( เรื่องนี้คัดลอกมา จากนิตยสาร Internet Tod@y ปีที่ 4 ฉบับที่ 39 กันยายน 2541 )
© 1998 by AR.Information & Publication Co.,ltd. Contact Webmaster Webmaster@arip.co.th


ทำอย่างไร ถึงจะใช้ข้อมูลจากเว็บให้คุ้ม

กิตติศักดิ์ ฤกษ์ศิริสุข


การค้นหาข้อมูลข่าวสาร ทางอินเทอร์เน็ตโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "โฮมเพจ" อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าจะสะดวกสบายนัก ที่เราจะต้องค้นหาข้อมูล จากเว็บเพจที่มีประมาณ 300 ล้านเพจ แต่มีวิธีที่จะทำให้ได้ที่อยู่ของไซต์ ที่คุณต้องการได้ ในเวลาอันรวดเร็ว โดยสิ่งที่เรียกว่า "Web Search Tool" และคุณจะรู้ถึงการทำงานของมันในบทความนี้ด้วย

การเข้าไปค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เฉพาะเรื่องที่น่าสนใจอยากเข้าไปดู ถ้าจะให้เปรียบมันก็คง เหมือนกับการค้นหาเข้มสักเล่นหนึ่งบนกองหญ้าแห้ง ซึ่งกว่าจะได้ข้อมูลเหล่านั้นมาเลือดตาแทบกระเด็น แต่หลังจากที่เราได้แนะนำคุณ ไปแล้ว มันก็เหมือนกับว่าเราช่วยเอากองหญ้าออกไปบางส่วน ซึ่งก็คงจะทำให้ การค้นหา ข้อมูลสำคัญ ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่า เว็บที่เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นพวกนี้ จะไม่มีปัญหา เสียเลยทีเดียว เพราะแต่ละตัวก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป แล้วทีนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า "แล้วจะเลือกตัวใดเป็นตัวช่วยในการค้นหาข้อมูลดี" ซึ่งก่อนที่จะตอบคำถามข้อนี้ เราอยากจะเสนอข้อมูลอย่างหนึ่งให้ดูกันก่อน คือ เว็บไซต์ที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น เหล่านี้ ครอบคลุมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ได้มากน้อย ขนาดไหน

เริ่มที่เสิร์ช เอ็นจิ้น ที่ใหญ่ที่สุดคือ HotBot มันจะครอบคลุมเพจต่าง ๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของเพจที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลก ต่อมา AltaVista (เพจอันดับสองรองลงมาจาก HotBot) ครอบคลุมประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ เสิร์ช เอ็นจิ้น ตัวอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้น จะครอบคลุมข้อมูลคิดเป็น เปอร์เซ็นต์เพียงแค่ตัวเลขตัวเดียวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงทำให้คุณอาจจะพบข้อผิดพลาด เช่น ไม่สามารถพบที่อยู่ของเพจ ที่มีข้อมูล ที่คุณสนใจ ที่คุณต้องการทราบ จากผลลัพธ์ที่เสิร์ช เอ็นจิ้น ค้นหามาให้คุณ แล้วที่นี้จะทำยังไงดีหล่ะ

ยังโชคดี ที่ยังมีวิธีที่ช่วยคุณได้ ถ้าคุณใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งก่อนที่คุณจะรู้ถึงวิธีการเหล่านี้ คุณต้องทำความเข้าใจในการทำงานของเสิร์ช เอ็นจิ้น ต่าง ๆ เหล่านี้ก่อน พอคุณเข้าใจแล้วคุณก็สามารถที่จะตัดสินเลือกใช้เสิร์ช เอ็นจิ้น เหล่านี้ที่ดีที่สุดสำหรับคุณเองได้ เพื่อข้อมูลที่ตรงประเด็นที่สุด ตัดข้อมูลที่ไม่อยู่ในข่าย ที่คุณสนใจออก

จะเลือกใช้เสิร์ช เอ็นจิ้น ตัวไหนดี ?
มีเว็บที่ทำหน้าที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น เยอะแยะมากมาย และคำถามที่มีก็คือ
"มันคืออะไร มันทำงานอย่างไร และข้อดี ข้อเสียของแต่ละตัวเป็นอย่างไร"

การทำงานของเสิร์ช เอ็นจิ้น นั้นจะมีหลาย ๆ แบบ แตกต่างกันไป ซึ่งถ้าจะแบ่ง ก็จะได้ชนิดหลัก ๆ ได้ดังนี้

คีย์เวิร์ดอินเด็กซ์
เว็บที่ใช้ฟีเจอร์ที่เป็น คีย์เวิร์ดอินเด็กซ์นี้ ได้แก่ AltaVista, HotBot, Lycos จะใช้ตัวอินเด็กซ์ เพื่อใช้ในการค้นหาจากข้อความในเว็บที่ได้สำรวจมาแล้ว โดยปกติเสิร์ช เอ็นจิ้น จะอ่านคำบนเว็บเพจอย่างน้อยที่สุด สองสามร้อยคำแรก ที่ใช้ในเพจ ซึ่งรวมถึงคำที่อยู่ใน Tag (รูปแบบของคำสั่งที่ใช้ในไฟล์ Html) < title > </title > และคำหลังคำสั่ง alt (ใช้สำหรับรูปภาพ) ด้วย ซึ่งเสิร์ช เอ็นจิ้น จะไม่นำเอาคำสั่ง (Tag) ของไฟล์ Html อื่น ๆ อาทิ , , ฯลฯ, คำสั่งที่เป็นของ Java หรือคำอื่น ๆ เช่น "and", "the", "by", "for" เข้ามารวมเป็นข้อมูลที่ใช้ในการค้นหาด้วย

