มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์หยูกยาน่ารู้ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ]

รู้เรื่องยาทาสิว

ภ.ญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร


ยาทาที่แพทย์มักจะจ่ายเมื่อเป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่ผิวหนัง มี 2 ขนานคือ เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ และ กรดวิตามินเอ ชนิดทา

ยาทาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ มีขนาดตั้งแต่ 2.5%, 5% จนถึง 10% มีหลายยี่ห้อ ยานี้จะช่วยละลายก้อนไขมัน และเซลที่อุดตันต่อมไขมัน ช่วยฆ่าแบคทีเรีย ที่ย่อยสลายไขมัน ควรจะเริ่มทาด้วยยาขนาด 2.5% วันละ 1-2 ครั้ง หลังล้างหน้าเช้าและเย็น ที่ต้องเริ่มขนานยาต่ำ ๆ ก็เพราะยานี้ บางคนอาจแพ้ และเกิดอาการผิวแดงหรือคันได้
ถ้าทายาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ขนาด 2.5% วันละ 2 ครัง นาน 5-7 วัน แล้วอาการดีขึ้น ไม่แพ้ยา ก็อาจเพิ่ม เป็นขนาด 5% ได้โดยทาเช้า-เย็นเช่นเดียวกัน ทาไปเรื่อย ๆ จนอาการสิวดีขึ้นแล้วหยุดได้ ปกติอาการจะดีขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าสิวเริ่มขึ้นเป็นอีกก็ทายาใหม่ได้
โดยทั่วไปไม่นิยมใช้ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ขนาด 10% เพราะแรงเกินไป ยกเว้นบางราย ที่จำเป็น

สำหรับยากรดวิตามินเอ ชนิดทา บางครั้งอาจจะเขียนชื่อยาเป็น เตตริโนอิล หรือ เตตริโนอิก เอซิด ยานี้ช่วยละลายสิวที่มีอาการอุดตันของต่อมไขมัน ได้ดีมาก ปกติใช้ขนาด 0.025% และจะให้ทาคนละเวลา กับยาทาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ที่นิยมคือจะให้ทายากรด วิตามินเอ นี้ก่อนนอน
ยาทากรดวิตามินเอนี้ต้องระวังห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นถ้าจะใช้ยาทากรดวิตามินเอในผู้หญิง จะต้องแนะนำให้คุมกำเนิด ในช่วงที่ใช้ยานี้ด้วย
ยากรดวิตามินเอ ชนิดรับประทาน จะใช้ใน ขนาดยาสูงมาก ช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผิวแห้ง ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์เช่นกัน และมีผลข้างเคียง คือปวดศรีษะ และทำให้ตับอักเสบได้ จึงต้องใช้ภายใต้ คำแนะนำของแพทย์ และเภสัชกรเท่านั้น

สำหรับสิวอักเสบที่เป็นหนอง นอกจากจะต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นให้ดีแล้ว อาจจะได้รับยาทา ที่มีตัวยาปฏิชีวนะ คลินดามัยซิน (Clindamycin) เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
อย่างไรก็ดีการใช้ยาทาสิวจะได้ผลดี ถ้ามีการดูแลรักษาใบหน้าผิวหนังรวมทั้งสุขภาพให้ดีควบคู่ไปด้วย ซึ่งการทำความสะอาดก็ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ยา ถ้าไม่ได้มีการอักเสบเป็นหนองรุนแรง ใช้เพียงสบู่อ่อน ล้างทำความสะอาด บริเวณใบหน้า หรือบริเวณที่เป็นสิว วันละ 2-3 ครั้ง แล้วใช้ผ้าขนหนูสะอาด ซับ ให้แห้ง ไม่ควรใช้ผ้าถูไปมา เพราะอาจเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทาน ผักผลไม้มาก ๆ และงดอาหารหวาน ๆ มัน ๆ รวมถึงการดื่มน้ำอัดลม ตลอดจน หลีกเลี่ยง การใช้เครื่องสำอางที่เราแพ้ หรือพยายามไม่กินยาสเตียรอยด์ (Steroid) ต่อเนื่องนาน โดยไม่จำเป็น จะช่วยลดการเกิดสิว, ลดความรุนแรงของสิว และช่วยให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง อีกด้วย

ภ.ญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย)


[BACK TO ผิวหนัง] [BACK TO เรื่องยา]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1