อย่างอื่นที่ควรรู้ นอกจากการเหยียบคันเร่ง และเบรค
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 7-8 พฤศจิกายน 2541 ]

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรถยนต์ออฟโรด


รถยนต์ออฟโรดในปัจจุบัน ไม่ได้มีการใช้งานเฉพาะเส้นทางออฟโรดตามชื่อกัน มากนัก ล้วนมีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้งานอย่างอเนกประสงค์ บนทางเรียบสายยาวด้วยความเร็วสูง และการติดขัดบนสภาพการจราจรอันหฤโหด กลับกลายเป็นการใช้งานหลักของรถยนต์ออฟโรดในยุคไฮเทคไปแล้ว

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการเดินทางเป็นสิ่งจำเป็น และควรให้ความสนใจ เพราะความแตกต่างของรถยนต์ออฟโรดกับรถยนต์นั่ง ในเหตุการณ์ หรือบางกรณี อาจสร้างปัญหาได้แตกต่างกันมากเช่นเดียวกัน

ยางแตก
แม้ยางรถยนต์ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาการที่ดี ทั้งประสิทธิภาพในการเกาะถนน และความทนทานต่อการใช้งานในทุกสภาพ รวมถึงการใช้การเก็บลมแบบไม่ใช้ยางใน -TUBLESS จะมีผลทำให้ยางระเบิดหรือแตกได้ยากก็ตาม   แต่รถยนต์แบบออฟโรด ที่มักใช้ยางแก้มสูงมาก ๆ เพื่อเน้นการลุย ถ้ามีการระเบิดที่ยางเส้นใดเส้นหนึ่ง ตัวรถยนต์ในมุมนั้นก็จะยุบยวบลงไปมากกว่ารถยนต์นั่งที่ใช้ยางแแก้มเตี้ยกว่า เมื่อยางระเบิดต้องใช้สติและความมั่นคงในจิตใจ เพราะการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก

เมื่อยางระเบิดหรือแตกอย่างกะทันหันไม่ว่าจะอยู่ในช่วงความเร็วใด ต้องจับพวงมาลัย ให้มั่นคง พยายามรั้งไว้ แต่อย่ากระชากเด็ดขาด ถอนคันเร่ง อย่าตกใจกดเบรก อย่างกะทันหัน เพราะอาจเกิดการหมุนปัดเป๋เสียการทรงตัวได้ การลดความเร็ว สามารถใช้เบรกได้เพียงเบา ๆ และต้องเหยียบสลับกับการปล่อย เพื่อไม่ให้น้ำหนักถ่ายลงด้านหน้ามากเกินไป ถ้ายางที่แตกไม่ใช่ล้อขับเคลื่อน ก็สามารถใช้เกียร์ช่วยในการลดความเร็วได้ เมื่อความเร็วต่ำลงแล้ว

เบรกแตก
รถยนต์ทุกรุ่นในปัจจุบันใช้น้ำมันเบรกเป็นตัวถ่ายทอดแรงดันระหว่างการกดของเท้า ไปยังผ้าเบรก เสมือนเป็นระบบไฮดรอลิกชนิดหนึ่ง ดังนั้น จึงอาจมีการรั่วซึมจาก ลูกยาง ตัวใดตัวหนึ่ง หรือท่อน้ำมันเบรกรั่ว การถ่ายทอดแรงดันก็จะสูญเสียลงไป แต่ระบบเบรกของรถยนต์ในปัจจุบันมักแบ่งการทำงานเป็น 2 วงจร อาจเป็นแบบล้อคู่หน้า และล้อคู่หลัง หรือเป็นแบบไขว้ ล้อหน้าซ้าย-ล้อหลังขาว และ ล้อหน้าขวา-ล้อหลังซ้าย เผื่อสำหรับการชำรุดของวงจรใดวงจรหนึ่ง เพื่อให้ระบบเบรกยังมีประสิทธิภาพการ ทำงาน หลงเหลืออยู่บ้าง

ดังนั้นเมื่อเบรกแตก หรือน้ำมันเบรกเกิดการั่ว ส่วนใหญ่มักหลงเหลือประสิทธิภาพ การทำงานอยู่หลาย 10 เปอร์เซ็นต์ ตั้งสติให้มั่นคงเมื่อเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้ว ลึกต่ำกว่าปกติ ต้องเหยียบซ้ำแรง ๆ และถี่ ๆ เพื่อใช้แรงดันในวงจรที่เหลืออยู่ ผ้าเบรกจะได้สร้างแรงเสียดทานขึ้นมาบ้าง พร้อมกับการลดเกียร์ต่ำครั้งละ 1 เกียร์ จนกว่าจะถึงเกียร์ต่ำสุด แล้วค่อยใช้เบรกมือช่วย โดยการกดปุ่มล็อกค้างไว้ให้สุด เพื่อไม่ให้เบรกจนล้อล็อก ดึงขึ้นแล้วปล่อยสลับกันไป เพื่อลดความเร็ว ถ้าระบบเบรกชำรุดทุกวงจร ต้องใช้การลดเกียร์ต่ำช่วยเป็นหลัก แล้วค่อยดึงเบรกมือช่วย เมื่อไล่ลงถึงเกียร์ต่ำที่สุดแล้ว