เว็บเพจชนิดที่เป็นคีย์เวิร์ดอินเด็กซ์นี้ จะยึดถือ ตำแหน่ง และความบ่อยในการ จัดเรียงลำดับเพจก่อนหลัง ซึ่งเมื่อมีการคิวรีข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจะหาข้อมูลโดยใช้คีย์เวิร์ดว่า "Pentium" ผลลัพธ์ที่ได้คือ เว็บเพจไหนที่มีคำว่า "Pentium" ในคำสั่ง < title > </title > ก็จะถูกนำมาเรียงไว้เป็นอันดับแรก ๆ ก่อนเว็บเพจที่ไม่มีคำว่า "Pentium" อยู่ ในทำนองเดียวกัน เว็บเพจไหนที่มีคำว่า "Pentium" อยู่มากกว่าก็จะถูกนำมาเรียงไว้ในอันดับแรก ๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เว็บเพจที่ประกอบไปด้วยคำว่า "Pentium" อยู่ 20 คำ ย่อมจะถูกนำขึ้นมาแสดงที่อยู่ พร้อม URL ก่อนเว็บเพจที่ประกอบด้วยคำว่า "Pentium" น้อยกว่า

วิธีการค้นหาข้อมูลแบบ คีย์เวิร์ดอินเด็กซ์นี้ จะมีความรวดเร็วมาก ใช้เวลาเป็นเพียงแค่ หน่วยวินาทีเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ข้อความที่คุณใช้สำหรับคิวรี มีความซับซ้อนเพียงใดด้วย

Subject Directories
เว็บประเภทนี้ได้แก่ Galaxy, NetGuide, Yahoo ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับเป็นแคตาล็อกสินค้า โดยมันจะแสดงหัวข้อของสิ่งที่คุณค้นหา แต่หัวข้อที่มันแสดง (พวกตำแหน่ง URL, รายละเอียดเกี่ยวกับ URL นั้น ๆ) ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ดูเนื้อหา ของแต่ละเว็บเพจ ว่าเกี่ยวกับอะไร ซึ่งตรงนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ การตัดสินใจของมนุษย์ เพราะเสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทนี้จำเป็นต้องใช้มนุษย์เป็นคนพิจารณาคัดแยกหัวข้อ ซึ่งบางเสิร์ช เอ็นจิ้น จะจ้างคนมาพิจารณา คัดแยกประเภทหัวข้อ หรือบางตัวจะให้เจ้าของเว็บไซต์ เป็นคนบอกเกี่ยวกับเนื้อหาใจความของเว็บไซต์ของตนเอง ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ข้อดีของเสิร์ช เอ็นจิ้นประเภทนี้ คือ ไซต์แต่ละไซต์จะถูกแบ่งกลุ่มตามเนื้อหาสาระของมัน ก่อนที่จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาต่อไป และข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การค้นหาของเรา ค่อนข้างจะตรงประเด็นกับผลลัพธ์ที่ได้จากเสิร์ช เอ็นจิ้น ชนิดนี้ เพราะการที่มนุษย์ใช้เป็นคนจัดหัวข้อต่าง ๆ แล้วมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เกี่ยวกับรายละเอียดของไซต์ต่าง ๆ จนได้ใจความสำคัญออกมา ที่จะใช้ในการจัดทำ หัวข้อนั้น มันย่อมดีกว่า การที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นตัวจัดทำหัวข้อ ตามโปรแกรม และขอบเขตที่มีอยู่อย่างเสิร์ช เอ็นจิ้น จำพวกคีย์เวิร์ดอินเด็กซ์มาก (กว่าจะได้เก็บ URL แล้วเนื้อหาของเว็บไซต์นั้น ๆ ลงในฐานขอ้มูล ต้องผ่านการตรวจสอบ ของโปรแกรมตรวจสอบ)

แต่ในข้อดีมันก็ยังมีข้อเสียคือ ความเป็นมนุษย์นั่นเอง ซึ่งความคิดต่าง ๆ ในเรื่องเดียวกัน อาจจะไม่เหมือนกัน ตรงนี้เองเป็นตัวปัญหาว่า ถ้าเกิดเราต้องการค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ความคิดของเราไม่ตรงกับคนที่จัดทำข้อมูล อาจจะเกิดปัญหาตามาเช่น ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการนักทีเดียว เพราะเราตีความอีกอย่าง แต่คนจัดทำข้อมูลตีความออกไปอีกอย่างก็เป็นได้

Metasearch Engines
ตัวอย่างของเสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทนี้ เช่น Dogpile, Inference Find, MetaCrawler ซึ่งลักษณะเด่นของเว็บประเภทนี้ได้แก่ ความหลากหลายของข้อมูล เช่น ผลลัพธ์ที่เราได้จะมาจากเสิร์ช เอ็นจิ้นชนิดต่าง ๆ และเราสามารถจะเชื่อมต่อ ไปยังเสิร์ช เอ็นจิ้น ชนิดต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เว็บ MetaCrawler ที่จะมีการสร้างตัวเชื่อมไปยัง เว็บเสิร์ช เอ็นจิ้น ปรเภทต่าง ๆ ไว้ท้ายข้อมูลที่ถูกคิวรีออกมา แต่มันก็มีข้อเสียเหมือนกัน ในการคิวรีข้อมูล ยกต้วอย่างเช่น เรื่องของตัวอักษรตัวใหญ่ ตัวเล็ก หรือพวกคำที่เราเรียกว่า เป็นคำประเภท Natural Language ที่ เสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทนี้มักจะเลยผ่านไป ในขณะที่เสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทอื่น ๆ ส่วนใหญ่ จะมีการคัดแยกคำลักษณะเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ผมจึงอยากแนะนำว่า ถ้าผู้ใดต้องการค้นหาข้อมูลทั่ว ๆ ไปที่ไม่เน้นความสำคัญ ของเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ผมแนะนำให้ใช้เว็บประเภทนี้ เป็น เสิร์ช เอ็นจิ้น ประจำตัวของคุณ แต่ถ้าข้อมูลของคุณต้องการความถูกต้อง และมีการกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันแล้วล่ะก็ Metadearch Engines นั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเลย
จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
มีเว็บที่ทำหน้าที่เป็น เสิร์ช เอ็นจิ้น เยอะแยะมากมาย แต่ที่ผมอยากแนะนำต่อไปนี้ ผมคิดว่าเป็นไซต์ที่ดีที่สุด ที่ผมพบมา

