขึ้นไม่ขาดตอน

เดิมจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และใช้สติแบบวูบๆ ให้เปลี่ยนมาใช้สติตามรู้ถึงการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป ของภาพนิมิตและคำบริกรรม

นำเห็น จำ คิด รู้ มาประชุมพร้อมกันแบบง่ายๆแบบที่เราสามารถฝึกฝนจิตให้มีพลังได้มากขึ้น เมื่อจิตหยุด ก็เท่ากับเห็น จำ คิด รู้สมดุลกันพอดี สมาธิจึงเกิดขึ้น แล้วฝึกให้เกิดความชำนาญในการเข้าออกสมาธิได้ง่ายและรวดเร็ว


ฝึกเผื่อวันสิ้นยุค

ปี ค.ศ. 2000 เป็นเป้าหมายที่เราต้องฝึกสมาธิสำเร็จให้ได้ก่อนหน้านั้น หากเกิดเรื่องขึ้นมาจริงๆจะได้ใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น หากไม่เกิดเรื่องร้ายก็ถือว่าเราได้ทำดีไม่เสียอะไร คนที่ไม่ได้เผื่อไม่ได้เตรียมตัวไว้เลยนี่สิน่าเสียดายนัก หากเกิดเรื่องฉุกเฉินตายไปจะเกิดใหม่ไม่ดี

นี่ขนาดคนตั้งมากมายเริ่มเชื่อเริ่มใสใจ นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจกันจริงจัง ดาวหางพุ่งชนดาวพฤหัสให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว แต่ยังมีคนอีกมากยังประมาทกันอยู่อีก แม้หายนะอาจไม่เกิดกับตัวโลก แต่เห็นได้แล้วตอนนี้ว่า คนเรามีจิตใจเสื่อมโทรมลง เศรษฐกิจแย่หายนะไปก่อน แล้วต่อไปจิตใจคนเรามิแย่ดิ่งลงเร็วขึ้นหรือ


วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ทำไหวให้นิ่ง แล้วทำนิ่งให้ไหว

ปกติจิตคนเราไม่อยู่นิ่งและชอบเคลื่อนไหวเกิดอาการตามสิ่งที่รับรู้ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตใจคอยแต่จะส่ายอย่างไม่มีระบบ จนกระทั่งเราทำสมาธิ เพ่งหรือกำหนดจิตใส่ใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และใช้สติคอยตามรู้สภาวะในทุกขณะ จิตจึงสงบนิ่ง

เมื่อเกิดสมาธิ จิตจะสงบเกิดความปีติสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถ้าปล่อยให้จิตนิ่งแต่อย่างเดียวต่อไป จิตจะได้แต่ความสงบอย่างง่ายๆ เรียกว่าไม่ค่อยมีกำลัง ดังนั้นจึงต้องหาทางฝึกจิตให้เคลื่อนไหวอย่างมีระบบ และจับความนิ่งในอาการเคลื่อนไหวนั้นเป็นพลังขับดันให้เกิดความสงบนิ่งแบบแนบแน่นมากขึ้น จิตจึงเกิดสภาวะพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงมีหลักปักแน่นให้สมาธิรักษาตนเองได้ต่อไป สามารถใช้กำลังของจิตไปพิจารณาสภาวะธรรมและต่อสู้กับกิเลสได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นได้จากการหมุนตัวของเครื่อง ทำให้เกิดความสงบสว่างสะอาดและใส เมื่อจิตสงบจะพบเห็นกับการหมุนตัวนี้ หรือจะกำหนดให้หมุนเพื่อทำให้เกิดความสงบก็ได้ เครื่องของภาคปราบหมุนขวา เราต้องฝึกเพ่งเข้ากลางของกลาง เร่งการหมุนให้เร็วทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ใช้การคำนวณนำเวลานับอสงไขยปีมาทำให้สำเร็จในช่วงแค่หนึ่งวินาทีจิต แล้วชนเท่าเข้าไปอีกหลายๆเท่า เครื่องจะหมุนเร็วขึ้นเองอย่างที่เราไม่ต้องเหนื่อย

เมื่อเราฝึกหมุนเครื่องแล้วจะเกิดพลังที่แนบแน่น สามารถพิจารณาสภาวะธรรมได้ทั้งๆที่จิตยังคงนิ่งอยู่ พอกิเลสเงยขึ้น ก็ถูกฟันเปรี้ยง เป็นจังหวะที่เกิดขึ้นเร็วมาก เร็วกว่าการใช้ความนึกคิดพิจารณาในอารมณ์สมาธิขั้นต้น เป็นจังหวะต่อเนื่องกันระหว่างนิ่ง ไหว นิ่ง ไหว นิ่ง ไหว …. เร็วจนเหมือนเป็นจังหวะเดียว


ถัมมา อาระหาง

เวลาบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ต้องคอยกำหนดสติตามรู้ให้ชัดด้วยเสมอว่า ที่เรานึกบริกรรมภาวนาอยู่นั้น เพี้ยนเป็นคำอื่นไปหรือไม่ ภาวนาแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำจิตให้สงบ ไม่ต้องเพ่งอะไรเพิ่มเติมอีก ขอให้ฝึกบริกรรมภาวนาหรือบริกรรมนิมิตอย่างมีคุณภาพเสมอ เรียกว่าฝึกให้ละเอียดสุดละเอียด


ขโมยพลัง รับพลัง สร้างพลัง

ผลจากสมาธิจะทำให้เราไวต่อพลังรอบตัว สามารถรู้ว่าคนที่เข้ามามุ่งดีหรือร้าย จิตใต้สำนึกจะเด่นขึ้น ลางสังหรณ์จะแม่นยำมากขึ้น ดังนั้นเราต้องคอยติดตามศึกษาและปรับตัวเข้ากับสิ่งเหล่านี้ทีละเล็กทีละน้อย

เมื่อจิตสงบมีสภาวะละเอียดเทียบเท่ากับกับพลังต่างๆ จะสามารถสื่อถึงพลังเหล่านั้นได้ จึงต้องระวังไว้ว่า เราต้องไม่ขโมยพลังของผู้อื่น แต่ในทางตรงกันข้าม เราต้องพยายามสร้างพลังของตนเอง เพราะแรกเริ่มเดิมทีเราก็เคยมีสภาวะเป็นทิพย์มาก่อน เพียงแต่ถูกอวิชชาครอบงำปกปิดสภาวะทิพย์เหล่านั้น เมื่อจิตเกิดพลังจะสามารถกลั่นธาตุธรรม ย้อนผลหาเหตุ แล้วสะสางให้กลับสู่กำเนิดดั้งเดิมได้เอง

การขโมยพลังและรับพลัง อาจนำพลังร้ายมาสู่ตนโดยไม่รู้ตัว ยิ่งยุคนี้สภาวะแวดล้อมและธรรมชาติเต็มไปด้วยพิษภัย ดังนั้นจิตของผู้ฝึกต้องสะอาดบริสุทธิ์ก่อนเพื่อเกิดสภาวะสอดคล้องกับพลังที่จะ-ขอ-รับเข้ามา และยังต้องรู้จักรักษาพลังที่รับเข้ามาให้คงอยู่กับพลังของตนเองต่อไป


วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ฝึกพลังจักรวาล 1 - 2

สองวันนี้ไปเข้าอบรมหลักสูตรพลังจักรวาล ต้องฝึกเข้าสมาธิแบบใช้ลมหายใจเข้าทางจมูกแล้วหายใจออกทางปาก ร่วมกับการเพ่งกสิณไฟที่กลางหน้าผากแล้วเลื่อนไปที่กลางกระหม่อม และให้อาจารย์เปิดจักระให้ด้วย ใช้เวลาเดี๋ยวเดียว

