ปีที่ 3 ฉบับที่ 971 ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 |
ทำตามกฎจึงสั่งยกเลิกคำกล่าวหา ไฉนจึงเปลี่ยนไปให้ศาสนาวุ่นวาย
ในประเทศที่มีการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า "นิติรัฐ" เราจะสัมผัสลึกซึ้งถึงคำนี้ตั้งแต่แรกที่จะเข้าประเทศนั้น จากความเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นกฎ ระเบียบใดๆ ที่ออกตามกฎหมาย
เมื่อเราลงจากเครื่องบิน ณ สนามบินนานาชาติของต่างประเทศ เราก็ต้องเดินไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนั้น เพื่อผ่านการตรวจหนังสือเดินทางและวีซ่า และต้องได้รับ การประทับตราอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งนั่งอยู่ที่หลังเคาเตอร์ ทำงานอย่างขึงขัง แบบไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด
แรกที่สุดที่เราสัมผัสความเป็นนิติรัฐ จากการเคร่งครัด ในกฎระเบียบ ตั้งแต่การกำหนดเส้นเหลืองเพื่อรอคิว เอาไว้ห่างจากเคาเตอร์ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ประมาณ หนึ่งเมตร เพื่อให้ผู้ที่จะเข้าเมืองนั้น ยืนอยู่นอกเส้นเหลือง และจะอนุญาตให้ก้าวล่วงเส้นเหลืองนี้เข้ามาได้ทีละคน เพื่อยื่นหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ใครขืนไม่ทำตามกฎ และเดินก้าวล่วงเส้นเหลืองเข้ามา โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ตะเพิดให้ถอยกลับไป
นี่เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดๆ เลยว่า เมื่อกฎให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ไว้ประการใด เจ้าหน้าที่ก็จะต้องรักษากฎ โดยทำตามอำนาจหน้าที่นั้นด้วย มิฉะนั้นแล้ว กฎก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์
สมมติว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติย่อหย่อนไม่จริงจังหรือไม่เคร่งครัดแล้ว ผลจะเป็นเช่นไร? ผมเชื่อแน่เลยว่า จะไม่มีผู้เคารพและปฏิบัติตาม ผู้เดินทางทั้งหลาย ก็จะพากันรุมล้อม เข้ามายังเจ้าหน้าที่ แล้วความสับสนวุ่นวายก็จะตามมา
ดังนั้นเราจึงเห็นความสำคัญของนิติรัฐแบบง่ายๆ และเมื่อเรายื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เขาก็จะต้องตรวจหนังสือเดินทางของเราว่าถูกต้อง และได้ขอวีซ่า เข้าประเทศ ตามกฎเกณฑ์หรือไม่ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ เจ้าหน้าที่นั้น ก็จะไม่ประทับตราอนุญาตให้เข้าเมือง นั่นหมายความว่า คุณถูกสั่ง ไม่ให้เข้าเมือง นั่นเอง แม้ว่า คุณจะมีความจำเป็น หรือมีความยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็เข้าเมืองไม่ได้ทั้งสิ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ มีอำนาจตามกฎหมาย และได้ปฏิบัติตามกฎนั่นเอง
คราวนี้ย้อนกลับมาถึงบ้านเมืองเรา มาดูในส่วนของการคณะสงฆ์กันบ้าง ว่าเรามีความสำนึกถึงเรื่องนิติรัฐ มากน้อยเพียงไร ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัด คงไม่พ้นเรื่องนิคหกรรมธรรมกาย เพราะเป็นเรื่องความเด็ดขาดของคำสั่งผู้พิจารณา และการสำนึกถึงการใช้อำนาจหน้าที่ ตามกฎนิคหกรรม เหมือนอำนาจหน้าของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่จะทำหน้าที่ อนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเมือง
หมายถึงว่า ใครก็ตามที่จะเข้าสู่กระบวนการนิคหกรรมในฐานะผู้กล่าวหา ก็ต้องผ่านการอนุญาตจากผู้พิจารณาเสียก่อน มิฉะนั้น จะเข้ามาไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผู้พิจารณา ก็ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ให้ไว้ในกฎด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้พิจารณาจะต้องรู้ว่า ตนมีอำนาจเพียงไร และมีหน้าที่เช่นไรในกฎ
ดังนั้นเมื่อผู้พิจารณาเห็นว่า ตนไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้คฤหัสถ์ เข้ามาในกระบวนการนิคหกรรมในฐานะผู้กล่าวหาได้ เพราะว่า กฎไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงไม่ประทับตราอนุญาต นั่นก็หมายความว่า คฤหัสถ์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา ในกระบวนการนิคหกรรม เหมือนกับการไม่ได้รับประทับตราอนุญาต จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองนั่นเอง เมื่อเป็นการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ และถูกต้องตามกฎแล้ว และเป็นอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้แล้ว
ถ้าหากมีจิตสำนึกของนิติรัฐแล้ว ก็ควรจะเด็ดขาดเหมือนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่ไม่ยอมให้บุคคลใดเข้าเมือง บุคคลนั้น ก็เข้าเมืองไม่ได้ แม้ว่าจะยิ่งใหญ่คับฟ้า เพียงใด ก็ตาม
ขอให้พวกเราลองตรองดูนะครับ ว่าหากคำสั่งของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีที่สั่งยกคำกล่าวหาไปแล้ว เป็นการสั่งโดยอำนาจหน้าที่ และถูกต้องชอบด้วยกฎทุกอย่าง แล้วไม่มี ความเด็ดขาด อะไรจะเกิดขึ้น? เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ประทับตราอนุญาตให้เข้าเมือง ถ้าไม่มีความเด็ดขาด อีกทั้งไม่เชื่อฟังกัน อะไรจะเกิดขึ้น?
คำตอบคือ คนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า "คนลอบหลบหนีเข้าเมือง" คงจะเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดใช่ไหมครับ แล้วคนประเภทนี้ พวกเราต้องการ หรือครับ เมื่อทำผิดกฎหมายตั้งแต่แรกเข้าเมืองได้ จะมีอะไรที่ทำผิดอีกไม่ได้ แล้วเราจะมีความสงบสุขได้อย่างไร
เช่นเดียวกันหากผู้กล่าวหาสามารถเข้ามาในกระบวนการนิคหกรรมโดยผิดกฎได้ ต่อไปก็อาจทำผิดกฎอื่นๆ ได้เช่นกัน แล้ววงการคณะสงฆ์ปั่นป่วนขนาดไหน ขอให้ไตร่ตรองกัน มากๆ นะครับ ความสงบสุขและร่มเย็นที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระศาสนาจะยังมีอยู่อีกต่อไปหรือไม่