แล้วอะไรจะดีที่สุด ?
สำหรับวิธีต่าง ๆ ที่ผมแนะนำมา มันจะดีสำหรับในกรณีข้อมูลทั่วไปที่ต้องการค้นหา แต่ในความเป็นจริงแล้วเสิร์ช เอ็นจิ้น ส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะเพิ่มเติมทางเลือกต่าง ๆ ลงไป เพื่อประโยชน์สูงสุดในการค้นหา เช่น Yahoo (เสิร์ช เอ็นจิ้นปรเะเภท Subject Directory ที่ดีมากแห่งหนึ่ง) สามารถที่จะให้คุณเชื่อมต่อไปยังเสิร์ช เอ็นจิ้นอื่น ๆ ได้ ในหน้าเพจ ของตัวเองเช่น เชื่อมต่อไปยัง AltaVista (หนึ่งในเสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทคีย์เวิร์ดอินเด็กซ์ ที่มีประสิทธิภาพ) หรืออาจจะเป็นบริการ ในรูปแบบของ ธุรกิจสายตรงก็ตาม ส่วน AltaVista ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดยพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ ของการค้นหาข้อมูลแบบ Subject Directory เข้าไปด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นี่เอง เป็นสิ่งที่คล้าย ๆ กับเป็นตรารับประกัน คุณภาพของเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้น แต่สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ กลับทำให้เรามองออกมาได้อีกแง่มุมหนึ่ง เหมือนกันว่า เมื่อก่อนนี้พวกเราจะถามกันว่า "เราควรจะเริ่มค้นหาข้อมูลจากที่ไหนกันดี ?" แต่เดี๋ยวนี้เนื่องจากเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้น ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ละเว็บก็พยายาม ทำให้เว็บตนเองมีความหลากหลายขึ้น เพิ่มสิ่งต่าง ๆ ลงไปอย่างมากมาย จนคำถามกลับกลายมาเป็นว่า "เราจะเริ่มค้นหาข้อมูลต่าง ๆเหล่านี้ อย่างไรกันดี ?" แทน

บีบประเด็นให้แคบลง
เนื่องจากจำนวนข้อมูล ที่มากมายเหลือเกิน ที่เพิ่มขึ้นเป็นเสมือนเงาตามตัว ทำให้การค้นหาที่ได้ มีมากมาย ซึ่งหลายครั้ง ก็เป็นเรื่องที่คุณเอง ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการค้นหาจริง ๆ จนทำให้รู้สึกเซ็ง ๆ เหมือนกัน (หลายคนที่ใช้เสิร์ช เอ็นจิ้น ค้นหาข้อมูลบ่อยๆ ต้องคิดเหมือนผมแน่ ๆ เลย ใช่ไหมหล่ะ) ก็เลยอาจทำให้เกิดปัญหาว่า แล้วจะทำยังไงดีหล่ะ ตรงนี้ผมมีข้อแนะนำว่า โดยเริ่มแรกแล้วก็ควรจากการค้นหาทั่ว ๆ ไปก่อน เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการค้นหา ต่อจากนั้นจึงค่อยระบุ หรือใส่ออปชันเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการลงไป เพื่อบีบประเด็นให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ถ้าทำอย่างนี้แล้ว รับรองได้ว่า คุณจะได้ข้อมูลที่ตรงประเด็น และเป็นที่พอใจสำหรับคุณแน่นอน

เริ่มด้วย Metasearch
ลักษณะของ Metasearch Engine จะมีการทำงานที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทอื่น ๆ ได้ มันทำให้คุณสามารถเข้าถึงเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้นปรเภทต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ดีกับการค้นหาข้อมูลแบบธรรมดา ที่ไม่ได้เน้นของตัวอักษรเช่น ตัวใหญ่, ตัวเล็ก หรือคำจำพวก Natural Language เท่าใดนัก ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการค้นหามากมาย รวมไปถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ หรือเกี่ยวกับข้อมูล ที่เราต้องการโดยตรงเลยก็ได้

