เรียบเรียง โดย พญ.วรรณา วงศ์เมฆ
ปัญหาน่าหนักใจอย่างหนึ่งของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็คือ เรื่องความจำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ จะมีความทรงจำสั้น เช่น เพิ่งจะพูดเรื่องใด เรื่องหนึ่งไปไม่นาน สักพักก็จะลืม หรือวกกลับมาพูดใหม่ หรือบางครั้งก็ถามคำถามซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น หลายครั้ง ถ้าคนไม่เข้าใจก็อาจรำคาญได้
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ จะมีอาการเสื่อมของเซลล์ประสาท โดยเฉพาะเซลล์สมอง ในส่วนที่เรียกว่า Hippocampus และ Cerebral cortex ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความจำ และการใช้เหตุผล ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น อาจก่อให้เกิดผลเสียหลายประการ เพราะอาจทำให้ การตัดสินใจผิดพลาด ขาดเหตุผล ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ดีใจ หรือเสียใจ ได้ จึงมักแสดงออก ด้วยพฤติกรรม ที่แปลก ๆ เช่น ร้องไห้เกินกว่าเหตุ หรือหัวเราะจนเกินพอดี
การทดสอบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แพทย์จะต้องตรวจวัดระดับการทำงานของสมอง ที่สะท้อนผ่านความคิด ความจำ และพฤติกรรมของคนไข้ ประกอบการเอ็กซเรย์สมอง เพื่อตรวจดูว่า มีเซลล์ส่วนใด ที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะส่วน Hippocampus ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ระบบความจำโดยตรง อาจจะมีอาการฝ่อลีบได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีสมองลีบหรือฝ่อ จะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป เพราะอาการฝ่อ เหี่ยว ของสมองนั้น อาจเกิดขึ้นได้ ในผู้สูงอายุ ที่เมื่อมีอายุมากขึ้น เซลล์สมอง ก็อาจเหี่ยวย่นได้ ตามวัย เช่นเดียวกับ ผิวหนัง ที่เหี่ยวย่นเมื่อคนเราแก่ตัวลง
นอกจากคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีความจำสั้นแล้ว บางครั้ง อาจมีอาการ ที่เรียกว่า ความฝันยาว ร่วมด้วย เช่น ชอบที่จะจินตนาการ หรือคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไปเอง วิตกกังวลไปก่อน โดยที่ไม่ได้มี เหตุการณ์อะไร เกิดขึ้น และหลายครั้งที่ทำเอาคนใกล้ชิด เป็นงง ไม่รู้ว่าคุณปู่ คุณย่า ไปสรรหา เรื่องราวที่ไหนมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพยาธิสภาพ ที่เปลี่ยนแปลงไปของสมอง
ความเข้าใจเป็นยาขนานเอก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เดียวกับ การให้ยา รักษาอาการหลงลืม เพื่อชะลออาการของโรค ไม่ให้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว หรือรุนแรงมากขึ้น
main |