นิยายแฟนตาซีแบบไทย

ศึกหกภพ

โดย เชษฐา

บทที่ 2 อาศรมฤๅษีชยารพ
(5)


ชยารพมาหาสนในบ่ายวันที่ ๑๕ นั้นเอง เมื่อเห็นสนยังนั่งสมาธิอยู่จึงทิ้งกระดาษข้อความเอาไว้แผ่นหนึ่งแล้วจากไป ครั้นสนออกจากนิมิตแล้วเห็นข้อความของพระฤๅษีเขียนว่า “ให้ไปหาที่ต้นไทรท้ายอาศรม” จึงรีบไปตามคำสั่ง

ความจริงบริเวณท้ายอาศรมเป็นเขตที่ชยารพใช้บำเพ็ญฌานสมาธิ ปกติไม่อนุญาตลูกศิษย์เข้าไปรบกวนเด็ดขาด แต่เมื่อคราวนี้อาจารย์เป็นคนสั่งให้เขาเอง สนจึงได้เหยียบเข้าในบริเวณนั้นเป็นครั้งแรก

เมื่อเข้าไปลึกพอสมควร สนพบชยารพนั่งอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง บรรยากาศโดยรอบสงบร่มรื่น มีลำธารไหลเอื่อยข้างๆ ชยารพเห็นสนแล้วก็เรียกให้มานั่งใกล้ๆ
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาเจ้าคืบหน้าอย่างไรบ้าง?” พระฤๅษีถาม

สนบอกความเปลี่ยนแปลงที่ตนรู้สึกได้ไปตามลำดับซึ่งชยารพก็นั่งฟังอย่างพึงพอใจและชมว่า “ดีแล้ว เป็นไปดังที่ข้าคาดทุกอย่าง เอาละทีนี้ข้าจะอธิบายเกี่ยวกับหลักการของวิชาที่เจ้าฝึกฝนมาเสียที ข้าจะพูดกว้างๆก่อนเป็นการเกริ่นให้เจ้าเข้าใจพื้นฐานจากนั้นจึงค่อยเริ่มอธิบายรายละเอียด”

ชยารพแหงนหน้าขึ้น ชี้ให้สนมองไปด้านข้าง “เจ้าเห็นอะไรบ้าง”
“ต้นไม้ครับ”
“แล้วเห็นอะไรอีก”
“พวกสัตว์เล็กจำพวกกระรอกกระแตที่ปีนต้นไม้อยู่ แล้วก็แมลงบางชนิดครับ”

“นั่นคือสิ่งมีชีวิต ในอดีตที่นานมาแล้ว นานมากจนไม่อาจประเมินได้ด้วยเวลาของมนุษย์เทียวละ มันเป็นวันที่พระพรหมทรงให้กำเนิดโลก และในขณะนั้นเองพระองค์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนให้เข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนนี้

“กายของสัตว์โลก” ชยารพขึ้นเสียงหนัก “เกิดขึ้นมาจากการประกอบกันของธาตุสี่ธาตุคือดินน้ำลมไฟ แต่ธาตุเหล่านั้นก็เป็นเพียงสสารที่ไม่คงทน เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันจะเสื่อมลงและแตกสลายกลับเป็นรูปเดิม หลายคนคิดว่าชีวิตจบลงแค่นั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะความเป็น ‘สัตว์’ นั้นยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ‘มโน’ ”

“คล้ายๆกับวิญญาณใช่ไหมครับ?”

