อย่างอื่นที่ควรรู้ นอกจากการเหยียบคันเร่ง และเบรค
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารอย่าขับอย่างเดียว เล่มที่ 3 ประจำปี 2541 ]

ของขวัญหลังงานลุย


งานที่ต้องทำหลังน้ำเลิกท่วม ในที่สุดก็วนเวียนย้อนกลับมาสู่เดือนสุดท้ายของปีกันอีกแล้ว ต่างก็คงชื่นมื่นกันกับบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง "วันปีใหม่" มีความสุขกับ "โบนัส" ปลายปีซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการทำงานมาตลอด 12 เดือน ส่วนจะรับก้อนเล็กหรือก้อนโต ก็แล้วแต่สภาพ ถ้าใครที่ได้ก้อนโต ก็ย่อมสุขมากเป็นธรรมดา ส่วนผู้ที่รับก้อนเล็กก็คงมีความสุข น้อยซักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าบางคนที่ไม่ได้เลยแหละน่า

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีรถเอาไว้ใช้งาน ในช่วงนี้ถ้าพอมีกะตังค์ติดกระเป๋าบ้าง ก็ควรเจียด งบประมาณมาแบ่งบันเป็นของขวัญสำหรับรถบ้าง เพื่อที่ให้มันสามารถรับใช้ต่อไปได้ เป็นอย่างดี ไม่งั้นมันเกิดการอ้อนหรือโยเยขึ้นมา แล้วจะมาบ่นว่ามันไม่รักดีไม่ได้เชียว

ในช่วงระยะเดือนสองเดือนที่ผ่านมา รถส่วนใหญ่คงได้มีโอกาสได้ขับลุยน้ำลุยฝนกันมาบ้าง มากน้อยแล้วแต่ว่าใครจะมีความจำเป็น หรือต้องเจอะเจอกันมากขนาดไหน ใครที่มีเส้นทาง ผ่านแหล่งน้ำท่วมเยอะก็คงสาหัสมากหน่อย ผู้ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คงสบายใจมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ควรจะลงมือจัดการซ่อม และบำรุงรักษารถกันบ้าง เพื่อที่จะให้มันสามารถใช้ได้เป็นอย่างดีสำหรับการเป็นพาหนะ ในปีหน้า

เปลี่ยนน้ำมันต่าง ๆ เพื่อความชัวร์
สิ่งที่ควรประพฤติเป็นอย่างยิ่งก็คือการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันบางอย่าง ซึ่งอาจถูกน้ำแทรกซึม เข้าไปผสมได้ อีตอนที่ขับรถลุยน้ำลุยฝน หรือแม้ว่าน้ำจะไม่เข้าไป ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่เป็นไร เพราะช่วงนั้นอากาศจะมีความชื้นสูง เจ้าความชื้นนี้อาจเข้าไปผสมปะปน และทำให้น้ำมันต่าง ๆ เกิดการเสื่อมประสิทธิภาพขึ้นมา ชิ้นส่วนอาจเกิดการเสียหาย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ก่อน จึงสมควรจะเปลี่ยนถ่ายไปเลยดีกว่า เดี๋ยวจะกลายเป็น เรื่องของการเสียน้อยเสียยาก

น้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง
อย่างแรกเลย คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง ซึ่งอันที่จริงเรื่องของการ เปลี่ยนถ่ายน้ำเครื่องนี้เราก็ประพฤติกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว มาถึงเวลานี้ก็ถือโอกาส เปลี่ยนถ่ายซะเลย และควรเปลี่ยนตัวไส้กรองน้ำมันเครื่องไปพร้อม ๆกันด้วย เพราะมันไม่แน่ ว่ากระดาษของไส้กรองมันจะซึมซับเก็บเอาน้ำหรือความชื้นเอาไว้บ้างหรือเปล่า สู้เปลี่ยนไปเลยให้สบายใจดีกว่า

