แรกเริ่มของการกำเนิดรถยนต์เมื่อกว่า 100 ปีก่อน มนุษย์ก็เพียรค้นหาบทสรุปที่แท้จริง ของพื้นฐานการออกแบบและผลิตรถยนต์หลากหลายพัฒนาการแห่งเทคโนโลยี
จากรถยนต์ล้อเกวียนเปิดประทุนพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนมาถึงบทสรุปอันเป็นพื้นฐาน มาถึงปัจจุบันเมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่แล้ว โดยใช้โลหะผลิตตัวถังอันมั่นคง เพื่อรองรับ พัฒนาการของระบบขับเคลื่อนอันทรงประสิทธิภาพ
นับตั้งแต่นั้นมารถยนต์ก็มีการพัฒนาด้านการออกแบบตัวถังหลากหลายออกไป ไม่เพียงแต่ความสวยงาม ความทนทาน รวมถึงความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ เท่านั้น ยังเกี่ยวข้องมาถึงรูปแบบที่มีผลต่อคุณสมบัติและประโยชน์โดยการใช้สอย แยกประเภทออกไปตามลักษณะการใช้งานที่แท้จริงและตรงตามความต้องการ ของผู้บริโภค
รถยนต์ยุคใหม่มิได้มีขีดจำกัดแค่การรองรับผู้โดยสารและสัมภาระได้อย่างลงตัว ภายใต้ตัวถังทรงกล่องทื่อเท่านั้น
ซีดาน
เป็นรูปแบบของตัวถังรถยนต์กลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดรถยนต์ทั่วโลก เพราะมีความ อเนกประสงค์ ในการใช้งานมากกว่าตัวถังรูปแบบอื่น ตอบสนองได้ทั้งการบรรทุก ผู้โดยสาร และสัมภาระได้อย่างลงตัว
การออกแบบยึดหลักทรง 3 กล่อง และมีประตู 4 บาน โดยมีกล่องใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นส่วนของห้องโดยสาร และกล่องเล็กต่อหัวท้าย เป็นห้องเครื่องยนต์ และห้องเก็บสัมภาระ ตามลำดับ
สำหรับการออกแบบในปัจจุบัน ที่เน้นถึงความโค้งมนกลมกลืนในรูปลักษณ์ทุกมุมมอง การแยกแยะด้วยลักษณะของทรง 3 กล่อง อย่างชัดเจนอาจเป็นเรื่องยากสักนิด เพราะมักมีการออกแบบกระจกบานหน้าและหลังให้ลาดเทลงมาก ๆ จนทรง 3 กล่อง เกือบกลืนกลายเป็นกล่องยาวเพียงกล่องเดียว
ไม่ว่าจะมีความโค้งมนหรือความลาดเทเพียงใด รถยนต์แบบซีดานก็ยังมีพื้นฐาน การออกแบบอยู่บนทรง 3 กล่องและต้องมี 4 ประตูเท่านั้น
ความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์แบบซีดาน มีเหตุผลหลักมาจากความสะดวก ทั้งในการเข้าออก และบรรทุกผู้โดยสารด้วยประตู 4 บาน รวมถึงการบรรทุกสัมภาระ ในส่วนท้าย ที่กว้างขวางพอสมควร อีกทั้งรถยนต์ซีดานบางรุ่นในปัจจุบันยังออกแบบ ให้สามารพับเบาะหลังเปิดทะลุ เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้อย่างจุใจอีกด้วย รถยนต์แบบซีดานจึงสามารถใช้งานได้แบบครอบครัวหรือหนุ่มสาวครอบคลุมทุกรูปแบบ
