P3c-d.jpg (34690 bytes)

การดูแลรักษาพีซี

SAVE PC



ความร้อน (heat)
แสงแดด(sunlight)
การโอเวอร์คล็อกซีพียู(overclockCPU)
การติดตั้งระบบระบายความร้อนที่ถูกหรือวิธี(Cooling System)
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบกะทันหัน(Unexpected change Tempperature)
ความชื้น (damp)
ไฟฟ้าสถิต(Static)
ฝุ่นละออง(dust)
กระแสไฟฟ้า (electric current)
การเปิดและปิดเครื่องบ่อยๆ (open and close many times)
น้ำหรือของเหลว(water and liguid)
แม่เหล็กไฟฟ้า (electricity and magnet)



ไม่มีทางที่คุณปฏิเสธเลยว่าคอมพิวเตอร์คุณซื้อมาราคาแพงแสนแพง และอยากใช้งานไปนานๆ ถึงอายุการใช้งานเฉลี่ยโดยประมาณ 2-3ปีต่อเครื่อง เท่านั้นจริงๆแล้วเครื่องไม่ได้เสียตรงไหนหรอกแต่เพราะคอมพิวเตอร์ใหม่มาเก่าก็ต้องไปและความสามารถคอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้งานโปรแกรมใหม่ๆได้หรือไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
นั่นคือตกรุ่น หรือล้าสมัยแล้ว การดูแลรักษาเป็นอีกวิธีที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ไปได้อีกนานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์ไปได้ก่อนถึงเวลาอันควร
เพราะความเผลอเรอประมาทในการใช้งาน เช่นทำกาแฟหกใส่เครื่อง ตุ๊กแกแมลงเข้าไปในเครื่อง แต่สิ่งที่ต้องระวังในการใช้งานคอมพิวเตอร์มีอยู่หลายอย่าง คือ ความร้อน ฝุ่น ไฟฟ้า น้ำ และแม่เหล็ก เป็นสาเหตุหลักๆที่จะทำให้อายุการใช้งานคอมพิวเตอร์หมดไปก่อนกำหนดและมีทางป้องกันได้ครับ


ความร้อน (heat)

ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในเครืองคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เกิดจากอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้นที่ประกอบกันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน เมื่อคุณทำงานไปจนถึงช่วงระยะหนึ่งก็จะเกิดความร้อนขึ้นจากไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนเป็นต้นเหตุของการเสื่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการระบายความร้อนที่ดีก็เป็นเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาแต่คุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้พีซีของคุณเกิดความร้อนขึ้น
หนทางที่คุณจะป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นได้มีอยู่หลายวิธี เช่นการลดความร้อนด้วยการติดตั้งพัดลมที่มีขนาดใหญ่หรือการเพิ่มพัดลมเข้าไปอีกหนึ่งตัวเพื่อช่วยในการทำงาน
การตั้งคอมพิวเตอร์ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก การใช้เคสที่มีระบบระบายความร้อนดีพอ
การลดความร้อนด้วยการติดตั้งพัดลมเพิ่มเติมสามารถทำได้เฉพาะคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ทอปแต่สำหรับคอมพิวเตอร์บางประเภท เช่นเครื่องแลปทอปหรือโน้ตบุ๊กไม่สามารถทำได้เพราะข้อจำกัดทางด้านขนาดของเครื่องแต่เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้ก็ได้รับการออกแบบมาให้สามารถระบายความร้อนได้ดีอยู่แล้ว
ไม่จำเป็นต้องใช้พัดลมเข้ามาช่วย
ในกรณีเครื่องแบบตั้งโต๊ะหรือเดสก์ทอป (Desktop)สิ่งที่ทำให้ความร้อนภายในคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นได้ คือการที่มีอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์มาก แต่ถ้าคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ทางแก้ไขก็คือการเพิ่มพัดลมหรืออีกทางหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนไปใช้เคสที่มีระบบระบายความร้อนดีพอ อย่างเช่น เคสรุ่นใหม่ที่เป็นเคสแบบ ATX ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับเมนบอร์ดแบบ ATX ด้วย โดยที่เคสATXและเมนบอร์ดชนิดนี้ได้รับการออกแบบมาโดยคำนึงถึงหลักระบายความร้อนที่ดีการจัดวางคอมพิวเตอร์ให้สามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก
ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องปัญหาความร้อนได้ ถ้าเป็นเคสแบบเก่ารุ่น AT การระบายความร้อนจะมีจำกัดคุณจำเป็นที่จะต้องดัดแปลงตัวเคสโดยการเจาะรูติดตั้งระบบระบายความร้อนเพิ่ม ถ้าเมนบอร์ดคุณเป็นแบบสล็อตวันที่ไม่ใช่ซ็อกเก็ต7หรือซ็อกเก็ต370 อาจจะลำบากมากหน่อย เพราะตัวซีพียูจะไปกินพื้นที่สำหรับติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลายและไม่เหมาะกับการติดตั้งในเคสขนาดเล็ก(MiniCache)หรือขนาดกลาง(MidiumCache)
ซึ่งหลังจากผมลองทดสอบติดตั้งเมนบอร์ดสล็อตวันในเคสแบบATแล้วสามารถติดตั้งได้ แต่สายไฟสายแพและอุปกรณ์ต่างๆจะติดตั้งอยู่แออัดแน่นใกล้กันหมด ดูแล้วไม่น่าจะช่วยระบายความร้อนได้ดีนัก
ในการจัดวางคุณควรจัดให้ตำแหน่งด้านหลังคอมพิวเตอร์ อยู่ห่างจากผนังหรือกำแพงพอสมควร เพื่อให้สามารถถ่ายเทอากาศได้อย่างสะดวก และอย่าให้ด้านหลังเครื่องมีฝุ่นจับสกปรกมากเกินไป
หมั่นทำความสะอาด 2 อาทิตย์ต่อครั้ง