น้ำมันเกียร์-น้ำมันเฟืองท้าย
ปกติพวกน้ำมันเกียร์ธรรมดาและน้ำมันเฟืองท้าย เราควรจะเปลี่ยนกันปีละครั้ง (พวกรถที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ปีละ 2 ครั้ง) ซึ่งเราควรถือโอกาสเอาช่วงนี้แหละ เป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนถ่าย เพราะรถเพิ่งผ่านงานลุยน้ำมาและเราก็ไม่ทราบว่าจะมีน้ำเข้าไปผสมปะปนด้วยหรือเปล่า ต่อไปไม่ค่อยจะมีฝนก็จะทำให้ใช้งานต่อไปได้อย่างวางใจ สำหรับรถที่ใช้ระบบ ขับเคลื่อนล้อหน้า เจ้าน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายจะเป็นหน่วยเดียวกัน ส่วนพวกรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังนั้น ชุดเกียร์และเฟืองท้ายจะแยกกันอยู่ต่างหาก และถ้าเป็นรถที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติก็ใช้น้ำมันต่างชนิดกัน

น้ำมันเพาเวอร์พวงมาลัย
น้ำมันเพาเวอร์พวงมาลัยก็เป็นน้ำมันอีกชนิดหนึ่งที่สมควรจะทำการเปลี่ยนด้วยเช่นกัน โดยน่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายกันซักปีละครั้ง เพราะน้ำมันเหล่านี้เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะมีความสกปรก เกิดการเสื่อมสภาพจากความร้อนของการใช้งานและความชื้นไม่เหมาะสม ที่จะใช้งานกันต่อไป อันจะทำให้เกิดการสึกหรอเสียหายต่อระบบพวงมาลัยได้ ถ้าเราทำการเปลี่ยนถ่ายบ้างซักปีละครั้ง จะช่วยให้อุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ของชุด พวงมาลัยเพาเวอร์ มีอายุการใช้งานยืนยาวขึ้น

น้ำมันเบรค
น้ำมันเบรคนั้นมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นจากอากาศเข้ามารวมตัวกับมัน ดังนั้นในช่วงลุยน้ำลุยฝนนี้ที่มีความชื้นมากเป็นพิเศษ ก็จะเป็นช่วงที่จะทำให้น้ำมันเบรค มีความชื้นปะปนมากด้วยเช่นกัน ผลของการดูดซึมความชื้นของน้ำมันเบรคนี้ จะเป็นเหตุให้น้ำมันเบรคเกิดการเสื่อมสภาพ มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งอาจไม่มีผลอะไรมากนักกับการใช้เบรคของพวกที่ใช้รถระดับชาวบ้านธรรมดา ซึ่งไม่ค่อยจะได้เบรคกันรุนแรง หรือเบรคต่อเนื่องจนทำให้เบรคร้อนจัด ดังนั้นจึงไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเบรคมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไร แต่ผลของการที่น้ำมันเบรคดูดซึมความชื้นในอากาศเข้าไว้ในตัว เจ้าความชื้นนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายได้มากเป็นพิเศษ สำหรับชิ้นส่วนต่าง ๆ ในชุดระบบเบรคอาจเกิดเป็นสนิมและมีการกัดกร่อนให้พวกกระบอกแม่ปั๊มต่าง ๆ สึกหรอเร็วกว่าที่ควร จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคกันประมาณปีละครั้งสำหรับรถ ที่ใช้งานเยอะใช้งานหนัก
หรืออย่างนานที่สุดก็ไม่เกิน 2 ปีต่อครั้ง ถ้าใช้รถกันไม่มากเท่าไร

น้ำมันคลัทช์
รถบางรุ่นที่ใช้ระบบเกียร์ธรรมดา และใช้ระบบคลัทช์แบบไฮดรอลิคที่มีน้ำมันคลัทช์ เป็นตัวทำงาน ก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันคลัทช์ด้วยเช่นกัน โดยมีเหตุผลเช่นเดียวกัน กับน้ำมันเบรค และเพื่อเป็นการประหยัดเวลาก็สมควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันคลัทช์กับน้ำมันเบรค ไปพร้อมกันซะทีเดียวเลย

