นวนิยายแฟนตาซีอวกาศเรื่องยาว

วีรบุรุษทางช้างเผือก เล่ม ๒ : ความทะเยอทะยาน
銀河英雄伝説 第二巻:野望篇

เรื่อง โดย ทะนะกะ โยะชิกิ (田中芳樹) แปลโดย Pae

บทที่ 2 ชนวนระเบิด
-5-


บรรดาขุนนางฐานันดรที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจของมาร์ควิสไรน์ฮาร์ด ฟอน โรเอนกรัมกับดยุค ฟอน ลิชเทนลาเด ได้พากันมาชุมนุมอยู่ที่คฤหาสน์ตากอากาศของดยุคฟอนเบราสไวก์ซึ่งตั้งอยู่ที่ป่าลิปสตัต หน้าฉากนั้น เป็นการชุมนุมเพื่อเปิดประมูลภาพเขียนยุคโบราณและเป็นงานสังสรรค์เลี้ยงน้ำชากัน แต่ที่จริงแล้ว ณ ชั้นใต้ดินของคฤหาสน์ ได้มีพิธีลงนามเพื่อเป็น “สัตยาบันแนวร่วมแห่งผู้รักชาติ” ที่จะต่อต้านการกุมอำนาจของมาร์ควิสโรเอนกรัม-ดยุคลิชเทนลาเดนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ สัตยาบันที่เกิดขึ้นจึงเรียกว่า “พันธะสัญญาลิปสตัต” และกองกำลังของบรรดาขุนนางฐานันดรกลุ่มนี้ก็ถูกขนานนามว่า “กองกำลังพันธมิตรขุนนางแห่งลิปสตัต”

จำนวนขุนนางที่เข้าร่วมขบวนการ 3740 คน จำนวนทหารทั้งทหารประจำการและทหารรับจ้างรวมกันทั้งสิ้น 25 ล้าน 6 แสนนาย

ประมุขของพันธมิตรได้แก่ ดยุคออตโต้ ฟอน เบราสไวก์ รองประมุขได้แก่ มาร์ควิส วิลเลียม ฟอน ลิตเทนไฮม์

ในหนังสือพันธะสัญญาที่มีลายเซ็นของขุนนางชั้นสูงเกือบ 4000 คนนี้ ยังมีเนื้อหาวิจารณ์การกระทำของดยุคฟอนลิชเทนลาเดและมาร์ควิสฟอนโรเอนกรัมอย่างสาดเสียเทเสีย สุดท้ายก็ยกตนเองว่า ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการปกป้องรักษาราชวงศ์โกลเดนบาวม์ให้คงอยู่ต่อไปนั้น ย่อมเป็นของพวกตน- บรรดาขุนนางฐานันดรชั้นสูงที่มีสายเลือดอันบริสุทธิ์และเป็นผู้ที่ “ได้รับการเลือกสรร” แล้วเท่านั้น

และตอนท้ายที่สุดของหนังสือสัญญา ก็เขียนไว้ว่า

“มหาเทพโอดีนย่อมทรงให้การคุ้มครองแก่พวกเรา ชัยชนะย่อมเป็นของพวกเราผู้มีความชอบธรรมอยู่ในมืออย่างไม่ต้องสงสัย”





“เอาล่ะ มาดูกันว่า มหาเทพโอดีนจะทรงคุ้มครองพวกมันหรือไม่”

ไรน์ฮาร์ดพูดประชดประชันเช่นนี้ หลังจากเขาฟังรายงานของเคมป์จบแล้ว จากนั้นเขาก็กวาดสายตามองหน้าบรรดานายทหารในสังกัดของตนที่มาชุมนุมกันอยู่ในห้องนั้นรอบหนึ่ง

ซี้กฟรีด เคียร์ชไอซ์, โอแบร์สไตน์ และบรรดาผู้การฝีมือดีที่เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดหัวกะทิของกองทัพจักรวรรดิ ล้วนแล้วแต่อยู่ตรงหน้าเขาทั้งสิ้น

“แค่เริ่มต้นขึ้นมาก็เรียกหาความคุ้มครองจากมหาเทพโอดีนนี่ ท่าทางมหาเทพจะทรงไม่พอพระทัยมากกว่ากระมังหนา”

“ถ้าลงทุนเซ่นบวงสรวงมหาเทพด้วยอีหนูเอ๊าะ ๆ สักคน ท่านอาจจะทรงช่วยก็ได้นะ เพียงแต่ว่า เจ้าดยุคเบราสไวก์มันจะอดใจไม่ไหวชิงตัวอีหนูนั่นตัดหน้ามหาเทพไปซะก่อนนะสิ”