แสงแดด(sunlight)

เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นได้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นไม่ถูกกับความร้อน
ดังนั้นการที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะนัก คุณลองยืนตากแดดตอนเที่ยงสักครึ่งชั่วโมงคุณก็รู้ว่าแสงแดดนั้นร้อนขนาดไหนและแน่นอนว่าคอมพิวเตอร์ของคุณก็คงไม่ชอบเช่นเดียวกัน

การโอเวอร์คล็อกซีพียู(overclockCPU)

เป็นการบังคับให้คอมพิวเตอร์ของคุณเพิ่มความร้อนมากเกินกว่าปกติ เพราะหลังจากโอเวอร์คล็อกซีพียูจะทำงานเร็วขึ้นและมีความร้อนสูงกว่าเดิมแล้ว
อุปกรณ์ต่างๆรอบข้างที่ถูกโอเวอร์คล็อกก็จะทำงานเร็วขึ้นตาม แต่จะเกิดความร้อนตามมาด้วย
ขึ้นอยู่กับวิธีการโอเวอร์คล็อกว่าจะให้ซีพียูเร็วอย่างเดียว หรือให้เร็วทั้งระบบ
แต่หากโอเวอร์คล็อกให้เร็วขึ้นทั้งระบบ ความร้อนทั้งระบบจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก การระบายความร้อนวิธีเดิมๆจะใช้ไม่ได้ดีอีกต่อไป
ก็ต้องเพิ่มการระบายความร้อนที่ดีกว่าเดิม
ไม่นั้น อุปกรณ์ที่ถูกโอเวอร์คล็อกจะเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้น อายุการใช้งานลดลงกว่าเดิม1-5 ปี ถึงคุณไม่ได้โอเวอร์คล็อกก็ตามผู้ขายคอมพิวเตอร์ให้คุณเขาให้ระบบระบายความร้อนอย่างน้อยสุดคือพัดลมจากเพาวเวอร์ซัพพลายเพียงตัวเดียว
เท่านั้น เพราะเน้นราคาถูกในการขายพัดลมตัวเดียวกับเครื่องคอมที่เราต้องเปิดใช้งานตลอดคงระบายความร้อนไม่พอแน่นอน

การติดตั้งระบบระบายความร้อนที่ถูกหรือวิธี(Cooling System)

