นวนิยายแฟนตาซีอวกาศเรื่องยาว

วีรบุรุษทางช้างเผือก銀河英雄伝説

เรื่อง โดย ทะนะกะ โยะชิกิ (田中芳樹) แปลโดย Pae

บทที่ 2 การรบที่แอสทาเท
-1-


ผู้บัญชาการกองยานรบที่สี่แห่งกองทัพสมาพันธ์ดาวเคราะห์เสรี พลโทพาสโทเรถึงกับช็อคเมื่อได้รับรายงานว่า “ทัพจักรวรรดิกำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้!”

จอภาพขนาดยักษ์บนผนังด้านบนของห้องบัญชาการของเรือธงเลโอนิดัสฉายภาพของกลุ่มของแสงสว่างที่เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ จุดแสงสว่างนับไม่ถ้วนเหล่านั้น ทวีความเข้มขึ้นทุกวินาทีที่ผ่านไป พร้อมกับบรรยากาศขมึงเครียดกดดันที่แผ่ซ่านเข้ามา พาให้ริมฝีปากของทุกคนในที่นั้นแห้งผาก หัวใจเต้นรัว

“นี่มันหมายความว่าอะไรกันนี่?”

พลโทผลุดลุกขึ้นจากที่นั่งของตนพลางพึมพำเสียงแห้ง

“ทัพจักรวรรดิมันคิดจะทำอะไรกันแน่?”

ช่างเป็นคำถามที่ไม่น่าถามเลย- อาจมีบางคนในที่นั้นคิดอย่างนี้ แต่ก็น้อยคนเต็มที ใช่ ทัพจักรวรรดิทุ่มเทกำลังทั้งหมดเข้ามาโจมตีใส่กองยานรบที่สี่ของสมาพันธ์นะสิ สถานการณ์มันบอกชัด ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ข้าศึกซึ่งกำลังตกอยู่ในวงล้อมจากสามทิศทางจะกล้าหาญชาญชัยถึงขนาดเป็นฝ่ายบุกโจมตีก่อนเลยเชียวหรือ นี่จึงเป็นสิ่งที่นายทหารชั้นสูงของทัพสมาพันธ์ไม่มีใครคิดถึงเลยต่างหาก!

ตามความคาดหมาย (คาดหวัง?) ของบรรดาท่านผู้ใหญ่ในกองทัพสมาพันธ์แล้ว ทัพข้าศึกที่ทราบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในวงล้อม ควรจะต้องจัดรูปทัพแบบเกาะกลุ่มแน่นหนา เพื่อลดพื้นที่การรบ เตรียมพร้อมสำหรับการตั้งรับอย่างเต็มที่ ซึ่งทางทัพสมาพันธ์ก็ไม่ยี่หระอะไรกับเรื่องนั้น เพราะทางนี้กำลังปิดล้อมเข้าไปด้วยกองทัพยานรบจากสามทิศทางด้วยกำลังที่มากกว่าถึงสองเท่า เมื่อวงล้อมสามทิศทางเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ระดมยิงอาวุธไปยังข้าศึกที่หดตัวอยู่ตรงกลางเป็นจุดเดียว ยิงมันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวข้าศึกก็หมดไปเอง...

ใช่ เมื่อหนึ่งร้อยห้าสิบหกปีก่อน “ยุทธการโอบล้อมที่ดากอน” ก็ดำเนินไปเช่นนั้น และเหลือไว้ซึ่งชื่อของยอดแม่ทัพสองท่านที่ยังคงมีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ แต่... ข้าศึกคราวนี้ มันไม่ทำตามแผนการของฝ่ายสมาพันธ์เสียแล้ว

“อะไรกัน แม่ทัพของข้าศึกมันรบเป็นรึเปล่า? มีวิธีการรบแบบนี้ด้วยหรือ?”

