โช้กอัพ
เป็นอุปกรณ์หนึ่งของระบบช่วงล่างในรถยนต์ส่วนใหญ่ ยกเว้นบางรุ่น ที่ใช้ระบบช่วงล่างไฮดรอลิกอย่างซีตรองใช้งานง่ายแทบไม่ต้องดูแล อายุการใช้งาน นับแสนกิโลเมตร และมีทางเลือกหลากหลาย
โช้กอัพถูกติดตั้งควบคู่กับอุปกรณ์ที่ต้องรับน้ำหนักและสร้างความยืดหยุ่น คือ สปริง แหนบ หรือทอร์ชั่นบาร์-คานบิด โดยโช้กอัพจะทำหน้าที่ควบคุมการยืดหยุ่น ไม่ให้มีต่อเนื่อง นานเกินไปและช่วยสร้างประสิทธิภาพการทรงตัวรถยนต์ต้องมีความยืดหยุ่นในการยุบ และคืนตัว เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางโดยเป็นหน้าที่ของสปริง แหนบ หรือทอร์ชั่นบาร์-คานบิด ซึ่งมีความแตกต่างในความแข็งในการยืดหยุ่นออกไปตาม ความเหมาะสมในการใช้งาน หากความยืดหยุ่นไม่ถูกควบคุมให้ชะลอลง จะทำให้ รถยนต์มีแค่ความยืดหยุ่นแต่การทรงตัวแย่มาก เพราะจะกระเด้งขึ้น ลง และโคลงไปมาตลอด นึกถึงตุ๊กตาที่ติดบนยอดสปริงเมื่อถูกกดให้ยุบตัวลงเพียงครั้งเดียวก็จะกระเด้งต่อเนื่องกัน นับ 10 ครั้ง แล้วจะทราบว่า ถ้ารถยนต์มีแค่สปริง แหนบ หรือคอร์ชั่นบาร์ แต่ไม่มีการหน่วง ด้วยโช้กอัพ แล้วจะยวบยาบมากแค่ไหนและในลักษณะใด
โช้กอัพมีหน้าที่หลัก คือ ควบคุมความยืดหยุ่นให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยจะมีความแตกต่างกันในความหนืด หรือความแข็ง ตามลักษณะของรถยนต์ และการใช้งาน เช่น รถยนต์ธรรมดาใช้งานแบบครอบครัวโช้กอัพที่ถูกเลือกใช้ก็อ่อนหน่อย เพื่อความนุ่มนวล โดยยอมให้มีการโคลงบ้างในช่วงความเร็วสูง ๆ ส่วนรถยนต์สมรรถนะสูง โช้กอัพก็หนืดหรือแข็งหน่อย เพื่อการทรงตัวที่ดีในช่วงความเร็วสูงโดยยอมให้มีการ กระด้างบ้างในช่วงความเร็วต่ำถึงปานกลางได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง โช้กอัพทุกยี่ห้อมีหลายระดับความแข็งไม่ใช้มีแข็งกับอ่อนเพียง 2 ระดับ จึงจำเป็นต้องเลือกกันให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน
อายุการใช้งาน
แม้มีมาตรฐานของอายุการใช้งานโดยประมาณ แต่ในการใช้งานจริง จะแปรผันมากน้อย ตามคุณภาพของโช้กอัพ ลักษณะการขับและสภาพถนน เช่น ถ้าถนนแย่ ขรุขระมาก ก็หมดสภาพเร็วหน่อย โดยเฉลี่ยอายุการใช้งานของโช้กอัพอยูที่ประมาณ 50,000-100,000 กิโลเมตร ประสิทธิภาพของโช้กอัพจะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุการใช้งานที่ผ่านไป ส่วนจะลดลงเร็วหรือน้อย ก็แตกต่างกันออกไป แต่ลดลงเรื่อย ๆ แน่นอน การเสื่อมสภาพของโช้กอัพไม่ได้มีเมื่อโช้กอัพแตกหรือรั่วเท่านั้น แม้ไม่มีการรั่วซึม โช้กอัพก็หมดสภาพลงได้ นอกจากการตรวจสอบการรั่วซึมของโช้กอัพด้วยสายตา ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีสภาพนั้น ก็ต้องเปลี่ยนแน่ ยังต้องตรวจสอบจากวิธีอื่น เช่น จอดรถยนต์นิ่งใช้น้ำหนักร่างกายกดขย่มลงเหนือตัวถังใกล้ ๆ กับล้อของโช้กอัพ ที่ต้องการตรวจสอบ (ระวังตัวถังบุบด้วย)