หลักการของการใช้พลังจักรวาลรักษาคนนี้ ใช้มือของเราแตะที่จุดจักระเพื่อให้พลังจักรวาลไหลผ่านจากเราไปยังผู้ป่วย คล้ายว่าเราเป็นสายสะพานไฟให้พลังจากธรรมชาติไหลเข้าร่างจากตัวเราผ่านไปยังผู้ป่วย แสดงว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วยนั้น ปราณของผู้ป่วยอาจไม่ไหลเวียนเช่นปกติ จึงต้องอาศัยสื่ออื่นช่วยให้พลังกลับไหลตามปกติ

เข้าใจว่าเจตนาการมุ่งรักษาผู้ป่วยนี่เองที่ทำให้พลังที่ไหลเข้าร่างเราเป็นเฉพาะพลังที่ดี หากนำสมาธิหมุนเดินเครื่องเร่งดูดพลังแล้วพุ่งไปรักษาคนไข้ คงจะช่วยให้ได้พลังมากขึ้นในเวลาสั้นลง และใช้วิชชาธรรมกายสลายธาตุธรรมตัวเจ็บป่วยเพื่อล้างกรรมที่ต้นเหตุ


วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ฝึกกายฝึกจิต พร้อมกันไป

ชาวพุทธน้อยคนนัก ที่จะฝึกสมาธิ และน้อยกว่านั้นไปอีกที่จะฝึกกายและจิตพร้อมกันไป น่าเสียดายพลังที่จิตสร้างขึ้นว่าไม่ได้สนใจนำมาเสริมสร้างสุขภาพหรือแม้แต่ใช้รักษาโรคกันเท่าใด

วิชชาแก้โรคของศาสนาพุทธมีอยู่ ผู้รักษาต้องผ่านการฝึกจนสมาธิจิตเข้มแข็งก่อน ยากกว่าวิชาพลังจักรวาลหลายเท่า เพราะวิชชาแก้โรคเป็นของธรรมกาย ใช้ตาพระธรรมกายสอดส่องเข้าไปดูสาเหตุ แล้วแก้ที่ต้นตอของสาเหตุ แก้กันถึงกรรม

อย่างน้อยพอเราฝึกสมาธิสงบแล้ว จิตจะมีพลังพอที่จะนำไปใช้เดินลมปราณ พอจะนำกสิณที่เพ่งจนใสสว่างไปเพ่งบริเวณที่เจ็บป่วย เพื่อรักษาโรค

การเกิดเป็นมนุษย์เป็นโอกาสพิเศษกว่าเป็นเทพเทวดา ตรงที่กายมนุษย์เป็นกายหยาบมีความเข้มแข็งกว่ากายทิพย์ หากฝึกจนเข้านิพพานได้ด้วยกายมนุษย์จะดีกว่ามาก แต่ข้อเสียของกายมนุษย์ก็คือ มีอายุขัยจำกัด กว่าจะฝึกสำเร็จก็มักจะแก่เฒ่าเสียก่อน ดังนั้นเราต้องหาทางรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อจะได้มีเวลาฝึกด้วยกายมนุษย์ได้นานๆ


หนามยอก ใช้หนามบ่ง

คอยใช้สติตามรู้สภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในจิตดูให้ตลอด

  • ถ้าเผลอคิดเป็นคำพูด ให้แก้ด้วยบริกรรมภาวนาอย่าให้ขาดตอน
  • ถ้าได้ยินเสียงหนวกหู ให้ใจอยู่กับปัจจุบันแล้วฟังเสียงที่เราภาวนาในใจแทน
  • ถ้าเผลอคิดเห็นภาพ ให้แก้ด้วยบริกรรมนิมิตรูปร่างง่ายๆ เช่น ดวงแก้ว
  • ถ้ายิ่งสู้ ทำให้ยิ่งคิด ยิ่งไม่สงบ ให้ตามรู้ลมหายใจเข้าออกเฉยๆ
  • ถ้ารู้สึกทรมานเมื่อยขบ ให้พักจนสบายกายเสียก่อนจึงฝึกต่อไป
  • ถ้าสู้ไม่ไหว ให้ปล่อยจิตไปตามสบาย แล้วจิตจะเหนื่อย จะหยุดเองนั่นแหละ

ที่สำคัญคือ ต้องมีสติกำกับตามรู้ตลอดเวลา เพื่อแก้ไขทันที


ลืมตาแบบหลับตา

บางครั้งพยายามกำหนดภาพนิมิตดวงแก้วกลมใส อยากเห็นชัดๆ อยากเห็นใสๆ แต่ก็ไม่ชัดไม่ใส ให้หลอกตัวเองว่าไม่ได้หลับตาอยู่ทั้งๆที่กำลังหลับตาอยู่จริงๆ พอนึกว่าตนเองลืมตาเท่านั้นเอง จะเห็นภาพที่อยากเพ่งชัดขึ้นมาเอง ต้องฝึกนึกว่าลืมตาทั้งที่กำลังหลับตา


วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ปัจจุบัน

ฝึกจิตตามรู้สภาวะในปัจจุบัน ต้องรู้ว่าในแต่ละขณะเราใช้จิตทำอะไรอยู่ ไม่ว่าจิตกำลังนึกเห็นภาพ จิตกำลังจดจำ จิตกำลังคิด และจิตกำลังรู้

ความรู้สึกถึงความเป็นปัจจุบันในสมาธิ ต้องปล่อยความห่วงใยต่อสิ่งที่ผ่านเลยไป ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำปัจจุบันให้สั้นลงเรื่อยๆ จิตก็จะเฉียบคมขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกัน

หากจะคิดถึงอดีตอนาคต ต้องรู้เสมอว่าเรากำลังคิดนึกอะไรอยู่ในปัจจุบัน


ผู้ฟัง ผู้รู้

ฝึกภาวนาแล้วติดลม จิตจะภาวนาต่อไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เพราะขาดความสมดุล เพราะขาดผู้ฟังผู้ตามรู้ว่าในขณะนั้นๆเรากำลังภาวนาถึงคำอะไรอยู่ ดังนั้นเมื่อฝึกภาวนาต้องมีทั้งผู้ภาวนาและผู้ฟังพร้อมกันไป


สมาธิหมุน สมาธิจิตหมุนติ้ว

สมาธิหมุนเป็นวิธีทำให้สมถะกรรมฐานเกิดพลังมากขึ้นกว่าเดิม เป็นพลังที่เกิดขึ้นได้ด้วยความเคลื่อนไหวในความสงบนิ่ง เมื่อจิตคุ้นเคยกับสมาธิหมุนแล้ว จิตจะมีความมั่นคงเหมือนมีหลักปักยึดไว้ แม้จะใช้จิตคิดคำนึงหรือพิจารณาวิปัสสนาเรื่องยากเพียงไรก็ตาม จิตก็ยังคงมีกำลังมีความสงบนิ่งต่อไป


อยากได้ อยากมี อยากเป็น

ทรัพย์สมบัติทางโลกกว่าจะได้มาต้องดิ้นรนขวนขวาย เอาสิ่งหนึ่งของตนไปแลกมา แล้วสุดท้าย ไม่เราเองหรือทรัพย์เหล่านั้นก็สิ้นไปก่อน ลองพิจารณาดูเถิดว่า สิ่งที่ได้มานั้นมันคุ้ม มันเป็นกำไรของชีวิตจริงหรือไม่ ใครบ้างที่ว่าได้กำไร

ทรัพย์สมบัติทางธรรมกว่าจะได้มาต้องดิ้นรนขวนขวายเช่นกัน บางทีจะยากกว่าเสียด้วยซ้ำไป ทั้งๆที่ไม่ต้องค้นหาจากที่อื่นใดนอกจากภายในจิตเราเองก็ตาม วิธีฝึกจนเอาชนะจิตนั้นฟังดูเหมือนง่าย แต่พอลองปฏิบัติเอาจริงแล้วยากทีเดียว หากอยากได้อยากมีอยากเป็นเกินพอดีก็จะไม่ได้สิ่งที่หวัง จิตใจต้องนิ่งก่อน ตัดความห่วงกังวลทั้งหมด ฝึกจริงๆแล้วปล่อยให้จิตพัฒนาไปตามธรรมชาติ


