มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ.2541 ]

ผู้หญิง ผู้ชาย ใครควรระวัง... อัลไซเมอร์

โดย พ.ญ.นันทิกา ทวิชชาชาติ


อัลไซเมอร์ ตั้งขึ้นตามชื่อของนายแพทย์ ผู้ค้นพบจากการสังเกตการป่วยของโรคนี้ และเป็นที่สนใจมากขึ้น การรู้จักกับ อัลไซเมอร์ จึงต้องรู้จักกับ คำว่า โรคสมองเสื่อม เพราะ อยู่ในกลุ่มอาการเดียวกัน แต่สำหรับ อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมที่ยังไม่สามารถรักษาได้ และ อาการของโรคจะแย่ลงตามสภาพสมอง ผู้ป่วยจะอยู่ได้มากที่สุดไม่เกิน 8-10 ปี

พ.ญ.นันทิกา ทวิชชาชาติ ผู้เชี่ยว ชาญด้านสมองจากโรงพยาบาลจุฬากล่าวว่าโรคสมองเสื่อมเป็น กลุ่มอาการความบกพร่องของกระบวนการความคิดผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะ แต่ส่วนที่เสียไป คือ สติปัญญาความสามารถของสมอง ซึ่งทำให้กระบวนการคิดบกพร่อง ซึ่งอาการที่แสดงออกประกอบด้วย ความจำโดยเฉพาะการสูญเสียความจำใหม่ๆ

ความจำใหม่คืออะไร? โดยปกติเรื่องในความรับรู้ของคนเราภายใน 24 ชม. ถือว่าเป็นความจำใหม่ และโดยทั่วไปเป็นสิ่งที่เรายังจำได้ เช่น เมื่อวานเย็นกินข้าวกับอะไร ถ้านึกไม่ออก แปลว่า สูญเสียกำลังความจำใหม่

ตัววัดที่สองคือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะทำได้น้อยลง

ตัววัดที่สามคือ ความผิดปกติของภาษา และการสื่อสาร จำไม่ได้ว่าตัวเองพูดอะไร, พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ, เรียกชื่อวัตถุสิ่งของ หรือชื่อคนที่เคยรู้จักไม่ได้ หรือบางทีก็อ่านหนังสือไม่ได้

"ประการที่สี่ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาน้อยลงและความสามารถในการตัดสินใจถอยลง เช่น เดินหลงทิศทาง บางกรณีเดินออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก กิจวัตรประจำวันก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เช่น ใส่เสื้อผ้า หรือติดกระดุมที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้"


นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ยังมีอาการทางด้านจิตใจด้วย เช่น อารมณ์เปลี่ยนเร็ว,ควบคุมตัวเองไม่ได้ บุคลิกภาพ และอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ในทางก้าวร้าวและจะเป็นปัญหากับผู้ดูแลคนป่วยมาก

"คนที่เป็นคนเจ้าระเบียบ คนที่ยึดความสมบูรณ์แบบ ประเภท perfectionist ถ้าเป็นโรคสมองเสื่อม จะเห็นบุคลิกภาพส่วนนี้ชัดเจนขึ้น จะเป็นคน จู้จี้ เจ้าระเบียบมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน"

สำหรับอัลไซเมอร์ ซึ่งพูดถึงกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในระยะหลัง พ.ญ.นันทิกา กล่าวว่า อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง โรคสมองเสื่อมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคสมองเสื่อมชนิดชั่วคราว และชนิดถาวร

โรคสมองเสื่อมชนิดชั่วคราว
เช่นอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บของสมองการเกิดจากอุบัติเหตุ,เนื้องอกในสมอง
ซึ่งในกรณี โรคสมองเสื่อมแบบนี้เมื่อแก้ไขอาการเจ็บป่วยซึ่งเป็นสาเหตุได้ ก็จะหายขาดได้

ประเภทที่สอง คือ สมองเสื่อม ชนิดถาวร
จะค่อยๆ แย่ลงจนถึงอาการสุดท้าย คือ ช่วยตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตไป เพราะอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งอัลไซเมอร์อยู่ในกลุ่มนี้และไม่สามารถรักษาให้หายขาด จึงได้รับความสนใจอย่างมาก

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เคยถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองจนสร้างความสับสน โดยอาศัยความไม่รู้ ของคนส่วนใหญ่เป็นโอกาส และยังมีคนที่เข้าใจน้อยมาก

อัลไซเมอร์ เกิดจากการที่มีความผิดปกติ ของโปรตีนในสมอง และโปรตีนนั้นก็จะไปเกาะที่สมอง กินพื้นที่สมองทำให้สมองส่วนนั้นทำงานไม่ได้ และเสียไปในที่สุด อีกสาเหตุ คือเกิดจาก เชื้อไวรัส ที่ค่อยๆ โตขึ้น จากนั้นเมื่อป่วยเป็นอัลไซเมอร์เนื้อสมองส่วนใหญ่จะเกิดการฝ่อโดยทั่วๆ ไปทั้งสมอง การทำงานสั่งการของสมองจะเสื่อมลงเรื่อยๆจนกระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เคยทำได้