มิตเตอร์ไมเยอร์, รอยเอนธาล, บิทเทนเฟลต์ และบรรดาพรรคพวกพากันหัวเราะครืนกันออกมา

โวล์ฟกัง มิตเตอร์ไมเยอร์เป็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ท่าทางคล่องแคล่วปราดเปรียว ผมสีน้ำผึ้งของเขาค่อนข้างฟูดูมีชีวิตชีวา สอดคล้องกับดวงตาสีเทาที่สดใสเต็มไปด้วยพลัง เขามีชื่อเสียงในด้านความเร็วในการเดินทัพว่า หามีผู้ใดเทียบได้ไม่ ในศึกอัมริทเซอร์เมื่อปีกลายนั้น เขาเคยไล่ตีกองยานรบของข้าศึก แต่ด้วยความเร็วในการเดินทัพของตนที่เร็วเกินไป ทำให้กองหน้าของกองเรือรบตนกับกองหลังของกองยานรบข้าศึกวิ่งปะปนกันมาแล้ว และหลังจากนั้นมา เขาก็ได้รับฉายาอันทรงเกียรติว่า “วูลฟ์ แดร์ ชู-ตรอม” (หมาป่าเจ้าพายุ)

ส่วนออสการ์ ฟอน รอยเอนธาลเป็นชายหนุ่มร่างสูงโปร่ง ผมสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หน้าตาหล่อเหลาเอาการทีเดียว หากแต่สิ่งที่ทำให้ผู้พบเห็นประหลาดใจคือ สีของนัยน์ตาทั้งสองข้างที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องด้วยความผิดปกติของดีเอ็นเอที่เรียกว่า อาการ “เฮเตอโรโครเมีย” นัยน์ตาข้างขวาของเขาสีดำ ขณะที่ข้างซ้ายมีสีฟ้า เขาประกอบวีรกรรมทั้งในศึกอัมริทเซอร์ และศึกอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นมากมาย จนได้รับการยอมรับว่า เป็นยอดแม่ทัพที่มีความสามารถในการบัญชาการรบสูงชนิดหาตัวจับได้ยาก

ฟริทซ์ โจเซฟ บิทเทนเฟลต์เป็นชายหนุ่มเจ้าของผมสีส้มที่ไว้ค่อนข้างยาว และนัยน์ตาสีชาอ่อน ผู้ที่พบเห็นเขาอาจจะรู้สึกขัดตากับใบหน้าที่ผอมเล็กไม่เข้ากับรูปร่างที่ใหญ่โตบึกบึนของเขานัก แต่เขาผู้นี้แหละ คือ แม่ทัพจอมบุกผู้ห้าวหาญ บรรดาข้าศึกเพียงแต่ได้ยินชื่อกองเรือรบ “ชวาร์ซ ลันเซน เรเตอร์” (กองเรือรบอัศวินแลนซ์ดำ) ของเขาก็พากันขวัญหนีดีฝ่อกันแล้ว แต่ในแง่ของการทำศึกแล้ว เขาผู้นี้ก็ยังขาดความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ไป และในศึกอัมริทเซอร์ก็เคยทำให้กองทัพฝ่ายตนต้องเสียเปรียบมาแล้วครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมี คอร์เนเลียส รูทซ์, เอากุสต์ ซามูเอล วาเลน, แอร์นเนสต์ เมกริงเกอร์, ไนท์ฮาร์ด มุลเลอร์, อุลลิค เคสเลอร์ เหล่านี้ คือบรรดาผู้การที่ประกอบกันเข้าเป็นกองบัญชาการของจวนจอมพลของไรน์ฮาร์ด แต่ละคนล้วนมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไปก็จริง แต่ทั้งหมดก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ยังหนุ่มแน่น และทรัพยากรอันล้ำค่าสำหรับไรน์ฮาร์ด





กล่าวถึงคำว่า ทรัพยากรแล้ว ก็ชวนให้นึกถึงคำว่า “เงิน”

ในจักรวรรดิเอง ขณะนั้นอยู่ในช่วงวิกฤติทางการคลัง อันเนื่องจากการทำสงครามอันยาวนาน และการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายภายในตัววังหลวง แต่สำหรับเรื่องนี้ไรน์ฮาร์ดก็บอกเพียงสั้น ๆ ว่า

“วิกฤติการณ์ของคลังหลวงรึ? เดี๋ยวก็เรียบร้อยแล้ว”