เมื่อขย่มลงไปสัก 5 ครั้ง แล้วปล่อยตัวออกมา ถ้าโช้กอัพยังดี ตัวรถยนต์ต้องขยับขึ้นลงอีก 1-3 ครั้ง แสดงว่าโช้กอัพยังควบคุมการยืดหยุ่นไว้ได้ แต่ถ้าตัวรถยนต์ยังขยับขึ้นลงมากกว่า 3 ครั้ง แสดงว่าโช้กอัพหมดความหนืดไม่สามารถควบคุมการยืดหยุ่นไว้ได้
หากกดแทบไม่ลง หรือเมื่อปล่อยตัวออกมา แล้วตัวรถยนต์หยุดนิ่งในเกือบจะทันทีหรือทันที แสดงว่าโช้กอัพตาย ไม่สามารถยืดยุบตัวได้ตามปกติในการทดสอบขณะรถยนต์จอดนิ่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทดสอบเท่านั้น ต้องประกอบกับการขับเคลื่อนจริงด้วย โดยให้พยายามจับอาการในการขับด้วยว่ามีอาการกระด้างมากขึ้น หรือยวบยาบมากขึ้นไหม แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะอาจมีการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง และการเสื่อมสภาพของโช้กอัพมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงเกิดความคุ้นเคย จนจับอาการผิดปกติได้ยาก
หากไม่แน่ใจว่าโช้กอัพหมดอายุหรือยังเมื่อใช้งานเกิน 80,000-100,000 กิโลเมตร (โดยทั่วไป 50,000 กิโลเมตรก็เสื่อมสภาพลงมากแล้ว) หรือ 5 ปี ตัดสินใจเปลี่ยนโช้กอัพไปเลย ก็ไม่ถือว่าสิ้นเปลืองมากนัก
เลือกเปลี่ยนแข็ง-อ่อน
เมื่อโช้กอัพหมดอายุ ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า พึงพอใจกับประสิทธิภาพของโช้กอัพ ชุดเดิมไหม นิ่มหรือแข็งไปไหม ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มักเลือกใช้โช้กอัพที่ไม่แข็งมากเป็นมาตรฐาน เพราะต้องการให้การใช้งานส่วนใหญ่ในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง มีความนุ่มนวลสร้างความประทับใจได้ดี ส่วนใหญ่ในช่วงความเร็วสูง ที่ถูกใช้ไม่บ่อย และมีผู้ใช้เท้าหนักไม่มากนัก ถือเป็นเรื่องรองลงไป มักไม่ค่อยมีกรณีที่ผู้ใช้ ไม่พึงพอใจ โช้กอัพชุดเดิมว่าแข็งเกินไป เพราะผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มักเลือกใช้โช้กอัพโดยเน้น ความนุ่มนวลเป็นหลัก มักจะต้องการโช้กอัพที่แข็งขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง
อยากเปลี่ยนโช้กอัพเทียบเท่ามาตรฐานเดิม
มีหลายทางเลือก
1. โช้กอัพใหม่ตามมาตรฐานจากศูนย์บริการแท้ ๆ มีจุดเด่น คือ ได้โช้กอัพแท้ ๆ ตามมาตรฐานเดิม แบบไม่ต้องลุ้น แต่แพงหน่อยและไม่สามารถเลือกโช้กอัพที่มีความแข็ง ต่างจากเดิม
