นิยายแฟนตาซีแบบไทย

ศึกหกภพ

โดย เชษฐา

นิทานแทรก เรื่องที่ ๑


กรรมกำเนิด

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่าพระเจ้าอังคะเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นหัสตินาปุระอันเป็นเมืองหลวงเอกของโลกในสมัยนั้น


พระองค์มีมเหสีชื่อนางสุนีถา
ผู้เป็นธิดาคนหัวปีซึ่งสู่ขอมาจากพระยมเจ้าแห่งนรกภูมิ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าบิดาของพระมเหสีผู้นี้จะได้ชื่อว่าเป็นธรรมราชาผู้ให้ความยุติธรรมแก่สรรพสัตว์ทั้งมวลโดยเสมอหน้า
หากสุนีถากลับเป็นหญิงที่มีใจร้ายกาจคล้ายคลึงกับเด็กเกเร

นางมักจะใช้เวลาของวันหนึ่งๆหมดไปกับการกลั่นแกล้งรังแกผู้คนให้ได้รับความเดือดร้อน
ทั้งที่ใช้อำนาจข่มขู่คนทั่วไปจนขวัญหนีดีฝ่อ
หรือก่อกวนพวกพราหมณ์และนักบวชทั้งหลายไม่ให้บำเพ็ญพรตกิริยาสำเร็จ
อันนางถือเป็นการเล่นสนุกที่น่าโปรดปรานยิ่งนัก

วันหนึ่งขณะสุนีถาพาบริวารออกไปเที่ยวเล่นในป่านางได้พบกับโยคีหนุ่มรุปงามผู้หนึ่งกำลังบำเพ็ญสมาธิอยู่ท่ามในวนาศรมอันสงัดวิเวก
นางสุนีถารู้สึกพึงใจกับความหล่อเหลาของโยคีผู้นั้นจึงได้เข้าไปใกล้และเอื้อมมือเข้าเขย่าตัวโยคีนั้นโดยแรง

“ตื่น ตื่นสิ ข้าสั่งให้ตื่น!” นางกล่าว

โยคีหนุ่มค่อยๆลืมตาขึ้นช้าๆ
เมื่อเห็นหญิงแต่งกายงดงามเป็นวรรณะกษัตริย์อยู่เบื้องหน้าจึงกล่าวด้วยคำอันสุนทรว่า
“ท่านมีธุระใดหรือ?”
“ย่อมมีสิ ข้าเห็นเจ้าหน้าตาดีต้องใจข้านัก
แต่กลับมานั่งหลับอยู่จึงได้ปลุกให้ตื่น”
โยคีหนุ่มยิ้มอย่างใจเย็น “ท่านเข้าใจผิดแล้ว
ข้าไม่ได้นั่งหลับแต่กำลังนั่งสมาธิอยู่”
“จะอะไรก็ช่าง ข้าไม่สนหรอก เออ ว่าแต่เจ้าชื่ออะไรรึ?”

“ข้าชื่อสุศังขะเป็นคนธรรพ์”
“คนธรรพ์? เจ้าหมายถึงพวกกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ที่ชอบเล่นดนตรีน่ะรึ”
“…ถูกต้อง หากมิใช่ดนตรีเท่านั้นนะ
ชนชาติของข้ายังหลงไหลในงานศิลปะทุกแขนงและเพื่อจะบรรลุถึงสุดยอดแห่งวิชาการเหล่านั้นเราจำต้องได้รับความอนุเคราะห์จากพระสรัสวดีผู้เป็นเทวีแห่งศิลปิน
ที่ท่านเห็นเมื่อครู่คือข้ากำลังตั้งจิตระลึกถึงพระแม่เจ้าเพื่อถวายเป็นธรรมบูชาอย่างไรล่ะ”


“การทำตบะสำหรับข้าเป็นเรื่องน่าเบื่อ
แต่ดนตรีถ้าเพราะจริงยังพอฟังเข้าหูบ้าง ดี
อย่างนั้นวันนี้เจ้าเลิกเข้าฌานอะไรนั่นแล้วมาเล่นดนตรีให้ข้าฟังสักเพลง“
“…แต่ท่าน”

