ปีที่ 3 ฉบับที่ 983 ประจำวันจันทร์ที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 |
พระ 5 พันรูปฮึ่ม ลงสังฆามติ บีบรัฐอุ้ม "พุทธ"
บี้จัดสรรงบช่วยเหลือ ทั้งการศึกษาเสนาสนะ ค้านให้อำนาจฆราวาส มหาเดวิทย์ แนะยุบสภา
พระสงฆ์ไทยแสดงพลัง เสนอสังฆาพิจารณ์ เพื่อแสดงสังฆามิต 8 ประกาศ "ปลดแอก" จากอำนาจฆราวาส เตรียมจัดตั้งสมัชชาสงฆ์แห่งประเทศไทย
เป็นศูนย์กลางประสานงาน
คณะสงฆ์ บี้รัฐบาลเข้ามาคุ้มครองดูแลพระสงฆ์ ทั้งในด้านการศึกษา เสนาสนะ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น พร้อมให้ตั้งกองทุนอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อค้ำจุนพระพุทธศาสนา มติสงฆ์ท่วมท้น ค้านกฎหมายหัวดำคุมพระ 100% ด้านพระมหาเดวิทย์ เสนอทางออกของกม.สงฆ์ฉบับใหม่ ให้ดึงออกจากสภา และยุบสภา เพื่อแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจิตตภาวันวิทยาลัย เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ว่า เป็นการสัมมนาวันที่สองต่อจากวันก่อน
ในช่วงเช้าเป็นการแสดงความคิดเห็น
ในเรื่องปัญหาการศึกษา ของ
พระเณร โดยมีพระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือพระกิตติวุฑโฒ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา
พระภิกษุจากเชียงราย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังมีช่องว่างระหว่างพระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อย และพระในเมืองกับชนบท ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดความสามัคคีกัน
เกิดความห่างเหิน ระหว่าง
พระภิกษุด้วยกันเอง ที่สำคัญคือ พระผู้ใหญ่ให้ความสนใจต่อการศึกษาน้อยมาก เนื่องจากกฎระเบียบห้ามพระภิกษุเรียนในหลายสาขา
ซึ่งขัดต่อเจตนารมย์ของ
รัฐธรรมนูญ ที่ต้องการเปิดกว้างให้ชาวไทยศึกษาได้ตามที่ต้องการ
ประเด็นต่อมาคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่เปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์ ซึ่งถ้าพระได้ศึกษาในสาขานี้ จะทำให้พระไม่ถูกฆราวาสหลอกเหมือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ มีพระจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้กฎหมาย หรือตามไม่ทันฆราวาสที่เข้ามาหลอกลวง เนื่องจากพระรู้วินัยสงฆ์เพียงด้านเดียว
ขณะที่กฎหมายบ้านเมืองจะยึด
หลัก กฎหมายเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจพระธรรมวินัยเลย ดังนั้น จึงอยากให้แก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้
ด้านพระกิตติวุฑโฒ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งตนได้เคยตั้งมหาวิทยาลัยศรีอิสานขึ้น เปิดสอนด้านนิติศาสตร์ขึ้น เปิดสอนด้านนิติศาสตร์ให้กับพระภิกษุ แต่ได้รับการทักท้วงจาก นายวิษณุ เครืองาม เลขานุการคณะรัฐมนตรี ขอให้เลิก แต่ตนไม่ยอม นายวิษณุจึงนำเรื่องเข้าร้องเรียนมหาเถรสมาคม โดยอ้างว่า ตามกฏห้ามพระเรียนด้านวิชาชีพ ทางมหาเถรสมาคม จึงตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องนี้ และไดสรุปว่า นิติศาสตร์เป็นสายวิชาชีพ ไม่สามารถดำเนินการสอนได้ และมหาวิทยาลัยศรีอีสาน ก็ต้องยุบไป
พระมหาเดวิทย์ ยสสี ประธานยุวสงฆ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของพระที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มาจาก พ.ร.บ.สงฆ์ ปัญหาไม่ได้เกิดจากพระผู้ใหญ่ หรือมหาเถรสมาคม พระผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามระเบียบเท่านั้น ส่วนกรณีอธิกรณ์วัดพระธรรมกาย เกิดขึ้นเพราะฆราวาสเข้ามายุ่งเกี่ยว
โดยฆราวาสได้เข้าไปนำเสนอความเห็นของตน
ต่อ กรรมการ มส. ทำให้พระผู้ใหญ่อึดอัดใจมาก และยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนิกาย โดยมีวัดพระธรรมกายเป็นเครื่องมือ