ทั้งนี้หาใช่ว่าเขาพูดอย่างมักง่ายไร้ความรับผิดชอบแต่ประการใดไม่ ในความเป็นจริงนั้น นอกจากทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังหลวงแล้ว ในจักรวรรดิทางช้างเผือกยังมีแหล่งสมบัติอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถไปแตะต้องได้จนทุกวันนี้

ทรัพย์สมบัติของพวกขุนนางฐานันดรนั่นเอง

หลังจากชนะศึกกลางเมืองแล้ว เขาจะจัดการริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดของดยุคฟอนเบราสไวก์ และมาร์ควิสฟอนลิตเทนไฮม์ รวมทั้งบรรดาขุนนางฐานันดรที่ไปเข้าพวกกับทั้งสองคนนั้นด้วย นอกจากนี้ บรรดาขุนนางที่เหลืออยู่ ก็จะถูกบังคับใช้ระบบภาษีมรดก, ภาษีอสังหาริมทรัพย์, ภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า ฯลฯ ด้วยมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้มีเงินไหลเข้าคลังหลวงไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านไรช์มาร์กเลยทีเดียว นี่เป็นสิ่งที่ไรน์ฮาร์ดเคยแอบให้เจ้าหน้าที่ด้านการคลังลองคำนวณไว้ก่อนแล้ว

เพียงแต่ สำหรับบรรดาขุนนางที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับตนนั้น ก็คงต้องยั้ง ๆ มือไว้ไมตรีให้บ้าง แต่นี่หมายความว่า หากพวกขุนนางที่ไปเข้าเป็นพวกศัตรูมีมากเท่าไรก็ยิ่งดีนั่นเอง

การริบทรัพย์จากบรรดาขุนนางฐานันดรกลับเข้าสู่คลังหลวงนั้น นอกจากมีความหมายในแง่ของการกู้วิกฤติคลังหลวงแล้ว ยังมีอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือ บรรดาราษฎรล้วนแล้วแต่ต้องเก็บกดกับบรรดาขุนนางฐานันดรเหล่านี้ที่มีรายได้และทรัพย์สมบัติมหาศาล แต่ไม่เคยต้องจ่ายภาษีเลยแม้แต่แดงเดียว และใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยอีกด้วย

และไรน์ฮาร์ดก็จำเป็นจะต้องบรรเทาความเก็บกดโกรธแค้นของบรรดาราษฎรเหล่านั้น อีกทั้ง... กล่าวในอีกแง่หนึ่ง เขาก็ต้องอาศัยประโยชน์จากความโกรธแค้นเหล่านั้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

จริงอยู่ ที่ไรน์ฮาร์ดมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปการเมืองและสภาพสังคมของจักรวรรดิทางช้างเผือก แต่นั่นต้องเป็นเพียงผลพลอยได้จากการบรรลุเป้าหมายหลักของเขา อันได้แก่ การล้มล้างราชวงศ์โกลเดนบาวม์เท่านั้น เขาไม่คิดที่จะปฏิรูปการเมืองการปกครองเพื่อช่วยฟื้นฟูราชวงศ์โกลเดนบาวม์ให้กลับมาทรงไว้ซึ่งอำนาจและความชอบธรรมแต่อย่างไร

ใช่ ราชวงศ์โกลเดนบาวม์ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยลูดอร์ฟนั้นสมควรจะล่มสลายไปในไฟสงครามและกองเลือดได้แล้ว นี่เป็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไรน์ฮาร์ดนับตั้งแต่วัยเยาว์- ในวันที่พี่สาวแสนรัก-อันเนโรเซถูกเจ้าคนแก่ผู้ทรงอำนาจสูงสุดผู้นั้นพรากไปนั่นเอง อีกทั้งนี่ก็ย่อมเป็นเจตนารมณ์ของซี้กฟรีด เคียร์ชไอซ์ด้วยเช่นกัน





ออยเกน ลิชเตอร์ กับ คาร์ล บรักเก้เป็นบุคคลสองคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของฝ่ายปฏิรูปหรือฝ่ายหัวก้าวหน้าของจักรวรรดิทางช้างเผือก ทั้งสองคนนี้เป็นขุนนางฐานันดรก็จริง แต่กลับไม่ยอมใช้ศักดิ์ “ฟอน” ในชื่อของตัวเอง นี่ย่อมบ่งบอกถึงอุดมการณ์ของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