สุนีถาหัวเราะ “ฮะฮะฮะ ทำเป็นอ้ำอึ้งไปได้ เจ้าคงยังไม่รู้จักข้าสินะ
ข้านี่แหละคือสุนีถา
มเหสีของท้าวอังคะผู้ครองดินแดนที่คุ้มหัวเจ้าอยู่และยังเป็นธิดาเอกแห่งพระยมเจ้าแห่งความตายอีกด้วย
อย่าไปพักคำนึงถึงพระสรัสวดีเลย เจ้าโชคดีมากนะที่ได้ข้ามาโปรดในเวลานี้”
สุศังขะเปลี่ยนสีหน้าเล็กน้อยแต่ก็แค่นเสียงตอบว่า “…ที่แท้ท่านนี่เอง
ได้ยินชื่อมานาน”
“แล้วยังไม่รีบเล่นดนตรีให้ข้าฟังอีก” สุนีถาสั่ง

โยคีหนุ่มไม่อยากมีปัญหาจึงหยิบพิณคู่มือออกมาบรรเลงเพลง
ความจริงเพลงนั้นมีความไพเราะอันหาเสมอเหมือนได้ยากอยู่
หากแต่เป็นดนตรีเย็นๆที่นางสุนีถาฟังแล้วรู้สึกรำคาญจึงโมโหแย่งพิณมาจากมือสุศังขะ

“เจ้าคนน่าเบื่อ เล่นอะไรก็น่าเบื่อไปหมด ดีละ ข้าจะลงโทษเจ้า”
นางฟาดพิณนั้นจนแหลกเป็นชิ้นๆแล้วเอาส่วนที่เป็นด้ามยาวมาเฆี่ยนตัวสุศังขะ
“ฮะฮะ นี่แน่ะ สำนึกผิดหรือยัง!”

ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง
ก่อนที่สุนีถาจะลงมือเฆี่ยนอีกสุศังขะก็ตวัดจับมือของพระมเหสีผู้ร้ายกาจไว้โดยแน่น
“พอกันที!
ท่านเข้าใจว่าตนเองยิ่งใหญ่นักหรือไรจึงได้เที่ยวใช้อำนาจของพ่อและผัวมาข่มเหงผู้อื่นเช่นอันธพาล
จงฟังไว้ ลูกคนแรกและคนเดียวของท่านที่จะเกิดแต่พระราชาอังคะจักเป็นลูกเลว!
มันจักเป็นคนชั่วช้าที่คนทั้งแผ่นดินสาปแช่ง
และท่านจักต้องได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความเลวของลูกไปจนชั่วชีวิต”

สิ้นคำสาปก็เกิดมหาพายุพัดวนรอบๆตัวพญาคนธรรพ์
ฝุ่นปลิวฟุ้งขึ้นตลบทั่วทั้งบริเวณเป็นที่แตกตื่นโกลาหล
พอสุนีถาลืมตาได้อีกครั้งโยคีหนุ่มผู้นั้นก็หายไปเสียแล้ว

กาลต่อมานางให้กำเนิดโอรสองค์หนึ่งนามว่าเวนมีผิวดำมืด
ร่างกายใหญ่หยาบแต่กำเนิด

เจ้าชายเวนเป็นผู้ทรงพลังมหาศาลหากแต่มีน้ำพระทัยอันโหดร้ายทารุณ
มักเที่ยวก่อเรื่องเลวทรามบัดสียังผลให้บิดามารดาเศร้าหมองยิ่งนัก
ในที่สุดพระเจ้าอังคะก็ทรงปลงต่อเรื่องราวในโลกจึงสละราชสมบัติและเข้าป่าไปบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษี


ทันทีที่เวนขึ้นครองบัลลังค์สืบจากพ่อ
เขาก็เรียกพวกพราหมณ์ทั้งหลายมาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ทันที
“พวกเจ้าจงฟังให้ดี” พระเจ้าเวนกล่าว
“ต่อแต่นี้ไปห้ามไม่ให้พวกเจ้าทำการบวงสรวงบูชาเทพเจ้าใดๆอีก
และให้เปลี่ยนมาทำการบูชาข้าเพียงคนเดียว”

