ปีที่ 3 ฉบับที่ 947 ประจำวันพุธที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 |
จะฆ่าช้างเพียงเพื่อจะเอางากระนั้นหรือ?
กรณีที่มหาเถรสมาคม (มส.)
มีมติให้ถอดถอนพระพรหมโมลี ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เมื่อวันศุกร์ที่ 11
กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการใช้อำนาจโดยมีกฎหมายรองรับ อย่างถูกต้อง
ซึ่งก็คงไม่ใครไปทักท้วงหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้
แต่การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมการศาสนา
ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ออกมาแจ้งผ่านสื่อมวลชนว่า
เหตุที่ต้องปลดเนื่องจากพระพรหมโมลี ไม่ยอม ปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม
ที่ให้รื้อฟื้นการลงนิคหกรรมต่อพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว
เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสของวัดพระธรรมกายขึ้นมาดำเนินการใหม่นั้น
ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อพระพรหมโมลี
ซึ่งเป็นทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ
นอกจากนั้น
ยังมีผลทำให้พระพรหมโมลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง
เป็นที่เข้าใจผิดและถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากสาธารณชนทั่วไปอีกด้วย
เพราะอันที่จริง
การใช้อำนาจของมหาเถรสมาคมในการถอดถอนพระพรหมโมลีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
กับการปฏิบัติหน้าที่ของพระพรหมโมลี ในกรณีการลงนิคหกรรม ต่อ
เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ต้องถือว่าอยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ
ซึ่งจะหยิบยกเอามาเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน หรือโยงใยอ้างอิงถึงกัน โดยตรง
ไม่ได้
ในขณะที่การถอดถอนพระพรหมโมลีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541)
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ซึ่งออกตามความในมาตรา 15 ตรี และ มาตรา 20
ทวิ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
นั้น
การปฏิบัติหน้าที่ของพระพรหมโมลีในฐานะเจ้าคณะภาค 1
ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ในการลงนิคหกรรมต่อพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว
ต้องดำเนินการไปตาม กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
ซึ่งออกตามความในมาตรา 18 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ.2505
หลักของการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่อันถูกต้องชอบธรรมนั้น
มีอยู่ว่า ผู้มีอำนาจต้องใช้อำนาจภายในขอบเขตของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ใด
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ก็ต้องดำเนินการไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน
มากไปก็ไม่ได้ เพราะจะเข้าข่ายปฏิบัติเกินกว่าหน้าที่ที่มีอยู่ น้อยไปก็ไม่ได้
เพราะจะเข้าข่ายละเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ถ้าหากจะมีคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการใดๆ
ก็จะต้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ผู้ปฏิบัติจึงจะปฏิบัติได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ถ้าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และผู้รับคำสั่งรู้อยู่แล้วว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังขืนปฏิบัติไป
โดยอาจจะเนื่องมาจากความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ หรือหวั่นไหว ต่อกระแสอะไรบางอย่าง
หรืออาจจะเป็นเพราะรักตัวกลัวตาย กลัวสูญเสียตำแหน่งแล้วล่ะก็
ต้องถือว่าผู้ปฏิบัตินั้น กระทำความผิดกฎหมายเสียเอง
ขณะเดียวกัน
ผู้ปฏิบัติก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เช่นเดียวกัน
แต่เมื่อไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แล้วต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสำหรับคนบางคน
หรือพระบางรูป อาจจะคิดว่า สามารถ ทำอะไร ได้ทุกอย่าง
แม้ผิดกฎหมายหรือไม่แน่ใจว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอด
เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง หรือแม้แต่เพียงเพื่อสนองกระแสอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ
คนบางคน หรือพระบางรูปอาจจะยอมสละเสียตำแหน่ง ซึ่งคิดเสียว่า เป็นเพียงหัวโขน
หรือแม้แต่ยอมตายเสียดีกว่าที่จะยอมปฏิบัติในสิ่งที่รู้อยู่เต็มอกว่า
ผิดกฎหมาย
พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา
ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ระดับรองสมเด็จ และเป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ณ วันนี้
ท่านได้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ไปแล้ว จัดได้ว่า เป็น "พระ"
ประเภทหลังที่ผมกล่าวถึง ซึ่งสมควรได้รับการคารวะยกย่อง
มากกว่าที่จะต้องมาถูกเยาะเย้ย ถากถาง หรือซ้ำเติม
พระพรหมโมลี
ต้องถูกผลักให้เป็นจำเลยของสังคม ทั้ง ๆ ที่ท่านมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา
และบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชน มานานนับหลายทศวรรษ
และไม่เคยมีมลทินมัวหมอง ไม่ว่าเป็นในเรื่องใด
แต่ ณ วันนี้ พระพรหมโมลี
ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ด้วยข้อหาซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า
ท่านไปปกป้อง หรือ "อุ้ม" พระธัมมชโย และพระวัดพระธรรมกาย
ซึ่งได้ถูกผลักให้เป็นจำเลยของสังคมไปก่อนหน้านั้นแล้ว
ขอความกรุณาท่านสาธุชนที่เคารพทุกท่าน
ที่รักชาติรักแผ่นดิน เทิดทูนพระมหากษัตริย์ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจ
ได้โปรดใช้ "สติ" และ "ปัญญา" ศึกษา ใคร่ครวญ เรื่องดังกล่าว
ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส กอปรด้วยความเมตตาและเป็นธรรมเถิด
แล้วท่านจะรู้ซึ้งด้วยจิตวิญญาณและ "สัจจธรรม" ความเป็นจริงว่า กระแสสังคม
ส่วนหนึ่งรวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า พระพรหมโมลีทำการปกป้องหรือ "อุ้ม"
พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย
ด้วยเหตุเพราะได้รับสินบนหรือสิ่งตอบแทนอะไรบางอย่างนั้น
ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อพระพรหมโมลี ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อบรรดาศิษยานุศิษย์
และผู้ที่เคารพเลื่อมใสในพระพรหมโมลี ซึ่งอาจมีจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนคน และที่สำคัญ
อาจเป็นอันตรายต่อการดำรงคงอยู่ของพระพุทธศาสนาด้วย
พระพรหมโมลีนั้น
ท่านได้บวชเป็นพระสละกิเลสมานานแล้ว
มีหรือที่ท่านจะเห็นแก่ความอยู่รอดของคนอื่นมากกว่าความอยู่รอดและความวัฒนาการของตัวเอง?
และมีหรือที่ท่าน จะยอมเอาชีวิตอนาคตและชื่อเสียงเกียรติภูมิ
ตลอดจนบารมีที่สะสมมาชั่วชีวิต ไปแลกกับเงินสินบนเพียงเล็กน้อย
เพื่อช่วยให้พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายอยู่รอด ในท่าม
กลางกระแสสังคมซึ่งถาโถมเข้ามาอย่างหนัก? เพราะในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้
อย่าว่าแต่ "พระเถระชั้นผู้ใหญ่" ระดับท่าน ซึ่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อม และมีอนาคต
ที่สดใส งดงามรออยู่ข้างหน้า ทั้งยังเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน
โดยทั่วไปมาตลอด จะไม่ยอมสูญเสียทุกอย่าง เพียงเพื่อแลกกับความอยู่รอดของ "พระ"
รูปหนึ่ง ที่ไม่ใช่ญาติโกโหติกาอย่างพระธัมมชโย
แม้แต่คนบางคน
หรือพระบางรูปที่เคยมีความสนิทสนม
ช่วยเหลืออุปถัมภ์หรือมีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม
กับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายมาตลอด ยังอาจต้อง "หลบฉาก" ไปแบบธุระไม่ใช่
แล้วอย่างนี้ จะไปกล่าวหาใส่ร้ายพระพรหมโมลีว่า ช่วยอุ้มพระธัมมชโย
เพราะเห็นแก่สินบน มันจะไม่ "ไร้สาระ" หรือ "ผิดธรรมชาติ"
เกินไปหน่อยหรือ?