เป็นสาเหตุที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ร้อนกว่าเดิมหรือจะเย็นลงกว่าเดิมก็ได้ ถึงคุณจะติดตั้งระบบระบายความร้อนดีแค่ไหน
หากไม่เลือกตำแหน่งและวิธีการติดตั้งที่ถูกยังไงก็คงไม่ช่วยเรื่องการระบายความร้อนมากนัก พัดลมควรติดตั้งให้ดูดความร้อนออกจากเครื่องไม่ใช่เป่าใส่ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป่าพัดลมใส่เครื่องคอมพิวเตอร์จะช่วยทำความเย็นได้เหมือนซีพียู
จริงๆแล้วในเคสที่ปิดอย่างมิดชิดนั้นความร้อนจากอุปกรณ์ต่างๆเช่น ฮาร์ดดิสก์ การ์ด 2D/3D
ซีพียูและความร้อนจากชิพเมนบอร์ด จะวนไปมาภายในเครื่องและถูกดูดออกโดยพัดลมจากเพาวเวอร์ซัพพลาย และการติดตั้งพัดลมเป่าเข้าภายในก็เหมือนกับเร่งลมร้อนภายในเครื่องหมุนวนเร็วขึ้นเท่านั้น
ทำให้คอมพิวเตอร์ร้อนกว่าเดิม ดังนั้นต้องติดตั้งให้พัดลมกลับดูดลมร้อนออกจากเครื่อง จะทำให้อุณหภูมิภายในลดลงกว่าเดิม 2-7องศา และพัดลมด้านที่ดูดออกนั้นต้องหันด้านที่มีตัวพัดลมเข้าหาอุปกรณ์ส่วนด้านที่มียี่ห้อพัดลมให้หันออกจากการ์ดหรือแผงวงจรนั้น

ลักษณะของการระบายความร้อนในเคสที่ไม่ถูกต้องกรณีเคสAT พัดลมด้านล่างดูดลมและเคสATXที่ติดตั้งพัดลมด้านบนเป่าลมลงมา


เลือกชนิดของพัดลม พัดลมระบายความร้อนจะมี2ชนิด โดยทั่วไปจะเป็นชนิดSleeveBaring ซึ่งจะหมุนไม่ดีนัก
และกินไฟมากราคาถูกและนิยมขายกันในร้านคอมพิวเตอร์ ส่วนแบบ Ball Bearinmg ภายในจะมีตลับลูกปืนช่วยทำให้หมุนดีขึ้น
กินไฟน้อยกว่าแต่ราคาสูงกว่าแบบแรก หากจะหาซื้อตามร้านราคาถูกคงไม่มีขายเพราะมีแต่ของใหม่ คุณต้องไปเดินหาตามบ้านหม้อข้างโรงหนังเก่าจะมีแบบBallให้เลือกเยอะแยะทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กและเลือกได้ก็นำมาดัดแปลงติดตั้งเอง
หรือใช้คนขายเขาทำให้โดยเอาปลั๊กเสียบฮาร์ดดิสก์ไปให้เขาดูเทียบด้วย
หากนำพัดลมแบบBallชนิดนี้มาติดตั้งแทนพัดลมซีพียูและพัดลมระบบจะช่วยทำความเย็นได้ดีกว่าเดิมมาก

ลักษณะของการระบายความร้อนที่ถูกต้องคือ ต้องเป่าลมจากด้านล่างพาความร้อนจากบอร์ดและซีพียูให้ลมร้อนลอยตัวขึ้นแล้วมีพัดลมดูดลมออก
เพราะความร้อนมักลอยตัวขึ้นข้างบนเสมอ


ส่วนตำแหน่งการวางพัดลมนั้น ไม่ควรเลือกในมุมอับและมีสายไฟสายแพมาโยงยางเกะกะ ไม่นั้นอาจถูกใบพัดลมปั่นจนขาดแหว่ง ถ้าเป็นเคสATX จะมีตำแหน่งสำหรับติดตั้งพัดลมเพิ่มมาให้แล้ว 1ตัว และตรงด้านหลังเคสจะมีที่ติดตั้งพัดลมขนาดกลาง-ขนาดเล็กอีก1-4ตัว หากเป็นแบบ เคสAT คุณจำเป็นต้องเตรียมสว่านเจาะรูดัดแปลงเพิ่มเอาเอง หากไม่สะดวกก็ยกเครื่องเปล่าไปให้ร้านตัดเชื่อมใกล้บ้านทำให้ก็ได้ ถ้าหากเป็นพัดลมซีพียู ก็ให้หันเป่าใส่ซีพียูจึงจะถูกต้องเพราะเป็นการระบายความร้อนอย่างเร็วในพื้นที่จำกัด หากต้องการรู้ว่าดูดเข้าหรือเป่าออกสำหรับมือใหม่ ลองจุดธูปแล้วเอาไปจ่อใกล้ๆดูหาไม่ได้เอาควันบุหรี่ก็ได้ถ้าจำเป็น