พวกพราหมณ์ตกใจกันไปตามๆกัน “…แต่พระองค์
จะให้เราบูชาพระองค์ได้อย่างไรในเมื่อพระองค์เป็นมนุษย์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่
และหากเราไม่บูชาเทพเจ้าบนสวรรค์เทพเหล่านั้นจะไม่พอใจและดลบันดาลภัยพิบัติต่างๆนาๆให้เกิดแก่มนุษย์โลก”


แทนที่จะฟังเหตุผลเวนกลับตวาดอย่างไม่พอใจทำให้ทุกคนตื่นกลัวไปตามๆกัน “เฮอะ
พวกเจ้าเสียทีที่เป็นพราหมณ์กลับไม่รู้หนังสือ นี่แน่ะ
คัมภีร์โบราณท่านว่าไว้ว่าพระราชาเปรียบเสมือนเทพใช่หรือไม่”
“ย่อมใช่พระองค์คือสมมุติเทพ แต่...”
“เมื่อข้าเป็นเทพ
เจ้าก็ควรบูชาข้าโดยไม่จำเป็นต้องไปบูชาคนอื่นอีกเพราะข้าคือเทพสูงสุดที่มีชีวิตอยู่ตรงนี้และสามารถดลบัลดาลเภทภัยหรือให้รางวัลแก่พวกเจ้าได้ทันตาเห็น!
ตาแก่ที่โง่เขลาเอ๋ย ยุคแห่งนามธรรมได้หมดไปแล้ว
จากนี้ไปคือยุคแห่งรูปธรรมที่เทพเจ้ามีตัวตนจริงๆ กินได้ หายใจได้จริงๆ
เร็วสิ! จงเร่งบูชาข้าด้วยสมบัติอันเป็นรูปธรรม
สากลพิภพนี้จักไม่มีที่อยู่ให้แก่คนบาปผู้ดูแคลนเทพเจ้าดอก”

เวนประกาศกร้าวให้ทหารทุกหัวเมืองดำเนินการตามกฎหมายใหม่นี้ทันที
การลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎเป็นไปอย่างโหดร้ายและกว้างขวาง
เป็นอันว่าพราหมณ์ที่รักความถูกต้องมากกว่าชีวิตจึงไม่มีชีวิตอีกต่อไป
ส่วนพราหมณ์ที่ยังรักชีวิตทั้งหลายก็จำต้องยอมทำตามเวน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการกระทำอันเลวทรามของเวนเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
เขายังได้ประกอบกรรมอันชั่วร้ายอื่นๆอีกมากมายตลอดระยะเวลาปกครองที่ยาวนานสมกับคำสาปซึ่งได้รับตั้งแต่ยังไม่เกิด


บรรดาประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนเพราะกษัตริย์ชั่วกันทั่วหน้า
สิ่งมงคลศักดิ์สิทธิในโลกค่อยๆเสื่อมทรามลงด้วยฤทธิ์ร้ายของเวนจนในที่สุดแม้แต่ผู้ดูแลผืนแผ่นดินอย่างพระแม่ธรณีเองยังทนไม่ไหวต้องหลบหนีไปเช่นกัน


ไม่มีพระนางแล้วโลกทั้งโลกก็กลายสภาพเป็นกรวดทรายแห้งแล้งอันสิ่งมีชีวิตไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ทำให้ผู้คนล้มตายลงมากต่อมาก
เมื่อสภาวการณ์ต่างๆย่ำแย่ลงจนถึงขีดสุดเหล่าพราหมณ์จึงออกมาชุมนุมกันเพื่อหาหนทางแก้ปัญหา
“เราจะต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะพากันตายหมด” พราหมณ์คนหนึ่งกล่าว
“ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ” พราหมณ์อีกคนว่า
“ทุกคนต่างทราบดีว่าต้นเหตุของปัญหานี้มาจากความชั่วร้ายของเวน
แต่เขามีกำลังมากเราจะเอาอะไรไปสู้เขา”

