โดย ผศ.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข
แม้สมองเสื่อมจะยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ในทางการแพทย์ก็ได้มีการคิดค้นและพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ ขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาอาการหลงลืมและอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยสมองเสื่อมให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ประคับประคองไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
ยาในกลุ่มที่ใช้สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมมีตั้งแต่วิตามินประเภทต่าง ๆ สารสกัดจากสมุนไพรพืชธรรมชาติ หรือแม้แต่การใช้ฮอร์โมน ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ไม่นิยมใช้ เนื่องจากพบว่าไม่ได้ให้ผลดีในการรักษา แต่อย่างใด
ยาที่แพทย์นิยมใช้ในผู้ป่วยสมองเสื่อมมีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือยาขยายหลอดเลือดสมอง เป็นยาที่ใช้ โดยหวังผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น แต่ยาในกลุ่มนี้มีข้อจำกัดคือ จะใช้ได้เฉพาะ ผู้ป่วยบางราย ที่มีอาการของเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการรักษา ในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่
ยาในกลุ่มที่สอง ได้แก่ ยาประเภทที่ช่วยการทำงานของสมอง ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้เซลล์สมอง ที่เหลืออยู่ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยสร้างเซลล์ใหม่ ขึ้นมาทดแทนเซลล์สมอง ส่วนที่ตายไปแล้ว
มีการศึกษาทดลองประสิทธิผลของยาในกลุ่มนี้ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่สมาคมโรคอัลไซเมอร์และที่สถาบันศึกษาความชราวัยแห่งชาติของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งก็พบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการดีขึ้น ทั้งในแง่ของความจำ อารมณ์ และการตอบสนองต่าง ๆ รวมไปถึงอาการของสมองเสื่อมที่ส่งผลต่อภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วย
ปัจจุบันยาดังกล่าวได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยแล้ว โดยมีสรรพคุณ ใช้รักษาอาการสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้แพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ยาดังกล่าว น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นภาระต่อผู้ดูแล ครอบครัว และสังคมน้อยลงบ้าง แม้จะไม่สามารถหายขาดก็ตาม
ผศ.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข
main |