ใช้ "advanced search" เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูล
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ควรเลือกใช้ออปชัน ที่แต่ละไซต์มีให้นั้นช่วยในการค้นหาด้วย (แต่ละเสิร์ช เอ็นจิ้นก็อาจจะใช้คำแทรกพวกนี้ต่างกันเช่น "Advanced Option" หรือ "Power Search" ฯลฯ) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณค้นหาคำว่า "Windows 98" โดยใช้การค้นหาแบบธรรมดาใน AltaVista ผลลัพธ์ที่คุณจะได้มี 2 ล้านเพจ ที่ AltaVista ส่งมาให้คุณ แต่ถ้าคุณใช้ Advanced Search แล้วผลลัพธ์ที่ได้เพียงแค่ 26 เท่านั้น แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการค้นหาจริง ๆ
สร้างคิวรีที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ไม่ว่าคุณจะใชั เสิร์ช เอ็นจิ้น อะไรก็ตาม ในการค้นหาข้อมูล เพียงแต่ขอให้คุณมี คิวรีข้อมูลที่ดี ก็เพียงพอแล้ว เทคนิคลับ แต่ไม่ลับเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณ ประสบความสำเร็จ ในการค้นหาข้อมูลได้ มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง ?
  • ใช้สิ่งที่เรียกว่า ออปชัน เป็นตัวช่วยในการค้นหาข้อมูล ซึ่งเว็บที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น ส่วนใหญ่จะมีให้อยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปเหลียวแลมันเท่าไรนัก สาเหตุส่วนใหญ่เหรอก็คือ ไม่รู้ว่ามันใช้ทำอะไรไงหล่ะ เอาหล่ะทีนี้ก็รู้แล้ว ก็อย่าลืมใช้มันก็แล้วกัน
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรใส่คำที่เป็นคิวรีหลาย ๆ คำ ดีกว่าที่จะใส่เพียงคำหนึ่งคำใด
  • หลีกเลี่ยงคำจำพวก Natural Languge ถึงแม้ว่าเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้นนั้น ๆ จะบอกว่ามันสามารถจัดการกับคำประเภทนี้ได้
  • อย่าค้นหาคำที่เราต้องการเท่านั้น ควรค้นหาคำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันด้วย
  • หลีกเลี่ยงการค้นหาคำ ที่เป็นคำเดี่ยว ๆ หรือมีตัวเลขปนอยู่ เช่น NT or 3D แต่ถ้าต้องการค้นหาจริง ๆ อย่าลืมใส่เครื่องคำพูดลงไปด้วย (" ")
  • พวกกลุ่มคำ หรือพวกวลี ที่ก็ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดลงไปด้วยเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการค้นหาโดยใช้บูลีน
  • แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้บูลีนจริง ๆ ก็ให้ใส่เครื่องหมายวงเล็บปิดเปิดลงไปด้วย (ตรงนี้ถ้าจำไม่ได้ให้ไปดูเรื่องเกี่ยวกับบูลีน)
  • ใช้เครื่องหมาย "+" กับคำที่ต้องการให้มีในการค้นหา และลบ " - " กับคำที่ไม่ต้องการให้มีในการค้นหา (ได้กล่าวไว้แล้วข้างบนครับ)
  • ใช้ Help ให้เป็นประโยชน์ เพราะ help เหล่านี้จะมีเทคนิคหรือวิธีการ ของแต่ละเสิร์ช เอ็นจิ้นเอง ที่ช่วยแนะนำเทคนิคต่าง ๆ มากมาย อันจะทำให้คุณได้รับ ความสะดวก รวดเร็ว ในการค้นหาด้วย

อย่าลืมทำคิวรีในการค้นหาด้วย
สิ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ขอเรียกว่า เป็นการสรุปครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับ การสร้างคิวรีข้อมูลที่ดี ก็แล้วกัน อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไซต์แต่ละไซต์ก็จะมีเทคนิค หรือวิธีการ ในการค้นหา ข้อมูล ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นโชคดีของพวกเราอยู่บ้างตรงที่ส่วนใหญ่ไซต์ต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีคุณสมบัติที่สำคัญ ๆ เหมือนกัน ที่จะทำให้เราค้นหาข้อมูลเป็นไปด้วย ความสะดวก สบายยิ่งขึ้น

เริ่มแรกเลยก็คือ ใช้สิ่งที่เรียกว่า Advanced Search ให้มาก ๆ ไว้ก็แล้วกัน ต่อมาก็เรื่องการใช้คำหลาย ๆ คำมากกว่าเพียงคำเดียว อีกเรื่องคือ เรื่องของคำจำพวก Natural Language ที่แม้ว่าบางเว็บไซต์จะบอกว่า สามารถจัดการ เกี่ยวกับคำเหล่านี้ได้ เช่น บางไซต์ยอมให้คุณพิมพ์ประโยคที่ว่า "Please tell me about all the sites that discuss the capabilities of alternate CUP chipsets" แต่ผมอยากถามว่า ทำไมต้องใส่ประโยค ที่ยาว ขนาดนี้ด้วย? แค่พียงใส่ว่า "alternate CUP chipsets" แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ใช่หรือ

เรื่องต่อมาคือ เรื่องของคำจำพวก Synonyms (คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคล้ายกัน) ยกตัวอย่างเช่น คำว่า "motherboards" เราก็สามารถใช้คำว่า "mainboard" หรือ "planar" แทนก็ได้ และต่อมาก็คือ ถ้าลักษณะคิวรีของคุณ มีคำที่ต้องแยกจากกันเช่น คำว่า "mother board" อย่างนี้แล้วละก็ เครื่องหมายอัญประกาศ (" ") มีความสำคัญเลยทีเดียว เพราะมันทำให้เสิร์ช เอ็นจิ้น มองรูปแบบของมัน เป็นเทอมเดียวกัน และประโยชน์อีกอย่าง ของเครื่องหมาย อัญประกาศ คือ ใช้สำหรับคิวรีข้อมูล ที่เป็นอักษร (เช่น พวกตัวย่อ NTหรือ 3D) หรือพวกที่มีตัวเลขติดมาเช่น "Windows NT 5.0" หรือ "3D Graphics boards" เป็นต้น อย่ามองข้ามความสำคัญ ของข้อความเหล่านี้นะครับ เพราะอย่าลืมว่า ข้อมูล หรือข้อความ อย่างนี้แหละ เว็บต่าง ๆ มากมาย ใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของ เสิร์ช เอ็นจิ้น ทั้งหลาย