แม้ภาพลักษณ์หรือสมรรถนะของรถยนต์แบบซีดานถูกจำกัดไว้ ไม่ให้หวือหวาเกินตัวนัก แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตได้พัฒนารถยนต์แบบซีดานให้สวยโฉบเฉี่ยวและเปี่ยมด้วย สมรรถนะ เพื่อรักษาและขยายตลาดกลุ่มนี้กันอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มของความนิยมในรถยนต์กลุ่มนี้ไม่น่าจะถดถอยลงด้วยความลงตัวในทุก ๆ ด้าน
สเตชั่นแวกอน
เป็นรูปแบบตัวถังที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความอเนกประสงค์ในการใช้งาน โดยเพิ่มประโยชน์ ใช้สอย ในการบรรทุกสัมภาระแต่คงพื้นที่บรรทุกผู้โดยสารของตัวถังแบบซีดานไว้
ตัวถังเป็นทรง 2 กล่อง โดยมีกล่องหลักหรือห้องโดยสารซึ่งรวมไว้กับพื้นที่บรรทุกสัมภาระ เป็นกล่องยาว และมีกล่องเล็กด้านหน้าเป็นห้องเครื่องยนต์
หากเปรียบเทียบกับตัวถังแบบซีดานแล้ว ตัวถังแบบสเตชั่นแวกอน ก็คือการเพิ่มพื้นที่ บรรทุกสัมภาระด้านบนของกล่องท้ายหรือส่วนบนของด้านท้ายขึ้นไปเป็นระนาบเดียวกับ แนวหลังคาของห้องโดยสารและห้องบรรทุกสัมภาระ ด้วยการเปิดโล่งทะลุถึงกัน พร้อมเพิ่มประตูบานที่ 5 ด้านท้ายเพื่อการขนย้ายสัมภาระอย่างสะดวก
การเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ (รวมถึงคนหรือสุนัข) ในส่วนท้าย มิได้มีเพียงพื้นที่ส่วนที่ สูงขึ้นไปเท่านั้น ยังสามารถพับเบาะหลังราบลงเพื่อเพิ่มความจุเป็นนับ 1,000 ลิตร ได้อย่างสะดวก
ในตลาดโลกผู้บริโภคมีความนิยมไม่ทิ้งห่างรถยนต์แบบซีดานมากแบบเมืองไทย เพราะต้องมีการบรรทุกสัมภาระมากหรือเป็นชิ้นใหญ่กันบ่อย รวมถึงการนำไปใช้ เพื่อสันทนาการด้านกีฬาหรือการพักผ่อน
ด้วยกระแสความนิยมที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์กว่าครึ่ง เลือกประยุกต์ การออกแบบรถยนต์แบบสเตชั่นแวกอน ไว้ให้เป็นพื้นฐานเดียวกับแบบซีดาน โดยใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ และการออกแบบของตัวถังส่วนหน้าร่วมกันแล้วค่อยแยกให้แตกต่าง ในตัวถังช่วงกลางถึงท้าย เพื่อความสะดวกและลดต้นทุนในการผลิต
ชื่อเรียกของรถยนต์แบบสเตชั่นแวกอนในหลายยี่ห้อมีความแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เป็น เอกลักษณ์ เช่น AUDI = AVANT, VOLVO = SPORTWAGON, HYUNDAI = SPORTY TOURING, BMW = TOURING, BENZ = T-MODEL และ VOLKSWAGEN = VARIANT แต่อีกหลายยี่ห้อก็เรียกตามพื้นฐานว่า STATIONWAGON, WAGON หรือ VAN
รถยนต์ในกลุ่มนี้โดดเด่นในความอเนกประสงค์ด้านการบรรทุกสัมภาระในพื้นที่ด้านท้าย ในขณะที่ยังให้ความลงตัวของรูปลักษณ์และความโฉบเฉี่ยวรวมถึงความคล่องตัวในการ ขับขี่ไม่ต่างจากแบบซีดานมากนัก
การตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์แบบสเตชั่นแวกอนสำหรับคนไทย ควรมองตามพื้นฐาน ที่แท้จริง ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเฉพาะแค่พื้นที่บรรทุกด้านที่ในช่วงที่เหนือขอบกระจกด้านล่าง ถึงหลังคาเท่านั้น เพราะถ้าซื้อไปแล้วไม่บรรทุกเต็มพื้นที่บ่อย ๆ ก็หมดความคุ้มค่า ที่ต้องแลกกับการขายต่อยาก และราคาขายต่อที่หล่นวูบ แต่หากจะซื้อเพราะความโก้เก๋ คงไม่เป็นไรถ้ากำลังทรัพย์พร้อม
สปอร์ต
เป็นกลุ่มตัวถังรถยนต์ที่เน้นถึงความหวือหวาในหลายด้านโดยเฉพาะในส่วนของรูปลักษณ์ ส่วนสมรรถนะของเครื่องยนต์และการขับนั้น จริง ๆ แล้วควรมีควบคู่กันกับความโฉบเฉี่ยว ของรูปลักษณ์ด้วย แต่ด้วยกลไกทางการตลาดในปัจจุบันได้ส่งผลให้มีทั้งรถสปอร์ตพันธุ์แท้ ทั้งสวยและแรงจัดจ้าน หรือสวยแต่เปลือกคละเคล้ากันไป
แรกเริ่มรถสปอร์ต ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับผู้บริโภคไฟแรงที่ต้องการสมรรถนะอันดุดัน ทั้งเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง ระบบเบรก และการบังคับควบคุม โดยมีการถ่ายทอด ความก้าวหน้า และพัฒนาการมาจากรถแข่งหรือวงการมอเตอร์สปอร์ตที่เหนือชั้น ในทางเทคโนโลยี
รถสปอร์ตในยุคก่อนส่วนใหญ่จึงทั้งสวย แพง และแรงควบคู่กันไป บนพื้นฐานรูปแบบตัวถัง ที่เน้นความปราดเปรียวและมีประตูน้อยบาน คือ 2 หรือ 3 ประตูเท่านั้น ส่วนจำนวนที่นั่ง อาจมี 2 หรือ 2+2 ที่นั่ง แตกต่างกันออกไปตามการออกแบบ แต่ที่นั่งส่วนหลังมักเป็น ที่นั่งสำรอง หรือเรียกกันกลาย ๆ ว่า DOG SEAT เท่านั้น
การออกแบบตัวถังของรถสปอร์ตมักเน้นความลู่ลมและความโฉบเฉี่ยวทางสายตา ความลาดเทจึงถูกผสานไว้ในทุกจุดของตัวถัง ไล่ตั้งแต่ชุดไฟหน้า กระจกหน้า-หลัง และฝากระโปรงท้าย ล้วนเต็มไปด้วยความกลมกลืน และเตี้ยแบนกว่าตัวถัง แบบซีดาน หรือแบบสเตชั่นแวกอนอยู่ไม่น้อย
ต่อมาเมื่อตลาดของรถสปอร์ตมีการขยายตัวมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับตัวตาม หันมาผลิตรถสปอร์ตในราคาและสมรรถนะต่ำลงเพื่อให้กลุ่มของผู้บริโภคกว้างขึ้น แต่ยังคงแนวคิดพื้นฐานดั้งเดิมไว้บ้าง
รถสปอร์ตในยุคใหม่จึงมีความหลากหลายทั้งขนาด ราคา และสมรรถนะ มีทั้งพันธุ์แท้ และพันธุ์ทาง สารพัดรุ่น
หากสนใจอย่าลืมมองถึงพื้นฐานแท้จริงไว้บ้างและเมื่อต้องซื้อรถสปอร์ตที่สวยแค่รูปลักษณ์ แต่ไร้ความแรงอันจัดจ้านซึ่งมีอยู่ในตลาดไม่น้อย ก็ต้องทำใจไว้บ้าง เมื่อประกบกับซีดาน สมรรถนะสูง แล้วถูกแซงแบบทิ้งห่าง
มินิแวน
เป็นรูปแบบตัวถังทรงกล่องเดียวที่มีพัฒนาการของรถตู้เพื่อการพาณิชย์ ผสานกับ ความสะดวก และความคล่องตัวของรถยนต์นั่งได้อย่างกลมกลืน โดยเน้นประโยชน์ใช้สอย ด้านการบรรทุก ผู้โดยสาร แต่สามารถพับปรับเปลี่ยนรูปแบบของเบาะเพื่อใช้บรรทุก สัมภาระ อย่างจุใจ