ท่านพลโทยังคงสบถด้วยคำพูดที่ไร้ความคิดต่อไป เขายังคงยืนทื่ออยู่หน้าเก้าอี้ของตน พลางยกมือขึ้นใช้หลังมือปาดเหงื่อจากใบหน้า ทั้ง ๆ ที่ห้องนั้นถูกปรับอุณหภูมิไว้ที่ 16.5 องศาเซลเซียส ไม่น่าจะมีเหงื่อออกได้

“ท่านผบ. จะทำยังไงดีครับ”

น้ำเสียงของเสนาธิการคนหนึ่งที่ถามมาก็สั่นระริกด้วยความตระหนกเช่นกัน และน้ำเสียงนี้ก็ไปกระตุกเส้นของท่านพลโทเข้าอย่างจัง อะไรกัน? ก็ที่ยกมือสนับสนุนวิธีการรบแบบนี้ก็พวกแกไม่ใช่เหรอ บอกว่าวิธีนี้แหละ ชนะชัวร์ ๆ แล้วเป็นไงล่ะ พอแผนการผิดพลาดก็จะมาโยนให้ฉันแก้ไขสถานการณ์งั้นหรือ? ไม่รับผิดชอบกันเลย!

แต่... ท่านพลโทก็ทราบดีว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะมาโมโหใส่พวกนี้

กองกำลังข้าศึกมียานรบสองหมื่นลำ ขณะที่ฝ่ายตนมีเพียงหนึ่งหมื่นสองพันลำ แผนการผิดพลาดไปหมดแล้วอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะได้โอบล้อมข้าศึกด้วยกำลังฝ่ายตนรวมสี่หมื่นลำ กลับต้องมาสู้กับข้าศึกซึ่งมีกำลังเหนือกว่ามากนักด้วยกองยานรบของตนเพียงกองเดียวโดดเดี่ยวนี่นะ!

“ส่งสารไปยังกองยานรบที่สองและที่หกโดยด่วน ว่า พวกเรากำลังประทะกับข้าศึกอยู่ที่ห้วงอวกาศที่ α 7.4 β 3.9 γ –0.6 ให้รีบมาช่วยโดยด่วน!”

พลโทออกคำสั่งไปแล้ว แต่พันตรีนันหัวหน้าหน่วยสื่อสารของยานรบเลโอนิดัสปฏิบัติตามคำสั่งด้วยท่าทีและสีหน้าที่หมดหวัง คลื่นรบกวนที่ทางทัพจักรวรรดิปล่อยออกมากำลังกัดกร่อนระบบคลื่นสื่อสารของกองยานรบนี้จนหมดสิ้นประสิทธิภาพแล้ว นั่นเป็นผลงานของเครื่องส่งคลื่นรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดทุ่นลอยจำนวนหลายหมื่นทุ่นที่ไรน์ฮาร์ดสั่งให้ปล่อยออกไปไว้ก่อนแล้วนั่นเอง

“ถ้างั้น ส่งยานสื่อสารออกไปติดต่อกับกองยานรบทั้งสอง กองละสองลำ เร็ว!”

แสงสว่างสีขาวเจิดจ้าจากจอภาพใหญ่สาดส่องเข้ามาย้อมจนหน้าของพลโทที่กำลังตะโกนสั่งสว่างวาบขึ้นวูบหนึ่ง ข้าศึกเริ่มโจมตีแล้วนั่นเอง ลำแสงนิวตรอนนับไม่ถ้วนถูกสาดจากกองทัพข้าศึกมาทางทัพของตน ความสว่างของลำแสงซึ่งเจิดจ้ามากตามปริมาณความเข้มของพลังงานในลำแสงนั้น แทบจะแผดเผาตาของบรรดาทหารของทัพสมาพันธ์ให้บอดสนิทไปตาม ๆ กัน

แสงสีรุ้งสว่างวาบเป็นประกายขึ้นตามผิวรอบนอกของยานรบของสมาพันธ์ สนามแม่เหล็กสลายพลังที่กางไว้รอบ ๆ ยานรบนั่นเองกำลังทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ ทันทีที่ลำแสงนิวตรอนจากข้าศึกถูกยิงเข้ามา สนามแม่เหล็กนี้ก็ทำหน้าที่เป็นโล่ช่วยผ่อนและสลายพลังทำลายเหล่านั้นลง เกิดเป็นประกายสีรุ้งวูบวาบอยู่เช่นนี้ โฟตอนฤทธิ์ตรงข้ามที่วิ่งเข้ามากระทบกันต่างเกิดปรากฏการณ์รวมตัวแล้วสูญสลายไป

พลโทพาสโทเรยืนจังก้าอยู่เช่นกัน ยกมือขึ้นโบกเป็นวงกว้าง พลางตะโกนก้อง

“ทัพหน้า ตีโต้ข้าศึก! ยานรบทุกลำเข้าสู่สถานการณ์การรบ!”