ลักษณะอีกอย่างที่เสิร์ช เอ็นจิ้นส่วนใหญ่จะมีไว้ให้ ได้แก่ ออปชันประเภท Exact Phrase ยกตัวอย่างเช่น ที่ไซต์ของ HotBot ในไซต์นี้ ถ้าเราค้นหาข้อความเช่น "LCD panel prices" โดยเลือก option "all the words" (ตรงนี้อาจจะงง ถ้าใครใช้เจ้าตัวเสิร์ช เอ็นจิ้น แล้ว ไม่ว่าจะชนิดอะไรก็ตาม ถ้าสังเกตดู บริเวณช่องว่างที่ให้เราใส่ข้อความ หรือคำที่ต้องค้นหา จะมีตัวเลือกให้เลือกว่า จะค้นหาแบบใด) ผลลัพธ์ที่ได้จะมีมากกว่า 5,000 ไซต์ ที่เกี่ยวเนื่องกับคำ หรือข้อความที่คุณกำลังค้นหา แต่ถ้าคุณใช้เสิร์ช เอ็นจิ้นของ HotBot แล้วใช้ตัวเลือก "exact phrase" ในการค้นหาผลลัพธ์ที่ได้เพียงแค่ 37 ไซต์เท่านั้นเอง แต่เป็น 37 ไซต์ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรื่องที่คุณต้องการหา

อีกเรื่องหนึ่งที่จำบอกก็คือ ไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะมี Help ช่วยเหลือในกรณีที่คุณอยากทราบเทคนิคหรือวิธีต่าง ๆ ในการค้นหาของแต่ละไซต์นั้น เพื่อประสิทธิภาพ ที่ดีที่สุด ในการทำให้ได้ข้อมูล ที่ต้องการ อย่างรวดเร็ว ตรงประเด็นที่สุดออกมา

การใช้บูลีนไม่ได้เจ๋งอย่างที่คิด
มันอาจจะดูแปลกนะ ถ้าผมจะบอกว่า "ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรที่จะใช้ข้อความ ที่เป็นลักษณะของบูลีน" (อาาจะงง สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาทาง สารอิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์) เพราะเพียงแค่ คุณค้นหาคำ โดยใช้คำหรือข้อความพื้น ๆ ก็จะทำให้คุณได้ข้อมูล ที่ตรงตามต้องการแล้วหล่ะ ส่วนคำหรือข้อความ ที่ใช้เป็น รูปแบบของบูลีน ในการค้นหานั้น จะใช้ในกรณีที่คุณ ไม่สามารถหาไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับคำ หรือข้อความ ที่คุณป้อนเข้าไปจริง ๆ (ซึ่งผมบอกได้เลยว่า เกิดขึ้นแทบจะไม่บอ่ยนักหรอก) ปัญหาของวิธีการแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเรื่องของบูลีน เป็นเรื่องที่ยากหรอก แต่ใจเย็น ๆ ก่อน เดี๋ยวผมจะพูดถึงปัญหาของ วิธีการใช้บูลีนี้แน่ แต่ตอนนี้ขอพูดถึงวิธีการแบบนี้ก่อน

ในวิธีค้นหาโดยการใช้บูลีนนี้ จะมีการใช้คำว่า AND, OR, AND NOT (หรืออาจใช้คำว่า NOT อย่างเดียวก็ได้) หรืออาจจะใช้ NEAR ในบางครั้ง (ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่) ในการเปรียบเทียบข้อมูล แบ่งเป็นส่วน ๆ มาดูตัวอย่างกันเช่น ถ้าคุณต้องการค้นหา โดยการป้อน Windows AND magazine" ผลลัพธ์ที่ได้ คุณจะได้ที่อยู่ของไซต์ที่มีทั้งคำว่า "Windows" และคำว่า "magazine" อยู่ในเพจนั้น ๆ ต่อไปคุณป้อน Windows OR magazine" ผลลัพธ์ที่ได้ คุณจะได้ที่อยู่ของไซต์ที่มีคำว่า "Windows" อยู่ หรือคุณก็อาจจะได้ที่อยู่ของไซต์ ที่มีคำว่า "magazine" อยู่โดยไม่จำเป็นต้องมีทั้งสองคำนี้อยู่รวมกัน ต่อมาถ้าคุณต้องการค้นหาโดยการป้อน Windows AND NOT magazine" ผลลัพธ์ที่ได้ คุณจะได้ที่อยู่ของไซต์ที่มีคำว่า "Windows" แต่ต้องไม่มีคำว่า "magazine" อยู่ เป็นยังไง ฟังแค่นี้จะเห็นว่ามันไม่ค่อยยากเลย แต่ปัญหาที่ผมจะบอกต่อไปมันอยู่ที่ว่า เสิร์ช เอ็นจิ้น แต่ละตัว ต่างมีรูปแบบในการแปลข้อความ ที่เป็นบูลีนต่างกัน

หมายความว่า เสิร์ช เอ็นจิ้น บางตัวอ่านคำ หรือข้อความจากซ้ายไปขวา เจอบูลีนตัวไหนก่อน ก็ทำตามตัวนั้นก่อน แต่บางทีการอ่านคำ หรือข้อความ จะดูความสำคัญก่อนหลัง ของบูลีนเป็นหลักเช่น AND มีค่าสำคัญกว่า OR ยกตัวอย่างประโยค "Microsoft OR Intel AND IBM" จะมีการคัดแยกคำเป็น (Microsoft OR Intel) AND IBM" จากเสิร์ช เอ็นจิ้น ที่อ่านคำ หรือข้อความจากซ้ายไปขวา แต่จะได้เป็น Microsoft OR (Intel AND IBM) จากเสิร์ช เอ็นจิ้นที่ใช้ความสำคัญก่อนหลังของบูลีนเป็นหลัก (จะเห็นว่า AND สำคัญกว่า OR)

จากความแตกต่างตรงจุดนี้เอง ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ในการค้นหาออกมาแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่เราเองก็คิดว่ามันก็เป็นเว็บที่ทำหน้าที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น เหมือนกัน ผลที่ได้น่าจะเหมือน หรือคล้ายกัน แต่เบื้องหลังการทำงานของเสิร์ช เอ็นจิ้น แต่ละตัว จริง ๆ แล้วอาจไม่เหมือนกัน