นอกจากนี้ การปลดพระพรหมโมลีของมส. เป็นเพราะพระพรหมโมลีดำเนินการไม่ถูกใจ ขณะที่รองเจ้าคณะภาค 1 และ พระสุเมธาภรณ์ กลับไม่ถูกดำเนินการใด ๆ
ทั้งที่ร่วม
พิจารณาปัญหาด้วยกัน ดังนั้น คณะยุวสงฆ์ จึงไม่ยอมรับในเรื่องนี้ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การที่รัฐบาลจะนำร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับใหม่เข้าสภา หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาออกมา จะมีพระทั่วประเทศลุกขึ้นมาต่อต้าน ดังนั้น
จึงอยากเสนอ
ทางออกเกี่ยวกับปัญหากฎหมายฉบับนี้ คือ ให้ถอดถอนออกจากสภา หรือไม่ก็ต้องยุบสภา
"การที่รัฐบาลนายชวน จะยุติปัญหาวัดพระธรรมกาย ด้วยการนำเสนอ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลยังคงผลักดันเรื่องนี้ เราจะอดข้าวประท้วง
เพื่อให้ถอดถอน ออกไปทันที การที่มีคนปลอมหนังสือของจิตตภาวันวิทยาลัย เพราะต้องการไม่ให้พระมาประชุมคัดค้านกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งคนกลุ่มนี้ รวมตัวกันอยู่แถวบางลำภู
และ
มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง คอยสั่งการลงมา" พระมหาเดวิทย์กล่าว
พระครูอดุลสารสิทธิ์ ฉันทะสุทโธ อาจารย์ มจร. ขอนแก่น และอาจารย์พิเศษ ม.ขอนแก่น วัดนันทิการาม อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า มีความดีใจที่เห็นหลายฝ่าย
ร่วมกัน ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ปัจจุบันเห็นว่า ปัญหาทั้งหมด เกิดจากความแตกแยกในหมู่สงฆ์ แล้วจึงกระจายออกไปยังพุทธศาสนิกชน
ด้านการศึกษาของสงฆ์ ก็เหลื่อมล้ำ ไม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เสมอกัน อาตมาคิดว่า ทำอย่างไร เราจะจูนคลื่นจากสงฆ์ ไปถึงฆราวาส ให้เป็นคลื่นเดียวกัน
ระบบศึกษาของ สงฆ์อ่อนแอ เหมือนดอกไม้ในกระถาง
"อาตมาเดินทางไปพม่าเมื่อเดือนที่แล้ว เห็นคนพม่าให้ความเกรงใจพระมาก แสดงให้เห็นว่า คนพม่ายังเคร่งครัดในพระศาสนามากกว่าเมืองไทย
อาตมาอยากให้สถาบันสงฆ์
เป็นเช่นนี้ จัดให้มีการสัมมนาขึ้นหลาย ๆ แห่ง เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่สงฆ์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันเหตุการณ์"
พระครูอดุลสารสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย สงฆ์ที่ไปร่วมงานสัมมนากว่า 5 พันรูป ได้พากันลงสังฆามติใน 8 ประเด็นดังนี้
1.ด้านการศึกษา ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับกระทรวง กำหนดวิชาพระพุทธศาสนา ไว้ในหลักสูตรที่เป็นแกนกลาง เพื่อให้เยาวชนทั่วทั้งประเทศ
ได้เรียนรู้วิชา
พระพุทธศาสนา เพื่อความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต ให้ภาครัฐสนับสนุนการศึกษาของสงฆ์ ทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี แผนกสามัญศึกษา ตลอดถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยจัดงบประมาณสนับสนุนแก่สถานศึกษาเหล่านี้ ให้มีจำนวนเท่ากัน กับงบประมาณที่จัดให้กับสถานศึกษาทางโลกของรัฐ
สนับสนุน
งบประมาณด้านอาหารบิณฑบาตและการจัดสร้างเสนาสนะที่อยู่และอาคารเรียนให้แก่วัดที่เป็นสำนักเรียน ให้ภาครัฐสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เคเบิ้ลทีวี อินเตอร์เน็ต มาใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา
2. ด้านการเผยแผ่ ให้ภาครัฐควบคุมสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าว มิให้เหยียบย่ำคณะสงฆ์ หรือยุให้คณะสงฆ์ เกิดความแตกแยก
ให้จัดสรรเวลาของสื่อวิทยุและโทรทัศน์
ให้แก่ คณะสงฆ์ หรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อใช้จัดรายการที่มุ่งเน้นการปลูกฝัง และส่งเสริมศีลธรรม ให้ภาครัฐจัดงบประมาณสนับสนุน โครงการเผยแผ่ธรรมะต่างๆ ให้กำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมให้กุลบุตรเข้ามาบรรพชาอุปสมบทมากขึ้น ควรเน้นการเผยแพร่เชิงรุกในต่างประเทศ