“วิญญาณก็เป็นคำเรียกหนึ่งของมโน สิ่งนี้เองจึงเป็นองค์ประกอบที่เที่ยงแท้ของสัตว์ตัวหนึ่งๆ มันมิได้มีส่วนผสมของธาตุทั้งสี่ดังเช่นกายเนื้อ แต่เกิดจากธาตุพื้นฐานซึ่งละเอียดกว่านั้น ดังนั้นแม้ว่ากายเนื้อจะแตกดับไปแต่มโนจะยังคงอยู่และล่องลอยไปตามภพต่างๆ มโนชั้นสูงจะไปเกิดในกายเนื้อชั้นสูง ในที่นี้หมายถึงเทวดาหรือมนุษย์น่ะ ส่วนมโนที่หยาบก็จะไปเกิดในภูมิต่ำเป็นดิรัจฉาน เปต สัตว์นรก อสูรกาย และเมื่อกายเนื้อใหม่นั้นดับสลายอีกมโนก็จะออกเดินทางอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เราเรียกการวนเวียนอย่างนี้ว่า ‘วัฏสงสาร’ ”

เรื่องทำนองการกลับชาติมาเกิดนั้นสนเคยได้ยินจากพวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาเหมือนกัน โดยส่วนตัวเขาเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่คำที่พระฤๅษีพูดก็ดูเป็นรูปธรรมดี

ชยารพถามเขาว่า “เอาละทีนี้จากที่ฟังข้ามาทั้งหมด เจ้าลองคิดดูว่าหากเราจับกายเนื้อแยกจากมโน กายเนื้อนั้นจะตายหรือไม่?”
“ตายครับ” สนตอบ

พระฤๅษีหัวเราะเบาๆไม่บอกว่าคำตอบนั้นถูกหรือไม่ แต่บอกว่า “เจ้ามีระดับการฝึกฝนที่เพียงพอแล้ว ลองกำหนดให้ตนเองอยู่ในนิมิตเหมือนทุกครั้งแต่คราวนี้สำรวมจิตเอาไว้ที่ตาเป็นจุดเดียว”
สนทำตาม ชยารพสั่งต่อว่า “เอาละ ทีนี้ลืมตาขึ้นมองซิ”

เมื่อสนมองอีกครั้ง ภาพรอบๆตัวเขาไม่ใช่ภาพเดิมอีกต่อไป รอบตัวเขาเหมือนตกอยู่ในความมืด แต่ไม่มืดเสียทีเดียวเพราะยังมีกลุ่มแสงเล็กๆคล้ายหิ่งห้อยนับไม่ถ้วยลอยไปมาอยู่ใกล้บ้างไกลบ้าง

เขาหันมาหาพระฤๅษี แต่ก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าจุดที่ควรจะมีท่านอยู่นั้นบัดนี้กลับมีแต่กลุ่มแสงสีเหลืองซึ่งส่องประกายสว่างกว่ากลุ่มแสงอื่นๆมาก เสียงของชยารพดังขึ้นมาในหัวของสนว่า “จงตั้งสมาธิเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปข้าจะสอนเจ้าในลักษณะนี้”

สนรับคำ ชยารพจึงกล่าวต่อว่า “ลองมองไปด้านที่ข้าชี้ให้เจ้าดูเมื่อครู่สิ เห็นอะไรบ้าง?”
“มีกลุ่มแสงสีเหลืองขนาดใหญ่กับกลุ่มแสงเล็กๆ จำนวนมากครับ”
“ถูกต้อง นั่นแหละคือมโน กลุ่มแสงเล็กๆเป็นมโนของสัตว์กับแมลง และกลุ่มแสงสีเหลืองดวงใหญ่นั้นเป็นมโนของข้าเอง ความจริงมโนกับกายเนื้อเป็นสองสิ่งที่สามารถแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด กายเนื้อโดดๆที่ไม่มีมโนสามารถดำรงชีพ เติบโต หรือแม้แต่สืบพันธุ์ได้ด้วยตนเอง ต้นไม้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของกายเนื้อชนิดนั้น”

สนได้ฟังดังนั้นจึงพึ่งสังเกตว่ามโนที่เขาเห็นนั้นส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวได้ ยังไม่มีมโนของต้นไม้เลย ชยารพอธิบายต่อว่า “เจ้าอาจสงสัยว่าถ้าเช่นนั้นแล้วมโนมีหน้าที่อะไรกันแน่? คำตอบคือ
มโนเป็นตัวที่คิด กายเนื้อเป็นเครื่องมือที่มโนบังคับให้ขยับไปตามปรารถนา แม้แต่สมองก็อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่มโนใช้ช่วยในการคิดเท่านั้น
เอาละทีนี้เจ้าลองสังเกตดูซิว่ามโนของสัตว์มีความแตกต่างจากมโนของข้าอย่างไรบ้าง?”

