นวนิยายแฟนตาซีอวกาศเรื่องยาว

วีรบุรุษทางช้างเผือก銀河英雄伝説

เรื่อง โดย ทะนะกะ โยะชิกิ (田中芳樹) แปลโดย Pae

เรื่องย่อ เล่มหนึ่ง และ เล่มสองครึ่งแรก


ห้วงอวกาศแบ่งเป็น 3 อาณาจักร (ประเทศ) ที่คะคานอำนาจกันอยู่กล่าวคือ

จักรวรรดิทางช้างเผือก ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีจักรพรรดิเป็นประมุข

สมาพันธ์ดาวเคราะห์เสรี ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลซึ่งเรียกว่า ที่ประชุมสูงสุดของคณะกรรมาธิการ เป็นผู้บริหารประเทศ

เขตปกครองตนเองเฟซาน ซึ่งปกครองด้วยผู้ปกครองเรียกว่า ลันเดสเฮล เป็นดินแดนแห่งเสรี ใครใคร่ค้า ค้า



ปีจักรวรรดิที่ 487 (ปีสากลอวกาศที่ 796) จักรพรรดิฟรีดลิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิทางช้างเผือก มีพระบรมราชโองการให้พลเอกพิเศษ เคานท์ ไรน์ฮาร์ด ฟอน โรเอนกรัมนายทหารหนุ่มวัย 20 ปี นำทัพเรือรบอวกาศจำนวน 20,000 ลำบุกเข้าไปในแดนสมาพันธ์ เพื่อแสดงแสนยานุภาพแห่งพระบารมี

การรบที่เรียกภายหลังว่า ศึกแอสทาเทก็ได้เปิดฉากขึ้นด้วยประการฉะนี้ ความสำคัญของศึกนี้ คือ เป็นศึกครั้งแรกที่ไรน์ฮาร์ด และ หยางเหวินหลี่มีโอกาสประทะฝีมือกันโดยตรงในฐานะผู้นำทัพ

ในตอนแรก สถานการณ์ฝ่ายสมาพันธ์ดูจะเป็นต่อ เมื่อสามารถชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ จัดสรรกำลังรบที่เหนือกว่า ด้วยจำนวนยานรบทั้งหมด 40,000 ลำ หากแต่พวกเขากลับแบ่งกำลังนี้เป็นกองยานรบทั้งหมด 3 กอง และแยกย้ายกันเดินทัพเพื่อหมายจะโอบล้อมทัพของไรน์ฮาร์ดจากสามทิศทาง

ไรน์ฮาร์ดแก้เกม โดยใช้ยุทธวิธีตีทีละส่วน เข้าโจมตีกองยานรบของสมาพันธ์ทีละกองก่อนที่พวกเขาจะสมทบกันได้ จนฝ่ายหลังแตกพ่ายไป และในการศึกขั้นสุดท้ายที่เขาตีกองยานรบที่ 2 ซึ่งเหลืออยู่สุดท้ายนั้น พลโทปาเอตต้า ผู้บัญชาการกองยานรบที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสจึงมอบให้รองเสนาธิการ พลจัตวาหยางเหวินหลี่วัย 29 ปี เป็นผู้บัญชาการรบแทน

หยางอ่านแผนยุทธวิธีของไรน์ฮาร์ดออกแต่ต้น จึงได้เตรียมแผนกู้สถานการณ์ไว้แล้ว ขณะที่ทัพไรน์ฮาร์ดซึ่งมีกำลังพลเหนือกว่า กำลังใช้ยุทธวิธีทะลวงกลาง เพื่อตัดแยกกองยานรบที่ 2 เป็นสองเสี่ยงนั้น กองยานรบที่ 2 ก็กลับใช้วิธีแยกกำลังเป็น 2 ส่วนแล้ววิ่งอ้อมไปตีด้านหลังของทัพไรน์ฮาร์ด

