ปีที่ 3 ฉบับที่ 980 ประจำวันพุธที่ 22 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 |
ไม่ต้องตรวจผู้กล่าวหาที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้หมายความว่าคฤหัสถ์ประเสริฐกว่าพระ
เรื่องนิคหกรรมหนอ นิคหกรรม มันวนเวียนอยู่ในใจของผู้คนมานานนับปี สร้างความสับสนอยู่ในข่าวหน้าหนึ่งและสกรู๊ปหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ คนไม่รู้ก็คิดว่า มันเป็นอย่างไร หนอ ถึงได้ไม่รู้จบเสียที ฟังข่าวอ่านข่าวทีไร ก็บอกว่ามหาเถรสมาคม มีมติให้คฤหัสถ์กล่าวหาพระได้ แล้วทำไมฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ถึงได้ไม่ยอมรับ และต่อสู้เรื่อยมา คำถามเหล่านี้ มันวนเวียนในใจหาคำตอบไม่ได้ จริงๆ เท็จๆ ฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิดกันแน่ ครั้งนี้จึงได้นำประเด็นหัวใจของเรื่องนิคหกรรมมาตีแผ่กันดู
เรื่องนิคหกรรมมีอยู่ว่า มีผู้กล่าวหาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ และพระภาวนาวิริยคุณ ว่าได้ทำผิดพระธรรมวินัย โดยยื่นคำกล่าวหานี้ต่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีแล้ว ครั้งแรก เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้มีคำสั่งรับคำกล่าวหา และเรียกตัวพระราชภาวนาวิสุทธิ์ และพระภาวนาวิริยคุณ ไปพบเพื่อรับทราบคำกล่าวหา แต่ก็ถูกทัดทานว่า เจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานี ไม่มีอำนาจสั่งรับคำกล่าวหา เนื่องจากผู้กล่าวหานั้นเป็นคฤหัสถ์ และยังไม่มีการตรวจลักษณะของคฤหัสถ์เสียก่อน หลังจากที่ถูกทัดทานคัดค้านเช่นนั้น เจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานีก็ปรึกษาคณะผู้พิจารณาชั้นต้น อันมีพระพรหมโมลี และพระเทพสุธี อยู่เป็นองค์คณะด้วย ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้ตรวจดูกฎนิคหกรรม อย่างละเอียดรอบคอบ มาภายหลัง เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีก็ได้พบว่า ตนสั่งผิดพลาดไป จึงได้สั่งยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งใหม่ยกคำกล่าวหาของคฤหัสถ์ โดยความเห็นชอบของ คณะผู้พิจารณา ชั้นต้น มีผลทำให้นิคหกรรมถึงที่สุด เหมือนการพิพากษายกฟ้องอย่างนั้น
แต่ต่อมาก็มีมติของมหาเถรสมาคม วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๒ ว่า คฤหัสถ์กล่าวหาพระได้ และให้ผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นปฏิบัติตามกฎนิคหกรรม คราวนี้มาพิเคราะห์กันว่า มันเกิดอะไรขึ้นถึงได้มีข้อเถียงกันเกี่ยวกับการตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาตามข้อ ๔ (๘) ข.
มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า กฎนิคหกรรมไม่ได้ระบุให้ต้องตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาตามข้อ ๔ (๘) ข. ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติของคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์นั้นโดยปกติ ทั้งในอดีต ตลอดจนปัจจุบัน คฤหัสถ์เป็นผู้ฟ้องร้อง กล่าวหา กล่าวโทษ ตำหนิ ติเตียน พระภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดพระวินัย ดังนั้นแม้จะไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎ ให้ตรวจลักษณะของ คฤหัสถ์ ก็ไม่ต้องใส่ใจ หากคฤหัสถ์นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔ (๘) ข. ก็นับว่าใช้ได้แล้ว
เมื่อฟังคำอธิบายข้างต้น คนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้ศึกษากฎนิคหกรรมมาก่อน ก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่ถูกต้องและคล้อยตามเห็นดีเห็นงามไปด้วย แต่สำหรับผู้รู้และศึกษา กฎนิคหกรรมอย่างดีเยี่ยมอย่างถ่องแท้ ดุจพระเดชพระคุณพระพรหมโมลี ซึ่งเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา (ฟื้น ชุตินฺธโร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ป.ธ.๙) ประธานในการร่างกฎนิคหกรรมนี้ ได้รับการถ่ายทอด สอนสั่งถึงขั้นตอน และความซับซ้อนของกฎนิคหกรรม มาหมดสิ้น