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบกะทันหัน(Unexpected change Tempperature)

ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คอมพิวเตอร์เสื่อมได้ อุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบของพลาสติกและทองแดง ซึ่งสามารถขยายและหดตัวได้ เป็นตัวการหลักในการสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ของคุณได้
การใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ไม่มีระบบระบายความร้อนที่ดีอย่างเลวร้ายที่สุด มีเพียงแต่พัดลมเพาเวอร์ซัพพลายตัวเดียว ก็จะทำให้อุณหภูมิภายในคอมพิวเตอร์สูงขึ้นได้และเป็นต้นเหตุให้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่หยุดทำงาน
ดังนั้นถ้าคุณต้องการให้คอมพิวเตอร์ของคุณทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ก็ควรที่จะจัดหาระบบระบายความร้อน พัดลมขนาดใหญ่หรือลงทุนติดตั้งเครื่องปรับอากาศและจัดวางคอมมพิวเตอร์ให้สามารถถ่ายเทความร้อนได้สะดวก ก็จะช่วยให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างราบรื่น

ความชื้น (damp)

เป็นตัวการทำให้คอมพิวเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว และอาจทำให้อุปปกรณ์ภายในเป็นสนิมขึ้น สนิมคือออกไซด์ของเหล็กที่ทำปฏิกิริยากับอากาศและความชื้น ทำให้เนื้อเหล็กเปลี่ยนสีส้มและกร่อนขึ้น
โดยเฉพาะตัวเคสที่เป็นเหล็ก นอตยึดเคสและเมนบอร์ด ฮาร์ดดิสก์ ที่ร้ายแรงอาจเกิดสนิมที่ ตัวเก็บประจุแบบกระบอกและขาของตัวต้านทานภายในแผงวงจร
หากสนิมกัดมากก็จะทำให้แผงวงจรขาดหรือเกิดไฟซ๊อตที่ตัวอุปกรณ์ในแผงวงจร เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมีในคอมพิวเตอร์ของเรา
ห้องที่มีความชื้นสูงจะไม่เหมาะกับคอมพิวเตอร์ ถึงคุณมีเครื่องปรับอากาศแล้วไม่ได้หมายความว่าความชื้นจะหมดไป
เพราะเครื่องปรับอากาศตามบ้านถูกออกแบบมาสำหรับทำความเย็นให้แก่คนภายในบ้าน ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าความชื้นยังมีสูงอยู่

การป้องกันความชื้น ทำได้โดยหาซิลิกาดูดความชื้นเป็นเม็ดกลมๆเล็กๆจำนวนเยอะๆ เรียกว่า "สารดูดความชื้น" หาซื้อตามร้านขายอะไหล่แอร์บ้านแอร์รถยนต์ ใส่ไว้ในที่ว่างๆในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเอามาแปะไว้ข้างในเคสของคอมพิวเตอร์ เอาแบบถุงใหญ่
หากเป็นแบบกระดาษหุ้มก็ให้ระวังบ้างเพราะเม็ดซิลิกาอาจตกกระจายลงบนเคส ให้หาถุงพลาสติกเจาะรูเยอะๆ
แล้วเอาซองดูดความชื้นใส่ไว้และแปะเทปกาวข้างเคส ก็จะช่วยดูดความชื้นภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

ไฟฟ้าสถิต(Static)