น้ำในหม้อน้ำ
น้ำในหม้อน้ำก็สมควรมีการเปลี่ยนถ่ายด้วยเช่นกัน ตามปกติทั่วไปพวกน้ำในหม้อน้ำ ควรมีการเปลี่ยนถ่ายปีละครั้งสองครั้ง เพื่อเป็นการถ่ายเทสิ่งสกปรกและสนิมออกทิ้งไป แต่รถรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันนิยมใช้น้ำยารักษาหม้อน้ำ ทำให้การเกิดสนิมมีน้อยลง ถึงกระนั้นก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในหม้อน้ำอยู่ดี โดยสามารถยืดระยะเวลาออกไปได้ อีกปีละครั้ง หรือสองปีต่อครั้งถ้ารถไม่ได้ใช้งานกันมากนัก ไหน ๆ ก็เอารถเข้าอู่กันแล้ว น่าจะใช้โอกาสนี้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในหม้อน้ำไปด้วย

น้ำมันรถ
เป็นไปได้ว่าอาจมีน้ำแอบเข้าไปผสมกับน้ำมันเบ็นซินหรือดีเซลในถังน้ำมัน โดยเฉพาะรถที่ขับลุยน้ำท่วมสูงหรือพวกที่ไม่ชอบเติมน้ำมันเยอะ ๆ มักปล่อยให้ถังน้ำมัน ว่างเป็นประจำ ช่วงภายในถังที่ปราศจากน้ำมันอาจมีน้ำเกาะตัวอยู่ภายในก็ได้ และปะปนอยู่กับน้ำมันในถัง จึงควรถ่ายน้ำมันทำความสะอาดกันบ้างถึงแม้จะเป็นเครื่องดีเซล ที่มีกรองดักน้ำให้ใช้ก็ตามเพราะอย่างน้อยก็เป็นการทำความสะอาดถังเติมน้ำมัน ลดปัญหาจากฝุ่นละอองอุดตันในระบบเชื้อเพลิงได้ ไส้กรองไม่ตันเร็ว ปั๊มเชื้อเพลิง ไม่ต้องทำงานหนัก การทำความสะอาดถังน้ำมัน ซักปีหรือสองปีต่อครั้ง ไม่น่าจะเป็นภาระ มากมายอะไรนัก

มุดเข้าใต้ท้องรถ
งานใต้ท้องรถนั้นมันก็มีอยู่ไม่น้อย และดูจะมากรวมทั้งมีความสำคัญซะด้วยซ้ำ เพราะยามรถลุยน้ำพวกช่วงล่างและชิ้นส่วนแถวนั้นจะตอบรับภาระหนักเป็นพิเศษ

ลูกปืนล้อ
ลูกปืนล้อเป็นจุดที่ผู้ขับรถไม่ค่อยจะเอาใจใส่กันมากนัก จะหันมาสนใจมันก็อีตอนเป็นเรื่อง เกิดมีเสียงดังโวยวายเข้ามาเท่านั้น ซึ่งเมื่อถึงอีตอนนี้แล้วมักจะต้องเปลี่ยนลูกปืนล้อชุดใหม่ เท่านั้นเอง อันที่จริงแล้วการตรวจสอบสภาพของลูกปืน ก็ไม่ใช่ของยากเย็นอะไรนัก เพียงแต่เสียเวลาและต้องใช้แรงตลอดจนฝีมือกันซักหน่อย ถ้าไม่ใช่คนรู้เรื่องรถ และมีเวลาพอแล้วก็คงเล่นยากเหมือนกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะถูกละเลยไป แต่ถ้าเรามีการเอาใจใส่ดูแลตรวจเช็คมันบ้าง โดยการใส่จาระบีหล่อลื่นและปรับระยะ ให้ถูกต้อง เพราะจากการใช้งานที่ผ่านมา อาจทำให้จาระบีแห้ง หรือละลายน้ำออกมาก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกปืนล้อก็จะมีอายุขัยยืนยาวไม่น้อยเราจึงควรใช้ช่วงเวลานี้ให้จัดการใส่จาระบี ใหม่ พร้อมกับการปรับระยะให้ถูกต้อง ตรวจเช็คความสนิทแน่นของฝาครอบ เพื่อป้องกันการซึมของน้ำเข้าไปทำความเสียหายหรือป้องกันจาระบีไหลออกมา และพวกที่ใช้กระทะล้อแม็กตรงกลางดุมจะมีแผ่นปิดอยู่ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไป ได้บ้าง ถึงแม้จะไม่ถึงกับป้องกันได้เต็มที่ก็จริงแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีและมันก็มีผลต่อ เรื่องความสวยงามด้วย ดังนั้นเราควรตรวจสภาพว่าฝาครอบส่วนนี้ยังแน่นสนิทหรือไม่ มิเช่นนั้นอาจหลุดหล่นหายเวลารถวิ่งเร็ว ๆ ก็ได้ ราคาค่าตัวของมันบางรุ่นก็ไม่เบาที่เชียว ส่วนพวกที่ทำหลุดหายไปอีตอนลุยน้ำท่วมก็น่าจะหามาใส่ให้ (หล่อ) เหมือนเดิม