ในเวลาเดียวกัน ณ ห้องบัญชาการของเรือธงสูงสุดของทัพจักรวรรดิ ไรน์ฮาร์ดก็กำลังยิ้มอย่างเหยียดหยาม พลางพึมพำว่า

“ฮึ่ม ปฏิกิริยาตอบสนองช้าจริง ๆ ไอ้ห่วยเอ๊ย”

ราวกับว่าเขามองทะลุเห็นเหตุการณ์ในห้องบัญชาการของยานเลโอนิดัสกระนั้น

“ฝูงบินประจัญบาน ออกรบได้ เข้ารบตะลุมบอนกับพวกมันเดี๋ยวนี้!”

ฟาเรนไฮต์กำลังสั่งการทหารใต้สังกัดของตนอยู่ที่เรือธงของตน น้ำเสียงของเขาเต็มไปด้วยความคึกคักอย่างเต็มเปี่ยมอันเนื่องจากความตื่นเต้นที่จะได้สู้รบ ผนวกกับความรู้สึกได้เปรียบอันเป็นผลมาจากการเดินทัพอย่างเหนือความคาดหมายของแม่ทัพตน ใช่สิ ถึงแม้การรบครั้งนี้ เขาทำผลงานใด ๆ ไป ก็ตกเป็นความดีความชอบของไอ้หนุ่มผมทองนั่นหมดก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรบให้ชนะเอาไว้ก่อนล่ะ

เครื่องบินอวกาศรูปร่างคล้ายเครื่องบินรบที่ใช้ในโลกสมัยก่อนถูกปล่อยออกจากใต้ท้องเรือแม่ (เรือบรรทุกฝูงบินประจัญบาน) ที่กำลังแล่นด้วยความเร็วสูง เครื่องบินรบเหล่านี้มีปีกเป็นรูปตัว X และมีชื่อเรียกว่า ยานวัลคิวเร เป็นยานที่บังคับด้วยนักบินเพียงคนเดียว ในจังหวะที่พวกมันถูกปล่อยออกจากเรือแม่นั้น ด้วยแรงเฉื่อยจากความเร็วในการเคลื่อนที่ของเรือแม่ ยานวัลคิวเรสามารถบินต่อไปได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่าเรือแม่ได้ทันที โดยไม่ต้องมีลานรันเวย์ให้มันวิ่งก่อนเลยแม้แต่น้อย ด้วยความที่เป็นยานขนาดเล็ก อาวุธที่ติดตั้งให้ย่อมมีอำนาจในการทำลายต่ำกว่ายานอวกาศลำใหญ่มาก แต่ก็ได้เปรียบในเรื่องของความเร็วในการเคลื่อนที่ และเหมาะสำหรับการรบในระยะประชิด

ทางฝ่ายสมาพันธ์เองก็มียานรบชนิดบังคับด้วยนักบินคนเดียวแบบนี้เช่นกัน และเรียกว่า สปาร์ตาเนียน

ท่ามกลางกองระเบิดอันเกิดจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของยานรบเคราะห์ร้าย กระแสลมจากการระเบิดพาให้ยานอวกาศทั้งฝ่ายมิตรและศัตรูพากันสั่นสะเทือนไปชั่วครู่ แล้วก็เกิดระเบิดขึ้นจากที่ใหม่ ฝูงบินวัลคิวเรบินลัดเลาะผ่านสมรภูมินรกเหล่านี้ไปอย่างคล่องแคล่ว ช่างมองดูเหมือนกองทัพนางฟ้าแห่งความตายแท้ ๆ ที่จริง ฝูงบินสปาร์ตาเนียนของสมาพันธ์ก็ใช่ว่าจะด้อยประสิทธิภาพกว่าวัลคิวเร แต่เนื่องจากทัพสมาพันธ์ตอนนี้ช้ากว่าทัพจักรวรรดิไปหลายก้าว ทันทีที่สปาร์ตาเนียนจะถีบตัวเองออกจากยานแม่ ก็โดนเล็งยิงอย่างประณีตจนระเบิดไปตาม ๆ กันเสียแล้ว

...

