|
Visual
Poetry |
|
งาน Visual และ Concrete Poetry
เริ่มได้รับความสนใจในช่วงทศวรรษ 50 ในแถบยุโรปและละตินอเมริกา
เป็นงานที่เล่นกับภาษา ทั้งในแง่รูปลักษณ์ เสียงที่เกิดจากการอ่าน
ภาพของภาษาที่ถูกลดทอนจนเป็นวัตถุดิบชิ้นหนึ่งของตัวงาน ( ไม่ต่างจาก
สี ปูนพลาสเตอร์ หรือวัสดุอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของตัวงาน )
แม้กระทั่ง 'ที่ว่าง' ระหว่างบรรทัด
ลบความคุ้นชินต่อรูปแบบของภาษาที่มีอยู่ เช่น การอ่านจากซ้ายไปขวา
การทำลายสัญญะเดิมๆ ทั้งในแง่รูปสัญญะ และความหมายสัญญะ
ไม่สนใจอุปมาอุปมัย โครงสร้าง ไวยากรณ์ ความต่อเนื่อง แรงกระทบ
และหน้าที่เดิมของภาษา ซึ่งก่อให้เกิดมโนทัศน์ใหม่ต่อภาษาที่เราเคยชิน
และแจกแจงความหมายใหม่ขึ้นมา โดยผู้เสพ
และผู้สร้างเองไม่มีลักษณะตายตัว สลับตำแหน่งกันได้ตลอดเวลา
ผู้เสพสามารถสร้างตัวบทใหม่ขึ้นมาผ่านการเสพของตนได้เสมอโดยไม่มีจุดสิ้นสุด
เนเดียวกับผู้สร้างที่แปรเป็นผู้เสพในเวลาเดียวกันได้ทุกครั้ง ในทศวรรษที่
50 ยังคงมีความสับสนในการเรียกงาน Visual Poem และ Concrete Poetry
ในแง่ที่มองภาษา-ตัวอักษรเป็นวัสดุหัวใจของชิ้นงาน ส่วน Visual Poetry
มุ่งเน้นและตรวจสอบตัวบท
โดยมองตัวบทและการปฏิบัติต่อตัวบทเป็นองค์ประกอบหลักของงาน
ปลดปล่อยรูปสัญญะให้เป็นอิสระจากความหมายสัญญะเดิมที่ดำรงอยู่
แล้วล่องลอย พลิ้วไปอย่างไม่จบสิ้น ไร้จุดอ้างอิง หาก Concrete
Poetry สร้างความรู้สึกตระหนักอย่างแปลกใหม่ของเราต่อภาษา Visual
Poetry มุ่งที่จะสร้างปฏิบัติการขั้นต่อไปหลังการรับรู้อย่างใหม่
การปฏิบัติการที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำในเชิงรูปธรรม
แต่รวมถึงนามธรรมในระดับใต้จิตสำนึก สำหรับผู้เขียนเองแล้วมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ
ที่จะต้องแยกแขนงออกไปอีกมากมายซึ่งคาบเกี่ยวเหลื่อมล่ำกันเช่น Sound
Poetry, Mail Art, Conceptual Art, Happenning Art, Collage Art
และอีกมากมาย แม้กระทั้ง Senses Poetry ซึ่งยังไม่มีใครทำ
(ผู้เขียนนิยามคำคำนี้ขึ้นมาเอง
เพราะเคยคิดจะสร้างงานที่เล่นกับภาษาโดยใช้การรับรู้ด้วยผัสสะอื่นๆ
นอกจากตาและหูแล้วเช่น การสัมผัส การดมกลิ่น
หรือแม้แต่การรับรู้รสชาติผ่านลิ้น!!)
กระนั้นก็ตามหลังจากได้ผ่านการติดตามงาน Visual Poem มาได้สักระยะหนึ่ง
ผู้เขียนก็พอจะมองลักษณะรวมๆ ของความเป็น Visual Poetry ได้พอคร่าวๆ
ดังข้างล่างนี้
- มุ่งปรับ-แปรขณะเดียวกันก็ลบล้างเส้นแบ่งต่างๆ
ของศิลปะพร้อมกับสร้างความหมายใหม่ของความเป็นศิลปะและวรรณกรรม -
เป็นปฏิสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกับประสบการณ์-สภาวะจิตใจของปัจเจกที่มีต่อสังคมซึ่งหลากล้นข้อมูลข่าวสาร
และการเกิดอันคลาดคล่ำของเทคโนโลยีสารสนเทศ (วีดีโอ คอมพิวเตอร์
ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ดนตรี และอื่นๆ) -
ไม่เน้นหรือให้ความสำคัญกับความเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต
แต่กลับเทน้ำหนักให้กับผู้เสพและมองผู้เสพเป็นผู้สร้างได้ในเวลาเดียวกัน
โดยให้อิสระแก่ผู้เสพอย่างเต็มที่ -
พยายามสร้างแบบจำลองอย่างใหม่ของการสื่อสาร ความเป็นตัวบท
โดยลดบาทบาทของภาษาลง -
ไม่มีกฎเกณฑ์ในลักษณะงานหรือกรอบการทำงานที่ตายตัวสามารถใช้สื่ออย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมผสานกันก็ได้ -
เปิดรับทุกๆ แนวคิด ไม่เน้นแก่น (Theme)
เรื่องใดเรื่องหนึ่งแน่ชัด -
ปฏิเสธเส้นแบ่งระหว่างศิลปะชั้นสูงกับศิลปะมวลชน
ไม่เชื่อในคุณค่าที่ถูกมองว่าเป็นอมตะของศิลปะ -
ตั้งข้อสงสัยต่อทุกๆ มโนทัศน์ที่ดำรงอยู่
โดยมองสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเพียงมโนทัศน์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเท่านั้น
| |
|