อีกทั้งได้สั่งสมประสบการณ์ เป็นผู้สาธิตวิธีการ ดำเนินนิคหกรรม ในศาลสงฆ์จำลอง ให้แก่พระสังฆาธิการเจ้าคณะปกครอง ได้ดูได้เข้าใจในกฎดังกล่าว ในระยะเริ่มต้น ของการ ประกาศใช้กฎนิคหกรรม จึงทราบว่า เหตุผลดังกล่าวไม่สอดคล้อง กับเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎนิคหกรรม และเป็นการตีความที่บิดเบือน เพื่อแสวงประโยชน์ฝ่ายตน เพื่อเอาชนะ ทางความคิด และเพื่อสร้างสถานการณ์บางอย่าง ให้แก่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลความชอบธรรม
ทั้งนี้ เราควรจะศึกษาหลักกฎหมาย และพระวินัยตลอดจนภูมิหลังให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะทำความเข้าใจกฎนิคหกรรมได้ดี เนื่องจากคณะผู้ร่างกฎนิคหกรรมนี้ มีทั้งนักกฎหมาย ทางโลก และพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมชั้นสูง ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่าง กฎหมายทางโลก และพระวินัยของสงฆ์ เข้าด้วยกัน ไม่ใช่นักกฎหมาย ที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนา และไม่เข้าใจพระวินัย จะทำความกระจ่างได้ การอาศัยเพียงหลักกฎหมายอย่างเดียว แล้วมาวิเคราะห์กฎนิคหกรรม จึงเปรียบเสมือนเป็น การใช้ วาทะศิลป์ เล่นลิ้น โดยไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎดังกล่าว และไม่สอดคล้องกับพื้นฐานดั้งเดิม ของพระพุทธศาสนาและพระวินัย
จากพื้นฐานดั้งเดิมของพระพุทธศาสนานั้น นับแต่สมัยพุทธกาล การบัญญัติพระวินัยสิกขาบทต่างๆ ไม่มีเรื่องใดเลย ที่พระพุทธเจ้าจะรับคำกล่าวหา จากคฤหัสถ์โดยตรง มีแต่การโจษขานกัน ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ แล้วนำความขึ้นมาถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ หรือแม้กระทั่ง มหาอุบาสิกาวิสาขา ที่กล่าวหาพระภิกษุ ก็ไม่เคยกล่าวหาต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตรง เพียงแต่ปรารภให้หมู่ภิกษุสงฆ์ได้ทราบว่า มีเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น แล้วพระภิกษุสงฆ์ จึงนำความนี้ ไปกราบทูล พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เพื่อทรงวินิจฉัยอีกที
มาในสมัยนี้ เราก็เห็นตัวอย่างการกล่าวหาของคฤหัสถ์ ในสมณานัติวินิจฉัยของสมเด็จพระสมณเจ้าฯ ซึ่งท่านก็ทรงวินิจฉัยว่า คำกล่าวหาของคฤหัสถ์นั้น ฟังได้เป็นเพียงคำบอกเล่า เท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังที่ผู้แสดงความคิดเห็นได้กล่าวไว้เลย และแนวความคิดพื้นฐานนี้ ก็ได้สืบทอดจนมาถึง การร่างกฎนิคหกรรม ดังนั้น เมื่อไม่ให้ความสำคัญ กับ ผู้กล่าวหาที่เป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว จึงไม่ได้บัญญัติกระบวนการ ที่จะมารองรับภายหลังจาก ที่คฤหัสถ์ได้ยื่นคำกล่าวหาแล้ว
อีกเหตุผลหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่า การไม่ต้องตรวจลักษณะคฤหัสถ์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็คือ การยกคฤหัสถ์ให้สูงกว่าพระนั้น ผู้ร่างกฎนิคหกรรม ซึ่งเป็นพระมหาเถระ ที่ทรงภูมิธรรม จะไม่กระทำเด็ดขาด พวกเราเห็นได้ง่ายๆ ว่า ในขณะที่พระภิกษุเป็นผู้กล่าวหา จะต้องมีการตรวจลักษณะว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ แต่เมื่อเป็นคฤหัสถ์เป็นผู้กล่าวหา กลับไม่ต้องมีการตรวจลักษณะว่า มีคุณสมบัติหรือไม่
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เราเชื่อถือในคฤหัสถ์ยิ่งกว่าพระอย่างนั้นหรือ? ซึ่งแน่นอนคำตอบเรื่องนี้ คงไม่มีใครคิดเช่นนั้น แล้วอะไร ล่ะ ที่เป็นเหตุสนับสนุนให้ ไม่ต้องตรวจลักษณะ ผู้กล่าวหา ที่เป็นคฤหัสถ์ นอกจากพิจารณาตามตัวอักษร ในกฎนิคหกรรมแล้ว ไม่ได้กำหนดให้ตรวจใช่ไหม ซึ่งเหตุผลเพียงเท่านี้ก็เหมือนกับ ที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้วว่า เราจะเข้าใจกฎนิคหกรรมได้ดี ต่อเมื่อเข้าใจพระพุทธศาสนาด้วย ไม่ได้อาศัยเพียงหลักกฎหมายอย่างเดียว