ชุดเบรค
ในงานเดียวกันนี้จะควบคู่ไปกับการตรวจเช็คระบบเบรคด้วย เพราะไหน ๆ ก็ต้องถอดล้อ ออกมาแล้ว เรียกว่าเป็นการลงมือชุดเดียวกัน ควรตรวจดูสภาพของผ้าเบรค ตั้งแต่ความหนา ของผ้าเบรค สภาพผ้าเบรคเปื่อยยุ่ยหรือเสียหายจากการแช่น้ำบ้างหรือเปล่า พวกแม่ปั๊มมีปัญหาเป็นสนิมเพราะน้ำหรือไม่ ยางกันฝุ่นฉีกขาดหรือหลุดหลวมบางมั้ย เห็นแล้วจะได้รีบทำการแก้ไขก่อนที่จะก่อเป็นเรื่องขึ้นมาหรือเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้

ชุดยางครอบแร็คพวงมาลัยและเพลาขับ
พวกรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และใช้ชุดพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยน ยังมีงาน ที่จะต้องตรวจเช็คสภาพของยางหุ้มแร็คและยางหุ้มเพลาขับตลอดจนเติมจาระบีเพิ่มเข้าไป เท่าที่เจอะเจอมาถึงปัญหายางหุ้มเพลาแห้งแข็งหรือฉีกขาด มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก จารบีในนั้นแห้งซะมากกว่า นอกเหนือไปจากการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน หรือเกิดขึ้นจากการกระทบกระแทกจากวัสดุตามเส้นทางที่โดนมา ซึ่งสภาพของยางหุ้มแร็ค และเพลาที่สมบูรณ์มีความสำคัญมากถ้าเกิดการฉีกขาดจารบีรั่วไหล แร็คพวงมาลัย หรือเพลาขับมักจะเกิดการเสียหายในไม่ช้าจากฝุ่นผงสิ่งสกปรกที่เล็ดลอดเข้าไปผสมกับ จาระบีทำให้มีค่าเหมือนกับการขัดถูด้วยกระดาษทราย

ท่อไอเสีย
เมื่อต้องมุดลงไปเล่นใต้ท้องก็น่าจะถือโอกาสตรวจเช็คความเรียบร้อยต่าง ๆ ด้วย เช่น พวกลูกหมากและลูกยางต่าง ๆ ที่อาจเกิดการเสียหายเพราะการลุยน้ำ แล้วไปตกหลุม ตกร่องต่างๆ นอกจากนี้ก็ควรตรวจเช็คพวกท่อไอเสียและหม้อพักด้วย ว่ามีการผุทะลุ มั่งหรือเปล่า ข้อต่อต่าง ๆ ยังแน่นหนาอยู่ดีมั้ย จากการตรวจดูด้วยตา และทดลองติดเครื่อง ฟังเสียงผิดปกติของท่อไอเสีย พวกท่อไอเสียที่ผุทะลุ รั่วหรือตันจากการผุของไส้ข้างใน จะทำให้การคลายไอเสียมีปัญหา การทำงานของเครื่องยนต์ผิดปกติ เร่งไม่ออก มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงกว่าปกติ

