ปีที่ 3 ฉบับที่ 970 ประจำวันเสาร์ที่ 11 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 |
แม้รองสมเด็จยังถูกปลด โลกนี้คงไม่มีที่พึ่งเสียแล้ว
มนุษย์ทุกคนต่างมีมันสมองที่สามารถเรียนรู้ และพินิจพิจารณาเรื่องต่างๆ นานา แต่ละคนอาจมีมุมมองที่เหมือนกันหรือต่างกันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลก โดยเฉพาะ การตีความกฎหมายต่างๆ หรือการพิจารณาคดีความ แต่ละคนอาจมีแง่มุมที่คิดและเห็นหลากหลายได้ ดังนั้นการพิจารณาคดีในศาล จึงกำหนดให้มีศาลถึง ๓ ชั้นด้วยกัน คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และในแต่ละชั้นก็มีองค์คณะผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งท่าน เพื่อพิจารณาพยานหลักฐานและสำนวนความร่วมกัน แล้วจึงจะวินิจฉัยตัดสิน อย่างรอบคอบในนามขององค์คณะผู้พิพากษา เมื่อตัดสินพิพากษาไปแล้ว จะถือเป็นความเห็นร่วมกันของคณะผู้พิพากษา และทุกคนต่างต้องรับผิดชอบร่วมกัน
กรณีของศาลสงฆ์ ก็ใช้หลักการอันเดียวกัน
เมื่อมีผู้มากล่าวหานิคหกรรม
พระภิกษุผู้พิจารณาจะทำหน้าที่คล้ายกับผู้พิพากษาเวรชี้
เป็นผู้วินิจฉัยว่า
ควรจะรับคำกล่าวหา หรือ
รับคำฟ้องของโจทก์หรือไม่
ภายหลังจากที่ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหา
หรือโจทก์และคำกล่าวหาหรือคำฟ้องอย่างถี่ถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่เป็นเอกสิทธิ์ของท่าน
หลังจาก นั้น
จึงผ่านมาที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์จำนวน
๓ รูป
ที่จะทำการพิจารณาร่วมกัน
เพื่อให้ความเห็นชอบแก่การวินิจฉัยของพระภิกษุผู้พิจารณา
ซึ่งเป็น
การกลั่นกรองให้ถูกต้องอีกชั้นหนึ่ง
และเมื่อได้กระทำการตามกระบวนการทั้งหมดแล้ว ก็ถือเป็นอันเด็ดขาด
แต่กรณีนิคหกรรมธรรมกายนี่ซิแปลก!!! เมื่อผู้พิจารณาสั่งไม่รับคำกล่าวหา
โดยความเห็นชอบของเจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาคแล้ว
ผู้กล่าวหากลับไม่เคารพในคำสั่ง
ศาลสงฆ์ เที่ยวโวยวาย ไม่ยอมรับคำตัดสิน ประกอบกับได้แรงหนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ
รัฐมนตรี และสื่อต่างๆ
ช่วยกันกระพือข่าว
สร้างกระแสเรียกร้องให้ปลด
หัวหน้า คณะ ผู้พิจารณา แทนที่จะอุทธรณ์
ฎีกาตามกฎนิคหกรรม แต่กลับมาทำเหมือนเป็นกฎหมู่
จนกระทั่ง
ทำได้สำเร็จเมื่อข่มกรรมการมหาเถรสมาคม
จนต้องให้ความเห็นชอบ
กับการปลดหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชุดนี้
คราวนี้มาดูเหตุแห่งการปลดเจ้าคณะภาค ๑ กันบ้างว่าเป็นเพราะอะไร?
เรื่องมีอยู่ว่าผู้บังคับบัญชาของท่านได้เสนอเรื่องเข้ามหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ กล่าวหาว่า
การดำเนินการของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นและผู้พิจารณา
ขัดต่อกฎมหาเถรสมาคมและฝ่าฝืนมติมหาเถรสมาคมอย่างชัดแจ้ง
โดยกฎที่ว่านั้นก็ไม่ใช่กฎอื่นใด
เป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑
(พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
ซึ่งใช้อยู่ในศาลสงฆ์ และมติมหาเถรสมาคมที่ว่านั้นก็เป็นมติครั้งที่ ๒๘/๒๕๔๒ และ ๓๗/๒๕๔๒
ซึ่งมติทั้งสองนี้
ก็เป็นเรื่องนิคหกรรมทั้งสิ้นอีกเช่นเดียวกัน
ตลอดจนอำนาจในการให้ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑
ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุที่อ้างมาข้างต้นเลย
เพราะเป็นการให้ ออกจาก
ตำแหน่งเนื่องจากหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทางการปกครอง
มาถึงตอนนี้ ผู้ติดตามทุกท่านก็คงจะแปลกใจว่า ทำไมผู้ทำหน้าที่บริหารปกครองสามารถเข้ามาก้าวก่ายอำนาจตุลาการศาลสงฆ์เรื่องนิคหกรรมได้? เช่นนี้จะไม่เป็นการข้าม สายงานกันหรือ? เหมือนกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสามารถสั่งย้ายผู้พิพากษาในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยอาศัยเหตุที่ผู้พิพากษานั้น ได้ทำหน้าที่ของตน ในกระบวนการ ยุติธรรม และที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ แทนที่จะปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ผู้พิจารณา) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเต็มที่ในการวินิจฉัยในชั้นแรก หรือไม่ก็ปลดทั้งองค์คณะ ผู้พิจารณา ชั้นต้น คือรวมทั้งเจ้าคณะภาค และรองเจ้าคณะภาคด้วย ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงนามเห็นชอบด้วย แต่นี่กลับปลดเจ้าคณะภาค ๑ หัวหน้าคณะผู้พิจารณา ผู้ที่ทำหน้าที่ แค่ลงนามให้ความเห็นชอบคำสั่งของผู้พิจารณา เพียงรูปเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ที่คิดเป็นและเข้าใจเหตุผลได้ ล้วนแต่เห็นถึงความอยุติธรรม อย่างเห็น ได้ชัดในวงการคณะสงฆ์ และไม่น่าจะเกิดขึ้นในมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล
ในเมื่อมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ความยุติธรรมได้ แล้วต่อไปพระภิกษุสงฆ์ในสังฆมณฑลนี้ จะหันไปหวังพึ่งใครที่ไหนได้อีก คงต้องถูกข้าราชการและนักการเมืองโขกสับ ข่มขู่รังแก จนไม่เป็นอันทำงานพระพุทธศาสนากันอีกแล้ว และเรื่องนี้ต่อไป จะเป็นบรรทัดฐานให้เข้าใจว่า ฆราวาสปกครองสงฆ์ ทางพฤตินัยได้ แม้ว่าทางนิตินัยนั้น พระราชบัญญัติฆราวาสปกครองพระ ยังไม่มีการประกาศใช้ก็ตาม จึงใคร่ขอฝากผู้รักความยุติธรรมทั้งหลาย โปรดอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย และอยู่เฉยเมย จนกระทั่งพระสงฆ์ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจบงการของฆราวาสอย่างสิ้นเชิง
โดยนิติธรรม