แผนปรับโครงสร้างภาคเกษตร คือ เงื่อนไขเงินกู้ที่เอดีบีเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการเพื่อปฎิรูปภาคเกษตรกรรมของไทยทั้งระบบ
ทั้งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ดิน พื้นที่ต้นน้ำ ระบบสินเชื่อ
การตลาด การวิจัย และการปรับบทบาทขององค์กรภาครัฐ
เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออก
และขยายการเติบโตให้กับภาคเกษตรไทย
น้ำ คือหัวใจสำคัญของแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรฉบับนี้ โดยที่เอดีบีต้องการให้รัฐออกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้ทรัพยากร
"น้ำ"
ให้เกิดคุณค่าและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นที่สำคัญคือต้องเอื้อต่อการลงทุนทางการเกษตรของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้ม
ต้องการน้ำเพื่อการผลิตมากขึ้น หากได้เกิดกรณีขัดแยังกับเกษตกรรายย่อยซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการผลิตของครอบครัวเช่นกัน
หากน้ำถูกบริหารจัดการในรูปแบบปัจจัยการผลิตที่เป็นไปเพื่อการค้าและการลงทุน
ผู้ต้องการใช้น้ำ ต้องจ่ายค่าต้นทุนเหล่านี้ให้กับภาครัฐ
เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันจะมีค่าใช้จ่ายการผลิตที่สูงขึ้น
อันจะนำไปสู่การไม่คุ้มทุนทางการผลิต และเลิกล้มการผลิตไปในที่สุด
น้ำในอนาคตจึงจะอยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์เพื่อการค้าอย่างเต็มรูปแบบโดยบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เท่านั้นเอง
พระราชบัญญัติน้ำ
ละเมิดสิทธิเกษตรกร
พ.ร.บ. น้ำ ถูกร่างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 และถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในปี
พ.ศ. 2541 ภายใต้เงื่อนไขเงินกู้ของเอดีบี
โดยมีเป้าหมายเพื่อประกาศสิทธิของรัฐเหนือทรัพยากรน้ำ และควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำจากทุกระบบทั่วประเทศ
ดังเห็นได้จากการให้นิยามน้ำที่ถือเป็นสมบัติของรัฐว่า หมายถึง 1.น้ำในบรรยากาศ
2.น้ำบนผิวดินที่ไหลตามธรรมชาติ 3.น้ำใต้ดิน
4.แหล่งน้ำระหว่างประเทศที่ประเทศไทยนำมาใช้ได้ เช่น แม่น้ำโขง และ
5.สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตที่อยู่ในแหล่งต้นน้ำลำธาร
ร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ ไม่ได้ให้ความใส่ใจต่อสิทธิการใช้น้ำของคนในท้องถิ่น
ที่มีการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำมานานซึ่งมีความหลากหลายของรูปแบบตามวิถีการผลิตและวัฒนธรรม
เมื่อ พ.ร.บ. น้ำมีผลบังคับใช้
ฐมีอำนาจประกาศแหล่งน้ำแหล่งใดก็ได้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ สามารถห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์อีกต่อไป
ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
โดยการแต่งตั้งจากทางราชการ
การแปรรูปทรัพยากรน้ำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและการสูญเสียเสรีภาพของเกษตรกร
ถ้าพิจารณาจากแผนการกู้เงินทั้งหมดดูเหมือนว่าประเด็นใหม่ที่เป็นเงื่อนไขในการนำมาจัดทำโครงการ
น่าจะเป็นแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ
ซึ่งผลักดันให้รัฐบาลไทยจัดทำนโยบายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
การเร่งให้มีการจัดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปฏิรูปองค์กร
และเครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อวางกฎเกณฑ์สำหรับสิทธิการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ
การแจกจ่ายน้ำ การอนุญาตการใช้น้ำ ต้นทุนการจัดหาน้ำ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้น้ำ
ต่อแต่นี้ไปเมื่อพระราชบัญญัติน้ำ
และกฎหมายการใช้น้ำถูกประกาศใช้ ผู้ใช้น้ำทั้งหลายโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย
จะไม่มีอิสระในการใช้ทรัพยากรน้ำที่ตนเองเคยใช้
น้ำจะถูกยึดโดยรัฐและกลไกอำนาจของนายทุน เสรีภาพในการใช้น้ำของประชาชนคนไทยกำลังถูกคุกคามจากเงื่อนไขเงินกู้
ADB ที่รัฐบาลไทยเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด
และให้ความร่วมมือ
ลดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาดและราคา
เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่สอดคล้องกับระบบการค้าเสรีคือรัฐบาลต้องยกเลิกการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดหาและแจกจ่ายปุ๋ย
รวมทั้งระบบการแทรกแซงตลาดปัจจัยการผลิตราคาถูก การแจกจ่ายแบบให้เปล่า
ฯลฯ จะต้องรับผิดชอบในการลงทุนตามค่าใช้จ่ายจริง ซื้อปุ๋ยตามราคาตลาด
ซื้อเมล็ดพันธุ์ตามราคาตลาด ไม่มีการแจกจ่าย เพราะเป็นการขัดกับเงื่อนไขการกู้เงินของ
ADB
เกษตรกรรายย่อยจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมด
รัฐไม่มีหน้าที่แบกรับภาระแต่ต้องกระจายอำนาจการจัดหาปัจจัยการผลิตในอนาคตเป็นเรื่องของเกษตรกรกับภาคเอกชน
ไม่ใช่ของรัฐ
เงินกู้ใหม่
ๆ โครงการเก่า ๆ ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล
เมื่อพิจารณาจากโครงการหลัก 20 โครงการ และโครงการเล็กโครงการน้อยที่เริ่มปรากฏให้เห็นจากการจัดทำโครงการของกรมกองต่าง
ๆ (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ลงตัว)
ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน
จะเห็นได้ว่าหลายโครงการ
เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีอยู่เดิมบางโครงการ เช่น การจัดกาโรงสี
การจัดซื้อเครื่องอบความชื้นข้าวและกาแฟ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง
ๆ
เหล่านี้เป็นโครงการที่เคยดำเนินมาแล้วในอดีต หลายโครงการเป็นการใช้เงินโดยสูญเปล่า
เครื่องอบข้าว โรงสี ลานตากข้าวหลายแห่งตามสหกรณ์ต่าง ๆ
ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ เพราะจัดสร้างโดยไม่มีการประเมินความจำเป็นหรือสร้างไว้แล้วใช้ไม่คุ้มกับต้นทุนในการดำเนินการ
โครงการย่อยบางโครงการไม่มีความชัดเจนว่าจัดทำแล้วใครจะได้ประโยชน์
ขาดการประเมินขีดความสามารถขององค์กรที่เข้าร่วม
บางโครงการไม่มีความจำเป็นเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธภาพอยู่แล้ว
การจัดทำโครงการภายใต้เงินกู้จำนวนมหาศาลนอกจากจะผูกมัดประเทศด้วยเงื่อนไขที่แทบกระดิกตัวไม่ได้แล้ว
การนำเงินมาใช้โครงการที่ไม่มีประโยชน์
ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการประเมินความต้องการและวางแผนการจัดทำโครงการเพื่อใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เป็นประเด็นที่เกษตรกรรายย่อยควรให้ความสนใจจากนี้ต่อไปถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทั้งประเทศ
โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ควรจะช่วยกันสอดส่องดูแล
ตรวจสอบการใช้เงินตามโครงการของรัฐเหล่านี้ เพราะไม่เพียงแต่เกษตรกรจะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกู้เงินเท่านั้น
หากแต่หนี้สินของประเทศยังอาจถูกใช้แบบไม่โปร่งใสและเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกด้วย
การปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรฯ
ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เกษตรกรไม่เกี่ยว
ส่วนสำคัญของแผนนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ว่า การถ่ายโอนกิจการบางส่วนที่หมดความจำเป็นให้ภาคเอกชน
เข้ามาดำเนินการแทนรวมทั้งการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาภาคเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรฯ
จะลดบทบาทในการสนับสนุนเกษตรกรลง
ขณะเดียวกันให้อำนาจภาคเอกชนเข้ามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยก็คือ ภาคเอกชนที่ว่าคือใคร เกษตรกรรายย่อยจะเข้ามามีบทบาทหรือไม่ในสภาที่ปรึกษาที่ว่า
เพราะหากการปรับโครงสร้างภายในกระทรวงเป็นการเพิ่มอำนาจให้ภาคเอกชน
ที่มีความหมายถึงพ่อค้า บรรษัทข้ามชาติ นักธุรกิจขายสารเคมี ยาฆ่าแมลง
และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแล้ว เกษตรกรทั้งรายย่อยรายใหญ่ คงจะตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น
เพราะเมื่อกระทรวงที่ถือว่าใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุดตกอยู่เงื้อมมือของกลุ่มทุน
ก็เท่ากับเป็นการผลักดันภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบเต็มรูป
และเท่ากับเป็นการเร่งให้เกษตรกรรายย่อยล้มละลายและตกเวทีเร็วขึ้น
การค้าเสรี
สร้างเงื่อนไข
บริษัทขนาดใหญ่อยู่รอด
การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ด้วยการนำเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรอย่างเสรีโดยไม่มีการควบคุม
จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรรายย่อยของไทย เนื่องจากสินค้าเกษตรหลายชนิด
เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าว กาแฟ
หรือแม้กระทั่งข้าวจากประเทศผู้ส่งออกที่มีต้นทุนและราคาต่ำกว่าจะเข้ามาตีตลาด
ภายใต้นโยบายยกเลิกการอุดหนุนจากรัฐ
เกษตรกรรายย่อยจะประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้ และเลิกล้มการผลิตไปในที่สุด
นอกจากนี้การที่เอดีบีสนับสนุนให้รัฐบาลไทยปฏิรูปการถือครองที่ดิน
โดยให้ สปก. เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 จากเดิมเฉลี่ยปีละ
1,706,250 ไร่ เป็น 2,500,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2543 โดยไม่ได้มีมาตรการใดรองรับหรือช่วยเหลือ
จะยิ่งทำให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนในการผลิต
มีแนวโน้มที่จะขายที่ดินให้กับนักลงทุนเก็งกำไรที่ดินหรือบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่
ในระบบการแข่งขันเพื่อการค้าเสรี ท้ายที่สุดเกษตรกรรายย่อยมีแนวโน้มประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง
ไม่คุ้มทุนการผลิต สูญเสียที่ดิน
ผู้ที่สามารถอยู่รอดได้ในระบบการผลิตเช่นนี้จึงจะมีเพียงบริษัทธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ภายใต้ร่มเงาการกำกับของนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น