ทุกคนหันไปมองทางภรัทวาชฤๅษีผู้เป็นประธานการประชุมและสมาชิกของคณะสัปตฤๅษีผู้เดียวที่ยังอยู่ปกป้องโลก
(คณะสัปตฤๅษีคือฤๅษีชั้นสูงสุดมีด้วยกันเจ็ดตนคือ วสิษฐ วิศวามิตร กัศยป โคดม
อัตริ ภรัทวาช)

“...ทางแก้นั้นยังพอมีอยู่” พระมหาฤๅษีกล่าวช้าๆ
“มันคืออะไรหรือ?”
“เมื่อไม่นานมานี้ข้าได้ขึ้นถอดจิตไปขอความช่วยเหลือกับพระธาดาพรหม
พระองค์บอกว่าทางเดียวที่จะปราบเวนได้คือเราทั้งหมดต้องร่วมกันประกอบยัญชพิธีอย่างหนึ่งขึ้นสาปแช่งเขา
ซึ่งแม้เวนจะเป็นเจ้าปกครองโลกแต่เพราะเขาไม่เคยทำความดีจึงไม่มีบุญฤทธิ์ปกป้อง
เขาต้องตายด้วยยัญชพิธีนี้แน่ๆ”

ภรัทวาชก่อกองไฟใหญ่ขึ้นกองหนึ่ง
เรียกพราหมณ์ทั้งแผ่นดินมารวมกันรอบๆกองไฟแล้วให้ทุกคนบริกรรมคาถาสาปแช่งเวนพร้อมทั้งเผาเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆลงในไฟนั้น


ด้วยมนตร์ของมหาฤๅษี
ธาตุไฟในตัวเวนได้แตกระอุออกยังผลให้เจ้าพิภพผู้ชั่วร้ายมีอาการเจ็บป่วยกระสับกระส่ายไปทั้งร่าง
เมื่อรู้ว่าเป็นอาการจากไสยเวทย์เวนจึงได้สั่งให้คนของเขาออกค้นหาต้นตอของผู้สาปแช่งไปทุกสารทิศทันที


คนของเวนคนหนึ่งพบยัญชพิธีของภรัทวาชและแจ้งข่าวกลับมา
เวนรีบเดินทางไปยับยั้งการทำพิธีด้วยตนเองโดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นไปตามแผนการที่พระฤๅษีต้องการอยู่แล้ว


เมื่อเวนไปถึง เขาเห็นเต็มตาว่าภรัทวาชและเหล่าพราหมณ์กำลังสาปแช่งเขาอยู่
ความโกรธความแค้นทำให้เวนถือดาบพุ่งเข้าไปจะฟันภรัทวาชอย่างขาดสติ

พราหมณ์คนอื่นๆแตกตื่นหลบหนีไปตามๆกันมีเพียงภรัทวาชเท่านั้นที่นั่งคอยเวนด้วยอาการสงบนิ่ง
และก่อนที่เวนจะฟันถึงตัวพระฤๅษีเขาก็ถูกฝ่ายตรงข้ามซึ่งรวดเร็วกว่าฟาดด้วยฟ่อนหญ้ากุศะอันปลุกเสกแล้วในพิธีเสียก่อน


ด้วยฤทธิ์แห่งเวทย์อันศักดิ์สิทธิ์
ความชั่วร้ายอันเป็นชีวิตจิตใจของเวนก็แผ่พุ่งออกจากทวารทั้งเจ็ดด้วยรูปของควันสีดำ
พระราชาชั่วร้ายจึงล้มลงขาดใจตายโดยลักษณะนี้

แต่ด้วยญานรู้เห็นว่ากรรมเลวของเวนยังหลงเหลืออยู่
ภรัทวาชฤๅษีจึงได้ใช้ไม้เท้าแตะไปที่หน้าแข้งของร่างไร้ชีวิตนั้น
เกิดอัศจรรย์เป็นบุรุษตัวดำต่ำเตี้ยหน้าตาอัปลักษณ์ผู้หนึ่งผุดออกจากร่างของเวนแล้วลุกขึ้นมาประนมกรกราบพระฤๅษีด้วยท่าทางเก้ๆกังๆ


