นพ.ยรรยง ทองเจริญ
ปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับโรคสมองเสื่อม "อัลไซเมอร์" ซึ่งในอดีตเรียกกันว่า โรคหลงลืมของคนแก่ แต่จริง ๆ แล้วอาการหลงลืมในบั้นปลายของผู้ชรา ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดานัก ทางที่ดีควรจะได้มีการสังเกตและติดตามอาการ พฤติกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัวของคุณอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีอาการป่วยจริงจะได้หาวิธีการดูแลที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีค่ายิ่ง ในครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่หลงเหลืออยู่
ลักษณะเด่นชัดของโรคอัลไซเมอร์ก็คือ อาการหลงลืมเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น จำไม่ได้ว่าไปไหนมา จำไม่ได้ว่าใครมาพูดอะไรให้ฟัง หรือแม้แต่จำไม่ได้ว่ากินข้าวหรือยังในวันนั้น นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการอื่น ๆ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ พูดซ้ำซาก สับสน หลงทาง ช่วยตัวเองในเรื่องของการอาบน้ำ หรือทำกิจวัตร ที่เป็นส่วนตัวไม่ได้ ในรายที่อาการรุนแรงก็จะถึงขนาดจำลูกหลานไม่ได้ ขับถ่ายไม่รู้เรื่อง ฯลฯ
หากพบว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายอย่างที่ว่านี้ อย่าปล่อยปละละเลย ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยถ้าพบว่าป่วยจริงจะได้หาวิธีการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยประคับประคองอาการ ไม่ให้เลวร้ายหรือรุนแรงไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางที่ดีควรจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงของอาการในแต่ละวันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์มาก เพราะโรคนี้ยังไม่มียาชนิดใดสามารถรักษาให้หายขาด คงทำได้แค่เพียงให้ยาชะลออาการเสื่อมของความจำ อันจะเป็นการต่อชีวิตของผู้สูงวัยให้มีความหมายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
นพ.ยรรยง ทองเจริญ
อายุรกรรมประสาท
main |