ไม่ใช้บูลีนแล้วจะใช้อะไร
ในการใช้บูลีนนั้น เสิร์ช เอ็นจิ้น ส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายวงเล็บ เป็นตัวคัดแยกคำด้วย คุณสามารถจะสร้างคิวรีให้ซับซ้อนขนาดไหนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการค้นหาข้อมูลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "Microsoft," "Mr. And Mrs. Gate" and "Microsoft VP Steve Ballmer," ก็ให้คุณสร้างคิวรีดังนี้ "Microsoft AND (((Melinda OR Mrs.) NEAR Gates) AND ((Bill OR William) NEAR Gates) AND ((Steve OR Steven) NEAR Ballmer))." แต่ถ้าหากคุณไม่ชอบใจกับรูปแบบอย่างนี้ คุณยังสามารถใช้เครื่องหมาย "+" หรือเครื่องหมาย " - " แทนได้อีกด้วย

ซึ่ง เสิร์ช เอ็นจิ้น ส่วนใหญ่สนับสนุน รูปแบบการใช้เครื่องหมาย "+", "-" อยู่แล้ว โดยเครื่องหมาย "+" หมายถึง คำที่ตามหลังเครื่องหมายนี้จะต้องมีอยู่ในเพจที่ถูกค้นหา ส่วนเครื่องหมาย "-" หมายถึง คำที่ตามหลังนี้ห้ามมีอยู่ จะเห็นได้ว่าเครื่องหมาย "+", "-" นี้ถ้าจะเปรียบกัยบูลีนก็จะเหมือนกับ "AND", "NOT" นั้นเอง การใช้เครื่องหมายบวกลบ จะเป็นการตัดปัญหาของความจุกจิก ของการใช้รูปแบบการคิวรีข้อมูลแบบวงเล็บ หรือแบบบูลีนลงไปได้ระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คุณใส่ข้อความ "+Borland+Kahn" ผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่ที่ URLs ของเพจที่มีคำว่า "Borland" และ "Kahn" ออกมา แต่ถ้าคุณใส่ข้อความว่า "+Borland-Kahn" ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งที่อยู่ URLs ของเพจที่มีคำว่า "Borland" แต่ต้องไม่มีคำว่า "Kahn" ออกมา

ผู้ช่วยที่ดีที่สุดในการค้นหา
การใช้ เสิร์ช เอ็นจิ้น เหล่านี้ไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม มันจะเป็นการทำงานแบบออนไลน์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการค้นหาพอสมควร แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า ยังมีวิธีการโปรแกรมช่วยทำงาน แบบออฟไลน์อยู่ด้วย โปรแกรมจะไปค้นหาที่อยู่ และรายละเอียดของไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับคำ หรือข้อความที่เราป้อนเข้าไปมาให้ ต่อจากนั้นจะทำการเก็บข้อมูลที่อยู่เกี่ยวกับไซต์ต่าง ๆ เข้าไปในฮาร์ดิสก์ ตัวอย่างของโปรแกรมเหล่านี้ได้แก่
Inforia Quest 98
ตัวนี้เป็นตัวที่คือตัว Search Program ที่รู้สึกว่าจะใช้ค่อนข้างง่ายกว่าตัวอื่น ๆ ที่ผมเคยใช้มา โดยสามารถที่จะระบุขอบเขตของไซต์ต่าง ๆ ได้เช่น อาจจะระบุให้ไปค้นหาข้อมูลที่ในเสิร์ช เอ็นจิ้น ของเว็บที่ไม่ใช่เว็บในประเทศอเมริกา หรืออาจจะระบุของเขตของไซต์ต่าง ๆ ที่จะเข้าไปค้นหา เวลาค้นหาก็จะเข้าไปค้นหา เฉพาะในขอบเขตนั้น ๆ

WebCompass
ตัวนี้ทำหน้าจอติอต่อกับผู้ใช้ค่อนข้างดี ควบคุมง่าย มีการเปรียบเทียบไซต์ต่าง ๆ ให้ดูว่ามีข้อแตกต่างกันอยางไร และยังมีการแสดงให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของเว็บที่ทำหน้าที่เป็นเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้น อีกด้วย

WebFerrtPRO 2.6102
ผมจัดให้มันอยู่ 1 ใน 100 ของซอฟต์แวร์ ประเภทแชร์แวร์ที่ดีที่สุดเหตุผลคือ การทำงานอย่างรวดเร็วมากของมัน และการสนับสนุนการค้นหาแบบบูลีน ที่ยังเป็นอยางรวดเร็วอีกด้วย

WebSeeker 3.3
ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับตัวอื่น ๆ สามารถเก็บตำแหน่งที่อยู่ (URLs) ของไซต์ต่าง ๆ (ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่มีมากับโปรแกรมประเภทนี้อยู่แล้ว) สามารถข้ามเพจที่ไม่ต้องการได้ รวมทั้งยังตั้งตัวเลือกสำหรับการเตือน หากมีการเปลี่ยนหน้าเพจไปเป็นหน้าอื่นได้ด้วย

ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ เสิร์ช เอ็นจิ้น
บางทีคุณอาจจะนึกว่า คุณสามารถที่จะหาข้อมูลทุก ๆ อย่างได้ ถ้าใช้ เสิร์ช เอ็นจิ้น แต่มันก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะพบข้อมูลที่ต้องการ ถ้าอย่างนี้แล้ว จะไปหาข้อมูล ได้จากไหนดีหล่ะ? ก่อนอื่นขอบอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเสิร์ช เอ็นจิ้น สามารถที่จะ หาข้อมูลต่าง ๆ ให้ไม่คลอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มหรอกเพียงแค่ประมาณ 50-60% เท่านั้น เพราะฉะนั้นผมจะขอแนะนำเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Usenet ซึ่งที่นี่เองเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ การใช้งานก็ค่อนข้างง่าย ยกตัวอยางเช่น ไซต์ของ http://www.dejanews.com ซึ่งมีการให้บริการ Usenet ด้วย มีการแบ่งหัวข้อออกเป็นเรื่อง ๆ มากมาย ซึ่งคุณสามารถที่จะใช้ Search ค้นหาจาก นิวส์กรุ๊ปได้อีกด้วย แต่ถ้าถึงที่สุดคุณก็ยังไม่สามารถหาข้อมูลที่ต้องการพบอีกหล่ะก็ ขอแนะนำอีกสองที่สุดท้าย ซึ่งถ้ายังไม่ได้ที่คุณต้องการ ก็ตัวใครต้วมันแล้วหล่ะ 2 ที่สุดท้ายที่จะแนะนำคือ ที่ http://www.lib.berkeley.edu/TeachingLib/Guides/Internet/Beyond/Web.html และ http://sunsite.berkeley.edu/InternetIndex
ทั้งสองที่นี้เป็นโฮมเพจของ the University of California at Berkeley และเต็มไปด้วย ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกจัดแยกประเภท ไว้เป็นหมวดหมู่มากมายเช่นกัน

