ปีที่ 3 ฉบับที่ 978 ประจำวันจันทร์ที่ 20 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 |
หมดเวลาแล้วพญามาร
เรียน พุทธศาสนิกชนทุกท่าน
สัจธรรมในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุด้วยผล ทำให้คนต่างไปจากสัตว์ จึงพ้นจากการเป็น "สัตว์" มาสู่ความเป็น "มนุษย์" ฉะนั้นจึงต้องพิสูจน์ว่า ใครเป็นมนุษย์หรือไม่ ก็พิสูจน์ได้ง่ายๆ ว่าผู้ที่มีสังขารร่างกายคล้ายมนุษย์นั้น ยอมรับความจริงหรือไม่เท่านั้นเอง
สัจธรรมความจริงหนึ่งที่ต้องนำมากล่าวถึงการทำลายพระพุทธศาสนา เพื่อให้พิจารณาเห็นชัด คือการปฏิบัติต่อพระราชาคณะมหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์ไทย โดยการใช้ อิทธิพล และอำนาจประกาศศักดา ไม่ยอมรับสัจธรรม เหตุผลใดๆ เพื่อจุดประสงค์ สุดท้ายในการทำลายพระพุทธศาสนา โดยยกเอาประเด็นของนายสมพร เทพสิทธา และนาย มาณพ พลไพรินทร์ ที่ฟ้องร้องกล่าวหาพระราชาคณะต้องครุกาบัติ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แต่เมื่อคณะผู้พิพากษาชั้นต้นพิสูจน์ได้ว่า "คุณสมบัติของผู้กล่าวหานั้น ขัดต่อ หลักพระธรรมวินัย อันบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก และกฎมหาเถรสมาคม จึงไม่รับคำฟ้องของผู้กล่าวหา ในวันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงเป็นอันถึงที่สุด และให้ผู้กล่าวหานั้น มารับ คำกล่าวหานั้นคืนไป"
หากจะเปรียบให้เห็นได้ง่ายๆ ในภาคของศาลสถิตยุติธรรม คือได้นำคำฟ้อง ไปยื่นต่อศาลอาญา หรือศาลแพ่ง โดยมอบให้กับเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้น ก็จะนำไปมอบให้ กับเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้น ก็จะนำไปมอบให้กับผู้พิพากษาเวร เพื่อพิจารณาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ยื่นมานั้นถูกต้อง ด้วยหลักกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีคุณลักษณะตรงตาม ที่กฎหมาย กำหนดหรือเปล่า หากไม่ตรงตามนั้น ผู้พิพากษาเวรก็จะส่งคืนให้กับโจทก์ไป ซึ่งเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ปฏิบัติที่อัยการ ผู้พิพากษา ทนาย และนักกฎหมาย ย่อมทราบใน สัจธรรมแห่งขบวนการยุติธรรมนี้ดี
และไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า มีโจทก์ใดที่ไปโวยวายหน้าศาล ตะโกนด่า ไม่ยอมรับคำฟ้องคืน สร้างกระแสเดินขบวน ด่าคณะผู้พิพากษา ว่าทุจริตรับเงิน จึงไม่ยอมรับคำฟ้อง และเข้าข้างจำเลย แล้ววิ่งไปหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ปลดผู้พิพากษาที่ไม่ดำเนินการนั้น
ซึ่งหากมีการกระทำเช่นนั้นขึ้น โจทก์ และผู้ร่วมขบวนการก็คงมีอันเข้าไปนอนให้ตะราง ฐานหมิ่นจำนาจศาล นี่คือสัจธรรม แต่เหตุใดเจ้าหน้าที่กรมศาสนา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงฯ รัฐมนตรีช่วย รวมทั้งกลุ่มบุคคลองค์กร ที่ออกมาสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของมหาเถรสมาคม โจมตีองค์กรปกครองคณะสงฆ์ อย่างต่อเนื่อง ใช้อำนาจ อิทธิพล บีบบังคับให้พระเถรผู้ใหญ่ ละเมิดพระธรรมวินัย เมื่อท่านไม่ยอมกระทำตามตน ก็ปลดออกจากตำแหน่งพระสังฆาธิการ
นี้คือสิ่งที่ขัดต่อสัจธรรม โดยเป็นความผิดปกติวิสัย อันวิญญูชนพึงกระทำโดยแท้ ต้องมีอะไรแฝงอยู่แน่นอน