3. ด้านการปกครอง ให้จัดตั้งสำนักงานการคณะสงฆ์จังหวัดขึ้น โดยมีที่ตั้งสำนักงานที่ถาวร มีงบประมาณสนับสนุน ให้จัดหน่วยงานอิสระระดับกรมขึ้น ชื่อว่า
กรมพระพุทธ ศาสนา อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของมหาเถรสมาคม ให้รัฐคุมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ใช้หลักเมตตาธรรม และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ในการปฏิบัติต่อพระสงฆ์
การลงโทษ พระสังฆาธิการ
ให้ออกจากตำแหน่ง ควรมีหลักเกณฑ์ตัดสินที่ชัดเจน มิใช่ตัดสินตามอารมณ์
4. ด้านการสาธารณูปการ ให้ภาครัฐจัดงบประมาณสนับสนุน การก่อสร้างเสนาสนะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่นกุฏิที่พัก อาคารเรียน สาธารณูปโภค นอกจากนี้
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีโครงการจัดสร้างศูนย์การศึกษา ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลก
ซึ่งเป็นโครงการที่เป็น
ประโยชน์อย่างมาก ในการสร้างศาสนทายาท
5 ด้านสังคมสงเคราะห์ ให้การสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรที่อาพาธ รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย
และคุ้มครองสิทธิแก่พระภิกษุ
สามเณร สนับสนุนโครงการสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ที่ดำเนินการโดยคณะสงฆ์
6. การออกพระราชบัญญัติกองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ไม่ยอมรับ พระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (พ.ร.บ.ฆราวาสปกครองพระ) ที่มีการยกร่างกันขึ้น ขอให้มีการออก พ.ร.บ.กองทุนอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ม.73 ต้องมีเนื้อหาที่เป็นคุณ
และเอื้ออาทรต่อพระพุทธ
ศาสนา และสถาบันสงฆ์ อย่างแท้จริง
7. การแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 มาตรา 29 ที่ให้อำนาจแก่ฆราวาส ซึ่งเป็น "เจ้าหน้าของรัฐ" นำ "พระภิกษุ" ไป "ประหารชีวิต" โดยการจับสึกจากสมณเพศ ทั้งๆ ที่การพิจารณาคดียังไม่ถึงที่สุด ควรแก้ไขให้เป็น "คดีสิ้นสิ้นสุดก่อน" เพื่อความยุติธรรม และในมาตรา 45
ให้ยกเลิกข้อความ ที่ระบุว่า "พระภิกษุซึ่งดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงาน ตามความในประมวลกฎหมายอาญา" เพราะไม่ก่อประโยชน์
แต่เปิดโอกาสให้ผู้
ไม่หวังดี กล่าวหาพระสังฆาธิการได้ง่าย
8. การจัดตั้งศูนย์ประสานงานพระภิกษุสามเณรแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ให้พระสังฆาธิการ ตลอดจนพระภิกษุสามเณร ทั่วทั้งสังฆมณฑล ได้เข้ามาร่วมมือกันทำงาน โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
8.1 ทำสังฆาพิจารณ์ โดยจัดส่งสังฆามตินี้ ไปยังพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศเพื่อสอบถามความคิดเห็น
8.2 จัดการสัมมนาย่อยตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ได้รับทราบข้อมูล และมีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยทั่วถึงกัน
8.3 ประมวลความเห็นของพระภิกษุสามเณรทั้งหมด จัดทำเป็นสังฆามติของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ
8.4 ประชาสัมพันธ์แจ้งสังฆามติของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน ตลอดจนประสานงานสอบถามนโยบาย จุดยืนของ พรรคการเมือง ต่างๆ ที่มีต่อสังฆามตินี้
8.5 แจ้งนโยบายและจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีต่อสังฆามตินี้ ให้พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศได้ทราบ
8.6 ประสานงานกับคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ดำเนินการให้สังฆามติบังเกิดผลในเชิงปฏิบัติเป็นรูปธรรม
ประกาศ ณ วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2543