ไฟฟ้าสถิตเป็นประจุไฟฟ้าที่เกิดจากการเสียดสีของวัตถุที่เป็นฉนวนเช่นฝุ่นกับพลาสติกบอร์ดหรือถูกัน ซึ่งมีทั้งประจุบวกและประจุลบมีการถ่ายเทอิเล็กตรอน แบบที่เกิดในหน้าหนาวอากาศเย็นแห้ง ใครที่เคยเอาไม้บรรทัดมาถูกันแล้วดูดกระดาษ หรือไม่ก็จับลูกบิดประตูแล้วถูดดูดคือไฟฟ้าสถิตนั่นล่ะครับ ซึ่งเป็นอันตรายเงียบที่รุนแรงมากต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด สาเหตุเกิดจากอากาศเย็นแห้งและการเสียดสีของอากาศกับพลาสติกทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิต และฝุ่นก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้แผงวงจรคอมพิวเตอร์ เสียหายมากที่สุด
ยิ่งเป็นชิพเช็ตสำคัญๆ ที่อยู่ในเมนบอร์ด ซีพียู การ์ดต่างๆ ฮาร์ดดิสก์ ชิพของหน่วยความจำจะเสียหายง่ายที่จุดจากไฟฟ้าสถิต ถ้าหากฝุ่นเกาะสะสมปริมาณมาก ก็กลายเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ผิวได้ ยิ่งเป็นฉนวนประจุไฟฟ้าจะออกันอยู่บริเวณผิวและหากเกิดการสะสมประจุปริมาณมากๆ จะมีการถ่ายเทอิเล็กตรอน หรือเหนี่ยวนำขึ้นถ้าประจุไปสะสมที่ขาเสียบแหลมๆของบอร์ดหรือขาไอซี
ผลคือซ็อตครับ เสียหายได้ทันทีโดยไม่รู้ตัวด้วย

การป้องกันไฟฟ้าสถิตทำได้ 2ทางคือ

1.กำจัดต้นตอของไฟฟ้าสถิต ซึ่งได้แก่ ฝุ่นนั่นเอง ควรทำความสะอาดสม่ำเสมอเป็นครั้งคราวบ้าง เพื่อลดการเกิดไฟฟ้าสถิต
ก่อนทำความสะอาดให้ปิดเครื่อง ถอดสายไฟออก ทำกราวด์ด้วยมือให้สลายประจุก่อน จะให้แน่ใจก็หาเสปรย์สลายไฟฟ้าสถิตพ่นก่อนทำความสะอาดครับ
จะทำให้ฝุ่นหลุดง่ายและทำความสะอาดได้ดีขึ้น

2.ทำกราวด์ให้คอมพิวเตอร์ เป็นการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตออกไป ซึ่งลดอาการไฟดูดได้อีกด้วย ให้หาสายเส้นเล็กๆ ต่อไว้กับตัวถังคอมพิวเตอร์
แล้วเอามาเชื่อมกับเหล็กแท่งยาวๆ และตอกลงดินไปเลยครับ หมายถึงไปต่อลงดินนั่นล่ะครับ ตอกลึกๆจะช่วยได้เยอะเหมือนกันครับ และหากต้องการสลายประจุไฟฟ้าสถิตได้ผลจริงๆควรหาสายไฟที่ต่อจากสื่อนำไฟฟ้าของเมนบอร์ด เช่นน็อตยึดเมนบอร์ด ให้ต่อจากตรงนั้น แล้วโยงไปที่ตัวเคสอีกทีก็เป็นการสลายประจุไฟฟ้าสถิตได้เช่นกันครับ

ฝุ่นละออง(dust)

เป็นปัจจัยที่ทำให้คอมพิวเตอร์เสื่อมสภาพก่อนถึงเวลาอันควรก็คือ ฝุ่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ในห้องที่มีฝุ่นมาก
ฝุ่นจะเข้าไปขัดขวางทางเดินของกระแสไฟฟ้าบนการ์ด และสล็อตต่างๆ
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่กลัวฝุ่นเป็นอย่างยิ่งก็คือ พรินเตอร์ แรม เมนบอร์ด การ์ดPCI และฮาร์ดดิสก์