2. โช้กอัพใหม่ หาซื้อตามร้านอะไหล่ โดยเทียบใช้ในประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือเท่าเดิม ในยี่ห้อที่แตกต่างและราคาถูกกว่า ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มักไม่ผลิตโช้กอัพเอง เพราะยุ่งยากสิ้นเปลืองในการลงทุน โดยจะสั่งจากผู้ผลิตรายย่อย (ซัปพลายเออร์) ให้ผลิตตามกำหนดหรือมาตราฐาน แล้วนำมาใช้ในการประกอบรถยนต์หรือจำหน่าย ในศูนย์บริการ โดยผู้ผลิตรายย่อยหลายรายก็มักจะผลิตโช้กอัพในมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน กับที่ส่งให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกจำหน่ายเองด้วยจึงเป็นโอกาสที่ผู้ใช้จะเลือกซื้อนอกศูนย์ บริการได้เริ่มจากการหายี่ห้อของโช้กอัพ ซึ่งมักจะถูกปั๊มไว้บนตัวโช้กอัพเดิม อาจใช้วิธีบอกรุ่นของรถยนต์ หรือยกโช้กอัพเดิมไปเทียบ จะมีราคาถูกกว่าในคุณภาพ ใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะมีให้เลือกตรงรุ่นเดิมเป๊ะเสมอไป และขาดความสะดวกกว่า การเข้าศูนย์บริการ
นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายย่อย ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ได้ผลิตส่งโรงงาน ประกอบรถยนต์ แต่ผลิตโช้กอัพในคุณภาพหลากหลายออกมาให้เลือกใช้กัน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ต้องการความแข็ง-อ่อนของโช้กอัพต่างจากมาตรฐานเดิม
3. โช้กอัพเก่า สภาพดีจากเชียงกงทางเลือกนี้มีโอกาสมากเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่น เพราะใน
ไทยมีเชียงกงตลาดอะไหล่ของรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นหลัก ราคาไม่แพง แม้อายุการใช้งาน มิได้เหลือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่เกิน 50-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะสภาพถนน ในญี่ปุ่นราบเรียบกว่าไทยมาก การเลือกเน้นได้แค่ดูแกนโช้กอัพต้องเงา ไม่เป็นรอยขูดขีด น้ำมันต้องไม่เยิ้มออกมา ( ระวังโช้กอัพที่ถูกล้างมาก่อน) และยางเบ้าโช้กอัพด้านบน ต้องไม่ขาดหรือไม่โทรมมาก
อีกจุดที่โช้กอัพเชียงกงสร้างความคุ้มค่าได้มาก สำหรับช่วงล่างแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ที่นิยมใช้กัน (โช้กอัพถูกร้อยด้วยสปริงรวมเป็นชุดเดียวกัน) คือ มีสปริงและยางเบ้าโช้กอัพ ด้านบนมาพร้อมกับโช้กอัพสปริงเมดอินเจแปนมักมีประสิทธิภาพสูงกว่า และยางเบ้า โช้กอัพของใหม่ ก็มีราคาหลายร้อยจนถึงพันกว่าบาท ถ้าซื้อโช้กอัพใหม่เอี่ยม ก็ต้องใช้สปริงเดิมและถ้ายางเบ้าโช้กอัพด้านบนเสียก็ต้องเสียเงินกันอีก
อยากเปลี่ยนโช้กอัพแข็งขึ้น
ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนโช้กอัพให้อ่อนลงจากมาตรฐานเดิม เพราะผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ มักเลือกใช้ ช้กอัพที่ไม่แข็งนัก เพื่อสร้างความนุ่มนวลให้เกิดความประทับใจหากแน่ใจแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนโช้กอัพแข็งขึ้นก็ต้องมองข้ามโช้กอัพแบบมาตรฐานเดิมจากศูนย์บริการไป แล้วอย่าลืมว่า ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างเป็นธรรมดา จะให้นุ่มนวลมาก ๆ แล้วทรงตัวในช่วงความเร็วสูงดี ๆ คงหาได้ยาก
ในการเลือกต้องรอบคอบว่าอยากได้โช้กอัพที่แข็งมากขึ้นเท่าไร อยากให้ทรงตัวดีในช่วง ความเร็วสูงมาก ๆ โช้กอัพก็ต้องยอมรับความกระด้างไว้ด้วย หากเลือกโช้กอัพแล้ว แข็งหรืออ่อนไปจากความต้องการจริง คงไม่คุ้มค่า จึงต้องสอบถาม พร้อมหาข้อมูล และเลือกอย่างรอบคอบว่าโช้กอัพที่จะเลือกนั้นแข็งขึ้นแค่ไหนตรงความต้องการไหม ความเสี่ยงที่เลือกซื้อโช้กอัพมาแล้ว มีความแข็งอ่อนไม่ตรงตามต้องการมีไม่น้อย การลดความเสี่ยงทำได้โดยเลือกโช้กอัพที่สามารถปรับระดับความแข็งอ่อนได้ ส่วนจะปรับได้ด้วยวิธีไหนและแค่ไหน ก็ยังดีกว่าปรับไม่ได้เลย
ทางเลือกโช้กอัพแข็งขึ้น
ใหม่ และเก่ารถยนต์ญี่ปุ่น มี 2 ทางเลือก แต่รถยนต์ยุโรปมักต้องเลือกโช้กอัพใหม่ เพราะในไทย มีเชียงกง-ตลาดอะไหล่เก่าของรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยผู้ใช้รถยนต์ญี่ปุ่น สามารถเลือกโช้กอัพเก่าสภาพดี ๆ แบบแข็งขึ้นได้ จากรถยนต์ตัวถัง ที่มีรุ่นสมรรถนะ สูงกว่าจำหน่ายในญี่ปุ่น เช่น มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ในไทยมีแค่รุ่น 1.8 สูงสุด แต่ในญี่ปุ่น มีถึงรุ่น 1.8 เทอร์โบ และ 2.0 เทอร์โบ เมื่อเครื่องยนต์มีพลังแรงกว่า ก็ย่อมต้องใช้โช้กอัพและสปริง ที่แข็งขึ้นหรือแลนเซอร์รุ่น 2-3 ประตูสปอร์ตก็ย่อมต้องใช้โช้กอัพและสปริงที่แข็งขึ้น กว่ารุ่นซีดานพื้น ๆ เป็นธรรมดา
หากเข้าเชียงกง ควรยกโช้กอัพพร้อมสปริงชุดเดิมไปเทียบขนาด โดยต้องแน่ใจว่า โช้กอัพชุดที่จะซื้อแข็งกว่า ด้วยการระบุรุ่นจากการเขียนของคนที่ถอดมา หรือดูจาก ขนาดของข้อสปริงที่ใหญ่กว่าพร้อมตัวโช้กอัพหรือแกนที่อ้วนกว่าโดยทั่วไปแล้ว โช้กอัพเหล่านั้นจะไม่แข็งขึ้นมาก เพราะก็ยังเป็นของรถยนต์ในสายการผลิตที่เน้น ความนุ่มนวลอยู่ แต่ถ้าเลือกพลาดก็ไม่น่าจะอ่อนกว่าเดิม การเลือกโช้กอัพที่แข็งขึ้นจาก เชียงกง มีข้อจำกัดคือ ไม่ได้มีให้เลือกสำหรับรถยนต์ทุกรุ่นและมักจะแข็งขึ้นกว่าเดิมไม่มาก ถ้าต้องการโช้กอัพที่แข็งขึ้นมาก ๆ ควรหันไปซื้อของใหม่
เลือกยี่ห้อไหนดี
