ปีที่ 3 ฉบับที่ 945 ประจำวันจันทร์ที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 |
มารยาทที่พึงสำเหนียกต่อกรณีพระพรหมโมลี
สิ่งที่สะท้อนออกมาให้มองเห็นเป็นรูปธรรม
ได้อย่างดีที่สุดของการทำงานร่วมกันก็คือ "มารยาท"
เรียกว่าเมื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว ถ้าถูกก็ต้องถูกด้วยกัน หรือถ้าผิด
ก็ต้องผิดด้วยกัน
ใครคนใดคนหนึ่งจะมาแอบอ้างเอาความถูกต้องเป็นของตนเองเพียงคนเดียวไม่ได้
หรือจะยัดเบียดความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่ง ต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว
ก็ไม่ได้
ตามที่นายวิชัย ตันศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายไพบูลย์ เสียงก้อง อธิบดีกรมการศาสนา และ นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ
รองอธิบดีกรมการศาสนา รีบร้อนแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ถึงบรรยากาศการประชุมมหาเถรสมาคม
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 ว่า "มหาเถรสมาคมมีมติให้พระพรหมโมลี
พ้นจากตำแหน่ง เจ้าคณะภาค 1"
ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น
การแถลงข่าวของบุคคลทั้งสาม ในวันดังกล่าว
ถือเป็นมารยาทที่ควรสำเนียกให้รอบคอบ
เกี่ยวกับการสนองงานของคณะสงฆ์ว่า
มหาเถรสมาคมมีมติให้แถลงข่าวเรื่องนี้แก่สื่อมวลชนหรือไม่?
มหาเถรสมาคมมีมติให้ต้องรีบแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนโดยรีบด่วนหรือ?
ทั้งนี้
เพราะการรีบร้อนแถลงข่าวเรื่องนี้เร็วเกินไป อาจเป็นเหตุให้ถูกเพ่งมองว่า
มุ่งประจานพระมหาเถระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ให้ได้รับความเสื่อมเสียก็ได้
นอกจากนี้
พระสุเมธาภรณ์เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ก็ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ว่า " ...
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง คงจะแต่งตั้งรักษาการเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นโดยเร็ว และคาดว่า
หนังสือคำสั่งจาก มส. จะมาถึงวัดมูลจินดาราม ภายใน 1-2 วันนี้ เป็นอย่างช้า
และต่อไปนี้ ทุกอย่างคงไม่ช้าแล้ว เพราะไม่มีอะไรติดขัด ...
ส่วนทางจังหวัดเองไม่มีปัญหา ขอให้มี คำสั่งมา
ก็สามารถจะดำเนินการได้ทันที.."
ความจริงพระสุเมธาภณ์ควรให้สัมภาษณ์ด้วยความสำเนียกในจิตสำนึก
ที่จะแสดงออกถึงมารยาทของการทำงานร่วมกันว่า
เมื่อเจ้าคณะใหญ่ส่งคำสั่งแต่งตั้งรักษาการเจ้าคณะภาค
1 มาให้ทราบอย่างเป็นทางการแล้ว อาตมภาพก็จำใจต้องยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง
เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ทันที โดยจำใจต้องคำนึงถึงมารยาทในการทำงานร่วมกัน 3 ประการ
คือ
1. อาตมภาพจำใจมีหนังสือที่ จ.พิเศษ 3/2542 และที่ จ.พิเศษ 4/2542
ลงวันที่ 12 สิงหาคน พ.ศ.2542 กราบเรียนเจ้าคณะภาค 1 (พระพรหมโมลี ในฐานะหัวหน้า
คณะผู้พิจารณา ชั้นต้น) เพื่อขอให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้โปรดพิจารณา
ให้ความเห็นชอบในการไม่รับคำกล่าวหาต่อไป
2. เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม
พ.ศ.2542 อีกเช่นเดียวกัน
อาตมภาพยังจำใจลงนามในฐานะผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการสั่งไม่รับคำกล่าวหาร่วมกับเจ้าคณะภาค
1 และรองเจ้าคณะภาค 1
3. ต่อมา
อาตมภาพก็ยังได้จำใจลงนามในรายงานการพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่กรณีนิคหกรรม
ร่วมกับเจ้าคณะภาค 1 และรองเจ้าคณะภาค 1 ที่เจ้าคณะภาค 1
ยื่นเสนอต่อเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2543
จนเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคม มีมติให้พระพรหมโมลี พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค
1
เหล่านี้ คือ มารยาทที่ต้องมี ที่พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
ต้องจำใจแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบรรพชิต และคฤหัสถ์ทุกหมู่เหล่า
ที่บรรดานักกิจกรรม เชิงปริยัติทั้งหลาย คงไม่เรียกร้อง
เพราะท่านได้ร่วมกันกดดันประฌามหยามเหยียด และทำลายพระมหาเถระผู้มีศีลาจารวัตรดีงาม
และซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยลงได้แล้ว
แต่ผมขอเรียกร้องครับ
แสวง
อุดมศรี
14 กุมภาพันธ์ 2543