( เรื่องนี้คัดลอกมาจากนิตยสาร internet to d@a ปีที่3 ฉบับที่36 มิถุนายน 2541 )

วิธีค้นการหาข้อมูลโดยใช้ YAHOO

สัณฑวุฒิ ตุลารักษ์


การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีการที่รวดเร็ว และประหยัด แต่มีข้อเสียอยู่นิดหนึ่ง คือเสียค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งถ้าคุณได้รู้วิธีการใช้บริการค้นหาข้อมูลอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพที่ www.yahoo.com แล้วล่ะก็ คุณจะสามารถหาไซต์ที่ต้องการ ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย

Yahoo ถือว่าเป็นบริการค้นหาข้อมูลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจาก Yahoo แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นทั้ง Directories และ Search engine

โดยที่การค้นหาข้อมูลแบบ Directories นั้น มีวิธีการค้นหาที่แตกต่างจากแบบ Search engine ตรงที่ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บ ในลักษณะ ที่เป็นหมวดหมู่ หรือแยกตามประเภท ที่กระทำโดยคน ไม่ใช่โดย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิธีการค้นหาข้อมูลแบบนี้ จะทำได้โดยการเข้าไปดูทีละ categories และเข้าไป ใน sub-categories ซึ่งเริ่มจากหัวข้อที่เป็นเรื่องทั่วไปหรือกว้าง ๆ ก่อน แล้วจึงเข้าสู่หัวข้อ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ถึงหัวข้อที่เราต้องการ ข้อดีของการจัดโครงสร้างแบบนี้ คือ จะทำให้คุณ มีโอกาสเลือก ในสิ่งที่ต้องการได้ในขณะที่เข้าไปในหัวข้อย่อยนั้น ๆ

แต่สำหรับการค้นหาข้อมูลแบบ Search engine นั้นเป็นการค้นหาข้อมูลจาก Keyword ที่คุณพิมพ์ลงไป โดยที่คุณจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่า มีข้อมูลอะไรบรรจุไว้ในนั้นบ้าง จนกว่าคุณจะพิมพ์คำ ที่ต้องการค้นหาลงไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ในครั้งแรก อาจจะต้องลองเปลี่ยนคำที่เป็น Keyword หลายครั้ง หรืออาจจะต้อง กลั่นกรองคำที่ค้นหาเพื่อให้ผลลัพธ์แคบลง และอาจจะต้องพยายามใหม่อีกหลายครั้ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ที่แสดงขึ้นมาจากการค้นหาข้อมูลแบบ Search engine จึงเป็นผลลัพธ์ที่ มีจาก Keywords ที่คุณพิมพ์ลงไปนั่นเอง

การค้นหาข้อมูลแบบ Directories

Yahoo ได้จัดแบ่งลักษณะโครงสร้างแบบ Directories หรือการจัดหมวดหมู่ ออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ 14 หัวข้อ คือ

  1. Arts and Humanities
  2. Business and Economy
  3. Computers and Internet
  4. Education
  5. Entertainment
  6. Government
  7. Health
  8. News and Media
  9. Recreation and Sports
  10. Reference
  11. Regional
  12. Science
  13. Social Science
  14. Society and Culture

คุณจะสังเกตเห็นว่า Yahoo จะเริ่มจัด categories จากเรื่องทั่ว ๆ ไปก่อน แล้วจึงเข้าสู่ เรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ลองมาดูตัวอย่างการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ภาพยนต์เรื่อง Star Wars กันนะครับ เริ่มแรกเราอยู่ที่ หน้ารายการหลัก จะเห็นหัวข้อหลัก 14 หัวข้อ ทีนี้มาลองนึกดูว่า Star Wars ควรจะอยู่ในหัวข้อใด แน่นนอนว่ามันคงไม่ได้อยู่ในหัวข้อ Government หรือหัวข้อ Health แน่ ดังนั้นจึงมีแต่หัวข้อ Entertainment ที่มันจะอยู่ได้ ซึ่งในตัวเอง ก็จะมีหัวข้อย่อย ให้เลือกอีกหลายหัวข้อเช่น Cool links , Movies , Music , Humor ให้คุณเลือกแต่ดูแล้วหัวข้อ Movies and Films น่าจะใกล้เคียงที่สุด ต่อไปก็เลือกหัวข้อ Genres จากนั้นให้เลือกหัวข้อย่อย Science Fiction and Fantasy และ Series เพราะภาพยนต์เรื่อง Star Wars เป็นเรื่องเกี่ยวกับ นิยายวิทยาศาสตร์ ซึงมีหลายภาค คุณจะเห็นว่าข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนต์เรื่อง Star War ได้ถูกจัดแย่งเป็นหมวดหมู่ตามภาคต่าง ๆ เช่น The Empire Strikes Back , Return of the Jedi และเว็บไซต์ที่เป็นทางการของ Star Wars ให้คุณเลือกตามความต้องการ