ผลการศึกครั้งนี้คือ เสมอกัน ต่างฝ่ายต่างต้องถอนตัวกลับ



และผลที่ตามมาจากการศึกนี้คือ

ฝ่ายจักรวรรดิ ไรน์ฮาร์ดได้รับเลื่อนยศเป็นจอมพล สามารถเปิดจวนจอมพลของตนเองได้ และมีอำนาจแต่งตั้งนายทหารในสังกัดของตนได้ตามใจชอบ เขาคัดเลือกนายทหารหนุ่ม ๆ มีฝีมือจำนวนมากไว้ในสังกัดของตน อาทิ เคียร์ชไอซ์ ซึ่งเป็นมือขวาของเขา, รอยเอนธาล บุรุษรูปงามผู้มีตาข้างละสี, มิตเตอร์ไมเยอร์ ผู้ซึ่งจะได้ฉายานามว่า "หมาป่าเจ้าพายุ" ในภายหน้า, บิทเทนเฟลท์ นายทหารจอมลุย เจ้าของกองเรือรบ "อัศวินแลนซ์ดำ" ฯลฯ

ฝ่ายสมาพันธ์ หยางได้รับเลื่อนยศเป็นพลตรี และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองยานรบที่ 13 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ โดยอาศัยกำลังจากทหารที่เหลืออยู่จากศึกครั้งก่อน ๆ ของกองยานรบอื่น และได้รับมอบภารกิจสำคัญยิ่งคือ ตีป้อมปราการอิเซลโลนของจักรวรรดิให้แตก

หยางรับงานนี้เพราะเชื่อว่า เมื่อป้อมปราการอิเซลโลนตกอยู่ในมือสมาพันธ์ จะทำให้จักรวรรดิไม่สามารถเคลื่อนทัพมาตีสมาพันธ์ได้อีก สันติภาพจะได้บังเกิดขึ้น แม้ชั่วคราวก็ยังดี

หยางได้ร้อยโทเฟรดเดอริกา กรีนฮิลล์ สาวน้อยผู้มีใจให้หยางตั้งแต่เมื่อครั้งยุทธการลี้ภัยที่เอลฟาซิลเมื่อ 8 ปีก่อนมาเป็นนายทหารผู้ช่วยของเขา และจัดกำลังไปตีป้อมปราการอิเซลโลน โดยได้กำลังสำคัญคือ หน่วยนาวิกโยธินพิเศษของสมาพันธ์ ที่มีชื่อว่า หน่วยโรสเซนริตเตอร์ (อัศวินกุหลาบแดง) อันมีพันเอกวอลเตอร์ ฟอน เชนคอป อดีตชาวจักรวรรดิทางช้างเผือกผู้ลี้ภัยมาอยู่กับสมาพันธ์เป็นผู้นำ

หยางยึดป้อมปราการอิเซลโลนได้ โดยกลอุบายที่แยบยล แยกให้กองเรือรบประจำป้อมปราการออกมานอกป้อมเสียก่อน จากนั้นส่งหน่วยโรสเซนริตเตอร์ปลอมตัวเป็นทหารของจักรวรรดิเข้าไปในป้อม แล้วยึดป้อมจากภายใน จากนั้นรับการโจมตีของกองเรือรบประจำป้อม ด้วยปืนใหญ่ประจำป้อมอันมีสมญานามว่า ฆ้อนแห่งทรูล



ผลจากยุทธการยึดป้อมครั้งนี้คือ

ด้านสมาพันธ์ หยางได้รับเลื่อนยศเป็นพลโท ขณะที่รัฐบาลของสมาพันธ์ฮึกเหิมถึงขนาดจะส่งกองทัพใหญ่เข้าไปบุกรุกแดนจักรวรรดิบ้าง ด้วยหวังได้ชัยชนะทางการทหารเพื่อนำมาหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งเท่านั้น