ผลของการมีฝุ่นเข้าเครื่อง

ฝุ่นเกาะพัดลม ทำให้หมุนช้าลงแถมฮีทซิงค์ร้อน กว่าเดิม

ฝุ่นเกาะหนาเลยครับ

เพราะถ้าฝุ่นเข้าไปเกาะอยู่บนหัวพิมพ์ของเครื่องพรินเตอร์เมื่อไหร่ ก็จะเข้าไปขวางการทำงานของหัวพิมพ์ โดยเฉพาะเครื่องพรินเตอร์แบบอิงค์เจ็ต
ทำให้การพิมพ์ภาพและอักษรเลอะเลือนได้ พัดลมที่โดนฝุ่นเกาะขวางใบพัดไม่ก็ลูกปืน
ลูกปืนทำงานฝืดลงทำให้หมุนช้าผลคือระบายความร้อนได้น้อยลง และฝุ่นเป็นตัวฉนวนกันความร้อน
ประจุไฟฟ้าสถิตที่มากับฝุ่นก็เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์ที่อยู่ในเมนบอร์ด
การ์ดPCIต่างที่เสียบใช้งานและการ์ดแสดงผลที่เป็นPCI,AGPและตัวฮาร์ดดิสก์เองด้วย

การ์ดVGAตัวนี้ไฟซ๊อตเสียชีวิตไปแล้วเพราะฝุ่นครับ GF2 GTSเสียด้วย อูว....


นอกจากฝุ่นจะเข้าไปขัดขวางทางเดินกระแสไฟฟ้าบนการ์ดและสล็อตแล้วก็ยังจะเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้ระบายความร้อนออกไปได้ หากมีฝุ่นจับเกาะมากเกินไปตัวฝุ่นเองจะสามารถนำไฟฟ้าที่ผิวได้เพราะมีประจุไฟฟ้าสถิตอยู่ จึงมีโอกาสสูงมากที่เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนเสียหายได้ครับ

หากเรามี การระบายความร้อนใน Case ทีดี(เกินไป) เราก็ควรต้องหมั่นตรวจสอบด้วยนะครับ แง้มๆ ฝา case 2 อาทิตย์ สักครั้งก็ดีครับ
หรือ หากเปิด ฝา Case ทิ้งไว้ก็ต้องดูด้วยนะครับ จากรูป Asus V6600 Delux เจ๊งไปเพราะฝุ่นนี้แหละครับ

หากใน Case เรามีการหมุนเวียน ของอากาศมากเท่าไร ฝุ่นก็เยอะเท่านั้นครับ เพราะพัดลมที่เพิ่มเข้าไปจะดูดอากาศและฝุ่นเข้าเครื่องมากกว่าปกติ โดยอันตรายของฝุ่นก็คือ การไปจับเข้าที่ ส่วนที่เป็นแผงวงจร หรือ ว่า ใน Power Supply ก็ดี อาจจะทำให้อุปกรณ์นั้นๆ เกิดความเสียหาย
หรือ อาจจะทำให้พัดลมหมุนช้าลงหรือไม่ทำงาน การระบายความร้อนแย่ลงเพราะฝุ่นเป็นตัวขวาง
และอีกอย่างครับ การฝุ่นมีความหนามากๆ ฝุ่นนี้สามารถเป็น ตัวนำไฟฟ้าได้ด้วยนะครับ อย่างไรก็ ระวังกันหน่อย

อย่างน้อยคุณควรทำความสะอาดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุก 3เดือน เป็นอย่างน้อยสุด หรือ 1 เดือนอย่างสม่ำเสมอ ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดเอาจะดีกว่า หากต้องการสลายไฟฟ้าสถิตจากฝุ่นเพื่อให้ทำความสะอาดง่ายขึ้น ให้ฉีดพ่นเสปรย์สลายไฟฟ้าสถิตก่อน แล้วตามด้วยเครื่องพ่นลม หรือโบโว่เป่าใส่อีกทีฝุ่นจะหลุดออกง่ายขึ้นครับ


ฝุ่นที่เกิดจากขี้เถ้าบุหรี่ เศษฝุ่นทั่วไปเศษเส้นผมก็ใช่ซึ่งเป็นตัวการทำอันตรายแก่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้ หากคุณเป็นคนที่สูบบุหรี่ขณะทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ขี้บุหรี่อาจจะร่วงไปตกบนคีย์บอร์ดได้หรือเข้าไปสะสมบนช่องคีย์บอร์ดอาจทำให้คีย์บอร์ดกดไม่ออก หากห้องทำงานมีความชื้นหรือเป็นห้องอับชื้น หากควันบุหรี่ถูกพัดลมระบายความร้อนดูดเข้าเครื่องด้วย ความชื้นก็จะทำปฏิกิริยากับควันบุหรี่กลายเป็นกรดไปกัดลายวงจรคอมพิวเตอร์ทำให้ลายวงจรสึกกร่อน สังเกตได้จากคราบดำๆในแผงวงจร