สายคลัตช์ขาด หรือปั๊มคลัตช์รั่ว
รถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์ธรรมดา ต้องมีระบบคลัตช์เข้ามาตัดต่อกำลังของเครื่องยนต์ ออกจากระบบขับเคลื่อนเมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์ทุกครั้ง ถ้าสายคลัตช์ขาด หรือปั๊มคลัตช์รั่ว ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์จะแล่นไม่ได้เลย ยังสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นำรถยนต์ออกจากพื้นที่เป็นระยะสั้น ๆ โดยไม่ต้องเข็นหรือลากกันได้ไม่ยาก และถ้าเส้นทางว่างก็สามารถนำรถยนต์เคลื่อนที่ออกมาได้หลายกิโลเมตร

วิธีปฏิบัติ คือ ตรวจสอบว่าเส้นทางข้างหน้าต้องว่างไม่น้อยกว่า 10-20 เมตร ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ปิดสวิตช์กุญแจ เข้าเกียร์ 1 ไว้ กดคันเร่งประมาณ 1-2 เซนติเมตร บิดกุญแจสตาร์ตเครื่องยนต์ ตัว รถยนต์จะกระตุกเป็นจังหวะตามการหมุน ของเครื่องยนต์และไดสตาร์ต เคลื่อนที่กระตุกไปทีละนิด จนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงาน ก็กดคันเร่งลงไปมากขึ้น เพื่อเร่งความเร็ว เกียร์จะไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่สามารถใช้ความเร็วได้เกือบเต็มที่ของความเร็วสูงสุดของเกียร์ 1 คือประมาณ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเส้นทางข้างหน้าว่างก็สามารถขับไปได้เรื่อย เมื่อต้องเบรกก็กดแป้นเบรกลงไปเท่านั้น ปล่อยให้เครื่องยนต์ดับ แล้วค่อยเริ่มกับ การออกตัวครั้งใหม่ วิธีนี้สามารถใช้แก้ไขสถานการณ์ทั้งในต่างจังหวัด เส้นทางทุรกันดาร รวมทั้งบนการจราจรในเมืองใหญ่ที่พอมีเส้นทางด้านหน้าว่างเป็นระยะพอสมควร ไม่จำเป็นต้องเข็นหรือลาก เมื่อสายคลัตช์ขาดหรือปั๊มคลัชต์รั่ว

เครื่องยนต์ร้อนจัด น้ำหม้อน้ำแห้ง
ถ้าไม่ได้เกิดจากการรั่วซึมผิดปกติ แต่เกิดจากการหลงลืมเติมน้ำหม้อน้ำ ก็สามารถเติมน้ำเข้าไปให้เต็มได้ เพราะถ้าเป็นการรั่วผิดปกติเติมลงไปก็รั่วออกมาอีก การเติมต้องมีเทคนิคและใจเย็นพอสมควร จอดรถยนต์หลบในที่ปลอดภัย ดับเครื่องยนต์ รอให้เครื่องยนต์เย็นลงบ้าง หาผ้าหนา ๆ และผืนกว้างพอสมควรคลุมฝาหม้อน้ำให้มิด แล้วบิดออกเล็กน้อยก่อนเพื่อให้แรงดันภายในคลายตัวออกมาบ้าง เมื่อแรงดันคลายตัวออกมามากในช่วงระยะเวลาประมาณ 2-3 นาที ค่อย ๆ บิด เปิดฝาหม้อน้ำต่อ ระวังไอหรือน้ำร้อนพุ่งออกมา ต้องคลุมผ้าผืนหนาไว้ให้มิดชิดมาก ๆ อย่ารีบเติมน้ำลงไปในทันที ต้องรอให้เครื่องยนต์คลายความร้อนประมาณ 20-30 นาที การเติมน้ำต้องเติมครั้งละนิด ไม่เกิน 0.5 ลิตร แล้วทิ้งช่วงสัก 1-2 นาที เพื่อให้น้ำที่เติม ดึงความร้อนกระจายให้ทั่วเพราะโลหะที่ร้อนจัด เมื่อถูกน้ำเย็นในทันที จะหดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนร้าว หรือเสียหายได้

วรพล สิงห์เขียวพงษ์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB [ hey.to/yimyam ] [ pantip.com/ELIB ]

Best view with[IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1