ปีที่ 3 ฉบับที่ 972 ประจำวันจันทร์ที่ 13 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543

พิเศษ 1

 พิสูจน์ความจริง : ผู้กล่าวหาน่าเชื่อถือจริงหรือ?

เป็นข่าวใหญ่สั่นสะเทือนไปทั่ววงการพระเถระชั้นผู้ใหญ่และสังฆมณฑล กับการปลดพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ตามมติมหาเถรสมาคม ฐานหย่อนความสามารถ ในการ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะภาค สาเหตุใหญ่ๆ ก็มาจากนิคหกรรมอำพราง ที่ท่านยืนยันอย่างหนักแน่นว่า "ถึงที่สุดแล้ว" แต่บรรดาผู้ที่งมงายถูกอวิชชาปิดบังตา ต่างตะแบงตาม ทิฏฐิของตนว่า "ยังไม่จบ ๆ" จนในที่สุดเมื่ออธรรมมีกำลัง ฝ่ายธรรมก็จำต้องถอยไปตั้งหลักก่อนเป็นธรรมดา 

ประเด็นที่กล่าวหาท่านมีอยู่หลายประเด็น แต่ในประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน จนหาข้อยุติที่ไม่ลงตัวสักที ก็คือ ปัญหาที่ว่า "คฤหัสถ์เป็นผู้กล่าวหาพระภิกษุได้หรือไม่?" ในเรื่องนี้ ปรากฏว่า ทางมหาเถรสมาคมเห็นว่า คฤหัสถ์เป็นผู้กล่าวหาได้ เพราะบัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 4(8)ข. แต่พอมาถึงบทบัญญัติวิธีดำเนินการพิจารณา กลับไม่กล่าวถึง การดำเนินการกล่าวหาโดยคฤหัสถ์ ไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ หรือฉบับไหนๆ ก็ตาม 

เมื่อไม่มีบทบัญญัติในการดำเนินการ ท่านเจ้าประคุณพระพรหมโมลี และพระเทพสุธี ซึ่งเป็นองค์คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จึงให้ความเห็นชอบรับรองคำสั่งของพระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้พิจารณา ที่สั่งไม่รับคำกล่าวหาของคฤหัสถ์ ทั้งที่เป็นของคุณมาณพ พลไพรินทร์ และคุณสมพร เทพสิทธา ส่งผลให้คดีนิคหกรรมถึงที่สุดทันที

ผลที่ออกมาก็คือ พระพรหมโมลีถูกเอาผิด ฐานให้ความเห็นชอบคำสั่งที่ชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคม แต่ผู้สั่งกลับลอยนวลต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ข้อสงสัยก็คือ กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ระบุคุณสมบัติของคฤหัสถ์ที่จะกล่าวหาพระภิกษุไว้ในข้อ 4 (8) ข. แต่ทำไมจึงไม่ระบุวิธีดำเนินการของคฤหัสถ์ไว้ด้วย คิดไปคิดมา หลายตลบ ก็ได้ความว่าน่าจะมีอะไรเป็นนัยๆ ซ่อนเอาไว้ที่คุณสมบัติของคฤหัสถ์นั่นแหละ ตามข้อ 4 (8) ข. นั้นได้ระบุคุณสมบัติคฤหัสถ์ผู้จะกล่าวหาพระดังนี้ 