อย่ารีบสรุปด้วยยี่ห้อ เพราะโช้กอัพก็เหมือนผลิตภัณฑ์อื่น เช่น รถยนต์ ที่ยี่ห้อหนึ่งมีหลาย
รุ่น ต่างกันไป ทั้งระดับราคาและประสิทธิภาพไม่สามารถสรุปได้ว่ารถยนต์โตโยต้า ด้อยกว่าเบนซ์
เสมอเพราะสปอร์ตพันธุ์แรงซูปรา ย่อมเหนือกว่าสปอร์ตรุ่นกระเตาะเอสแอลเค ทั้งในด้าน
สมรรถนะและราคา เช่นเดียวกัน ในโช้กอัพแต่ละยี่ห้อ ก็มีรุ่นให้เลือกหลากหลาย จึงจำเป็นต้อง
เลือกให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานและงบประมาณ จะสรุปว่าโช้กอัพยี่ห้อโคนีจะเหนือกว่า
คายาบาเสมอไปไม่ได้ ต้องดูที่รายละเอียด รุ่นและราคาอย่างรอบคอบด้วย
ราคา
โช้กอัพเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ราคาแพงแล้วมักจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า โดยการที่ ประสิทธิภาพสูงกว่า มักจะเกี่ยวข้องกับความแข็งของโช้กอัพที่มากขึ้น ถ้าไม่อยากได้โช้กอัพแข็งขึ้น ก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้องว่ าต้องซื้อราคาแพงมาก ๆ ในเรื่องความทนทานกับราคา มีความเกี่ยวข้องกันไม่มากนัก โช้กอัพราคาแพง ไม่จำเป็นต้องทนทานกว่าเสมอไป โดยต้องเน้นว่าราคาของโช้กอัพที่จะซื้อต้องเป็น ราคามาตรฐาน ไม่ใช่เป็นการปั่นราคา
แก๊สและน้ำมัน
คล้ายกับกรณีของยี่ห้อ ที่ต้องมีความหลากหลายในแต่ละประเภทแยกออกไปอีก ไม่สามารถสรุปได้กว้าง ๆ ว่า โช้กอัพแก๊สต้องเหนือชั้นในประสิทธิภาพกว่าโช้กอัพน้ำมัน เสมอไปเพราะโช้กอัพแต่ละประเภทก็มีหลายระดับประสิทธิภาพและหลายรุ่น โช้กอัพแก๊สระดับต่ำ ๆ ย่อมแย่กว่าโช้กอัพน้ำมันระดับสูง ๆ โช้กอัพแก๊สนิ่ม ๆ ก็มีเกลื่อน
โช้กอัพแก๊ส มีความโดดเด่นในด้านการคงประสิทธิภาพ เมื่อถูกใช้งานต่อเนื่องนาน ๆ หรือหนัก ๆ จนร้อน ส่วนโช้กอัพน้ำมันมักจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อร้อนจัด ๆ ซึ่งในการใช้งานปกติไม่ค่อยได้ใช้งานหนัก ๆ ผลต่างจึงมีไม่มากนัก จริงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกันแบบใช้งานเต็มประสิทธิภาพและต่อเนื่องสุด ๆ โช้กอัพแก๊สจะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าโช้กอัพน้ำมัน แต่ต้องเปรียบเทียบกันเป็นมวยถูกคู่ ทั้งระดับและรุ่น สำหรับการใช้งานทั่วไปโช้กอัพแก๊สดี ๆ ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสเลือกโช้กอัพแก๊สดี ๆ ในราคาเหมาะสม ก็ไม่น่ามองข้าม
โช้กอัพญี่ปุ่นและยุโรป
เช่นเดียวกับกรณีของยี่ห้อ ที่ต้องมีทางเลือกหลากหลายในหลายระดับคุณภาพและราคา ไม่สามารถสรุปว่าโช้กอัพญี่ปุ่นต้องด้อยกว่าโช้กอัพยุโรปเสมอไป เพราะยังมีรายละเอียดมากขึ้น
จะหมดสภาพพร้อมกัน 4 ล้อไหม