อีกเหตุผลหนึ่งที่จะสนับสนุนว่า การไม่ต้องตรวจลักษณะคฤหัสถ์เป็นสิ่งที่ผิด คือ พระภิกษุกับคฤหัสถ์ มีเพศและภาวะที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ บุรุษเพศเมื่อบวชแล้ว ก็ยกฐานะจากบุคคลธรรมดา มาเป็นสมณเพศ ผู้สงบสำรวม และจากผู้นับถือพระรัตนตรัย มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งที่กราบไหว้ของคนทั้งหลาย แม้กระทั่ง ผู้เป็นพ่อแม่ก็ตาม ทั้งนี้ด้วยอำนาจแห่งศีล และข้อวัตรปฏิบัติ ที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป
เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลธรรมดาที่ไม่รู้ว่า จะมีศีลสักกี่ข้อ ไม่ควรที่จะดึงเอาพระรัตนตรัย มาย่ำยีเล่น โดยการเปิดช่องให้สามารถกล่าวหาพระได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องตรวจลักษณะ ของคฤหัสถ์ผู้ที่กล่าวหา แล้วอะไรจะเกิดขึ้น คงจะมีขบวนการทำลายพระพุทธศาสนา ที่เข้ามากล่าวหาพระภิกษุสงฆ์กันวุ่นวาย
เมื่อกฎไม่ได้ระบุให้ตรวจลักษณะผู้กล่าวหา ที่เป็นคฤหัสถ์ตามข้อ ๔ (๘) ข. แล้ว พระภิกษุผู้พิจารณา จะมีอำนาจตรวจหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ก็ได้ทำรายงาน การพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ กรณีนิคหกรรม ซึ่งได้ชี้แจงไว้แล้วว่า
ตามความในข้อ ๑๕ แห่งกฎนิคหกรรม บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้พระภิกษุผู้พิจารณา ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหา ตามข้อ ๔ (๘) ก.เท่านั้น ส่วนว่าลักษณะข้อ ข. ไม่ปรากฏมีใน บทบัญญัติ ในเมื่อไม่มีปรากฏในบทบัญญัติ ก็ย่อมแสดงว่า ลักษณะบกพร่อง เมื่อมีลักษณะบกพร่อง ไม่ต้องตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติ ผู้พิจารณาย่อมไม่มีอำนาจ ที่จะสั่งรับคำ กล่าวหา จึงเห็นสมควร สั่งไม่รับคำกล่าวหา เป็นการใช้ดุลยพินิจ อันเป็นเอกสิทธิ์อำนาจของตน
จากคำชี้แจงดังกล่าวทำให้ทราบว่า พระภิกษุผู้พิจารณาไม่มีอำนาจในการตรวจลักษณะตามข้อ ๔ (๘) ข. ซึ่งหนึ่งในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นผู้ทำรายงานชี้แจงนี้ก็คือ พระพรหมโมลี ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนิคหกรรม มากที่สุด ในปัจจุบันนั่นเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะช่วยให้หายสงสัยและเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องแท้จริงว่ามันเป็นเช่นไรเรื่องมันถึงยังไม่ยอมจบเสียที ซึ่งว่าไปแล้วอันที่จริงเรื่องไม่จบเป็นเพราะมีผู้ไม่ยอมให้จบ ทั้งที่มันจบไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๒ เมื่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้พิจารณา ได้มีคำสั่งยกคำกล่าวหาของผู้กล่าวหา ที่เป็นคฤหัสถ์ ด้วยเหตุผลที่ กฎมส. ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผู้พิจารณาคือ เจ้าคณะจังหวัด จึงไม่มีอำนาจตรวจลักษณะของผู้กล่าวหา ที่เป็นคฤหัสถ์
และการตรวจลักษณะนี้ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาสู่การรับเรื่องนิคหกรรมนี้ไว้ แต่ในเมื่อไม่มีการตรวจลักษณะ จึงไม่อาจรับนิคหกรรมนี้ไว้ได้นั่นเอง จึงได้มีคำสั่งยก คำกล่าวหา ในที่สุด
และอีกประการหนึ่งเป็นเพราะผู้ไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ที่มีอำนาจ ชักใยสร้างสถานการณ์ทางการเมือง โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นหมากกลตัวหนึ่ง ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่นวนิยายเรื่องสั้น ตอนเดียวจบ แต่เป็นเรื่องยาว ที่ไม่รู้จะจบลงตอนไหน แล้วแต่ว่า ศึกชิงชัยระหว่างอำนาจ และความชอบธรรม จะได้ปรากฏผลแพ้ชนะ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จุดจบของผู้สร้างเวรก่อกรรม ในเรื่องนี้ คงไม่พ้นอเวจีมหานรกไปได้อย่างแน่นอน
นิติธรรม