"ถ้าดูจาก เอกซเรย์สมอง จะพบว่าผู้ป่วยจะเกิดช่องว่างในสมองช่องว่างที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของ ระบบเคมี ของระบบใยประสาทสมองที่ประสานสมองส่วนต่างๆทำงานได้แย่ลงรื่อยๆ"

การจะรู้ว่าตัวเองเป็นอัลไซเมอร์ หรือไม่นั้น ทำได้โดยการทดสอบหลายอย่างประกอบกัน เช่นโดยการตรวจร่างกายทางคลินิก, การตรวจคลื่นสมอง การตรวจเลือด, การสัมภาษณ์ ทดสอบความจำ สภาพจิต สติปัญญา สังเกตุพฤติกรรม และการใช้แบบทดสอบไอคิว การจะบอกว่าเป็นการป่วย แบบอัลไซเมอร์หรือไม่นั้น จะดูได้จากการเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปและรบกวนชีวิตการทำงาน และชีวิตทางสังคม เช่น ความสามารถในการกิน อาบน้ำ การเดินการแต่งตัว การทำอาหาร

คำถามสำคัญที่คนทั่วไปอยากรู้ก็ คือ โรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องใกล้ตัวใคร คนในวัยไหน จากสถิติโรคสมองเสื่อมจะพบในคนวัย 40 ปีขึ้นไป เพราะหลัง 40 ปี ทุกอย่างในร่างกาย จะหย่อนยานลง เสื่อมลง โรคนี้จึงเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ จากการศึกษาในประเทศต่างๆ พบตัวเลขแตกต่างกันออกไปมาก ถ้าตัวเลขเฉลี่ยจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ในวัยนี้จะพบมากที่สุด และ 5%ของคน 65 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดรุนแรง

พ.ญ.นันทิกา กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมจะสัมพันธ์กับอายุอย่างมากเมื่ออายุสูงขึ้นโอกาสที่เป็นโรคนี้ก็มากขึ้น โดย 20-25% ของคนอายุ 85 ปีจะเป็นโรคนี้และที่ทำให้อัลไซเมอร์ถูกพูดถึงมากก็เพราะว่า 2ใน3 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเป็นชนิดอัลไซเมอร์ ส่วนอีก 1ใน3เท่านั้น ที่จะเป็นสมองเสื่อมชนิดอื่น ที่มีสาเหตุมาจากส่วนอื่นไม่ใช่ส่วนสมองโดยตรง ตัวอย่างคือ สมองเสื่อมเนื่องจาก โรคเส้นเลือดในสมอง ทั้งเส้นเลือดอุดตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตกและโรคที่พบในระยะหลังในกลุ่มของโรคเส้นเลือดในสมอง คือ โรคติดเชื้อในสมอง ผู้ที่มีอายุมากๆมีโอกาสเป็นทั้ง 2 ชนิด คือ ทั้งชนิดโรคเส้นเลือดในสมอง และชนิดอัลไซเมอร์

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์
นอกเหนือจากอายุแล้วยังเกี่ยวพันกับเพศด้วยโดยเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย ซึ่งไม่มีใครทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตามโรคสมองเสื่อม ที่มีสาเหตุที่เกิดจากเส้นเลือดในสมอง ก็จะเกิด และพบในผู้ชายมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ ยังสัมพันธ์กับพันธุกรรม ถ้าผู้ที่มีบรรพบุรุษเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสเป็นสูงกว่า และสุดท้ายคือ ผู้ที่เคยมีประวัติว่า เคยได้รับบาดเจ็บ จากสมองในอดีต เมื่อแก่ตัวลง ก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์สูง โดยสรุป อัลไซเมอร์จึงมีความสัมพันธ์กับ สี่ปัจจัย คือ อายุพันธุกรรม มีประวัติอุบัติเหตุที่กระทบต่อสมอง และเพศ ดังนั้นผู้สูงอายุ จึงอาจลองสำรวจ ตัวเอง ว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรในสี่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์

"สาเหตุของสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ปัจจุบันนี้วงการแพทย์เองก็ยังไม่ทราบสาเหตุ เราจึงไม่รู้ว่า การป้องกันและการรักษาควรจะเป็นอย่างไร การดูแลผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ จึงเป็นการประคับประคอง และรักษาตามอาการ เพราะโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างดีก็ คือ ดูแลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี" พ.ญ.นันทิกา กล่าว

พ.ญ.นันทิกา ทวิชชาชาติ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จากโรงพยาบาลจุฬา


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1