ผิดก่อนถูก ถูกน้อยก่อนถูกมาก

ปัญญาความรู้ผิดๆที่ได้จากสมาธิ จะว่าผิดก็ไม่ถูกนัก เพราะเราจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงเท่าที่จิตจะทำความเข้าใจได้ วันนี้เข้าใจอย่างหนึ่ง แต่วันพรุ่งนี้อาจเข้าใจอีกอยากหนึ่ง ชัดเจนขึ้น ถูกต้องมากขึ้นตามระดับของสมาธิ

ความรู้ที่เกิดขึ้นยังยากที่จะนำไปอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ ยิ่งคนที่เอาแต่เรียนเขียนอ่านแต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ ยิ่งเข้าใจยากจนอาจเพี้ยนเป็นปฏิปักษ์กันไปเลย ความรู้จากสมาธิจึงเป็นความรู้ของคนนั้นๆ


ฟังธรรมฟังเทศนา อย่าเหมารวม

เวลาพระอาจารย์ท่านเทศนาสอนสั่ง ขอให้เลือกรับไปปฏิบัติให้ดีหน่อย เพราะคำสั่งสอนนั้นอาจมุ่งใช้กับเฉพาะผู้ฟังที่ท่านกำลังสอนตัวต่อตัวเท่านั้น หากเราจะเหมาเอาไปปฏิบัติอาจไม่เข้ากับจริตและสถานการณ์ของตนเองก็ได้


รู้มากรู้น้อย อย่าอวดรู้ อย่าหยุดศึกษา

พระธรรมที่ไม่ได้เขียนไว้มีมากกว่าที่เขียนไว้มากมายนัก อย่างที่เรียกว่าเทียบกันไม่ได้เลย เวลารู้เห็นอะไรแปลกหูแปลกตาก็อย่าเพิ่งรีบเชื่อหรือไม่เชื่อ อย่ารีบด่วนให้ความเห็นด้วยหรือคัดค้าน ขอให้นำไปทดลองปฏิบัติดูให้เกิดความรู้ด้วยตนเองขึ้นมาก่อน


วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พอฝึกสมาธิสงบจิตสงบใจดีแล้ว ก่อนออกจากสมาธิให้ฝึกแผ่เมตตา คิดถึงคุณและโทษของการมีและไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ส่วนสำคัญคือ อุเบกขา ซึ่งใช้เป็นตัววัดผลของการฝึกสมาธิว่าเราวางเฉยได้มากแค่ไหน

ในยุคนี้มีคนเลวมากขึ้น เวลาเราเห็นคนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตนเอง แทนที่เราจะเสียเวลาไปนินทาพูดถึงคนเหล่านั้น ให้คอยตามรู้จิตใจของเราเองดีกว่าว่า จิตใจเราตกต่ำลงไปในขณะที่เราพูดหรือคิดเรื่องเหล่านั้นหรือไม่ ขอให้เอาจิตเอาใจเราเองเป็นเครื่องศึกษา พยายามตามรู้ฝึกหัดใจให้รอดให้ได้


เห็น

การเห็นมีหลายลักษณะ ทั้งมองเห็น คิดเห็น รู้เห็น และความเห็น เวลาสอบจิตหลังจากออกจากสมาธิว่า เห็นอะไรบ้างในขณะที่เข้าสมาธิ จึงหมายถึงความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะการมองเห็นภาพนิมิต

การมองเห็นด้วยตาในมีความสำคัญอย่างยิ่งในการฝึกสมาธิ ด้วยปกติเราย่อมใช้ตาในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้นแม้ว่าในการฝึกสมาธิจะเริ่มต้นจากการหลับตาเนื้อ เพื่อตัดความกังวลจากการมองเห็นในช่วงแรก เพื่อนำจิตให้รวมตัวกันง่ายขึ้นก็ตาม เมื่อจิตเป็นสมาธิก็ย่อมทำให้ความสามารถในการรับรู้ทุกอย่างของเราว่องไวและเฉียบคมมากขึ้น จิตสงบรวมตัวแล้วจิตจะสว่าง ตาในจะเห็นนิมิตชัดเจนขึ้นเหมือนว่าเรากำลังนึกภาพขึ้นในสมอง

สาเหตุที่การฝึกสมาธิหลายอย่างไม่เน้นเรื่องตาใน แถมกำกับว่า หากเกิดเห็นภาพนิมิตขึ้นก็อย่าสนใจนั้น เป็นเพียงวิธีฝึกให้จิตกลับไปจดจ่อกับสิ่งที่ใช้บริกรรมเดิม เพื่อให้จิตเข้มแข็งขึ้นก่อน

ภาพทุกภาพที่มองเห็นในสมาธิ ก็เหมือนกับเรื่องทุกเรื่องหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นเอง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากสาเหตุ เมื่อจิตสงบได้ดีแล้วจึงค่อยใช้การเห็นด้วยตาในในการพิจารณาจากผลย้อนไปหาเหตุ เพื่อดับเหตุของเหตุ

ถ้าฝึกสมาธิได้ดีแล้วแต่กลับห้ามไม่ให้ใส่ใจกับการเห็นเลย ก็เหมือนกับบอกให้หลับตา แล้วตอบคำถามว่าสิ่งที่ตนกำลังจับต้องนั้นเป็นอะไร การใช้แค่ความรู้สึกสัมผัสย่อมสู้การมองเห็นไม่ได้


ภาพหลอน นิมิตลวง

สิ่งที่เห็นในสมาธิเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเท็จ อาจเป็นเรื่องที่จิตเราสร้างขึ้นเอง อาจเกิดจากความทรงจำในอดีตผุดขึ้นมา อาจเป็นผลจากธาตุอาหารที่ทานเข้าไป ดังนั้นอย่ารีบเชื่อการรู้เห็นเร็วเกินไปนัก

สิ่งที่เห็นด้วยจิตถือว่ามีตัวตนจริงๆ แต่อาจเป็นของจริงของปลอมไม่ตรงกับรูปร่างที่ปรากฏ การมีตัวตนในจิตนี้เทียบได้กับการมีตัวตนของพลังงานรูปหนึ่งก็ได้ แม้จับต้องไม่ได้ แต่สามารถทำให้จิตเราสุขทุกข์ขึ้นมา จึงถือว่าสิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งที่เคยถือว่าเป็นนามธรรมจึงกลายเป็นรูปธรรม ในสภาวะที่จิตละเอียดเทียบเท่ากับความละเอียดของนามธรรมเหล่านั้น


จบปริญญา กลับเรียนชั้นประถม

บางคนฝึกสมาธิแล้วจิตสงบเร็วมาก สามารถนำความก้าวหน้านี้ไปใช้ได้แล้ว แต่ยังไม่รู้ตัวเลยเอาแต่ฝึกขั้นต้นซ้ำอยู่นั่นแหละ บางคนฝึกสมาธิแล้วสงสัยว่าทำไมจิตยิ่งไม่สงบเลยพาลเลิกฝึก ทั้งที่จิตกำลังสงบได้อยู่แล้วและสามารถตามรู้อาการแสนซนของจิตได้ดี บางคนฝึกแล้วรู้สึกว่าตัวลอยหรือตัวหมุน แล้วทำให้เลิกฝึกอีกเหมือนกัน ทั้งหมดนี่เรียกว่า เพราะไม่รู้จักระดับขั้นของสมาธิ มีดีแล้วไม่ได้ใช้