เขาทั้งสองคนถูกเรียกตัวมาพบไรน์ฮาร์ดเพื่อรับมอบหมายภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งคือ การร่าง “แผนบูรณะโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ” อันมีแนวคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้าเป็นอย่างมากสำหรับสังคมของจักรวรรดิทางช้างเผือก ขณะนั้นเป็นเวลาเพิ่งจะล่วงเข้าเดือนมีนาคม นับเป็นเวลาหนึ่งเดือนให้หลัง หลังจากที่พันธะสัญญาลิปสตัตได้ถูกลงนาม

หลังจากพบกับไรน์ฮาร์ดและขอตัวกลับออกมาแล้ว ทั้งสองคนก็ต้องมองหน้ากัน

“หึ เจตนาของมาร์ควิส ฟอน โรเอนกรัมนั้นเห็น ๆ อยู่ เขาต้องการเพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิรูป เพื่อที่จะเรียกคะแนนนิยมจากบรรดาราษฎรนั่นเอง นี่เป็นวิธีต่อต้านพันธมิตรขุนนางแห่งลิปสตัตที่ได้ผลเลยทีเดียว”

ลิชเตอร์กล่าวขึ้นตรง ๆ แล้วบรักเก้ก็พยักหน้าเห็นด้วย

“ใช่แล้ว พวกเราก็แค่เครื่องมือเพื่อตอบสนองความมักใหญ่ของเขาเท่านั้นเอง แต่จะปฏิเสธก็ไม่ได้ด้วย แกล้งอู้ไปเรื่อย ๆ ดีไหมท่าน”

“อย่าเพ่อเลย จริงอยู่ที่พวกเรากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า ถึงขั้นนี้แล้ว เราน่าจะถือโอกาสนี้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่เราอยากเห็นมานานนักหนาแล้วเสียทีนะ ถึงแม้ว่าการปฏิรูปที่ว่านั้นจะเป็นการดำเนินไปภายใต้นามของคนอื่นก็เถิด”

“มันก็จริงอยู่...”

“มองอีกด้านหนึ่ง จะเรียกว่า พวกเรากำลังยืมมือมาร์ควิสฟอนโรเอนกรัมก็ว่าได้นาท่าน พวกเรานั้น ถึงจะมีอุดมการณ์และแผนปฏิรูปอยู่ก็ตาม แต่เราหามีอำนาจและกำลังทหารในมือที่จะทำเช่นนั้นได้ไม่ แต่มาร์ควิสฟอนโรเอนกรัมนั้นมี และอย่างน้อยที่สุด เขาก็ยังดีกว่าไอ้เจ้ากบฏดยุคฟอนเบราสไวก์อย่างเห็นได้ชัด จริงไหมท่านบรักเก้”

“จริงของท่าน หากดยุคฟอนเบราสไวก์ได้อำนาจการปกครองไปแล้วไซร้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เศรษฐกิจสังคมของจักรวรรดิเราจะยิ่งเน่าเฟะเพียงใด”

ลิชเตอร์ยื่นมือไปตบบ่าของบรักเก้แล้วกล่าวต่อว่า

“สรุปก็คือ เรากับมาร์ควิส ฟอน โรเอนกรัมต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะช่วยเขาได้ ก็ช่วยเขาไปเถิด อย่างน้อยก็พยายามทำให้สังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้สักหน่อยก็ยังดี”

แต่บรักเก้กลับส่ายหน้าไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้

“ที่ข้าพเจ้าห่วงคือ ไม่มีหลักประกันใด ๆ นี่ว่า เมื่อครั้นมาร์ควิส ฟอน โรเอนกรัมก้าวถึงอำนาจสูงสุดแล้ว เขาจะยังคงแนวนโยบายก้าวหน้าเช่นนี้ต่อไป และยิ่งไม่มีหลักประกันว่า เขาจะไม่กลับกลายเป็นจอมทรราชย์เผด็จการด้วย”

“ใช่ ก็เพราะเช่นนั้นอย่างไรเล่า พวกเราถึงต้องรีบดำเนินการปฏิรูปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่จะสั่งสอนราษฎรให้มีความฉลาดพอที่จะสามารถรู้ได้ว่า เมื่อวันหนึ่งมาร์ควิสฟอนโรเอนกรัมละทิ้งแนวนโยบายปฏิรูปที่เขาชักธงมาตั้งแต่ต้นเสียเองแล้ว พวกราษฎรควรจะทำอย่างไรบ้าง!”

(อ่านตอนต่อไป)


กลับไปอ่านตอนที่แล้ว +++ กลับไปหน้าสารบัญ +++ ไปอ่านตอนต่อไป 1