ภรัทวาชกล่าวกับบุรุษผู้นั้นว่า
“เวนทำกรรมเกินกว่ามันเองจะชดใช้ได้หมดจึงต้องมีเจ้าเป็นผู้ที่เกิดขึ้นมาชดใช้กรรมแทนมัน
จงเรียกตัวเองว่านิษาทและยังชีพโดยการล่าสัตว์อันเป็นบาปที่ผู้อยู่ในวรรณะสูงไม่อาจแตะต้องเถิด”

บุรุษผู้นั้นรับคำและออกเดินไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า
เขาได้กลายมาเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่านิษาทที่ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบัน

หลังจากเวนตายแผ่นดินจึงกลับคืนสู่เสรีภาพและความอุดมสมบูรณ์ยังความยินดีปรีดาสู่คนทั้งหลาย
นิทานของเราก็จบลงด้วยประการฉนี้…”

… … …

ห้องเรียนอันสะอาดเรียบร้อยแวดล้อมด้วยเหล่าลูกศิษย์ที่นั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ
ครูพราหมณ์ยกถ้วยน้ำของเขาขึ้นมาจิบเบาๆ นิทานของเขาจบลงแล้ว
“เอาละที่นี้ก็มาถึงคำถาม
พวกเจ้าทราบไหมว่าผู้ใดในเรื่องนี้เป็นผู้ที่มีกรรมมากที่สุด”

เหล่าลูกศิษย์ปรึกษากันครู่หนึ่งจึงตอบว่า
“สุนีถาที่ไปกลั่นแกล้งคนอื่นนั้นผิด สุศังขะที่สาปคนเกินเหตุก็ผิด
เวนกษัตริย์ผู้ชั่วร้ายยิ่งผิดใหญ่ สรุปว่าบาปกรรมย่อมตกอยู่แก่สามคนนี้ครับ”


“เจ้าตอบไม่ถูกดอก” ครูพราหมณ์กล่าว
“กรรมทั้งนั้นย่อมตกอยู่แก่พวกนิษาทต่างหาก
อันเป็นไปตามหลักเหตุผลที่ว่ากรรมของผู้ให้กำเนิดย่อมตกอยู่แก่ผู้ที่กำเนิดมาด้วย
การที่เวนได้รับกรรมจากแม่ของเขาก็เป็นตัวอย่างที่ชอบอยู่”

เมื่อเห็นพวกลูกศิษย์ทำหน้างงครูพราหมณ์จึงกล่าวต่อว่า
“เจ้าอาจมองจากความเป็นจริงในทุกวันนี้ก็ได้
ในป่านอกเมืองเราก็มีหมู่บ้านของคนเถื่อนนิษาทเหล่านั้นปรากฏอยู่
พวกมันย่อมยังได้รับผลกรรม
แต่พวกเจ้าอย่าได้ริเข้าไปหามันเชียวนะเพราะการเกลือกกลั้วกับชนชั้นต่ำเช่นนั้นเป็นบาป”


ศิษย์คนหนึ่งอดรนทนไม่ได้ถามว่า “อาจารย์ครับถ้านิษาทมีกรรมแต่กำเนิด
พวกเขาจะมีหนทางทำอย่างไรเพื่อหลุดพ้นจากกรรมนั้นไหมครับ”
ครูพราหมณ์ยิ้มอย่างปราณี “มีสิ สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนขึ้นอยู่กับกรรม
ถ้าเขาทำบุญให้มากๆ พอตายแล้วชาติหน้าอาจได้เกิดในวรรณะอื่นที่ดีกว่า”

แสงแดดสาดส่องลงมาเป็นประกายเรืองๆครูพราหมณ์เดินไปปิดหน้าต่างเสียก่อนจะกล่าวด้วยน้ำเสียงกังวาลทว่าอบอุ่นนุ่มนวลว่า


"…พระผู้เป็นเจ้าย่อมมีความเป็นธรรมให้แก่ทุกคนอยู่แล้ว...” ...........................(อ่านต่อ)

กลับไปอ่านตอนที่แล้ว +++ กลับไปหน้าสารบัญ +++ ไปอ่านตอนต่อไป 1