ดูผลมุ่งผล อย่าติดรูปแบบวิธีการ

ฝึกสมาธิทำจิตให้สงบ พอสงบจิตจะสว่าง พอสว่างจิตจะรวมตัวเป็นดวงสว่าง ให้เจาะเข้ากลางของกลางดวงสว่าง ทำให้สว่างมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เจาะเข้ากลางเจอเครื่องหมุน เดินเครื่องหมุนขวาดิ่งเข้ากลาง ฝึกให้คล่องในแบบที่มีรูปแบบง่ายๆนี้ จนจิตเข้มแข็ง เข้าสมาธิได้ง่ายรวดเร็ว

ไม่สนใจว่าทำอย่างไรให้จิตสงบหรือทำไมจิตจึงสว่างขึ้นมาได้ แต่ให้คอยตามรู้ดูผล ฉวยโอกาสฝึกต่อเนื่องในขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ บางคนบางขณะบางเวลาจิตสงบได้เองโดยไม่ต้องภาวนา จึงให้ตามรู้ทราบสภาวะของจิตใจเราให้ดีเสมอ

บางคนติดที่คำว่าสมถะกับวิปัสสนา ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน แต่เวลาฝึกสมาธิจริงๆแล้วจะฝึกติดต่อกันสลับไปมาอย่างรวดเร็วตามความเข้มแข็งของจิต จิตจึงทำงานและนิ่งสลับกันต่อเนื่องกันเหมือนเป็นขั้นตอนเดียว เร็วกว่าเวลาที่เสียไปในการคิดถึงคำว่าวิปัสสนาด้วยซ้ำ

วิปัสสนาที่ได้ผลต้องอาศัยกำลังจิตที่แข็งแรงจากสมถะ ฝึกสมถะก่อนให้คล่อง ฝึกหมุนจนนิ่งจนคุ้นเคย ถึงเวลารบกันแล้วจะได้ฟันฉับเดียวเสร็จ


วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ทิศทางการมอง กับ ทิศทางการหมุน

เวลามองลงไปที่จานกลมแบนกำลังหมุนขวารอบตัวเองแบบตามเข็มนาฬิกา เราจะเห็นว่าจานนี้หมุนขวา แต่ถ้ายกจานนี้ขึ้นให้หมุนอยู่เหนือหัวของเราแล้วมองขึ้นไปที่จานเดิม จะเห็นว่าจานหมุนซ้าย ดังนั้นการหมุนซ้ายขวานี้ใช้ไม่ได้กับการมองจากด้านหน้าหลัง บนล่าง หรือซ้ายขวาของสิ่งนั้น

หลักการหมุนขวา ต้องหมุนขวาในทุกด้านและในทุกอณู เป็นเหมือนรูปทรงกลมแบบผลส้ม ที่หมุนขวารอบตัวเองไม่ว่าจะมองจากด้านไหน การมองต้องมองจากด้านนอกเข้าไปยังภายใน มองเล็งไปที่จุดศูนย์กลางของทรงกลม แต่เนื่องจากมนุษย์มองด้วยตาเนื้อจึงเห็นรูปทรงกลมเป็นเหมือนแผ่นกลมแบนกำลังหมุนขวารอบตัวเอง

เวลาส่งพลังจะหมุนพลังไปทางขวารอบแนวทิศทางของการส่งพลังไปยังผู้รับ ดังนั้นผู้รับจึงเห็นพลังหมุนซ้ายกำลังพุ่งเข้าหาตน แต่ถ้ามองจากบุคคลที่สามจะเห็นว่าพลังหมุนขวาเข้าสู่กายของผู้รับ

อย่าลืมว่าเครื่องของภาคปราบหมุนขวา ถ้าเราเห็นว่าหมุนตรงข้ามให้กำหนดให้หยุดหมุน แล้วผลักให้หมุนขวาให้เร็วที่สุด ยิ่งหมุนเร็วยิ่งดี


คำนวณเพื่อเร่งความเร็วของการหมุน

จิตสงบนิ่งเพ่งเข้ากลางของกลาง ไม่ต้องส่งจิตไปหมุนแบบเรายื่นมือไปจับใบพัดหมุน ถ้าทำแบบนี้จะเหนื่อยและไม่หมุนเร็วอย่างที่ควร จิตก็ไม่สงบเสียอีก

เราเร่งเครื่องให้หมุนเร็วมากขึ้นได้ด้วยการกำหนดจิตเหมือนกำลังคิดเลขในใจว่า ขอให้เห็นการหมุนที่เกิดขึ้นในชั่วอสงไขยปีให้เสร็จในเวลาเพียง 1 วินาที เพียงแค่นี้เครื่องจะหมุนเร็วมากขึ้นเอง ต่อจากนั้นให้คำนวณทับทวีขึ้นอีกเหมือนใส่เลขยกกำลังสองกำลังสามเข้าไป เครื่องจะหมุนเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ


ธรรมกาย คู่กับ ธรรมจักร

เมื่อหมุนธรรมจักรเจาะเข้ากลางของกลาง จะสะสางธาตุธรรมและอาสวกิเลสให้ละเอียดและใสสะอาดมากขึ้น ทำให้เกิดกายใหม่ที่ละเอียดมากขึ้นตาม จนเกิดเป็นธรรมกายสุดละเอียดต่อไปได้เรื่อยๆ


แสงสว่างในจิตทำให้เห็นชัด

จิตสงบทำให้หมุน เครื่องหมุนทำให้จิตสงบ เป็นสิ่งที่เป็นกำลังขับเครื่องต่อเนื่องกันไป การหมุนทำให้จิตใสละเอียดและสว่าง พอมีแสงสว่างที่จิตสร้างขึ้นก็จะเห็นนิมิตชัดเจนขึ้นเอง

ต้องกำหนดจิตที่กลางของกลาง มุ่งทำจิตให้นิ่งพร้อมกับกำหนดจิตให้หมุนรอบข้าง แต่จิตยังคงปักหลักแน่นเข้ากลางของกลางต่อไป หากเห็นดวงใหม่ผุดขึ้นให้เดินดวง หากเห็นกายใหม่ผุดขึ้นให้เดินกาย แล้วกำหนดจิตเข้ากลางกายต่อไป

ระวังความอยากเห็นจะทำให้ไม่เห็น อยากเห็นชัดทำให้เห็นไม่ชัดหรือทำให้จิตวุ่นมากขึ้นแทน หากอยากเห็นชัดต้องทำจิตให้สงบ ทำจิตให้สบาย นึกเสียว่าเป็นของง่ายๆ พอจิตสงบแล้วก็จะเห็นชัดขึ้นเอง


เห็น จำ คิด รู้ ต้องสมดุล

ก่อนจะเห็น ต้องหัดจำ พอจะเริ่มเห็น ต้องหัดคิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นเคยจำมาก่อน พอเห็นแล้วต้องหัดติดตามรู้อยู่ตลอดเวลาให้ดำรงสิ่งที่เห็นนั้นต่อเนื่องกันไป นี่เป็นการฝึกจากเพ่งของปลอมเพื่อทำจิตให้สงบ

พอจิตสงบเกิดเห็นปฏิภาคนิมิต ต้องทำให้เห็น จำ คิด รู้ นี้สมดุลกันต่อไปอีกเพื่อให้จิตนิ่งสงบต่อเนื่องต่อไป ถ้าเกิดเห็นของจริงขึ้นมา ทำให้ตื่นเต้นและมักอยากเห็นให้ชัดเลยทำให้ขาดรู้ ภาพนิมิตก็จะหายไป

พยายามฝึกให้รู้อยู่เฉยๆ ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในระหว่างเข้าสมาธิไม่ต้องใส่ใจนำไปตีความหรือทำความเข้าใจแบบที่มนุษย์คุ้นเคยมาก่อน


วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ความพอใจ

เมื่อมีความพอใจในการฝึกสมาธิ จะทำให้เกิดความอยากและขยันฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หากฝึกสมาธิแล้วเกิดความพอใจและสุขใจเป็นผล ย่อมดีกว่าฝืนฝึกหรือฝึกเพื่อความอยากได้

ในระหว่างเข้าสมาธิก็ต้องมีความพอใจอีกเหมือนกัน จะได้ไม่เกิดความสงสัยซึ่งทำให้จิตขาดความสงบ อย่างไรก็ตามเมื่อออกจากสมาธิแล้ว ต้องหันกลับไปใคร่ครวญพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างเข้าสมาธิด้วย ว่าเราต้องก้าวเดินต่อไปอย่างไร มิใช่เอาแต่พอใจกับความสำเร็จง่ายเกินไป


วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ความพอดี

ความพอดีกับทางสายกลางมีประโยชน์อย่างเดียวกัน ขอแต่เพียงใช้ทางสายกลางให้เหมาะกับแต่ละคนและแต่ละจังหวะเวลา อย่าคิดว่าทางสายกลางคือความสะดวก แต่ทางสายกลางต้องให้ความพอดีที่จะฝึกปฏิบัติตนตามหลักทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้ใช้ความพอดีเพื่อฝึกสมาธิและทำตนทำจิตใจให้สามารถได้มรรคผลนิพพาน


ภาวนาแค่นี้ ทำไมยากจัง

ลองฝึกภาวนาคำว่า สัมมา อะระหัง พยายามไม่ให้ขาดจังหวะ คุมจิตให้รู้ตัวอยู่แค่กับคำภาวนานี้อย่างเดียว แต่ทำไมเราจึงทำได้แค่เดี๋ยวเดียว แล้วจิตใจก็เผลอไปที่เรื่องอื่นอยู่เรื่อย

ฝึกสมาธิต้องมีความพร้อม สมาธิไม่ต้องการเวลาว่าฝึกนานแล้วย่อมดีกว่าฝึกช่วงสั้นๆ แต่น่าขึ้นกับคุณภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกแต่ละครั้งมากกว่า คอยกำหนดสติตามรู้อาการสถานะของจิตใจตลอดเวลา เมื่อใดที่จิตสงบรวมตัวกันก็ต้องรีบฉวยจังหวะนั้นฝึกขั้นต่อๆไป จะเดินดวงเดินกายก็ได้

หากร่างกายเหนื่อยมากก็ไม่เหมาะจะฝึกสมาธิ หากทำงานมีเรื่องติดสมองเพราะยังหาทางแก้ไม่ได้ ก็ยังอาจใช้การกำหนดลมหายใจช่วยให้จิตรวมตัวได้ เมื่อเทียบอุปสรรคจากกายกับจิตแล้ว ช่วงฝึกแรกๆนี่เห็นว่ากายเป็นอุปสรรคมากกว่าจิตเยอะ แต่เมื่อฝึกจนละเอียดมากขึ้นแล้ว จิตนี่แหละเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ


ดวงตาเห็นธรรม

คนเราส่วนมากฝึกสมาธิแล้วมุ่งวิปัสสนากันเร็วเหลือเกิน พอจิตใจสงบได้หน่อยก็หันมาพิจารณากันแล้ว หากเป็นอย่างนี้ทำไมจึงไม่มีผู้ที่บรรลุกันเยอะๆเล่า วิถีทางที่จะบรรลุได้น่าจะยากกว่าที่เราเข้าใจกัน หรือไม่ก็ต้องเป็นอีกแนวทางของการเข้าใจ อาจเป็นวิธีเข้าใจเรื่องราวต่างจากที่เราเคยใช้กัน

สมาธิทำให้ความสามารถในการรับรู้ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจดีขึ้นมาก การเข้าใจเรื่องต่างๆด้วยการเห็นน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการนึกคิด ยิ่งกว่านั้นการเข้าใจเรื่องต่างๆขึ้นมาเองด้วยการรู้ขึ้นมาเอง น่าจะเป็นทางที่ช่วยให้เกิดความรู้เห็นของจริงโดยไม่ต้องใช้สมองคิด นึก ซึ่งต้องพึ่งพาความจำที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคำหรือภาษาไทยที่ใช้ในการคิด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะจิตที่สงบนิ่งจะมีวิธีทำงานในแบบของจิต ซึ่งอยู่เกินกว่าการควบคุมและเข้าใจของมนุษย์

เราควรฝึกจนเกิดดวงตาเห็นธรรม แล้วใช้ดวงตานี้เรียนรู้และจัดการกับอาสวกิเลสทั้งหลาย เมื่อจิตหมุนดิ่งเข้ากลางของกลาง จะเกิดสิ่งผุดรู้ผุดเห็นขึ้นมาเอง เปรียบเสมือนการยกเรื่องต่างๆมาให้พิจารณาแบบที่เราเข้าใจกันว่าเป็นวิปัสสนา แต่สิ่งที่ผุดขึ้นมานี้จะเกิดขึ้นได้ทั้งที่จิตอยู่ในฌานของสมถะ เนื่องจากสมาธิหมุนเป็นสมาธิที่ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาพร้อมกันไป จะว่าเกิดขึ้นในขั้นอุปจารสมาธิหรือไม่ก็คงต้องรอให้จิตสงบกว่านี้ก่อนจึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง บางทีอาจต้องโยนตำรับตำราทิ้งเพราะเป็นเรื่องราวที่ไม่สามารถหาคำบรรยายใดๆ


วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ฟ.ส.ก.

เมื่อคืนวานนำหนังสือนี้ไปถวายหลวงพ่อที่วัดเทพศิรินทร์ ท่านอายุ 92 ปีแล้ว ท่านเอ่ยว่า เดินทางนี้ถูกต้องดีแล้ว และถามว่า ฟ.ส.ก. ย่อจากอะไร จึงขอบอกท่านผู้อ่านไว้กันสงสัย

ฟ. เป็นชื่อย่อของนามสกุล ส. เป็นชื่อย่อของตนเอง ก. เป็นช่อย่อของคู่สมรส หรือจะมาจากคำว่า 4Zr Group (Foreseer Group) ก็ได้


เสียงแท้

ก่อนจะภาวนาคราวนี้ลองพูดออกเสียงว่า สัมมาอะระหัง เปล่งเสียงให้ตนเองได้ยิน แล้วจึงบริกรรมภาวนา นึก ถึงคำบริกรรมและเสียงที่ตนเองบริกรรม ซึ่งให้ความรู้สึกที่ต่างจากการนึกคิดคำบริกรรมเฉยๆมาก ทำให้จิตมีความละเอียดมากขึ้นและได้ตัวเปรียบเทียบว่า เรานึกถึงเสียงได้ชัดเหมือนที่เคยหรือไม่

เสียงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่เดี๋ยวเดียวก็จางหายไป แต่จิตสามารถนึกถึงคำบริกรรมทำให้เสียงมีตัวตนขึ้นมาใหม่ เหมือนกับที่เคยอ่านหนังสือพบว่า มีวิธีฝึกจิตให้นึกถึงเสียงระฆังที่ถูกตี ใช้จิตกำหนดวิตกและวิจารยกเสียงระฆังที่ดังขึ้นครั้งเดียวนั้นให้ดังตลอดไปในจิต


รู้สึกถึงพลัง

หลักการฝึกชี่กง (Chi Kung, Qi Gong) เน้นว่านอกเหนือจากการฝึกท่วงท่าของร่างกายแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การรู้สึกรับรู้ถึงพลังและนำไปประสานกับท่วงท่าร่างกาย เช่น เมื่อหายใจเข้าให้นึกถึงพลังที่ไหลเข้าทางยอดศรีษะแล้ววิ่งมาที่กลางกายรวมกันบริเวณสะดือ พอหายใจออกให้นึกถึงพลังไหลไปยังอวัยวะบริเวณที่ต้องการ