สนพิจารณาดูสักครู่จึงตอบว่า “มโนของสัตว์เป็นสีหม่นๆหรือไม่ก็สีเน่าและไม่ค่อยมีแสงสว่างเท่าไหร่ ต่างกับมโนของพระอาจารย์ที่แม้จะไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสีเหลืองทั้งหมดแต่ก็มีสีเด่นชัดและสว่างเจิดจ้ากว่ามากครับ”

ชยารพอธิบายว่า “หากมองมโนในแง่ที่เป็นตัวคิด ที่เจ้าเห็นมโนของข้าสว่างกว่าของสัตว์เพราะว่าความคิดของข้ามีพลังมากกว่าความคิดของสัตว์”

พระฤๅษีเน้นเสียง “ถามว่าความคิดที่มีพลังเป็นอย่างไร?
“ปกติความคิดของมนุษย์จะมีลักษณะเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ทำให้ไม่มีพลัง ความคิดที่มีพลังจะต้องเป็นความคิดที่ตั้งแน่วแน่อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คือสมาธิ นี่เป็นหลักการเดียวกับที่ข้าให้เจ้าฝึกเพ่งแสงเพื่อให้ความคิดของเจ้ามั่นคงอยู่กับแสง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนามโนซึ่งเป็นตัวคิดให้มีพลังนั่นเอง

“พลังที่เกิดจากการฝึกสำรวมมโนนี้ บางแห่งเรียกว่าฤทธิ์ บางแแห่งเรียกว่าอาคม บางแห่งเรียกว่าเวทย์มนต์คาถา แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรทุกอย่างล้วนมีพื้นฐานมาจากการเพิ่มพลังให้กับมโนดังกล่าว
“ที่ข้าบอกว่าต้องให้เจ้าฝึกสำเร็จถึงขั้นที่สองก่อนจึงจะอธิบายหลักการของวิชาให้เข้าใจได้ เพราะเมื่อเจ้าฝึกถึงขั้นนี้แล้วมโนของเจ้าจะมีฤทธิ์มากพอที่จะสัมผัสได้ถึงลักษณะที่แท้ของมโนอื่นๆอันเป็นสิ่งละเอียดเกินกว่าตาเนื้อธรรมดาจะสัมผัสได้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่ามีตาทิพย์นั่นแหละ

“มโนที่มีฤทธิ์สามารถทำได้หลายอย่าง นอกจากตาทิพย์แล้ว หากเจ้าฝึกฝนถึงระดับหนึ่งก็จะมีพลังพอที่จะสามารถถอดมโนออกจากร่างล่องลอยไปดูภพอื่น หรือแม้แต่เข้าไปอ่านความคิดในมโนของคนอื่น และเนื่องจากทุกครั้งที่มโนเกิดใหม่ในกายเนื้อ สมองที่ไม่สมบูรณ์ของกายเนื้อในวัยเด็กจะทำให้มโนลืมความทรงจำของชาติก่อนไป การระลึกชาติอาจทำได้หากเจ้าฝึกมากขึ้นและสามารถแทรกเข้าไปอ่านสิ่งที่บันทึกอยู่ในส่วนลึกของมโนตนเอง เราเรียกการกระทำทำนองนี้ว่าการเข้าฌาน”

ชยารพหยุดครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อว่า “ต่อไปข้าจะสอนวิธีการดูมโนให้กับเจ้า ลองสำรวจดูมโนของตนเองสิ”
สนลองมองไปที่จุดที่เขานั่งอยู่ พบว่ามันมีกลุ่มแสงกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน เป็นแสงสีเหลืองอ่อนแกมด้วยสีแสด รัศมีนั้นแม้จะสว่างกว่ามโนของสัตว์แต่ยังห่างไกลจากมโนของชยารพมาก