ผมได้ทำการวิเคราะห์และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า
ถ้าหากจะมีกระบวนการ "อุ้ม"
เกิดขึ้นในเรื่องของการลงนิคหกรรมต่อพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวเกิดขึ้นจริงแล้ว
สิ่งที่พระพรหมโมลี ได้กระทำลงในระหว่างนั้น ต้องเรียกว่า
เป็นความพยายามที่จะปกป้องกฎหมายและคุ้มครองพระศาสนา มากกว่าที่จะเป็นการเจาะจง
"อุ้ม" พระรูปใดรูปหนึ่ง ถึงแม้พระรูปนั้น
จะมีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัวกับพระพรหมโมลีหรือไม่ก็ตาม
และถ้าหากการที่พระธัมมชโยจึงอยู่รอดมาได้โดยไม่ถูกจับสึก และวัดพระธรรมกาย
ซึ่งมีผู้ศรัทธา เป็นแสนเป็นล้านคน ยังไม่มีอันเป็นไปอย่างที่ใครบางคนต้องการ
เป็นเพราะการ "อุ้ม" จริง ๆ แล้ว
ผู้ที่ "อุ้ม" ไม่น่าจะเป็น "คน" หรือ
"พระ" หากแต่ควรจะเป็น "กฎหมาย" และ "หลักการ" มากกว่า
เพราะในสถานการณ์อันคับขันเช่นนี้ ยากที่จะมี "คน" หรือ "พระ" กล้าเอาชีวิต อนาคต
ความเป็นอยู่ รวมทั้งชื่อเสียงมาเสี่ยงเป็นแน่ เพราะขนาด "คน" หรือ "พระ"
ที่มีอำนาจ แต่ไม่มีหน้าที่โดยตรง
ยังไม่กล้าอุ้ม
"เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด"
เป็นคำพังเพยที่โบราณท่านว่าไว้อย่างนั้น
ซึ่งยังคงเป็นจริงอยู่เสมอแม้ในสังคมยุคปัจจุบัน
แล้วเราจะเชื่ออย่างที่มีผู้พยายามป้ายสีหรือว่า พระพรหมโมลียอม เอาคอขึ้นเขียง
และเสี่ยงต่อการสูญเสียตำแหน่ง
เพียงเพื่อจะช่วยให้พระธัมมชโยรอดพ้นจากการถูกลงนิคหกรรม?
ผมอ่านทะลุเข้าไปในหัวใจของพระพรหมโมลีแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า
การที่ท่านได้ตัดสินใจยอมเอาชีวิตอนาคต ร่วมทั้งตำแหน่งใหญ่โตในทางสงฆ์เข้าเสี่ยง
เพื่อแลกกับการปกป้อง รักษาไว้ซึ่ง "กฎหมาย" ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า
ผลนั้นจะเป็นเช่นไรนั้น ก็เพราะท่านตระหนักดีว่า "กฎหมาย" ที่ว่านั่นแหละที่เป็น
"เกราะ" คุ้มภัยและปกป้อง "คณะสงฆ์" และ "พระศาสนา" มาตลอด ถ้า "กฎหมาย" ที่ว่า
ถูกย่ำยีทำลายไปเสีย "คณะสงฆ์"
โดยรวมและพระศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้
เราต้องไม่ลืมว่า
ชาติบ้านเมืองของเราที่อยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้
เป็นเพราะเรามีพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพุทธมามกะ และพระพุทธศาสนาอันถือได้ว่า
เป็นศาสนาประจำชาติของไทย
มาตั้งแต่โบราณกาล
พระพุทธศาสนาในประเทศไทยอยู่รอดจีรังยั่งยืน
และเจริญรุ่งเรือง
จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาของโลกไปแล้วในเวลานี้
นั้นเป็นเพราะ "คณะสงฆ์"
ซึ่งเป็นแกนหลักในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ
ถ้า "คณะสงฆ์"
ถูกบั่นทอนทำลาย พระศาสนาก็จะถูกทำลายไปด้วย และถ้าพระศาสนาถูกทำลายจนล่มสลาย
ในที่สุด ประเทศชาติไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราจะอยู่ได้อย่างไร?