Chi = ชี่ หมายถึงพลัง Kung = ศิลปะ ดังนั้นจึงเป็นศิลปะของการฝึกพลัง หากฝึกได้แต่ท่วงท่าแต่ไม่ได้สื่อถึงพลังก็ยังไม่ใช่ ชี่กง และในระดับสูงยังไม่ต้องใช้ท่วงท่าก็สามารถฝึกพลังได้ลึกซึ้งกว่าด้วยซ้ำ

ในการฝึกลมหายใจอภิญญา ต้องพยายามสื่อพลังจากรอบด้านให้ไหลเข้าร่างกายทุกทิศทุกทางรอบร่างกาย แล้วนำพลังอัดเข้ากลางกายฐานที่เจ็ดเป็นดวงสว่าง เหมือนทุกอณูของเนื้อเยื่อกำลังหายใจดูดพลังเข้ามาเองโดยไม่ต้องผ่านปอด จะเกิดความรู้สึกซ่ายิบๆทั้งร่างกาย


เริ่มนับ 1 ใหม่

เมื่อคืนนี้หมาบุกปีนรั้วมุดรั้วตกน้ำกลางดึก พอกลับมานอนกว่าจะหลับได้ตั้งนาน พยายามบริกรรมภาวนาแล้วยังสู้อารมณ์ไม่ได้ รู้สึกเลยว่าเป็นพลังแรงมากๆทำให้ตึงไปหมดทั่วตัว พอรุ่งเช้าตื่นขึ้นก็สงสัยว่าเผลอหลับไปได้ตอนไหนกัน แต่ร่างกายผ่อนคลายกลับมาเหมือนเดิมแล้ว

ตอนเช้ากะว่าจะทำรั้วใหม่ คิดวางแผนหาทางแก้ไขหลายๆอย่าง จิตไม่สงบแม้จะพยายามภาวนาอย่างเดียวหรือภาวนากำกับจังหวะลมหายใจก็ตาม จึงใช้วิธีซึ่งง่ายที่สุด เพียงแค่นับตัวเลขกำกับครั้งที่หายใจ หายใจเข้าออกครบรอบหนึ่งให้ภาวนานับหนึ่ง รอบต่อไปนับสอง ต่อไปเรื่อยๆจนถึงสิบ แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ด้วยวิธีนี้จิตจึงค่อยสงบขึ้น


จิตสว่างถือเป็นนิมิตอย่างหนึ่งหรือไม่

หลวงพ่อพุธสอนว่า ถ้าจิตสงบแล้วมืดลงอย่างนี้เรียกว่า โมหะสมาธิ ซึ่งยังใช้ไม่ได้และเท่ากับทำให้จิตว่างแบบที่ไม่รู้ตัวตน ต่างจากวิธีที่ถูกต้องซึ่งพอจิตสงบรวมตัวลงจะเกิดอาการสว่าง และยังมีสติตามรู้ได้ตลอด

แม้ไม่ได้เพ่งกสิณแต่จิตสว่างขึ้นมาได้ แสดงว่าเมื่อสงบจะทำให้ตาทิพย์ทำงานขึ้นมาเอง เป็นลำดับอาการปกติที่เกิดขึ้นของการฝึก ดังนั้นที่สงสัยกันว่าในการเข้าสมาธิลึกๆแล้วไม่เห็นอะไรเลย จึงไม่น่าจะถูกต้อง ถ้าถือว่าจิตที่สว่างขึ้นเป็นนิมิตอย่างหนึ่ง ย่อมแสดงว่าการฝึกสมาธิหนีการใช้ภาพนิมิตไม่ได้


วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2541

หายใจแบบเด็กๆ

ตามหลักของชี่กงเน้นให้หายใจแบบเด็กๆโดยใช้การยกตัวและเลื่อนต่ำลงของกระบังลมเป็นการหายใจแทนการเคลื่อนตัวของปอด พอกระบังลมเลื่อนต่ำลงจะทำให้ท้องพองในขณะหายใจเข้า พอกระบังลมยกตัวขึ้นจะทำให้ท้องยุบในขณะหายใจออก การหายใจแบบเด็กๆนี้จะดึงพลังงานปราณหรือชี่เข้าสู่ร่างกาย ที่ยากคือเราต้องปล่อยกายให้หายใจเองตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันนั้นจิตกำหนดให้พลังไหลเข้าและเคลื่อนที่ภายในร่างกาย

หากวิเคราะห์วิธีฝึกสมาธิตามรู้อาการพองยุบของหน้าท้องเทียบกับการตามรู้ลมกระทบสามฐานของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ จะเห็นว่าเน้นให้ลมเข้าจนสุดทางหรือฝึกหายใจแบบเด็กๆนี่เอง


ตัวรู้หนีงาน

ถ้าจับตัวรู้ให้ได้ตลอดจะเท่ากับจับจิตตนเอง การที่จิตยังแล่นไหลไปคิดจินตนาการเป็นผลจากสิ่งเร้าทั้งจากนอกในร่างกายจิตใจ นิมิตที่เพ่งอยู่ต้องมีความชัดเจนและดึงดูดความสนใจของตัวรู้พอควร มิฉะนั้นจิตจะไม่เกิดความใส่ใจพอเพียงที่จะยกนิมิตนั้นเพ่งไว้ตลอด

ถ้าสิ่งเร้ามีมากจนไม่สามารถกำหนดจิตตนเองไว้ได้ก็ต้องหาทางลดสิ่งเร้าลง โดยเฉพาะ ลดการสังคมยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น เช่นเดียวกับที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำสอนว่า ถ้าจะฝึกหัดสมาธิอย่างจริงจัง จะต้องเลิกสนใจคนอื่นๆ แล้วหันมาใส่ใจกับเรื่องของตนเท่านั้น คล้ายกับคำสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน หรือ หากอยากได้ธรรมะ ก็ต้องทำเอาเอง แต่นี่ไม่ได้สอนให้เห็นแก่ตัวนะ เพราะเรายังยึดถือหลักพรหมวิหารสี่


แรงดึงกลับสู่สังคม

หลายคนเป็นมนุษย์สังคม บอกว่าขาดเพื่อนไม่ได้ หยุดทำงานเป็นเกลียวไม่ได้ หากหยุดงานแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อไป คงเบื่อสุดๆ บางคนยังหวังพึ่งพาสังคมเพื่อนฝูง กลัวว่าเมื่อเกิดปัญหาชีวิตแล้วไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครดี เมื่อเป็นอย่างนี้เท่ากับชีวิตเราผูกพันยึดติดกับสิ่งอื่นนอกตัวใช่ไหม เหมือนเรากำลังถูกสังคมชักใย แทนที่เราจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถทำให้ตนเป็นผู้ลิขิตชีวิตของตัวเอง

ผลกรรมเป็นตัวหนุนนำให้หลายคนเห็นสังคมเป็นโลกของตน รอจังหวะที่จะถ่ายกรรมกันไปกันมาในสังคมนี่แหละ เหมือนกำลังสานตาข่ายหนาขึ้นทุกที ผูกพันรอเวลาให้กรรมสนองกรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว สังคมเป็นแหล่งรอชดใช้กรรม เดี๋ยวโชคดีเดี๋ยวโชคร้าย ชีวิตมีขึ้นมีลง ไม่แน่นอนสักอย่าง กรรมเขาล่อไว้ให้ติดอยู่ในสังคมติดอยู่ในลาภยศสรรเสริญ รอไว้จนตายใจเสียก่อน

ลองสังเกตว่า คนที่อยากหันหน้าสู่ทางธรรม มักจะเกิดเรื่องมาขวางทางเดินนี้อยู่เสมอ บางคนยิ่งปฏิบัติธรรมแล้วยิ่งรวย เหมือนสิ่งที่ยกมาล่อให้เผลอใจกลับมาติดกับดักแล้วจะได้เลิกปฏิบัติธรรม