สุดท้ายอยากจะพูดว่า การได้เข้าไปค้นหาข้อมูลทางเว็บนั้นถ้าเปรียบได้ ก็คงจะเปรียบกับห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ ให้คุณค้นหามากมาย เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเพื่อค้นหาข้อมูล แต่คุณขยับนิ้วมือของคุณ แค่นี้คุณก็จะได้ข้อมูลที่คุณต้องการแล้ว อนึ่งขอพูดถึงไซต์อีกสองที่ในการกรอบ "ไซต์ที่ใช้ค้นหากเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านธุรกิจ" แต่สองที่นี้ข้อมูลส่วนใหญ่ จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ใครสนใจ สามารถเข้าไปแวะชม ได้เลย
ไซต์ที่ใช้ค้นหาเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านธุรกิจ
บางทีเสิร์ช เอ็นจิ้นโดยทั่ว ๆ ไปแล้วนั้น ไม่เพียงพอในการค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องใช้ หรือวัตถุดิบ ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรรมแล้วหล่ะก็ สองที่ที่จะแนะนำให้รู้จักนี้ จะช่วยคุณได้มากทีเดียว
INQUISIT Inquisit,   http://www.Inquisit.com
รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจต่าง ๆ ประกอบไปด้วยเอกสารทางการค้า (Trade Journals) มากมาย และมีบริการเกี่ยวกับธุรกิจประเภทต่าง ๆ ให้คุณเข้าใช้บริการได้ อีกทั้งในการคิวรีหาข้อมูล ยังยอมให้คุณใช้การคิวรีข้อมูลแบบ บูลีนอีกด้วย (ดูลักษณะการค้นหาข้อมูลโดยการใช้บูลีน)

Northern Light,   http://www.northernlight.com
ไซต์นี้มีลักษณะคล้ายกับ Inquisit แต่จะด้อยกว่า Inquisit ตรงที่มันไม่สามารถเก็บข้อมูล หลังการค้นหาได้ (เพื่อความรวดเร็วในการค้นหาครั้งต่อไป) ทำให้ต้องมีการค้นหาใหม่ทุกครั้งเมื่อเข้ามาใหม่ (online)

Shopfind, http://www.shopfind.com
ไซต์นี้จะบริการต้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ไซต์ประเภทเสนอขายสินค้าบริการต่าง ๆ ยกตัวอย่างพวกของที่ใช้ในสำนักงาน โดยส่วนใหญ่จะมีการบอกราคา และบริการสินค้าต่าง ๆ ให้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ไซต์นี้มี Help ที่ช่วยในการค้นหาข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็วน้อย และยังไม่สนับสนุนการใช้การคิวรีข้อมูลแบบบูลีนด้วย

EDGAR (Electronic Data Gathering, Analysis and Retrieval), http://www.sec.gov/edgarhp.htm
สำหรับไซต์นี้โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยอยากแนะนำให้เข้าไปใช้ เนื่องจากการติดต่อกับ ผู้ใช้ ทางหน้าจอ ดูแล้วใช้ยาก ข้อมูลบางอย่างถึงกับต้องเข้าไปลึก ๆ หาด้วยตัวเอง ถึงจะพบ และข้อมูลส่วนใหญ่ จะหนักไปทางข้อความ ขึ้นมาให้อ่าน ไม่ค่อยมีรูปภาพ เพื่อสื่อความหมายเท่าไหร่ แถมข้อมูลย้อนหลังที่ เก็บก็มีถึงปีค.ศ.1994 เท่านั้นเอง ใครชอบที่จะดูข้อมูลที่เต็มไปด้วยอักษรไปทางเนื้อหาสาระ ก็เชิญได้เลยครับ

ทำโฮมเพจของคุณให้เป็นที่รู้จัก
ต่อไปนี้ จะแนะนำก็คือ ทำอย่างไรให้หน้าโฮมเพจของคุณ เป็นที่รู้จักของคนอื่น ๆ โดยคนอื่นสามารถจะรู้จัก URLs ของโฮมเพจคุณได้ ถ้าเขาใช้เสิร์ช เอ็นจิ้น เป็นตัวค้นหาข้อมูลแล้ว เผอิญหัวข้อ หรือข้อมูลที่เขาต้องการ ดันไปตรงกับเนื้อหาสาระ ของเพจของคุณ เอามาเริ่มกันเลย
Page titles
ส่วนสำคัญที่สุดอย่างแรกเลย ของข้อมูลที่เสิร์ช เอ็นจิ้นส่วนใหญ่ใช้ในการนำที่อยู่ ของเพจคุณ ไปเก็บเข้าไว้ในอินเด็กซ์ และใช้ในการจัดลำดับตำแหน่งก่อนหลัง ที่จะนำมาแสดงเป็นผลลัพธ์ออกสู่หน้าจอก็คือ ข้อความตรงคำสั่ง (Tag) < title > </title > ของเพจ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของเพจจะใช้คำว่า "Welcome" หรือไม่ก็ "Home Page" เป็นชื่อของ title ซึ่งขอแนะนำว่าไม่ควรทำ ทางที่ถูก ควรใส่ข้อความ ที่แสดงถึงเนื้อหา สาระ ของเพจคุณโดยตรงเลย และควรใช้ข้อความระหว่าง 5 ถึง 15 คำเท่านั้น มาดูโฮมเพจของ WINDOWS Magazine เป็นตัวอย่าง ซึ่งใช้ชื่อ title ว่า
" < title > Windows Magazines: PC Tips, News & Reviews </title > "