โช้กอัพที่ถูกใช้งานพร้อมกัน มักจะเสื่อมสภาพใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่น่าพร้อมกันเป๊ะ แม้โช้กอัพ จะไม่เสื่อมพร้อมกันพอดีเป๊ะ แต่ประสิทธิภาพที่เหลืออยู่ก็ไม่ต่างกันมาก จึงควรเปลี่ยนพร้อม ๆ กันอย่างน้อย 1 คู่ หรือถ้าจะให้ดีควรเปลี่ยนบางตัว ไม่นานก็ต้องไล่เปลี่ยนกันอีก
โช้กอัพรถแข่ง
แม้มีประสิทธิภาพสูง แต่อาจไม่เหมาะกับการใช้งานปกติ เพราะมักเน้นกับการทรงตัวที่ดีด้วยโช้กอัพแข็งมาก ๆ รถแข่งไม่ต้องการความนุ่มนวล เมื่อนำโช้กอัพมาใช้งานปกติจึงมีความกระด้างมากและมีราคาแพงมาก
โช้กอัพปรับด้วยไฟฟ้า
ในรถยนต์บางรุ่น เช่น นิสสัน เซฟิโร่ ขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้โช้กอัพแบบปรับความแข็งอ่อน ด้วยไฟฟ้าในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีด้วยการปรับขนาดของวาล์วที่น้ำมันหรือก๊าซในโช้กอัพ จะไหลผ่านด้วยระบบไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นการควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติหลังการตรวจ สภาพถนนด้วยระบบโซนาร์หรือตามความเร็ว ด้วยระบบโซนาร์ หรือปรับจากผู้ขับ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า
โช้กอัพประเภทนี้ ช่วยให้การขับสมบูรณ์ขึ้นได้ก็จริง แต่มีต้นทุนสูง และไม่ค่อยจำเป็นนัก จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ผลิตรถยนต์แต่ก็ยังมีบ้างประปรายเมื่อโช้กอัพประเภทนี้เสีย มี 2 ทางเลือกหลัก คือ เปลี่ยนตามมาตรฐานเดิม (เก่า-ใหม่) และเปลี่ยนเป็นโช้กอัพแบบธรรมดา ซึ่งราคาถูกกว่า
อาจไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องใช้โช้กอัพไฟฟ้าแบบเดิม เพราะเมื่อปรับตัวจนแข็งขึ้น ก็อาจจะยังไม่แข็งพอหรือแข็งเกิน ความชอบโช้กอัพแบบธรรมดา อาจจะรองรับ ความต้องการได้ดีในราคาถูกกว่า เพราะในการใช้งานทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้โช้กอัพ แบบปรับได้ด้วยไฟฟ้าเสมอ ไป ถ้าระบบนี้จำเป็นจริง ๆ คงมีรถยนต์ที่ใช้โช้กอัพไฟฟ้า แล่นกันเกลื่อนถนนแล้วดีก็จริงแต่แพงและยุ่งยาก
โหลด เปลี่ยน-ตัดสปริงเตี้ย ต้องเปลี่ยนโช้กอัพไหม
ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ อยากเปลี่ยนโช้กอัพ เพราะอยากเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว และเปลี่ยนเพราะกลัวแกนโช้กอัพยัน เมื่อสปริงเตี้ยยุบตัวลงมาก ๆ หากอยากเปลี่ยนโช้กอัพ เพราะอยากเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว มีหลักการง่าย ๆ คือ การทรงตัวของรถยนต์ที่ดี ต้องควบคู่กันระหว่างโช้กอัพกับสปริง