สำหรับคนที่ขยันทำงานจนขาดงานไม่ได้ คนพวกนี้กลัวว่าจะเหงาจะทนอยู่คนเดียวไม่ได้ ขอให้ลองฝึกสมาธิดูก่อน ลองทดสอบว่าตนสามารถทำสมาธิได้ง่ายกว่าที่ตนทำงานหรือไม่ แล้วจะพบว่างานนอกกับงานในจิตนั้นใครทำยากกว่ากัน และผลที่ได้รับนั้นชอบใจกว่างานนอกไหม ไม่ลองของจริง ก็ไม่มีทางได้ของจริง


รู้อดีต รู้อนาคต

คนทั่วไปมองไม่ออกหรอกว่า ทำไมเรื่องนั้นเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น จนกว่าจะสามารถย้อนอดีตไปดูสาเหตุที่มาเมื่อแต่หนหลังได้ ผู้ที่รู้อดีตที่มาของกรรมและรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมสามารถหาทางให้กรรมนั้นยุติลง

บางคนยึดว่าการใช้พลังจิตมองอดีตมองอนาคตเป็นอวิชชา อวิชชาเป็นอวิชชาก็จริง แต่บางทีเราต้องใช้พิษแก้พิษ เมื่อหมดพิษแล้วจึงค่อยลดละเลิกอวิชชา อวิชชาเป็นอวิชชาต่อเมื่อเราใช้ไม่เป็นวิชชา

เมื่อรู้อดีตแล้วยังทำให้ปลงในชีวิตและเบื่อหน่ายต่อการเวียนว่ายตายเกิด ชาติก่อนๆเคยเกิดมาเป็นทั้งคนและสัตว์ มีทุกข์สุขต่างระดับกัน หมูหมากาไก่ในวันนี้ อาจเคยเป็นคนรู้จักกันมาก่อนทั้งสิ้น เราเขาไม่ได้ต่างกันเลย


หัดตาย

เมื่อฝึกสมาธิแล้วจิตยังติดกับภาระทางกายและใจจนไม่สามารถสงบจิตสงบใจ ขอให้ฝึกหัดตายเลยทุกครั้งที่ฝึกสมาธิ เมื่อตายแล้วเรื่องที่ยังติดค้างในโลกนี้ก็หมด ตายไปแล้วเราจะกลับมาทำอะไรได้อีก แล้วใครบ้างที่รู้ว่าจะตายเมื่อใด เอาเป็นว่าลองตายลงเดี๋ยวนี้เลย ทำให้หมดห่วงหมดกังวลแล้วจิตจะสงบได้ง่ายขึ้น

พอตายไปแล้ว กายก็กลายเป็นศพ เป็นแต่ธาตุน้ำดินไฟลมและวิญญาณที่กำลังสลายตัว จิตเป็นแต่เพียงผู้อาศัยกายที่บอบบางนี้ชั่วคราวเท่านั้น หัดตายปุ๊บ แล้วจะเหลือแต่จิตตัวเดียวปั๊บ นี่เป็นคำสอนของหลวงพี่แดง วัดปากน้ำ


วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ฤทธิ์

บางคนบอกว่า การฝึกสมาธิเพื่อฤทธิ์ เพื่อเกิดญาณย้อนดูอดีตได้นั้นไม่ใช่ทางสายที่ถูกต้อง ซึ่งถูกต้องตามที่เขาว่าหากมุ่งเอาฤทธิ์เป็นเหตุให้ฝึก แต่ถ้าฝึกสมาธิแล้วได้ฤทธิ์เป็นผล ก็เห็นว่าถูกอีกเหมือนกัน ขอให้ลำดับเหตุผลให้ได้ว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง ถ้าคนพูดเป็นผู้มีฤทธิ์หรือเคยผ่านประสบการณ์นี้มาก่อนก็จะดีกว่ามาก ขออย่ากลัวว่าฤทธิ์ไม่ดีเสียจนไม่ได้เริ่มฝึกสมาธิ กว่าจะฝึกถึงขั้นนี้ต้องสงบต้องผ่านฌานขั้นสูงซึ่งคนทั่วไปทำไม่ได้หรอก ไม่ใช่ทำฤทธิ์ปลอมๆหลอกให้ดูก็เชื่อ


ประโยชน์บางอย่างของสมาธิหมุน

ถึงขั้นนี้พอจะได้รับประโยชน์จากสมาธิหมุนอยู่บ้าง เช่น ทำให้เกิดปีติง่าย ร่างกายรับรู้ถึงพลังที่ไหลเวียนเข้าสู่ร่างกาย พอหมุนเร็วขึ้นจะเกิดความสว่างอัดเข้ากลางแล้วแสงแผ่ออกรอบด้าน เมื่อเดินเครื่องแล้วจิตจะเดินต่อไปเอง ทำให้สมาธิทรงตัวได้นานขึ้น


สิ่งที่เป็นความรู้สึก

ความรู้สึกถือว่าเป็นนามธรรม เป็นผลจากการกระตุ้นผ่านอวัยวะรับรู้ของร่างกาย เมื่อความรู้สึกเกิดขึ้นจะทำให้เกิดผลย้อนกลับไปสู่ร่างกาย หัวใจอาจเต้นช้าเร็วผิดไป ปอดจะหายใจสั้นยาวช้าเร็วต่างไป ม่านตาขยาย หน้าตึง หรือทำให้ขมวดคิ้ว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นของที่พิสูจน์ได้ว่า ธาตุต้นตอของความรู้สึกนี้มีตัวตนอยู่จริง แม้เราจะมองไม่เห็นแต่สามารถใช้ระบบประสาทอื่นๆรับรู้ได้

เมื่อจิตสงบเกิดตาทิพย์ จิตจะเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นมาก่อน เพราะจิตมีความสะอาดละเอียดมากขึ้น สิ่งที่เคยเป็นแค่นามธรรมจะปรากฏตัวเป็นรูปร่างขึ้นมา บางคนเห็นเป็นรูปสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เป็นความรู้สึกแต่ละอย่าง เช่น เห็นเป็นรูปมงกุฎแสดงถึงความอยากในอำนาจ เห็นแสงสีต่างๆตามอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ

คาดว่า พอจิตสงบต่อไปมากขึ้น เห็น จำ คิด รู้ รวมกันได้สนิท สิ่งที่ว่าเป็นการเห็น สิ่งที่ว่าเป็นความรู้สึก จะกลายเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาเฉยๆ รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วดับไป ไม่ได้แยกว่านี่เป็นการเห็นหรือการรู้สึก หรืออาจะเป็นทั้งรู้ทั้งเห็นอย่างที่เรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริง


วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ใช้กายกับเวทนา ค้นหาจิตกับธรรม

เป้าหมายขั้นหนึ่งของการทำสมาธิ คือ การค้นหาจิตของตนเองว่าประกอบด้วยธรรมอย่างใดบ้างจากกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม แยกธาตุแยกธรรมเพื่อสะสางให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ทำหยาบให้ละเอียดสุดละเอียด

แต่กว่าจะชะลอความเร็วของจิตที่ส่ายไม่เป็นระเบียบ ให้หยุดลงแล้วปรับให้จิตหมุนเป็นระเบียบได้ กายกับเวทนาเป็นอุปสรรคที่สำคัญมาก เพราะเรายึดติดกับกายมานาน ถือความเป็นเจ้าของกายนี้ เกิดอารมณ์เวทนาก็เพราะกายนี้ จนแยกไม่ออกว่าตัวตนแท้จริงของเรานั้นอยู่ที่ใด