ด้านจักรวรรดิ ไรน์ฮาร์ดได้ที่ปรึกษาคนใหม่ชื่อ พอล ฟอน โอแบร์สไตน์ ซึ่งเป็นผู้ที่หนีศึกมาจากป้อมปราการอิเซลโลนด้วยตระหนักว่าป้อมแตกแน่ และไรน์ฮาร์ดยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการรับศึกทัพใหญ่ของสมาพันธ์



ศึกใหญ่ครั้งสุดท้ายในปีนี้คือ ยุทธการอัมริทเซอร์

ในช่วงแรก ดูเหมือนว่าสมาพันธ์จะได้ชัยโดยไม่ต้องรบ เมื่อทหารของจักรวรรดิพากันถอยร่นเข้าไปในดินแดนของตัวเอง ทิ้งไว้ซึ่งหมู่ดาวรอบนอกให้สมาพันธ์ยึดครองไป

แต่นี่คือยุทธศาสตร์ที่ไรน์ฮาร์ดได้วางไว้แล้ว สมาพันธ์ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากรจำนวนมากในหมู่ดาวที่ตนยึดได้ จนกระทั่งเสบียงขัดสนขึ้น

ทัพของไรน์ฮาร์ดตีโต้ทันที เริ่มจากเคียร์ชไอซ์คุมกองเรือรบไปทำลายกองเสบียงของสมาพันธ์ที่ส่งมาใหม่จนราบ จากนั้นกองเรือรบจำนวน 8 กองแยกย้ายกันบุกเข้าโจมตีกองยานรบทั้ง 8 กองของสมาพันธ์อย่างดุเดือด ทัพสมาพันธ์ต้องถอยร่นกันมารวมพลที่บริเวณระบบดาวฤกษ์อัมริทเซอร์ พวกเขาสูญเสียนายทหารสำคัญไปหลายคน อาทิ พลโทอุลุมฟ์ พลโทโบโรดีน พลโทอัลซาเรม เหลือกำลังหลักเพียงพลโทหยางและพลโทบิวค็อก สิงห์เฒ่าเจนศึกผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากพลทหารจนกระทั่งเป็นนายพล

ยุทธการอัมริทเซอร์น่าจะปิดฉากด้วยชัยชนะเด็ดขาดของทัพจักรวรรดิ เมื่อพวกเขาใช้กำลังที่เหนือกว่า และยังใช้กลยุทธที่เหนือกว่า- คือให้เคียร์ชไอซ์นำกำลังส่วนหนึ่งอ้อมไปตีด้านหลังของทัพสมาพันธ์ ซึ่งมีสนามทุ่นระเบิดขวางอยู่ แต่ก็สามารถเจาะ "อุโมงค์" เพื่อลอดผ่านได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว- เข้าบดขยี้ทัพสมาพันธ์ให้สิ้นสลายอย่างที่เรียกว่าราพณาสูร

หากไม่เพราะความผิดพลาดของบิทเทนเฟลต์ในการรบช่วงแรกที่สั่งการรบประชิดเร็วเกินไป จนถูกหยางย้อนศร ทำลายกองเรือในสังกัดของเขาจนเกือบหมดแล้ว ในตอนท้ายหยางจึงได้อาศัยจุดโหว่นี้ พากำลังที่เหลือของทัพสมาพันธ์แหกวงล้อมหนีออกไปได้สำเร็จ และมุ่งหน้ากลับไปป้อมปราการอิเซลโลน



เสร็จศึกนี้ สมาพันธ์ต้องกลับไปดินแดนของตนอย่างสะบักสะบอม พร้อมมีการถ่ายเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ทั้งหมด ทั้งในรัฐบาลและในกองทัพ

ในด้านรัฐบาล นายทริวนิชท์ นักการเมืองปลิ้นปล้อนฉวยโอกาสเกาะกุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ และได้รับการคาดหมายว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ ประธานคณะกรรมาธิการสูงสุดในปีต่อไปอย่างแน่นอน