“การดูมโนแบ่งออกเป็นสามมิติ” พระฤๅษีกล่าว “มิติที่หนึ่งคือความสว่าง ซึ่งมโนยิ่งมีพลังก็จะยิ่งสว่างเจิดจ้าดังที่ข้าบอกไปแล้ว

“มิติที่สองคือความละเอียด ความละเอียดจะบ่งบอกถึงระดับของมโนว่าสมควรจะอยู่ภพไหน ที่ไหน ตัวแปรของมโนระดับนี้คือปัญญา คนยิ่งมีปัญญามากยิ่งมีมโนที่ละเอียดมาก คนมีปัญญาน้อยมโนจะหยาบลงตามลำดับ เจ้าจะเห็นได้ว่ามโนของข้าและของตัวเจ้าเองมีความละเอียดกว่ามโนของพวกสัตว์มาก เช่นเดียวกับที่มโนของเทวดาจะมีความละเอียดมากกว่ามโนของพวกเรา และสัตว์นรกที่มีมโนหยาบหนาที่สุดในภูมิทั้งหก
“มโนที่มีความละเอียดระดับหนึ่งจะไปเกิดในกายเนื้อระดับเดียวกัน อาจมีกรณีพิเศษที่มโนชั้นต่ำไปเกิดในกายเนื้อชั้นสูงได้โดยอุบัติเหตุ แต่นั่นหมายถึงคนที่เกิดมาจะเป็นปัญญาอ่อน และกรณีมโนชั้นสูงไปเกิดในกายเนื้อชั้นต่ำเช่นการที่เทวดามาจุติในร่างมนุษย์หรือสัตว์ จะทำให้เทวดาองค์นั้นไม่อาจใช้ความสามารถและสติปัญญาได้เต็มที่

“และ มิติสุดท้ายหรือมิติที่สามก็คือสี
สีเป็นตัวสะท้อนลักษณะของมโนนั้นๆว่าเป็นอย่างไร มโนอาจมีสีต่างๆมากมายแต่ที่จัดเป็นสี่ที่ดีนั้นมีเพียงห้าสีคือ สีขาว เขียว แดง แสด และ เหลือง

สีขาว แทนธาตุน้ำ คุณลักษณะของคนที่มีมโนสีนี้มีความสงบเยือกเย็น และมีเมตตา
สีเขียว แทนธาตุลม คุณลักษณะของคนที่มีมโนสีนี้คือเป็นคนปรับตัวเก่ง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี
สีแดง แทนธาตุไฟ คุณลักษณะของคนที่มีมโนสีนี้คือเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น และมีพลังในทางสร้างสรรค์
สีแสด แทนธาตุดิน คุณลักษณะของคนที่มีมโนสีนี้คือมีความหนักแน่นเที่ยงตรง มีสัจจะและความเพียร
สีเหลือง แทนธาตุแสง คุณลักษณะของคนที่มีมโนสีนี้คือเป็นคนที่มีความแตกฉานในเรื่องต่างๆได้ง่าย มีความกล้าหาญและความเป็นผู้นำ

นอกจากนั้นคนที่มีมโนสีหนึ่งๆก็จะมีประเภทของฤทธิ์แตกต่างกันไปด้วย

ฤทธิ์ของคนธาตุน้ำคือสามารถทำของแข็งให้กลายเป็นของอ่อน เรียกลมเรียกฝน หรือเสกน้ำให้ท่วมได้
ฤทธิ์ของคนธาตุลมคือสามารถอัดอากาศให้เต็มที่อับ อ่านใจคน และควบคุมคนอื่นได้
ฤทธิ์ของคนธาตุไฟคือสามารถเสกไฟ หรือทำให้สิ่งต่างๆมีอุณหภูมิสูงขึ้นดังใจปรารถนา
ฤทธิ์ของคนธาตุดินคือสามารถทำของอ่อนให้เป็นของแข็ง เสกกายเนื้อหยาบๆที่ไม่มีมโนมารับใช้ตนได้
ฤทธิ์ของคนธาตุแสงคือจะทำให้มีตาทิพย์เร็วกว่าธาตุอื่นๆ สามารถเสกแสงสว่างในความมืด ในข้อที่ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นก็ทำได้เช่นเดียวกับธาตุไฟ