สิ่งที่เคลือบแฝงให้เป็นข้อสงสัยได้ถูกนำมาไขปัญหา พิสูจน์เจตนาของผู้กระทำ ว่าต้องการทำลายพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง จะเห็นได้ว่าเอกสารที่เคยจัดทำขึ้น โดยอ้าง นักกฎหมาย ระดับประเทศ คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวนี้ เป็นเอกสารทำปลอมขึ้น 1000 % และกล้าที่จะกล่าวได้ว่า นายมีชัย ซึ่งเป็นนักกฎหมาย แม้จะเห็นเอกสารนี้ ก็ย่อมจะไม่ลงนามตามที่ปรากฏในท้ายเอกสารดังกล่าว เพราะนักกฎหมายต้องอ่านสำนวนข้อกฎหมาย ก่อนพิจารณาลงนาม แต่
1. กฎหมายไทยเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ต้องตีความไปตามตัวอักษร คำนิยาม คำจำกัดความ ตำแหน่ง ผู้รับผิดชอบใดๆ ย่อมต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับอันมีผลบังคับใช้กฎหมาย หากผิดเพี้ยนไป ก็ไม่สามารถใช้บังคับได้ เรียกว่า "ผิดในสาระสำคัญ" แต่ปรากฏว่า ข้อความในข้อ 2 บรรทัดที่ 4 และข้อที่ 3 บรรทัดที่ 6 เป็นข้อความเท็จ ที่เขียนขึ้นโดยไม่มีอยู่ในหนังสือทัดทานตามที่นำมาอ้าง โดยแอบอ้างว่า "หนังสือทัดทานว่า คฤหัสถ์ไม่มีสิทธิ์กล่าวหาพระ" ไม่ตรงกับความจริง ความจริงก็คือ ทัดทานว่า ผู้พิจารณาไม่มีอำนาจรับคำกล่าวหา
2. การใช้คำนิยาม ตำแหน่ง "ผู้พิจารณาเบื้องต้น" ในเอกสารหน้า 2 ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ข้อ 4 คงมีแต่คำว่า "ผู้พิจารณา" และ "คณะผู้พิจารณาชั้นต้น" ซึ่งเมื่อพิจารณาในเอกสาร หน้า 1 จะเห็นว่า ใช้คำนิยามถูกต้อง แต่ในหน้า 2 กลับใช้ตำแหน่งที่ไม่มีในกฎหมาย เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเองใหม่ จึงไม่รู้ว่าเป็นการสั่งการให้ใครทำหน้าที่ดำเนินการ
3. ในเอกสารหน้า 2 ข้อ 4 บรรทัดที่ 6 เป็นเอกสาร ที่มีเจตนาให้เกิดการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา เนื่องจากกฎของมหาเถรสมาคม จัดเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อพระภิกษุสงฆ์ไทยทั่วประเทศ จึงจัดเป็นกฎหมายแผ่นดินข้อความที่ว่านั้น มีว่า "ขอให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม" ซึ่งในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2535 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงลงพระนาม ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ปรากฏในหมวด บททั่วไป ข้อ 9 ว่า "ในการประชุมมหาเถรสมาคม ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคม ทำรายงานการประชุม และเมื่อประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม หรือกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้เข้าประชุมในครั้งนั้น ทุกรูปรับรองแล้ว ให้ประธานลงนามไว้เป็นสำคัญ" ไม่ปรากฏว่า มีข้อไหนยกเว้นให้ดำเนินการได้ทันที เป็นการใช้อำนาจเหนือกว่า สมเด็จพระสังฆราช ทั้งกฎมหาเถรสมาคม ยังบัญญัติขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย ภาษากฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อกระทำความผิดอันประสงค์ต่อผล
4. ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการผิดจากตำแหน่งทางกฎหมาย เนื่องจากระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ได้ระบุไว้ขัดถึงอำนาจของผู้บริหาร และข้าราชการในประเทศ มีกฎหมายรองรับถูกต้อง และมีผลบังคับสั่งการไปยังข้าราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้นการระบุชื่อของตำแหน่ง จึงมีความสำคัญ หากมีการยกเลิก หรือเพิ่มตำแหน่งใดๆ อันใช้เรียกขานทางราชการ ต้องนำเข้าเป็น พ.ร.