นอกจากนี้ Yahoo ยังได้แบ่งประเภทของเว็บไซต์ที่เป็นการค้า (commercial) กับเว็บไซต์ ที่ไม่ได้เป็นการค้า (Non-commercial) ออกจากกันด้วย โดยทุกเว็บไวต์ ที่มีการขายสินค้า หรือบริการ จะถูกจัดไว้ในหัวข้อหลัก Business and Economy ซึ่งจะช่วยให้เราค้นหาข้อมูล ได้ง่ายยิ่งขึ้น สมมุติว่า คุณต้องการจะหาเว็บไซต์ ที่ขาย ไม้เทนนิส คุณควรจะเข้าไปที่หัวข้อ Business and Economy แทนที่จะเข้าไปที่หัวข้อ Recreation and Sports จากนั้น เลือกหัวข้อย่อย Companies : Sports : Tennis : Equipment : Racquets รายชื่อบริษัทที่ขายไม้เทนนิสก็จะปรากฎขึ้นมา

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ Yahoo ได้แบ่งประเภทของเว็บไซต์ ที่เป็นของประเทศอื่น ซึ่งไม่ใช่ สหรัฐอมริกา ไว้ในหัวข้อต่างหาก อีกหัวข้อหนึ่ง คือหัวข้อ Regional และเมื่อเข้าไปที่หัวข้อย่อย Countries คุณจะพบกับรายชื่อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ตัวอย่างเช่น คุณต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณจะต้องไปที่หัวข้อใหญ่ Regional แทนที่จะไปที่หัวข้อใหญ่ Education แล้วเลือกหัวข้อย่อย Countries แล้วเลือก Thailand ได้แบ่งหัวข้อย่อยลงไปอีกมากมายให้เลือก Cities แล้วเลือก Bangkok จากนั้นเลือก Education เสร็จแล้วเลือก Colleges and Universities คุณจะพบเว็บไซต์ของ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากมาย ที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ หรือ ถ้าคุณเลือกหัวข้อ Thailand เลย ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย

โดยทั่วไปแล้ว เรานิยมใช้การค้นหาข้อมูลแบบ Directories สำหรับการหาข้อมูลที่เป็นภาพโดยรวม เช่น เราต้องการไปเที่ยวภูเก็ต และต้องการหาโรงแรมในภูเก็ต แต่ไม่รู้ว่าที่ภูเก็ตมีโรงแรมอะไรบ้าง ให้คลิ้กที่ Countries : Thailand : Islands : Puket : Lodging : Hotels คุณก็จะพบกับเว็บไซต์ของโรงแรมต่าง ๆ ในภูเก็ต

ซึ่งข้อดีการค้นหาข้อมูลแบบ Directories อีกอย่างก็คือนอกจากคุณจะหาโรงแรมที่ภูเก็ตได้แล้ว คุณยังสามารถค้นหาสถานที่พักประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยการคลิ้กที่หัวข้อรองสุดท้ายในที่นี้คือหัวข้อ Lodging ซึ่งจะเห็นว่ามีที่พักที่เป็นแบบ Bed and Breakfast และแบบ Resorts ให้เลือกอีกด้วย

การค้นหาแบบ Search engine

สำหรับการค้นหาแบบ Search engine นั้นเป็นการค้นหาข้อมูล ในกรณีที่คุณต้องการค้นหา เว็บไซต์ใด เว็บไซต์หนึ่ง โดยเฉพาะ เช่นต้องการค้นหาเว็บไซต์ของ เกมส์ Duke Nuken แทนที่คุณจะต้องมาคลิ้กตาม categories และ sub-categories ซึ่งจะเสียเวลา ให้คุณพิมพ์ คำว่า duken ลงไปในช่องว่างเลยโดยพิมพ์เป็นตัวอักษรตัวเล็กทั้งหมด ถ้า Yahoo ไม่สามารถ หาเว็บไซต์ ได้ตรงตามความต้องการของคุณ จะมีลิงก์ว่า Go to Alta Vista ขึ้นมาให้คุณคลิ้กเพื่อไปยัง Altavista อีกที