อย่างไรก็ตามหากคนๆหนึ่งจะใช้ฤทธิ์เหล่านี้ได้ก็ต้องหมายถึงว่าเขานั้นได้ฝึกมโนมาจนมีพลังพอที่จะใช้ฤทธิ์ได้ด้วยนะ

ปกติมโนของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงอย่างมนุษย์นั้นตั้งแต่เกิดมาจะมีสีประจำเพียงสีเดียว และเมื่อผ่านการฝึกฝนทางจิตต่อไปเรื่อยๆ สีก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปตามแนวทางในการฝึก อย่างเช่นตัวเจ้านั้นแต่เดิมเป็นคนธาตุดินมโนจึงมีสีแสด ต่อมาเมื่อผ่านการฝึก ‘ประภาส’ ตามแนวทางของข้ามโนจึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง เพราะการฝึกประภาสนั้นเป็นการฝึกฤทธิ์ทางธาตุแสง”

ได้ยินดังนั้นสนรู้สึกกลัวและไม่พอใจขึ้นมาเล็กน้อย อาจารย์ถือวิสาสะอะไรมาเปลี่ยนมโนเรา
ชยารพเข้าใจลูกศิษย์จึงหัวเราะแล้วกล่าวว่า “เจ้าไม่ต้องกลัว ข้าไม่เปลี่ยนนิสัยเจ้าหรอก มันมีความเป็นไปได้ที่คนๆหนึ่งจะมีมโนสองสีหรือมากกว่านั้น เมื่อเจ้าฝึกวิชาของข้าสำเร็จแล้วอาจกลับไปฝึกฤทธิ์ทางดินต่อก็ได้ แต่ที่ข้าให้เจ้าฝึกทางแสงก่อนเพราะเป็นแนวทางที่ฝึกได้เร็วที่สุดและเมื่อฝึกแล้วจะได้ตาทิพย์สามารถมองเห็นมโนและเข้าใจอะไรๆได้ง่ายขึ้น”

นิษาทหนุ่มชักสนใจขึ้นมา “แล้วมโนหนึ่งๆจะมีสีได้มากที่สุดประมาณเท่าใดครับ”

“โดยทฤษฎีน่าจะมีได้ทุกสี แต่ข้าไม่เคยเห็นใครที่มีสีที่โดดเด่นเกินสามสีเลย ความจริงคือไม่มีใครสามารถมีความสามารถในทุกๆด้านได้ดอก อย่างไรก็ตามยังมีมโนชนิดพิเศษจริงๆที่มีสีแตกต่างไปจากสีทั้งห้า คือ เป็นสีเลื่อมพรายคล้ายแก้วผลึก หรือที่เรียกกันว่าสีประภัสสร คนที่มีมโนสีนี้ได้ก็ต้องเป็นคนพิเศษที่มีสติปัญญาและความสามารถมากจริงๆเช่นกัน เท่าที่ข้าทราบคนที่มีมโนสีนี้มีเพียงพระอินทร์เจ้าแห่งทวยเทพเท่านั้น”

ชยารพกล่าวในตอนท้าย “เอาละทีนี้เจ้าคงพอเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมโนและฤทธิ์แล้ว จงออกจากตาทิพย์ได้ วิธีออกจากตาทิพย์ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่เลิกคิดถึงนิมิตแสงสว่างที่รวมอยู่ที่ตานั้นก็พอ”

เมื่อสนออกจากการใช้ตาทิพย์แล้วพระฤๅษีจึงกล่าวว่า “ต่อไปข้าจะถ่ายทอดคาถาอาคมต่างๆให้กับเจ้า อาคมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่นการสะเดาะโซ่ตรวน หรือวิชาปัดธนูซึ่งทำได้ไม่ยากขึ้นอยู่กับวิธีการของเจ้าในการพลิกแพลงฤทธิ์ที่มีไปใช้อย่างไรเท่านั้น เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยความจำสักหน่อย แต่ถ้าเจ้ามีความเข้าใจในหลักการของมันดังที่อธิบายให้ฟังเมื่อครู่แล้วก็จะเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น”