บ. ผ่านรัฐสภา เพื่อประกาศใช้ แต่ปรากฏว่า ในเอกสารหน้า 2 ตำแหน่ง ที่ปรากฏนั้น คือ "เลขาธิการมหาเถรสมาคม ตำแหน่งนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย ไม่รู้ว่ามหาสมร หรือสมาคมของมหาสมรนี้อยู่ไหน และมหาสมรนี้สึกขาลาเพศไปแล้วหรือยัง (มหาคือผู้ที่เรียนจบทางบาลีปริยัติธรรม) อยู่วัดไหน ตายฝังไปแล้วหรือยัง เพราะใน พ.ร.บ. นั้น รับรองไว้แต่ "เลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น นี้เรียกว่า "ผิดในสาระสำคัญทางกฎหมาย"
ตามที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อนี้ จึงเป็นคำถามว่า "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" ลงนามในเอกสารนี้จริงหรือไม่? เพราะเอกสารดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำไปใช้อ้างในการื้อฟื้นนิคหกรรม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อต้องการให้สึกออกจากการเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยการใช้บังคับให้ผู้พิพากษารับคำฟ้องดังที่กล่าวไปแล้วแต่ต้น อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมทั้งสิ้น
อีกประการหนึ่ง ได้ปรากฏว่า มีการปลอมแปลงมติ มหาเถรสมาคม ครั้งที่ 28/2542 ขึ้นอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้ง ไม่เหมือนกัน ปรากฏเป็นหลักฐานก่อนที่คำชี้แจงนี้จะถูกจัดทำขึ้น โดยนายไพบูลย์ เสียงก้อง ออกมาให้นายมีชัย ลงนามเอกสาร ที่ใช้ทางด้านกฎหมาย ความสำคัญคือข้อกฎหมาย และนายมีชัย เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญของประเทศ เหตุใดความผิดปกติเช่นนี้ นายมีชัยจะมองไม่เห็น และเอกสารที่อ้างว่า ลงนามโดยนายมีชัยนี้เอง ได้ใช้เป็นข้อบังคับปลดพระพรหมโมลี ว่าไม่กระทำตามหน้าที่และนำไปปลดพระครูปทุมกิจโกศล เจ้าคณะตำบลคลองหนึ่ง พักตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย รวมไปถึงการออกหมายจับ หมายค้น การนำความขึ้นฟ้องร้อง ล้วนที่มาจากเอกสารปลอมนี้ทั้งสิ้น ด้วยเอกสารฉบับที่อ้างว่า นายมีชัย ลงนามนี้ ได้ถูกนำไปสร้างกระแส ให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา จึงเชื่อมั่นว่า นายมีชัย ก็ไม่อาจที่จะมีส่วนร่วม หรือรับรู้ในสิ่งนี้เช่นกัน จึงเป็นการแอบอ้างว่า นายมีชัยได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวนี้ แต่เอกสารในหน้า 2 จะเห็นว่า เป็นการปลอมแปลงขึ้นเอง อย่างแจ้งชัด จากลายเซ็นต์ของนายไพบูลย์ เสียงก้อง ด้านบน กับด้านล่าง ในข้อ 3 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การรื้อฟื้นนิคหกรรมขึ้นมาใหม่ เพราะอาศัยเอกสาร ฉบับที่นำมาแสดงนี้เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อพิสูจน์ได้ว่า เป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นมาดังที่กล่าวนี้ การแอบอ้างให้ดำเนินการใดๆ ภายหลังวันที่ 13 สิงหาคม 2542 รวมทั้งการปลดเจ้าคณะภาค 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพระธรรมวินัย จึงต้องหยุดการดำเนินทั้งปวง และสั่งการพิสูจน์สัจธรรมที่นำมากล่าวนี้ให้กระจ่างเสียก่อน
ดังนั้นความจริงคือ สัจธรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า "สจฺจํ เว อมตา วาจา ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย" และพุทธศาสนิกชนไทยที่แท้จริง พร้อมที่จะตายเพื่อรักษาความจริง แล้วท่านล่ะ พร้อมหรือยัง
นักกฎหมายศิษย์ตถาคต
ไอ้ทิด