ในกองทัพ บิวค็อกได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอกและเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการสูงสุดกองยานรบอวกาศ ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตกเป็นของพลโทชวูลีย์ผู้ไม่ได้ออกรบในครั้งนี้ และได้รับเลื่อนยศเป็นพลเอกตามตำแหน่งเช่นกัน

หยางได้รับเลื่อนยศเป็นพลเอกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการป้อมปราการอิเซลโลน ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีใครที่กองทัพสามารถไว้ใจให้ไปป้องกันประเทศในแนวหน้าได้อีกแล้ว



ทางจักรวรรดิ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อจักรพรรดิฟรีดลิชที่ 4 สิ้นพระชนม์โดยไม่ยอมกำหนดผู้สืบทอดราชบัลลังค์ไว้ ทำให้ดยุค ฟอน เบราสไวก์ และ มาร์ควิส ฟอน ลิทเทนไฮม์ ผู้เป็นหลานเขยของพระองค์และต่างมีบุตรีซึ่งเทียบศักดิ์ได้เป็นหลานตาของพระองค์ต่างมุ่งหวังให้บุตรีของตนขึ้นครองราชย์ต่อ และตนจะได้เป็นผู้กุมอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนจักรพรรดินีองค์น้อย

แต่มาร์ควิส ฟอน ลิชเทนลาเด้ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้ถือตราแผ่นดินอยู่ด้วย กลับเลือกที่จะยกหลานปู่ของจักรพรรดิผู้ล่วงลับ คือ เอลวิน โจเซฟ วัย 5 ชันษาขึ้นครองราชย์ต่อเป็นจักรพรรดิเอลวิน โจเซฟที่ 2 และอาศัยฐานกำลังทางการทหารของไรน์ฮาร์ดมาเป็นเกราะคุ้มภัยให้ตนกับจักรพรรดิน้อย โดยเลื่อนฐานันดรให้ไรน์ฮาร์ดเป็นมาร์ควิสด้วย

สองขุนนางผู้ผิดหวังในอำนาจ ได้แก่ ดยุค ฟอน เบราสไวก์และ มาร์ควิส ฟอน ลิทเทนไฮม์ จับมือกันก่อตั้งขบวนการพันธมิตรขุนนาง เพื่อหมายจะล้มล้างอำนาจของฝ่ายลิชเทนลาเด้และไรน์ฮาร์ด โดยมีบรรดาขุนนางฐานันดรมาเข้าร่วมขบวนการด้วยเป็นอันมาก


(ขึ้นเล่มสอง)

ขึ้นปีใหม่ ปีจักรวรรดิที่ 488 (ปีสากลอวกาศที่ 797) จักรวรรดิทางช้างเผือกโดยกองทัพแห่งจักรวรรดิ ในนามของไรน์ฮาร์ดเสนอขอแลกเชลยศึกจำนวนสองล้านคนกับฝ่ายสมาพันธ์ ซึ่งฝ่ายหลังตกลงทันที ด้วยรัฐบาลหมายจะได้คะแนนเสียงเพิ่มจากบรรดาทหารผ่านศึกเหล่านี้

หยางหยั่งรู้ได้ทันทีว่า ไรน์ฮาร์ดกำลังจะเริ่มเปิดศึกกลางเมืองกับพันธมิตรขุนนางแน่แล้ว และสิ่งหนึ่งที่ไรน์ฮาร์ดต้องทำคือ ใช้กลอุบายทางการเมือง ให้สมาพันธ์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถฉวยโอกาสเข้าไปก่อความเสียหายให้จักรวรรดิในระหว่างที่อีกฝ่ายอยู่ในสภาวะทำสงครามกลางเมืองกันอยู่ได้

ในระหว่างนี้ ไรน์ฮาร์ดได้พันธมิตรคนใหม่อีกหนึ่งคน คือ ท่านผู้หญิง เคานท์เตส ฮิลเดกัลต์ ฟอน มารีนดอร์ฟ หรือคุณหนูฮิลด้าแห่งตระกูลมารีนดอร์ฟ

