อย่างอื่นที่ควรรู้ นอกจากการเหยียบคันเร่ง และเบรค
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2541 ]

การดูแลรักษายางรถยนต์


ด้วยหน้าที่ในการยึดเกาะถนนของยางรถยนต์ อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบกันสะเทือน ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่ ขับรถได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยตลอดการเดินทาง ยางรถยนต์แต่ละเส้น จึงต้องได้มาตรฐาน เหมาะสมกับประเภท และการใช้งานของรถ เพราะประสิทธิภาพของยาง ขึ้นอยู่กับสภาพของยางแต่ละเส้น

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของยางก็คือ ความดันลมยาง ถ้าความดันลมภายในยาง มากหรือน้อยกว่าที่กำหนด จะมีผลทำให้อายุการใช้งานของยางสั้นลง เช่น ถ้าความดัน ลมยางมากเกินไป จะมีผลทำให้ดอกยางสึก โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของหน้ายาง เพราะโครงยางจะเบ่งตัวเต็มที่ อาจทำให้ยางระเบิดได้ง่าย หากรับแรงกระแทกรุนแรง หรือของมีคม แต่ถ้าความดันลมยางน้อยเกินไปก็จะมีผลทำให้ไหล่ยางด้านข้างทั้งซ้าย และขวาสึก ส่วนตอนกลางของยางจะยุบตัวเข้าไปหรือที่เรามักเรียกว่า ยางแบน

การรับน้ำหนัก ถ้ารถมีน้ำหนักบรรทุกเกินอัตราส่งผลให้ยางเกิดความร้อนสูงสึกหรอเร็ว แล้วถ้าล้อใดล้อหนึ่งรับน้ำหนักมากกว่าล้ออื่น จะทำให้ล้อนั้น ๆ สึกหรอเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพถนนที่ขรุขระ สภาพรถเกี่ยวกับศูนย์ล้อ เช่น มุมโทอิน*, มุมโท-เอาต์* และมุมแคมเบอร์** ของรถยนต์ถ้าไม่ถูกต้องตามกำหนดของรถแต่ละรุ่น ก็จะทำให้ยางสึกหรอเร็วและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิธีการขับขี่ของผู้ใช้รถยนต์ การขับรถด้วยความเร็วสูง หรือการหยุดที่ความเร็วสูง รวมทั้งการเบรกและออกตัว อย่างรุนแรงก็มีผลทำให้ยางสึกหรอเร็วยิ่งขึ้นอีก

การสังเกตว่ายางหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุการใช้งานหรือไม่นั้นให้ดูที่สัญลักษณ์รูปหรืออักษร Twi ที่ไหล่ยาง
รอบ ๆ แก้มยาง ข้างละประมาณ 6 จุด ห่างกันประมาณ 60 องศาจากปลายมุมสามเหลี่ยม เมื่อลากเส้นผ่านหน้ายาง จากไหล่ยางด้านหนึ่งไปยังไหล่ยางอีกด้านหนึ่งภายในร่องยาง ตามแนวที่กล่าวมา จะมีเนื้อยางเป็นเส้นนูนขึ้นมา โดยเฉลี่ยจะมีความสูงจากความลึกของ ร่องยางปกติประมาณ 2 มิลลิเมตร ดังนั้นเมื่อยางถูกใช้งานไปนาน ๆ ควรเปลี่ยนยางใหม่ เนื่องจากถ้าใช้ต่อไปอาจเกิดปัญหาทางด้านประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนและการหยุดรถได้

การดูแลรักษา สามารถทำได้โดยหมั่นเช็กลมยางอยู่เสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงถนนหนทางที่ขรุขระ หลีกเลี่ยงการขับชนฟุตบาท นอกจากนี้ขณะออกรถไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ และออกตัวอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ยางสึกเร็วกว่าปกติและไม่ควรจอดรถชิดจนติดกับฟุตบาท เพราะอาจทำให้โครงยางชำรุด ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ายางมีแผล และเป็นแผลชำรุดที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่
เท่านี้ก็จะช่วยให้ทั้งคุณและรถปลอดภัย และเดินทางต่อไปได้อย่างมั่นใจเต็มร้อย

หมายเหตุ :
*มุมโท คือ แนวที่กำหนดให้ล้อคู่หน้าพุ่งตรงไปข้างหน้าจะต้องขนานกันตลอดเวลา ถ้าด้านหน้าแยกออกจากกัน เรียกว่า โทเอาต์ ถ้าหุบเข้าหากันเรียกว่า โทอิน

: **มุมแคมเบอร์หมายถึง มุมที่หน้ายางด้านล่างที่สัมผัสกับพื้นดิน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเส้นตั้งฉากกั้บเส้นสลักเพลาล้อหน้าถ้ามุมแคมเบอร์เป็นบวก ระยะห่างของหน้ายางตอนล่างที่สัมผัสกับผิวถนนจะสั้นกว่าระยะห่างของหน้ายางตอนบน หมายถึง หน้ายางตอนล่างหุบเข้าตอนบนถ่างออก ถ้ามุมแคมเบอร์เป็นลบ ผลของระยะห่างหน้ายางก็จะออกมาในทางตรงกันข้าม แคมเบอร์มีผลต่อการขับและการยึดเกาะถนน

ช่างฮอนด้าคาร์ส์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB [ hey.to/yimyam ] [ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02] [NETSCAPE 4.05] [OPERA 3.21]
1