ภายในห้องโดยสาร
จุดที่จะเป็นเรื่องภายในห้องโดยสารอยู่ที่การรั่วซึมของน้ำเข้าไป ภายในรถ ไม่ว่าจะเป็น จากพื้นรถเองหรือทางขอบประตูก็ตาม โดยเฉพาะรถที่ปูพรมจะมีปัญหามากที่สุด และรถสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็ปูพรมซะด้วย ถ้าน้ำเกิดรั่วซึมเข้าไปในห้องโดยสารมาก ๆ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเราสามรถมองเห็นและสัมผัสได้ แต่บางทีมันก็ซึมเข้าไปเพียงเล็กน้อย กว่าจะรู้ก็อีตอนที่พรมเน่าส่งกลิ่นหรือเกิดมีราขึ้นมาเสียแล้ว

พวกที่ไม่แน่ใจว่ารถของตัวเองจะมีน้ำรั่วซึมเข้ามาหรือเปล่า ให้ตรวจสอบได้จากผ้ายางผูพื้นรถ ถ้าพบว่าเมื่อพลิกผ้ายางด้านหลังที่สัมผัสกับพื้นรถขึ้นมา แล้วพบว่ามีละอองไอน้ำเกาะอยู่ ให้เชื่อเอาไว้ก่อนเลยว่า บัดนี้มีน้ำเข้ามาซุกซ่อนอยู่ภายในรถ หรือให้เอากระดาษหนังสือพิมพ์ ปูทับไว้บนพรมใต้ยางปูพื้นซักวันหนึ่ง ถ้าพบว่ากระดาษหนังสือพิมพ์เปียกชื้น เป็นการแสดงว่าพรมเปียกแน่นอน

วิธีการทำให้พรมแห้งส่วนใหญ่จะแนะนำให้เอารถไปจอดตากแดดเปิดประตูเอาไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกเหมือนกัน แต่ถ้าพรมเปียกมาก ๆ บางทีจอดตากแดดไว้สามวัน จนเบาะซีดหมดแล้ว พรมยังไม่แห้งเลยก็มี ดังนั้นก่อนนำรถไปตากแดด ควรจัดการ ซับเอาน้ำออกให้มากที่สุด วิธีจัดการเอาน้ำออกจากพรมได้ดีและมากที่สุดคือ การปูพื้นรถด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หนา ๆ ปล่อยให้ดูดซับน้ำก่อน แล้วหมั่นเปลี่ยน กระดาษหลาย ๆ ครั้ง ๆ จนกระทั่ง กระดาษเริ่มไม่ซับน้ำ แบบนี้เจอแดดดี ๆ ซักแดดสองแดด ก็แห้งแล้ว และระหว่างที่พรมเปียกอยู่นี้ตอนจอดรถให้เลื่อนกระจกแง้มไว้หน่อย เพื่อปล่อยให้ความชื้นระบายออกได้ จะช่วยให้รถไม่เป็นรา ส่วนรถที่มีกลิ่นตุ่ย ๆ อยู่ภายในรถ วิธีขจัดกลิ่นให้เอาถ่านดำ ๆ ที่ใช้หุงข้าวต้มแกงวางทิ้งไว้ในตัวรถ ถ่านมันจะช่วยดูดกลิ่น ช่วยให้หายเหม็นได้

ห้องเก็บของท้ายรถเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเอาใจใส่ ให้ตรวจบริเวณพื้นรถใต้ผ้ายาง ตามซอกตามมุม และแถวที่เก็บยางอะไหล่ว่ามีร่องรอยของน้ำอยู่หรือไม่ ขืนทำเฉยเดี๋ยวสนิมจะถามหา มารู้ตัวกันอีกทีก็ตอนพื้นทะลุแล้วนั่นแหละ

จากนิตยสารอย่าขับอย่างเดียว
ฉบับพิเศษ เสริมทักษะเรื่องรถยนต์ด้วยตนเอง เล่มที่ 3 ประจำปี 2541


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB [ hey.to/yimyam ] [ pantip.com/ELIB ]

best view with [IE3.02] [NETSCAPE 4.05] [OPERA 3.21]
1