หนึ่งชั่วโมงหลังจากเริ่มเปิดศึก กองหน้าของกองยานรบที่สี่ ก็ถูกกองเรือรบในสังกัดของฟาเรนไฮต์ถล่มจนเรียบ

ในบรรดายานรบ 2,600 ลำ ตอนนี้ที่ยังคงสู้รบต่อไปเหลืออยู่ไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซนต์ นอกนั้นเป็นยานรบที่ระเบิดจนไม่เหลือซาก, ยานรบที่ไม่ถึงกับระเบิดแต่รับความเสียหายจนไม่สามารถรบต่อได้, ยานรบที่เสียหายไม่มากแต่บรรดาทหารในยานได้รับบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก จนที่เหลือรอดชีวิตไม่สามารถบังคับยานลำใหญ่ได้อีกต่อไป ฯลฯ สภาพของกองหน้าของกองยานรบที่สี่ เหลือแค่อีกครึ่งก้าวก็จะเรียกได้ว่า ราบพนาสูญ โดยสิ้นเชิง

ในบรรดายานเคราะห์ร้ายนั้น ยานรบที่ชื่อ เนสเติลดูท่าจะเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายสุด ถึงแม้ว่าตัวยานรบเองจะได้รับความเสียหายเพียงแต่ใต้ท้องยานเท่านั้น แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้น ก็ทำให้สะเก็ดระเบิดนิวตรอนจำนวนหนึ่งหลุดลอดเข้าไป แล้วระเบิดออกอย่างไร้ปราณี เพียงชั่วพริบตา นายทหารใหญ่น้อยจำนวน 660 นายในยานนั้นก็สิ้นชีวิต ยานรบเนสเติลแปรสภาพเป็นหีบศพขนาดใหญ่ไปทันที

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น ยานรบเนสเติลยังคงรักษาทิศทางที่ต้นหนกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด วิ่งลอยล่องไปในสมรภูมิรบอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวและเฉี่ยวเข้ากับส่วนคอของยานรบเรมโนสซึ่งเป็นพวกเดียวกัน และจังหวะที่เฉี่ยวกันนั้น ก็เป็นจังหวะที่ปืนใหญ่ของเรมโนสกำลังเล็งจะยิงที่ไปเรือรบลำหนึ่งของข้าศึกเสียด้วย ผลก็คือ ยานรบเนสเติลรับลำแสงนิวตรอนนั้นเข้าไปเต็ม ๆ ในระยะประชิด ถึงกับระเบิดไปทั้งลำโดยไม่มีเสียง และยานรบเรมโนสก็ตามหลังเพื่อนไปติด ๆ เมื่อพลังงานมหาศาลจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ทะลุม่านบาเรีย (สนามแม่เหล็กสลายพลัง) ที่กางไว้รอบยานเรมโนสเข้าไปทำลายจนยานเรมโนสระเบิดตามไปด้วย

แสงสว่างวาบสีขาวเจิดจ้าเกิดขึ้นสองครั้งติด แล้วเมื่อทุกสิ่งดับลง ก็เหลือเพียงเศษโลหะล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศที่เดิมมียานรบสองลำอยู่ ยานเรมโนสหลังจากยิงเพื่อนร่วมทัพระเบิดไปแล้ว ก็ได้รับผลตอบแทนเป็นการระเบิดเช่นกัน

“ทำอะไรกันอยู่ พวกนี้!”

เป็นเสียงของพลโทพาสโทเร

“พวกมันทำบ้าอะไรกัน?”

ส่วนนี่เป็นเสียงพึมพำกับตนเองของพลตรีฟาเรนไฮต์

ทั้งสองฝ่ายต่างนั่งอยู่ที่ห้องบัญชาการบนเรือธงของตนเองและเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจากจอภาพ น้ำเสียงของฝ่ายแรกเต็มไปด้วยความสิ้นหวังและตื่นตระหนก ขณะที่ของฝ่ายหลังเป็นน้ำเสียงที่แฝงแววกระหยิ่มยิ้มย่อง ความแตกต่างของสภาพจิตใจของผู้นำทัพทั้งสอง แสดงถึงผลต่างของสภาพการรบในสมรภูมิอวกาศได้เป็นอย่างดี
(อ่านตอนต่อไป)

หมายเหตุ

ในที่สุดก็เริ่มรบจนได้ บทนี้รบกันกระจุยทั้งบทแหละครับ แต่ไม่ค่อยจะมีเลือดสาดให้สะใจคนซาดิสม์ เพราะมันรบในอวกาศหงะ ^ ^'

การรบในห้วงอวกาศในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นการทำสงครามระหว่างกองยานรบต่อกองยานรบ
อาวุธที่ใช้มีด้วยกัน 4 อย่างคือ