กระแสไฟฟ้า (electric current)

กระแสไฟฟ้านอกจากจะหล่อเลี้ยงคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้แล้ว ยังสร้างความเสียหายได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว สาเหตุที่คอมพิวเตอร์จะเสียมาจากกระแสไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไฟฟ้าที่ไม่ปกติ5ชนิดคือ
ไฟดับ (CutVoltage) เกิดไฟกระชากขณะดับ มีผลเสียต่ออุปกรณ์ภายในโดยเฉพาะ ฮาร์ดดิสก์ เพราะหัวอ่านจะกระแทกหรือแกว่งตามกระแสไฟทำให้เพลตหรือบริเวณข้อมูลฮาร์ดดิสก์เสียหายตามมา
ไฟตก(UnderVoltage) เป็นอาการไฟฟ้าต่ำกว่าปกติ เช่น 220โวลต์ ตกลงมาเหลือ 170โวลต์ และกระแสไฟตกลงมาตาม หรือใช้งานคอมพิวเตอร์ใกล้โรงงานที่มีการเดินเครื่องจักรขนาดใหญ่
ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดแรงดันไฟตก ทางแก้คือ ใช้คอมพิวเตอร์กับสายไฟคนละไลน์กัน หากจำเป็นก็ย้ายเครื่องไปใช้งานจุดอื่นที่ไม่มีการรบกวนจากไฟตก
ไฟกระชาก(Surge)หากใช้สายไฟต่อคอมพิวเตอร์เส้นเดียวกันหรือไลน์เดียวกันกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกระแสไฟมากเช่นเครื่องปรับอากาศ เพราะขณะเดินเครื่องจะมีการดึงกระแสไฟรอบๆมาใช้งานตอนแรกทำให้ไฟกระชากทางแก้คือใช้คอมพิวเตอร์กับสายไฟคนละไลน์กัน
ไฟกระเพื่อม อาการเหมือนกับมีคลื่นสั่นขึ้นลงเป็นระยะ คือมีศักย์สูงต่ำไปมา
ไฟเกิน(OverVoltage)มักเกิดจากฟ้าผ่าและกระแสไฟไหลผ่านทางสายไฟบ้านหรือทางสายโทรศัพท์ขณะใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ ไหลเข้ามายังคอมพิวเตอร์ทันทีทันใด จาก เดิม220โวลต์ จะกระโดดถึง 270โวลต์ แน่นอนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พังแน่ ทางป้องกันคือ ปลั๊กเสียบที่ต่อควรมีฟิวส์เอาไว้ และยูพีเอสทุกรุ่นจะมีฟิวส์อยู่ในตัว หากไฟเกินกำหนดฟิวส์จะขาดก่อนที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะเสียหายซึ่งอาจจะช่วยได้บ้าง
ไฟฟ้าสถิต(StaticElectricity)มักเกิดในเมืองหนาวและห้องแอร์ที่ปูพรมหากจะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ควรระวังก่อนที่จะสัมผัสแผงวงจรเพราะไฟฟ้าสถิตอาจยังอยู่ในคอมพิวเตอร์และตัวมือจะมีการถ่ายเทประจุทำอันตรายแก่วงจรได้ จึงทำกราวด์โดยสัมผัสตัวเคสหลังดึงปลั๊กไฟออกหมดทุกเส้นก่อนสัมผัสคอมพิวเตอร์
วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น คือจัดหางบซื้ออุปกรณ์สำรองไฟฟ้าและอุปกรณ์กันไฟกระชาก เช่น ยูพีเอส(UPS Uninterrupt Power Supply) หรือมีการเชื่อมต่อสายไฟเข้าปลั๊กที่มีฟิวส์ในตัว

การเปิดและปิดเครื่องบ่อยๆ (shutdown many times)

เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระชากไฟของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน เพราะเมื่อคุณเปิดเครื่องเพื่อใช้งานจะมีกระแสไฟฟ้าเข้าไปทัน และกระแสไฟฟ้าจะเข้าไปปลุกการทำงานของเครื่อง เมื่อกระแสไฟฟ้าเข้าไปครั้งแรกจะเกิดการกระชากของกระแสไฟฟ้าขึ้น หากไม่จำเป็นจริงๆก็อย่าเปิดปิดเครื่องบ่อยนัก


น้ำหรือของเหลว(water and liguid)

แน่ล่ะครับคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน หากโดนน้ำ ก็จะลัดวงจรหรือไฟซ๊อตล่ะครับ
ในสำนักงานเป็นบ่อยที่ชอบเอาชา กาแฟ มาวางบริเวณใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์
เผลอเรอทำน้ำหกใส่คอมพิวเตอร์หรือคีย์บอร์ด และน้ำอัดลม ชา กาแฟ มีกรดผสมอยู่ด้วยกรดคาร์บอนิกในน้ำอัดลม จะไปทำความเสียหายกับแผงวงจร และน้ำตาลก็เป็นอาหารของแบคทีเรียทำให้เกิดของเสียที่ไปทำลายแผงวงจรคอมพิวเตอร์ด้วย ฉะนั้นควรเอาออกไปห่างๆไว้จะดีที่สุด
หรือควรระมัดระวังให้มากเมื่อเอาเครื่องดื่มต่างๆมาใกล้คอมพิวเตอร์

แม่เหล็กไฟฟ้า (electricity and magnet)

มักเกิดจากอุปกรณ์ตัวอื่นเช่น ลำโพงมัลติมีเดียทั่วไปที่ไม่ได้ป้องกันสนามแม่เหล็ก หากเอามาวางใกล้จอมอนิเตอร์
สนามแม่เหล็กที่แผ่กระจายจากลำโพงออกมาจะทำอันตรายกับการส่งสัญญาณภายในหลอดภาพที่อยู่ภายในจอคอมพิวเตอร์
ทำให้สีเพี้ยนหากใช้ไปนานๆก็ทำให้หลอดภาพเสื่อมเร็วกว่าปกติ และอย่าลืมว่าสนามแม่เหล็กจะรบกวนการทำงานของอิเล็กทรอนิกส์บางตัวในเครื่องคอมพิวเตอร์
และฮาร์ดดิสก์กับฟล็อปปี้ดิสก์ไม่ให้ใกล้สนามแม่เหล็กเด็ดขาด เพราะข้อมูลจะถูกทำลายจนเสียหายใช้การไม่ได้
และตู้เก็บเอกสารที่ทำจากเหล็กไม่ควรวางใกล้คอมพิวเตอร์ เนื่องจากสนามแม่เหล็กจากจอมอนิเตอร์อาจไปรบกวน ทำให้จอกระเพื่อม ให้จัดวางไว้ห่างจากตู้จะดีกว่า

สรุปว่า

สรุปว่า มันมีสาเหตุต่างที่อาจจะทำให้คอมพิวเตอร์เสียได้หลายอย่าง บางทีเกิดจากการกระทำของผุ้ใช้เองที่ใช้งานผิดเงื่อนไข
เช่นโอเวอร์คล็อกวิธีไม่ธรรมดามากเกินไป การปรับแต่งไม่ถูกต้อง อย่างน้อยควรมีการดูแลรักษาเสียบ้างให้คุ้มกับเงินที่ซื้อไป
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เสีย ได้แก่ ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ อุบัติเหตุต่างๆ ไฟไหม้ การตกกระแทก
ก็เป็นสาเหตุรองๆที่อาจจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เสียโดยสุดวิสัยได้เช่นกัน ดังรูปข้างบนที่ถูกไฟไหม้มาครับ อึ๋ย.......

 

surprise.gif (3432 bytes)กลับไปเมนูหลัก new start

กลับไปหัวข้อComputer Turbo

 
ICQ
16489378


email to

muhn@hotmail.com

กลับไปเมนูหลัก new start

© Copyright 2000. MUHN-Computer. All Rights Reserved.

WebMaster

muhn@hotmail.com

 

1