หมายเหตุ การทำงานของ Serch engine ของ Yahoo นั้นจะอาศัยข้อมูลจาก Keywords ที่ผู้ใช้ กรอกรายละเอียดไว้ ตอนลงทะเบียนไม่เหมือนกับ Alta Vista ซึ่งจะค้นหาจากทุกคำที่อยู่ในเว็บเพจ และที่อยู่ในคำสั่ง < META >

หลักการค้นหาข้อมูลแบบ Search engine

หลักในการค้นหาข้อมูลแบบ Search engine มีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. พิมพ์คำ หรือวลีที่คุณต้องการค้นหาลงไปในช่องว่างเลยโดยพิมพ์เป็นต้วอักษรตัวเล็กแล้ว คลิ้กที่ปุ่ม Search ผลลัพธ์ก็จะปรากฎขึ้นมา
  2. คุณสามารถใช้ wildcard เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูลได้ด้วยโดยการใช้เครื่องหมายดอกจัน (*) ตัวอย่างเช่น ต้องการหาคำทั้งหมดที่ขึ้นต้นคำว่า refresh ให้พิมพ์ว่า refresh* ลงในช่องว่าง Yahoo จะทำการค้นหาคำต่าง ๆ ที่ขึ้นด้วย refresh เช่น refreshing , refreshment , และ refresher
  3. ในกรณีที่ต้องการค้นหาวลี(คำที่อยู่ติดกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป) ให้ใช้เครื่องหมาย [……….] ล้อมรอบ เช่น [office 97] ไม่เช่นนั้น Yahoo จะแสดงผลลัพธ์ของทุกเว็บไซต์ที่มีคำว่า office กับคำว่า 97 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการ
  4. ใช้บูลีนซึ่งประกอบด้วย AND, OR, NOT ช่วยในการค้นหา ตัวอย่างเช่น pattaya AND phuket จะค้นหาเฉพาะเว็บไซต์ที่มีคำทั้งสองคำนี้อยู่ ส่วน pattaya OR phuket จะทำการค้นหาเว็บไซต์ที่มีคำใดคำหนึ่ง หรือทั้งสองคำนี้อยู่สำหรับ pattaya NOT phuket จะทำการค้นหาเฉพาะเว็บไซต์ที่มีคำว่า pattaya โดยไม่มีคำว่า phuket อยู่ด้วย
  5. ใช้เครื่องหมายบวก (+) และเครื่องหมายลบ (-) โดยที่เราจะใช้เครื่องหมายบวก เมื่อเราต้องการ ให้คำ ๆ นั้นอยู่ด้วยในผลลัพธ์ทั้งหมด เช่น scuba diving + phuket และเราจะใช้เครื่องหมายลบ นำหน้าคำที่ไม่ต้องการให้อยู่ในผลลัพธ์ เช่น scuba diving - phuket
  6. ในกรณีที่ต้องการค้นหาเฉพาะ title ให้พิมพ์ t: นำหน้าคำหรือวลี เช่น t: elvis prestley
  7. ถ้าต้องการค้นหาเฉพาะ URL ให้พิมพ์ u: นำหน้าคำหรือวลี เช่น u: toyota

หมายเหตุ คุณสามารถศึกษาการใช้บูลีนและเครื่องหมายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จาก Internet Today ฉบับที่แล้ว เรื่องการใช้ AltaVista

สัญญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎใน Yahoo

  1. แว่นกันแดด หมายถึง เว็บไซต์นั้นดีมาก ขอแนะนำให้เข้าไปดู
  2. Xtral หมายถึง มีข่าวล่าสุดเกี่ยวกับหัวข้อนั้น
  3. @ หมายถึง ข้อมูลใน category นั้น ได้ถูกจัดให้อยู่ใน category อื่นด้วย เช่น เบ็ดตะปลา นอกจากจะอยู่ในหัวข้อ Business and Economy ด้วย

ท้ายสุด

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ Yahoo ซึ่งรวมการค้นหาทั้งแบบ Directories และแบบ Search engine เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การค้นหาข้อมูล ทำได้ง่ายและรวดเร็ว จึงทำให้ Yahoo เป็นบริการค้นหาข้อมูล ที่มีผู้นิยมทั่วโลก


[BACK TO INTERNET]  [BACK TO COMPUTER]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
1