คำว่า
"กฎหมาย" ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ผมหมายเจาะจงถึง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521)
ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ซึ่งออกตามความในมาตรา 18 และมาตรา 25
แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2525 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบัญญัติในข้อ 4 (4) ข้อ 4
(5) ข้อ 4 (6)ก. ข้อ 4 (8) ก. และ ข. รวมทั้งข้อ 15 (2) ของกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11
ดังกล่าว ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน
โดยสรุปรวมกันว่า
"ฆราวาสที่มิใช่ผู้เสียหาย คือได้รับความเสียหาย เฉพาะตัว
เนื่องจากการกระทำความผิดของพระภิกษุ ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องพระภิกษุ
เพื่อให้ถูกลงโทษตามกฎนิคหกรรม ไม่ว่า
จะด้วยวิธีการใดๆ"
ผมได้เคยอธิบายไว้แล้วในบทความเรื่อง
"ฆราวาสฟ้องพระได้หรือไม่" ว่า กฎหมายข้อนี้ถูกต้องชอบธรรม
และชัดเจนทั้งในแง่ลายลักษณ์อักษร และในแง่เจตนารมณ์
และเจตนารมณ์
ดังกล่าวนี่แหละ ที่ได้ปกป้องคุ้มครองเสมือนเป็น "เกราะ" คุ้มกันภัยมิให้ "คณะสงฆ์"
ซึ่งเป็นแกนหลักของพระพุทธศาสนา ต้องถูกกลั่นแกล้ง ทำลาย กดดัน
หรือแทรกแซงจากภัยภายนอกมาตลอด
เพราะขืนปล่อยให้ตีความกันตามใจชอบ
หรือตามกระแสอะไรบางอย่าง โดยยอมให้ฆราวาสที่นับถือศาสนาพุทธ มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
และเป็นใครก็ได้ มีสิทธิฟ้องพระภิกษุฐาน ละเมิดพระธรรมวินัย บิดเบือนพระไตรปิฎก
หรือ อวดอุตริมนุสธรรม จนนำไปสู่กระบวนการลงนิคหกรรม ถึงขั้นจับสึกจากสมณเพศได้แล้ว
คณะสงฆ์ก็คงจะอยู่ไม่ได้ เพราะพวก "มือปืนรับจ้าง" พิฆาตพระ
จะเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง และเมื่อคณะสงฆ์อยู่ไม่ได้
พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้อย่างไร?
"เกราะ" คุ้มกันภัยมิให้ "คณะสงฆ์"
และพระพุทธศาสนา ต้องถูกแทรกแซงทำลายได้ง่าย ๆ นี้ ผมเชื่อว่า คงจะมีมาก่อน
ที่จะมีกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) และก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ.2505 แล้ว
เพราะถ้าไม่เช่นนั้น คณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนา
คงไม่สามารถอยู่รอด
และยั่งยืนมาได้จนถึงวันนี้
เราจะไปมัวพร่ำเพรียกเรียกหา "คุณธรรม"
"ความเมตตา" หรือแม้แต่ "ความละอายต่อบาป"
จากผู้ที่ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจ หรือจากพวก "มือปืนรับจ้าง" พิฆาตพระ
ซึ่งมีมาตลอด เห็นจะไม่ได้ มีอย่างเดียวคือพวกเราชาวพุทธที่จิตใจบริสุทธิ์
ปราศจากอคติ หรือ คึวามอาฆาตมาดร้ายใดๆ ต้องช่วยกันระวังรักษา "เกราะ"
คุ้มกันภัยอันวิเศษนี้ ให้ดำรงคงอยู่อย่างมั่นคง และแข็งแกร่งตลอดไป
ตราบใดที่เรายังอยากจะเห็นพระพุทธศาสนา มีความจีรังยั่งยืน
และเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวพุทธ อย่างมิเสื่อมคลาย
จนชั่วกาลปวสาน
เราต้องมาร่วมกันช่วย "พระ" เพื่อปกป้องรักษา "พระศาสนา"
ว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า ได้มีความพยายามอย่างเป็นขบวนการ
ในอันที่จะลบล้างทำลาย "เกราะ" คุ้มกันภัยของ "คณะสงฆ์" นี้ทิ้งไป ทั้งนี้
จะโดยจงใจ โดยหลงเข้าใจผิด โดยลุแก่อำนาจ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