  1. เป็นคฤหัสถ์ ความหมายของคำว่า "คฤหัสถ์" ก็คือ ผู้ครองเรือน ในเรื่องนี้คงไม่มีใครสงสัยในท่านผู้กล่าวหาทั้งสอง เพราะแต่ละท่านก็คงจะครองกันคนละเรือนสองเรือน หรือหลายๆ เรือนด้วยซ้ำ 
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ คนหนึ่งอีก 10 ปี จะเกษียณราชการ ส่วนอีกคนหนึ่งนั้น อีกไม่กี่ปีจะลงโลง สรุปว่าแก่เกิน 20 ปี 
  3. มีความประพฤติเรียบร้อย  โดยปกติถ้าพูดถึงความเรียบร้อยแล้ว ทางธรรมตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก คือหมายถึงความเรียบร้อยทางกาย, วาจา, ใจ ผู้กล่าวหาทั้งสองท่าน จะมีความประพฤติเรียบร้อยหรือไม่ ใครกล้ารับรอง คุณมาณพฟ้องพระ ไม่ทราบว่าเจ้านายใหญ่อย่างคุณพิภพ กาญจนะ ได้รับรองความประพฤติมาหรือไม่ คุณสมพรฟ้องพระ เจ้านายใหญ่ของคุณสมพร คือคุณมีชัย ฤชุพันธ์ กล้ารับรองหรือไม่ สามารถรับรองผู้เฒ่าสมพร ว่ามีความประพฤติเรียบร้อย ทั้งทางกาย วาจา ใจ การที่ผู้กล่าวหาทั้ง ๒ ท่านนี้ วิพากษ์วิจารณ์พระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม ในทางเสียหายอย่างนี้ ถือเป็นความประพฤติเรียบร้อยหรือไม่ การขู่ฟ่อๆ ว่า ถ้าตัดสินให้ ธรรมกายชนะ จะไม่ยอมเด็ดขาด เหมือนกับว่า ชาตินี้จะอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันไม่ได้ ถือว่าเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยอยู่หรือไม่ ตรงนี้ควรต้องพิจารณากันให้หนัก 
  4. มีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ วาจาขนาดไหนเชื่อถือได้ เมื่อกฎนี้เขียนโดยพระ ใช้บังคับกับพระ ก็คงต้องเอาตำราแม่บทของพระ คือ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ ฉบับพระบาลี มาช่วยอธิบายคำว่า "วาจาเป็นที่เชื่อถือได้" ซึ่งอธิบายไว้ในอนิยตสิกขาบท ตรงกับภาษาบาลีว่า "สทฺเธยฺยวจสา" มีวาจาน่าเชื่อถือ อธิบายเลยว่า ผู้มีวาจาน่าเชื่อถือ จะต้องบรรลุแล้วครับ อย่างต่ำที่สุด ก็ต้องบรรลุโสดาปัตติผล ครับ พอจะเห็นลางๆ แล้วนะครับว่า ทำไมจึงไม่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการเกี่ยวกับการ กล่าวหาโดยคฤหัสถ์ วาจาของผู้กล่าวหาทั้งสอง จะน่าเชื่อถือหรือไม่ ผู้พิจารณา (เจ้าคณะจังหวัด) นั่นแหละจะเป็นผู้รับรอง โดยเฉพาะนายมาณพ พลไพรินทร์ ที่กล่าวอ้างว่า พระคุณเจ้า โกงที่ดินในจังหวัดปทุมธานีด้วย ทั้งๆ ที่เจ้าของที่ดินเขายืนยันขันแข็งว่า เขาตั้งใจถวายให้หลวงพ่อธมฺมชโย ไม่ใช่ถวายวัดพระธรรมกาย นายมาณพ เคยถามเขา สักคำหนึ่งหรือไม่ ก่อนที่จะโมเม กล่าวหาพระสงฆ์องคเจ้า แล้วอย่างนี้จะมีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้อีกหรือ 
  5. มีอาชีพเป็นหลักฐาน ท่านที่เป็นข้าราชการนั้นไม่น่ามีปัญหา แต่ท่านที่เป็นวุฒิสมาชิกนี่สิ ถึงจะเป็นผู้ทรงเกียรติ แต่อายุการทำงานเหมือนกับลูกจ้างชั่วคราว เมื่อหมดอายุสัญญาจ้าง อาจจะไม่ได้รับการต่อสัญญาให้ทำงานต่อก็ได้ โดยเฉพาะนายจ้างที่เป็นประชาชนจำนวนมาก ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญว่า วุฒิสมาชิกถือว่า มีอาชีพเป็นหลักฐานหรือ

เมื่อประมวลคุณสมบัติของคฤหัสถ์ที่จะกล่าวหาพระโดยเฉพาะข้อ 3, ข้อ 4. ภาระการรับผิดชอบอันหนักหน่วงจึงตกอยู่กับผู้พิจารณา ทำให้เริ่มจะเห็นภาพแล้วว่า ทำไม มหาเถรสมาคม จึงไม่บัญญัติวิธีดำเนินการสำหรับผู้กล่าวหาที่เป็นคฤหัสถ์ และที่สำคัญก็คือ ไม่ได้เป็นผู้เสียหายกับเขาสักหน่อย และคนที่ตนกล่าวอ้างมา เขาก็ไม่ได้ร้องขอ โดยเฉพาะคุณปู่สมพร กล่าวอ้างในทำนองว่า ญาติโยมวัดพระธรรมกายถูกเจ้าอาวาสฉ้อโกงหลอกลวง ทั้งๆ ที่ไม่มีญาติโยมคนไหน มาฟ้องร้องกล่าวหาท่านเจ้าอาวาส สักรายเดียว

คำกล่าวหาของปู่ก็สำเภาเดียวกันกับนายมาณพ นั่นแหละ แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานนะปู่ รู้ตัวหรือเปล่าว่าก่อนจะเข้าโลง อาจจะเข้าคุกเสียก่อนก็ได้ ถ้าปู่โดนฟ้องกลับ คุณปู่ก็คุณปู่เถอะ อายุวุฒิสมาชิกกำลังจะหมดแล้วนะ บุญเก่ามันหมดไปนานแล้ว อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะบาปมันเลี้ยงอยู่นะจะบอกให้ เอกสิทธิ์และความคุ้มครอง ของวุฒิสมาชิก กำลังจะหมดอยู่แล้ว ถึงเวลานั้น คุณปู่คงจะต้องวิ่งขึ้นโรงขึ้นศาล จนซี่โครงบานเบอะแน่เลย คงได้ลุ้นกันว่า ปู่จะตายก่อนติดคุก หรือติดคุกก่อนตาย แต่ที่แน่ๆ ไม่ต้องลุ้นเลย ก็คือทั้งปู่และขบวนการมารร้ายทั้งหลาย มีโลกันตมหานรกเป็นที่ไปแน่นอน!!!

นิติกรเมืองกรุง

1