จากนั้นชยารพจึงเริ่มสอนให้สนเพ่งจิตไปที่ขอนไม้แห้งท่อนหนึ่ง กำหนดเป็นความคิดว่ามีแสงสว่างมารวมกันที่จุดนั้นมากๆ สนลองทำตามก็ปรากฏไฟลุกขึ้นที่ขอนไม้แห้งนั้นจริงๆ

และนั่นคือการใช้ฤทธิ์ครั้งแรกของเขาที่ประจักษ์ออกมาเป็นรูปธรรม

หลังจากนั้นสนได้เรียนรู้คาถาอาคมต่างๆอีกมากซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิธีใช้คล้ายๆกันตามหลักการพื้นฐาน คือเป็นการเพ่งจิตให้รวมกันที่จุดหนึ่งแล้วนึกให้สิ่งที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น

อาคมบางอย่างก็มีประโยชน์มากเช่นการใช้มโนบังคับระบบต่างๆของร่างกายตนให้ทำงานช้าที่สุดเพื่อให้อวัยวะต่างๆไม่เสื่อมสภาพและสามารถยืดอายุรวมทั้งความเป็นหนุ่มสาวออกไปได้หลายปี (แต่นั่นหมายถึงต้องหายใจช้าลงและรับประทานอาหารน้อยลงด้วย เพื่อให้ให้สอดคล้องกับการทำงานช้าๆของระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร)

ส่วนในเรื่องการสะเดาะโซ่ตรวนหรืออะไรทำนองนั้น ก็เป็นการทำให้รู้จักว่าฤทธิ์ที่มีอยู่แล้วนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง ในกรณีที่ผู้ฝึกยังทำได้ไม่คล่องแคล่วสามารถกล่าวสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นคำพูดเพื่อเสริมกำลังใจตนเองได้ เช่น พูดว่า “หัก!” ดังๆ เมื่อจะเพ่งจิตให้กิ่งไม้หักลง

อาคมเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนที่ฝึกถึงขั้นควบคุมนิมิตได้สามารถทำได้ทุกคน โดยไม่จำกัดว่าเป็นคนธาตุไหน และต่อเมื่อฝึกมากขึ้นจึงจะมีฤทธิ์พิเศษที่สามารถทำได้เฉพาะคนในธาตุนั้นๆเท่านั้น ส่วนเรื่องนี้การฝึกในแนวธาตุอื่นนั้นสนเพียงรู้คร่าวๆจากการเปรยของชยารพว่าการฝึกฤทธิ์ธาตุดินทำได้โดยการนั่งเพ่งดินสีอรุณไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้นิมิต คือเห็นดินนั้นเป็นรูปแผ่นใสเหมือนแว่นแก้ว แล้วให้จดจำนิมิตไว้เหมือนกับที่ฝึกในธาตุแสง

การเรียนรู้ผ่านไปสามวันในลักษณะที่นิษาทหนุ่มเป็นฝ่ายท่องจำวิธีการใช้ฤทธิ์แบบต่างๆตามที่พระฤๅษีบอก เมื่อประกอบกับการฝึกปฏิบัติให้เห็นจริงบ้างเล็กน้อยแล้วในที่สุดสนก็สำเร็จวิชาของสำนักชยารพจนหมดสิ้น ...........................(อ่านต่อ)

หมายเหตุ

mp1.jpg
mp2.jpg
หลักการแห่งฤทธิ์ในเรื่องนี้เป็นจินตนาการของ
ผู้เขียนเอง ไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ที่มีอยู่จริง(?)ใดๆทั้งสิ้น
(แม้ว่าผู้เขียนจะลอกบ้างก็ตาม)
เชษฐา

กลับไปอ่านตอนที่แล้ว +++ กลับไปหน้าสารบัญ +++ ไปอ่านตอนต่อไป 1