การออกแบบรูปลักษณ์ของมินิแวน มีการผสานความโค้งมนกลมกลืนในทุกมุมมอง ตามความทันสมัยในยุคใหม่เพื่อสลัดคราบการเป็นรถตู้เชิงพาณิชย์ให้หมดไป เน้นถึงการเลือกใช้และความปราณีตของทุกวัสดุภายในห้องโดยสารให้หรูหรา โดยมักจะจัดเป็น 5-7 ที่นั่ง ใน 2-3 แถว และพยายามออกแบบระบบบังคับควบคุม และผสานสมรรถนะที่ดีไว้เพื่อให้สามารถขับได้อย่างคล่องแคล่ว หรือขยับมานั่งด้านหลัง แล้วมีความสะดวกสบายอย่างเต็มเปี่ยม
ในตลาดโลกมีความนิยมมินิแวนนี้พอสมควร ในเมืองไทยก็มีเข้ามาทำตลาด อยู่หลายรุ่น ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา
การตัดสินใจควรมองถึงความบ่อยในการใช้งานเต็มหรือเกือบเต็มรูปแบบ มิใช่ใช้งานนั่ง แค่ 2-4 คนอยู่เกือบตลอดทั้งปี อย่างนี้แค่ซีดานก็เหลือเฟือ ไม่คุ้มกับราคาที่แพงระยับ ความอุ้ยอ้ายในการขับขี่ และราคาขายต่อที่หล่นวูบ
มินิแวนจะเป็นยานยนต์อเนกประสงค์ได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ เท่านั้น
ซิตี้คาร์
ต้องทำความเข้าใจถึงพื้นฐานของซิตี้คาร์ที่แท้จริงกันก่อนและไม่ควรสับสนกับความเข้าใจ ผิดของคำว่าซิตี้คาร์ในแบบไทย ๆ ที่ใช้กันผิดๆ
ซิตี้คาร์ คือ รถยนต์ขนาดกะทัดรัด ที่สามารถนำมาใช้งานในเมืองซึ่งแออัดได้อย่าง คล่องตัว และมักเป็นตัวถังแบบท้ายตัด 3 หรือ 5 ประตู โดยซิตี้คาร์ของญี่ปุ่น จะเป็นคันเล็กจิ๋ว ด้วยความแออัดของเมือง และมีขอบเขตการออกแบบผลิตตัวถัง ขององค์กรด้านอุตสาหกรรม ให้มีขนาดตัวถัง กว้างไม่เกิน 1.40 เมตร เครื่องยนต์ความจุ ไม่เกิน 660 ซีซี ตามตัวอย่างที่เห็น เพียงรุ่นเดียวในตลาดรถยนต์เมืองไทยในช่วงนี้คือ ไดฮัทสุมิร่า (ในไทยเครื่องยนต์ 850 ซีซี)
ส่วนซิตี้คาร์ยุโรป ซึ่งไม่มีองค์กรณ์ใดมาควบคุมการออกแบบ และร่างกายของชาวยุโรป ที่สูงใหญ่ จึงส่งผลให้มีขนาดตัวถังใหญ่กว่าซิตี้คาร์ญี่ปุ่น จนขยับมาใกล้เคียงกับรถยนต์ ขนาดกลาง ทั่วไป เพียงแต่เป็นทรงท้ายตัดในแบบ 3 หรือ 5 ประตู เพื่อความคล่องตัว ในการขับ เท่านั้น ในส่วนของเครื่องยนต์มักใช้ความจุประมาณ 1,000-1,600 ซีซี มิได้เล็กจิ๋ว 660 ซีซี แบบซิตี้คาร์ญี่ปุ่นแต่อย่างไร ตัวอย่างในเมืองไทย เช่น โอเปิลคอร์ซา เฟียต พุนโต ฯลฯ
อย่าสับสนกับ โตโยต้า โซลูนา, ฮอนด้า ซิตี้ หรือฮุนได แอคเซนท์ ว่าเป็นซิตี้คาร์ เพราะนั่นเป็น คอมแพกต์คาร์ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง
หลากรูปแบบตัวถังรถยนต์ ถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภคหลายกลุ่ม จึงควรเลือกให้ลงตัวกับลักษณะการใช้งานที่แท้จริง เพื่อความคุ้มค่าสูงสุด
วรพล สิงห์เขียวพงษ์
main |