สงครามกลางเมืองในจักรวรรดิก็เริ่มขึ้น เมื่อพันธมิตรขุนนางยกกำลังออกไปตั้งมั่นที่ป้อมปราการไกเอสบูร์ก และได้เกลี้ยกล่อมให้พลเอกพิเศษเมลคัทซ์ นายทหารเฒ่าชาญศึกมาเป็นแม่ทัพใหญ่ให้

ทางฝ่ายสมาพันธ์ เกิดเหตุรัฐประหารขึ้น ทั้งที่หยางได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและแจ้งเตือนพลเอกบิวค็อกไว้แล้วด้วย แต่การลงมือปฏิบัติการของฝ่ายรัฐประหารเฉียบขาดกว่าที่คิด และการณ์กลับกลายเป็นว่า หัวหน้าผู้นำคณะรัฐประหารคือ พลเอก ดไวท์ กรีนฮิลล์ บิดาของเฟรดเดอริก้าซึ่งเป็นนายทหารผู้ช่วยของหยางนั่นเอง

หยางตัดสินใจนำทัพยานรบของตนออกจากป้อมปราการอิเซลโลน เพื่อปราบรัฐประหารในครั้งนี้

ขณะที่ทางฝ่ายจักรวรรดิ การประทะกันครั้งแรกระหว่างทัพไรน์ฮาร์ดกับทัพพันธมิตรขุนนางก็เปิดฉากขึ้น โดยทัพหน้าของทั้งสองฝ่ายอันนำโดย มิตเตอร์ไมเยอร์และชุททาเดน ได้ประทะกันที่บริเวณหมู่ดาวอาร์ธีนา ผลจบลงด้วยชัยชนะของมิตเตอร์ไมเยอร์อย่างงดงาม



ทัพใหญ่ของไรน์ฮาร์ดเคลื่อนทัพมาสมทบกับทัพหน้าของตน เพื่อเคลื่อนตัวต่อไปยังเป้าหมายสุดท้าย- ป้อมปราการไกเอสบูร์ก โดยที่ระหว่างทางต้องผ่านป้อมปราการที่ชื่อว่า เลนเทนแบร์กก่อน ลูกน้องของไรน์ฮาร์ดสองนาย คือ พลเอกรอยเอนธาลและพลเอกมิตเตอร์ไมเยอร์สามารถจับตัวผู้นำทัพที่เฝ้าป้อมปราการเลนเทนแบร์ก-พลเอกพิเศษออฟเฟรซเซอร์ผู้มีความสามารถในการรบแบบประชิดตัวสูงสุดในทัพจักรวรรดิได้สำเร็จโดยใช้กับดัก จากนั้นโอแบร์สไตน์ที่ปรึกษาของไรน์ฮาร์ด เสนอให้ปล่อยออฟเฟรซเซอร์กลับไป แต่ฆ่าลูกน้องทั้งหมดของเขาเสีย เพื่อให้พวกขุนนางชั้นสูงเกิดความหวาดระแวงกันเอง

การณ์เป็นดังที่โอแบร์สไตน์คาดไว้ ดยุค ฟอน เบราสไวก์คิดว่าออฟเฟรซเซอร์ทรยศแล้ว และในที่สุดออฟเฟรซเซอร์ก็ตายด้วยน้ำมือของนายทหารคนสนิทของดยุค



กลับมาทางด้านหยาง... หลังจากเขานำทัพยานรบของตนออกจากอิเซลโลนเพื่อปราบผู้ก่อความไม่สงบ เขาก็ได้พบกับ...

(อ่านเนื้อหาตอนต่อไป (บทที่ ๕ เล่มสอง "การศึก ณ หมู่ดาวโดเรีย"))


กลับไปหน้าสารบัญ 1