Meta tags
คำสั่ง (tag) < meta > นี้จะไม่มีผลอะไรกับเว็บเพจทั่วไป แต่มันจะมีผลต่อ เว็บที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดที่ใช้คือ descriptions และ keywords descriptions จะใช้เป็นตัวบอกรายละเอียดเกี่ยวกับไซต์ว่าเกี่ยวกับอะไร เพื่อประโยชน์ในการทำอินเด็กซ์ ของเสิร์ช เอ็นจิ้น เช่นใน meta tag ของ WinMag ใช้ว่า " < meta NAME="description" CONTENT="The number one resource for information about Microsoft Windows."> "

คีย์เวิร์ด
จากที่ได้พูดถึงการทำอินเด็กซ์ของ เสิร์ช เอ็นจิ้น ประเภทคีย์เวิร์ดอินเด็กซ์แล้วที่ว่า ส่วนใหญ่พวกคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่ได้มาจากเพจต่าง ๆ ที่ได้มีการสำรวจโดยการนำคำต่าง ๆ อย่างน้อยสองสามร้อยคำแรกของเพจต่าง ๆ มาทำเป็นอินเด็กซ์ แต่ถ้าต้องการคำที่เป็น คีย์เวิร์ดมากกว่านี้เพื่อให้เสิร์ช เอ็นจิ้นนำไปทำเป็นอินเด็กซ์ ก็สามารถใส่คีย์เวิร์ดเหล่านี้ เพิ่มไปได้ ใน meta tag ดังนี้คือ
" < meta NAME="keywords" CONTENT="Windows Magazine Internet Web WinMag Win5 NT free tips downloads files WinTune software hardware new PC" > "

ทำซ้ำ ๆ
จากที่ได้พูดถึงความบ่อย ในการใส่คำเข้าไปในเพจของคุณในตอนต้นอีกแหละที่ว่า ยิ่งถ้าคุณมีคำซ้ำ ๆ มากเท่าไหร่ โอกาสที่ที่อยู่เพจของคุณ จะถูกนำขึ้นมาแสดง ในอันดับต้น ๆ ก็มีมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำที่คุณได้ใส่ไว้ในเพจของคุณ จะต้องเป็นคำที่มีความหมาย และควรจะใส่คำเหล่านั้นเอาไว้ในตอนบน ๆ ของหน้าเพจของคุณด้วย ถึงจะทำให้เพจของคุณได้รับความสนใจจากเสิร์ช เอ็นจิ้นต่าง ๆ

HTML "alt text."
เสิร์ช เอ็นจิ้นส่วนใหญ่จะดูข้อความตรง "alt" (ใช้สำหรับรูปภาพในเพจ) ด้วย เพราะฉะนั้นคุณยังสามารถใส่ keywords ต่าง ๆ ลงไปในนี้ได้ด้วย

การออกแบบเพจ
ตรงนี้จะพูดถึงการออกแบบเพจของคุณ ซึ่งคุณควรจะออกแบบโดยการใช้ตาราง
( < table > </table > ) แทนการใช้เฟรม (frame) เพราะว่าถ้าเป็นในกรณีที่ เพจของคุณ ออกแบบเป็นเฟรม เสิร์ช เอ็นจิ้น จะไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหา ภายในของเพจคุณได้นั่นเอง

ใส่ลิงก์ที่มีเนื้อหาเหมือนกัน
พยายามทำให้เพจของคุณ สามารถจะเชื่อมต่อไปยังเพจต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระของเพจ คล้าย ๆ กับเพจของคุณ เพราะมี เสิร์ช เอ็นจิ้น บางตัว ที่ให้ความสำคัญ กับจำนวนเพจ ที่สามารถเชื่อมไปยังที่ต่าง ๆ ได้

อย่าลืมรีจีเตอร์
อันสุดท้ายก็จะเป็นการเข้าไปลงทะเบียน (หลังจากคุณปฏิบัติตามขั้นตอนข้างบน มาเสร็จแล้ว) เพื่อให้เสิร์ช เอ็นจิ้น นั้น ๆ เข้ามาตรวจสอบเพจของคุณ และนำกลับไป ทำอินเด็กซ์ต่อไป ซึ่งเว็บที่เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้นส่วนใหญ่แล้ว จะมีช่องให้คุณ สามารถที่จะใส่ ที่อยู่ URLs ของคุณ ลงไป เพื่อการตรวจสอบของเสิร์ช เอ็นจิ้น ในภายหลังได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ AltaVista จะมีช่อง "Add/Remove URL" ที่ตอนล่าง ในโฮมเพจของมัน

อย่าลืมหาข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้ เว็บเพจของคุณอยู่ในอันดับต้น ๆ ในการจัดเรียงลำดับ เมื่อมีการคิวรีข้อมูล เกี่ยวกับที่อยู่ URLs และรายละเอียด เนื้อหาสาระของเพจของคุณ ขอให้ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.searchenginewatch.com/webmasters
และที่   http://rankthis.webpromote.com
(มี online tool ให้ดาวน์โหลดฟรีด้วย)

กิตติศักดิ์ ฤกษ์ศิริสุข


ขอบคุณนิตยสารcomputer tod@y ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุดE-LIB [ hey.to/yimyam ] [ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1