1. ปืนแสงนิวตรอน ใช้ยิงจากระยะไกล เข้าใจว่าปืนนี้จะกระตุ้นต่อเตาปรมาณูที่มีอยู่ในยานรบทุกลำให้ระเบิดออก ดังนั้นหากโดนแสงนี้เข้าจัง ๆ ละก็... ไม่เหลือซากแน่ วิธีป้องกัน- ใช้บาเรียซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กสลายพลัง จะช่วยทำหน้าที่เป็นโล่กำบังอาวุธนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่...นั่นแหละ ถ้าระดับพลังงานของลำแสงเข้มกว่าระดับที่สนามแม่เหล็กจะช่วยสลายได้ ก็ไม่รอดเหมือนกัน

2. ปืนใหญ่ เรลแคนนอน ในต้นฉบับอธิบายว่าเป็นปืนแม่เหล็ก หากโดนกระสุนนี้เข้า ก็แค่เสียหายบางส่วน แล้วแต่ว่าจะโดนเข้าที่ตรงส่วนไหนของยานรบ วิธีป้องกัน... ไม่มี ขึ้นกับว่าตัวยานสร้างมาแข็งแรงขนาดไหน

3. จรวดมิสซายล์ ยิงจากระยะไกลได้ และเป็นอาวุธนำวิถี แต่ก็มีวิธีป้องกันคือ ใช้มิสซายล์ต้านมิสซายล์ หรือบางครั้งก็ใช้ยานดัมมี่ล่อเป้า ให้มิสซายล์วิ่งไปหาดัมมี่แทน

4. ฝูงบินประจัญบาน ใช้ในการรบระยะประชิดเท่านั้น เพราะฝูงบินพวกนี้มีเชื้อเพลิงและอาวุธจำกัด หลังออกบินแล้ว ต้องกลับเข้าไปในยานแม่ (ยานบรรทุกฝูงบินประจัญบาน) เพื่อเติมยุทธปัจจัยใหม่ เป็นระยะ ๆ

นอกจากนี้ ถ้าการรบขั้นแตกหัก อาจจะมีการ "ยกพลขึ้นบก" คือ ใช้เรือ (ยาน) สะเทินบก บุกเข้าประชิดเรือธงของข้าศึก แล้วส่งหน่วยนาวิกโยธินเข้าไปทำการยึดเรือธง ดังนั้นก็จะมีการรบกันระหว่างคนต่อคนเกิดขึ้นด้วย ตามปกติในเรือธงจึงต้องมีหน่วยนาวิกโยธินเตรียมพร้อมรับมือฝ่ายข้าศึกไว้ด้วย ทำให้คนในเรือธงมีมากเป็นพิเศษ

ชนิดของยานรบในกองยานรบหนึ่ง ๆ มีหลายแบบ ประกอบด้วย ยานพิฆาต (เรือพิฆาต- ในเรื่องถ้าพูดว่ายานรบหรือเรือรบเฉย ๆ ไม่ระบุชนิด ให้คิดว่าเป็นยานพิฆาตไว้ก่อน), ยานเกราะหนัก, ยานมิสซายล์, ยานแม่ (ยานบรรทุกฝูงบินประจัญบาน), ยานลาดตระเวณ, ยานจู่โจมเร็ว, ยานสะเทินบก และยานลำเลียง (เสบียงและยุทธปัจจัย) จำนวนทหารที่ประจำอยู่บนยานรบแต่ละชนิดก็มากน้อยแตกต่างกันไป รวมทั้งประสิทธิภาพการรบด้วย และสำหรับเรือธง ก็มักจะเป็นยานรบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือ จัดอยู่ในประเภทยานพิฆาต

ในตอนที่ 1 ของบทนี้ ฝ่ายไรน์ฮาร์ดเคลื่อนที่เข้าไปโจมตีกองยานรบที่สี่ซึ่ง ๆ หน้าแท้ ๆ แต่ด้วยความได้เปรียบจากการชิงลงมือก่อน และความได้เปรียบจากกำลังที่เหนือกว่า ทำให้พวกเขาควบคุมการรบได้ทั้งหมด จะเห็นว่า เริ่มรบไปไม่เท่าไร ก็เข้าถึงขั้น "ตะลุมบอน" เสียแล้ว (ดูได้จากที่ฟาเรนไฮต์สั่งฝูงบินประจัญบานออกโจมตี)

กลับไปอ่านตอนที่แล้ว +++ กลับไปหน้าสารบัญ +++ ไปอ่านตอนต่อไป 1