ถ้าเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว ก็จะได้ผลเพิ่มขึ้นเพียงระดับหนึ่ง และต้องขึ้นอยู่กับว่า อุปกรณ์ที่ไม่ถูกเปลี่ยนจะดีแค่ไหนโดยไม่สามารถสรุปตายตัวได้ว่า เมื่อเปลี่ยนโช้กอัพดี ๆ จะได้ผลดีขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ และ สปริงอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะอัตราส่วน จะแตกต่างกันออกไปในรถยนต์แต่ละรุ่นและอุปกรณ์ที่ถูกเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนพร้อมกันทั้งโช้กอัพและสปริง ย่อมได้ผลเต็มที่กว่า
ดังนั้นหากเลือกใช้สปริงที่เตี้ยลงไม่มากเกิน 1.5-2 นิ้ว การตัดสินใจว่าควรเปลี่ยนโช้กอัพ ด้วยหรือเปล่า ประเด็นอยู่ที่ว่า ต้องการประสิทธิภาพการทรงตัวเพิ่มขึ้นอีกไหม โดยไม่เกี่ยวข้องกับว่า เมื่อสปริงยุบตัวลงมาก ๆ แล้วแกนโช้กอัพจะยันไหม เพราะโช้กอัพแบบมาตรฐานยังมีระยะยุบตัวเหลือเพียงพอ ถ้าสปริงไม่เตี้ยลงมาก แต่ถ้าเตี้ยลงกว่านี้ จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะเมื่อโช้กอัพยันบ่อย ๆ มักจะแตกได้ง่าย หรือแตกในทันที
โช้กอัพแบบปรับความแข็งด้วยมือ
ต่างจากโช้กอัพแบบปรับด้วยระบบไฟฟ้าที่เพียงใช้ปุ่มไฟฟ้าปรับความแข็ง-อ่อน โดยมีการปรับด้วยหลายวิธี เช่น ต้องถอดออกมาจากตัวรถยนต์เพื่อไขที่แกนโช้กอัพ หรือปรับด้วยปุ่มหมุนง่าย ๆ โดยไม่ต้องถอดโช้กอัพออกมา แบบหลังมักมีราคาแพงกว่า เลือกใช้ได้ตามกำลังทรัพย์ แน่นอนว่าแบบที่ปรับได้สะดวกย่อมดีกว่า-แพงกว่า และแบบที่ต้องถอดออกมาปรับ แม้ยุ่งยากหน่อย ก็ยังดีกว่าแบบปรับไม่ได้เลย ไม่ว่าจะปรับได้ด้วยวิธีไหน ต้องปรับให้มีความแข็งเท่ากันในด้านซ้าย-ขวาในโช้กอัพ แต่ละคู่ และถ้าไม่แน่ใจว่าเมื่อโช้กอัพคู่หน้าและหลังมีความแข็งอ่อนต่างกันแล้ว จะดีกว่า ก็ควรปรับไว้เท่ากันทั้ง 4 ล้อ
ซื้อและซ่อม
โช้กอัพทั่วไปมีความทนทานในระดับ 50,000-100,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าคุ้มค่าพอสมควร การเปลี่ยนใหม่จึงไม่น่าเป็นปัญหาทางการเงินมากนัก ทั้งยังมีทางเลือกมากมาย ตามบทความข้างต้น โดยพื้นฐานแล้วการเปลี่ยนโช้กอัพใหม่ ย่อมได้ประสิทธิภาพ และความทนทานที่แน่นอนกว่าการซ่อม
ส่วนการซ่อมโช้กอัพ ก็มิได้หมายความว่าจะแย่ไปทั้งหมด เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพเดิม
ฝีมือ และอะไหล่ที่เปลี่ยนเข้ามาใหม่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโช้กอัพที่ซ่อม มักไม่ทนทาน เท่ากับของใหม่ถ้าไม่แน่ใจว่าได้ช่างฝีมือดีพร้อม อะไหล่ที่ดี (ซึ่งหายาก-แต่พอมี) หลีกเลี่ยงการซ่อมโช้กอัพไว้ ซื้อใหม่จะแน่นอนกว่า
วรพล สิงห์เขียวพงศ์
main |