มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2541]

การเตรียมตัวเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์

โดย รศ.นพ.นันทิกา ทวิชาชาติ พันธุ์


คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งวันใดความจำของคุณถูกลบหายไปจนหมดสิ้น คุณไม่สามารถที่จะจดจำ สิ่งต่าง ๆ ได้เลย ทั้งคนที่คุณรัก ตัวคุณเอง ไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร อยู่ที่ไหน และจะทำอะไร

นั่นคือคำตอบที่บีบคั้นพอสมควรสำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือมีญาติ และบุคคลอันเป็นที่รัก ป่วยด้วยโรคนี้

คนที่เป็นอัลไซเมอร์นั้น การทำงานของสมอง จะถูกทำลายลง ถ้าเกิดในผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ถ้าสังเกตจะพบว่า ความจำและความเฉลียวฉลาดของผู้ป่วยโรคนี้ จะค่อย ๆ ลดลงไป ทีละน้อย ๆ บุคลิกภาพและการตัดสินใจช้าลงเรื่อย ๆ และเมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลถึงอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การสั่งการของสมองด้วย

ถ้าผู้สูงวัยในบ้านโชคร้ายถูกโรคนี้คุกคามก็คงต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะโรคนี้รักษาไม่หาย และการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ค่อนข้างเป็นเรื่องหนักพอสมควร เพราะประสบการณ์ การเรียนรู้ของผู้ป่วย จะถูกลบหายไปหมด เช่นที่ เคยรู้ว่าสิ่งไหนอันตรายต้องระมัดระวัง ก็จะลืมไปหมด และไม่มีการเรียนรู้ หรือจดจำสิ่งใหม่ ๆ อีกต่อไป แต่ถ้าลูกหลานสามารถรู้ตัวแต่เนิ่น ๆ อย่างน้อย ก็จะช่วยให้ความจำของท่าน ไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ เพราะสมัยนี้ มียาที่ช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้แล้ว

การสังเกตว่าคนที่คุณรักในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่ อาจเริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการหลงลืมมากขึ้นจนถึงระดับลืมชนิดที่เรียกว่าเป็นเรื่องเป็นราว ประเภทกินข้าวหรือยังก็ไม่รู้ วางของไว้ตรงไหน ก็นึกไม่ออก พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในประโยคเดียวกันทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง คุยอะไรไปหยก ๆ ก็จำไม่ได้ สิ่งที่เคยทำได้ดี ก็ทำได้ช้าลง หรือทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะกิจวัตรส่วนตัว เช่น การล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว ฯลฯ การตัดสินใจช้าลง คิดอะไรไม่ค่อยออก บอกอะไรไม่ค่อยถูก นอกจากนั้นอาจมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวมากขึ้นหรือซึมเศร้า

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ ควรพาผู้สูงวัยไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย หากป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จริง สิ่งที่คุณจะทำได้ดีที่สุด ในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยก็คือ ให้ความรักความเข้าใจ ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดี คอยหมั่นสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จดบันทึกไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูล เล่าให้แพทย์ฟัง จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.นพ.นันทิกา ทวิชาชาติ


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1