พอมีการรับรู้ แทนที่จิตจะรับทราบเฉยๆก็ยังต่อเติมเสริมแต่งให้เกิดความคิดเวทนาต่อเนื่องไปอีก เราจึงไม่สามารถเห็นเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆได้จริง สภาวะปัจจุบันจึงดำเนินต่อไปต่างจากจุดเวลาที่เกิดการรับรู้ ปัจจุบันจึงไม่เป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง เช่น แค่กำหนดจิตตามรู้ขณะเดินจงกรม พอรู้ว่ายกเท้า แต่จิตคิดเป็นคำภาษาไทยว่า “ยก” เพียงเท่านี้จิตก็รับรู้ช้ากว่าสภาวะปัจจุบันที่แท้จริงเสียแล้ว


เพ่งให้ใส

หากจิตเกิดเห็นนิมิตอื่นใดต่างจากดวงแก้วกลมใส ให้เพ่งที่ภาพนิมิตอื่นที่เห็นนั้น กำหนดเป็นดวงแก้วเล็กๆทุกอณู หมุนปั่นเข้ากลางแต่ละดวง กระจายแสงสว่างทำให้ใสไปหมด แล้วกลั่นรวมตัวกันเป็นดวงเดียว เพื่อเพ่งต่อเข้ากลางของกลาง


สมาธิหมุน มีหยุด มีหมุน

สิ่งที่ยากของการฝึกสมาธิหมุน อยู่ตรงที่ต้องกำหนดจิตดิ่งเข้ากลางเหมือนว่าจิตหยุด แล้วในขณะเดียวกันรู้ถึงกระแสพลังที่หมุนอยู่รอบด้านด้วยความเร็วสูงอย่างเหลือเชื่อ จิตต้องแบ่งให้กับสองส่วนนี้พอดีกันทั้งหยุดและหมุน จึงจะฝึกดิ่งเข้ากลางต่อไปได้นานๆ และจะเกิดพลังขับเครื่องต่อไปได้เอง

หากอยากให้หมุน จะไม่หมุน แต่จิตต้องหยุดให้ได้ก่อน ใช้วิธีเช่นเดียวกับการเพ่งกสิณทั่วไป มุ่งทำเห็น จำ คิด รู้ให้มาประชุมพร้อมกัน ให้เห็นดวงปฐมมรรคชัดเจนก่อนแล้วค่อยเจาะเข้ากลาง


แหล่งโคตรพลัง

การฝึกพลังจักรวาลเรียกพลังที่ตนรับเข้ามาว่าเป็นพลังที่แฝงอยู่ในจักรวาล เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Universal Energy ส่วนทางชี่กงเรียกชื่อพลังที่รับจากภายนอกร่างกายว่า Cosmic Energy พลังเหล่านี้มีทั้งพลังดีและร้าย ผู้ฝึกจึงต้องทำตนให้เป็นคนดีก่อนเพื่อสอดคล้องกับพลังที่ดี และต้องเลือกสถานที่ฝึกซึ่งมีพลังที่ดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก

สำหรับทางพุทธศาสนา พลังที่ขออาราธนามาเป็นประจำมาจากพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อาจรวมจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก เมื่อนำมากลั่นหลอมกายและจิตสะสางธาตุธรรมแล้ว กระดูกและร่างกายส่วนอื่นจะกลายเป็นพระธาตุ เป็นธาตุแท้บริสุทธิ์ซึ่งยังคงเหลืออยู่ในโลกมนุษย์

พระธาตุนี่แหละเป็นแหล่งโคตรพลังซึ่งสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐม สานต่อให้พลังแก่การสะสางธาตุธรรม แล้วต่อเนื่องแปลงธาตุเป็นพระธาตุต่อไปอีก


วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ภาวนาเงียบๆในใจแบบเงียบๆ

ลองสังเกตว่า ถ้าภาวนาในใจดังๆแล้วมักจะติดอยู่แค่ฝึกภาวนานั่นแหละ หรือไม่ก็หลุดไปคิดนอกเรื่องนอกราวไปเลย แทนที่จะเพ่งดวงแก้วได้ชัดกลับไปใส่ใจกับคำภาวนามากไป คราวนี้จึงเปลี่ยนมาเป็นภาวนาเงียบๆในใจแบบเงียบๆแทน พยายามลดความดังในใจลงทีละนิดจนเสียงค่อยลงๆแล้วเงียบไป แต่จิตยังตามรู้และตามภาวนาอย่างเงียบๆต่อไปได้อีก แปลกดีแต่กลับทำให้จิตสงบง่ายและตามเห็นดวงแก้วสะดวกขึ้นมาก

ลำดับฝึกสมาธิตามเหตุไปผลหรือจะว่าตามสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหลังมีดังนี้ จากการรับรู้ลมหายใจเข้าออก ไปกำกับด้วยคำบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้ว พอจิตสงบขึ้นหน่อยจะเห็นดวงแก้วชัดเจนขึ้นและนิ่งที่กลางกาย ก็เริ่มละการกำหนดลมหายใจ คงเหลือแต่ภาวนากำกับดวงแก้ว จากนั้นภาวนาค่อยลงจนเหลือแต่ดวงแก้วอย่างเดียว ทั้งหมดนี้ใช้การละส่วนประกอบเสริมออกทีละอย่างจนเหลือแต่ดวงแก้วที่ต้องการ

ต่อจากนี้เมื่อไม่ต้องการดวงแก้วเมื่อใดก็ละได้ทุกเมื่อ ขอให้คงสติตามรู้ไว้ตลอดและหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้จิตยึดไว้ ดีกว่าปล่อยจิตให้โลดแล่นไปไหนๆ


แยกแล้วรวม รวมแล้วแยก

ก่อนที่จะฝึกสมาธิจิตจะส่ายไปมาไม่แน่นอน แยกไปคิดไปกังวลหรือเกิดอารมณ์ตามสิ่งเร้าทั้งจากนอกใน พอเข้าสมาธิแล้วจิตจะรวมกัน เกิดเป็นสติแล้วมหาสติ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกายเวทนาและจิต สติจะกำกับตามรู้ได้ตลอด นี่เป็นประโยชน์จากการนำจิตที่แยกมารวมกันขึ้นเป็นสมาธิ

พอจิตรวมตัวกันจะมีพลังสติและพลังจิตมากขึ้นจนสามารถเอาชนะอาสวกิเลสง่ายๆได้ แต่ถ้าเจอกับกิเลสตัวใหญ่ๆ จิตอาจยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว จึงต้องแยกกิเลสและอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือซ่อนตัวนอนนิ่งอยู่ แยกออกเป็นอารมณ์แต่ละอย่างให้จิตได้ศึกษาและเรียนรู้เพื่อเอาชนะ ฝึกลุยเอาชนะตั้งแต่กาย เวทนา ราคะ โทสะ โมหะ แล้วเรื่อยมาถึงจิตสุขทุกข์ ยิ่งถ้าเห็นตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้สะสางให้ใสสะอาด ยิ่งดีกว่าแค่ยึดผลจากความรู้สึก

จากนั้นก็กำหนดจิตดิ่งลุยเข้าหากิเลสต่างๆ ไม่ต้องรอให้ผุดขึ้นมาเอง จัดแยกธาตุธรรม และอินทรีย์ออกเป็นแต่ละส่วน จัดการสะสางให้เป็นระเบียบใสสะอาด นี่เป็นประโยชน์ของการนำศัตรูมาแยกออกเป็นส่วนๆ

พอจิตละเอียดสุดละเอียด แล้วรวบรวมธาตุธรรมประกอบร่างขึ้นมาใหม่เป็นมนุษย์พิเศษ สะสางธาตุธรรมแยกแล้วรวมเช่นนี้ จนเกิดกายสุดละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ใช้ทั้งฌานเป็นกำลังขับดันควบคู่กับพลังสติปัญญา

ฝึกสมาธิต้องก้าวทีละขั้น ต้องรู้ว่าจะก้าวไปทางใด เพื่ออะไร และทำไม


 

1