โดยเพื่อสนองกระแสอะไรบางอย่าง หรือ เพื่ออะไรก็สุดจะเดา รู้แต่ว่า เป้าหมายชัดเจน
ก็คือ จัดการกับพระธัมมชโย พระทัตตชีโว และวัดพระธรรมกาย จนถึงที่สุด
ถึงขั้นลบออกไปจากสารบบของ "สังฆมณฑล" ในประเทศไทยเลยทีเดียว
ผมเอง
โดยส่วนตัว มิได้มีความสัมพันธ์หรือมีประโยชน์ได้เสียอะไรกับพระธัมมชโย พระทัตตชีโว
หรือแม้กระทั่ง วัดพระธรรมกาย มาก่อน อีกทั้งไม่เคยได้ให้ความสนใจ อะไร
เป็นพิเศษด้วย
แต่ผมเป็นพุทธมามกะมาชั่วชีวิต และเป็นมาหลายชั่วคน
เคยบวชเรียนมาแล้ว อุปัชฌาย์ของผมเป็นถึง "ราชบัณฑิต" ผมบวชเพียงพรรษาเดียว
ก็สวดปาฏิโมกข์ได้ โดยไม่เคย ได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีมาก่อน ผมมั่นใจว่า
ผมมีความเลื่อมใสยึดมั่นในพระพุทธศาสนา อย่างเคร่งครัด
มีความยึดมั่นต่อคุณธรรมศีลธรรม รวมทั้งเป็นห่วงเป็นใย ในพระพุทธศาสนา ไม่แพ้ใครๆ
ที่ชอบอวดอ้างว่า รักและหวงแหนพระพุทธศาสนา มากกว่าคนอื่น
ดังนั้น
ผมจึงพูดได้ตรงๆ ว่า ผมไม่พอใจและไม่สบายใจ อย่างยิ่ง ที่เห็น "พระ" ถูกกระทำต่าง ๆ
นานา จนแพ้กระทั่ง "สิทธิความเป็นคน" ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ก็คือ
ไปล่วงล้ำก้ำเกินท่าน โดยที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ก็ดูเหมือนไม่ได้ใส่ใจกระไรนัก
บทสรุปในตอนท้ายของบทความฉบับนี้ มีอยู่ว่า
การปลดพระพรหมโมลีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค
เพื่อให้พ้นจากหน้าที่หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้น ถึงแม้จะมี เจตนา
ที่แท้จริงเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ก็คงจะไม่มีผลใดๆ ต่อความพยายามที่จะรื้อฟื้น
การดำเนินการตามกฎนิคหกรรม กับพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวได้ เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย
ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้
ในเมื่อกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า
"ถ้าพระภิกษุผู้พิจารณาโดยความเห็นชอบของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น มีคำสั่ง
ไม่รับข้อกล่าวหาของฆราวาส ที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย เฉพาะตัว
จากการกระทำของพระภิกษุแล้ว
ก็เป็นอันยุติและถือเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด"
ดังนั้น ต่อให้เปลี่ยนเจ้าคณะภาค
1 อีกกี่รูป หรือแม้จะเปลี่ยนคณะผู้พิจารณาชั้นต้นทั้งคณะสักกี่ครั้ง
ก็คงไม่สามารถที่จะไปรื้อฟื้น หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้
เว้นเสียแต่ว่า
จะกระทำการด้วยกรรมวิธีอื่นใด โดยไม่คำนึงถึง "กฎหมาย" ที่ว่า
เพื่อที่จะดำเนินการจับเอาพระภิกษุสองรูปนั้น เข้าสู่กระบวนการลงนิคหกรรม
ตามคำกล่าวหา ของฆราวาสสองคน ซึ่งมิใช่ผู้เสียหายเฉพาะตัวให้ได้
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมหมายความว่า "เกราะ" ที่คุ้มกันภัยให้แก่คณะสงฆ์
และพระพุทธศาสนามาตลอด มีอันต้องถูก ทะลุทะลวงและทำลายจนหมดสิ้น
ถึงตอนนั้น
ไม่เพียงแต่ พระธัมมชโยและพระทัตตชีโว และวัดพระธรรมกาย
จะต้องมีอันเป็นไปอย่างที่คนบางคนต้องการเท่านั้น หากแต่ "คณะสงฆ์" และพระพุทธศาสนา
ก็อาจต้องถึงคราวล่มสลายไปด้วย
ในเวลาอันมิช้ามินาน
ช้างใหญ่อยู่ไม่ได้เมื่อสิ้น "งา" ฉันใด "คณะสงฆ์"
และพระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่ไม่ได้
เมื่อสิ้น "เกราะ" คุ้มกันภัย
ฉันนั้น
14 กุมภาพันธ์ 2543
คณิน บุญสุวรรณ