มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสอพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ]

ยาลดกรด

เภสัชกรวิศาล สุทธิพัฒนากูร


ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารทุกราย คงรู้จักยาลดกรดกันทุกคน เพราะว่า หาซื้อใช้กันได้ง่าย และใช้ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง อันเนื่องจากกรดแก๊ส ในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่จะมีสักกี่คนที่รู้บ้างว่า ถ้าใช้ยาลดกรดไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นผลเสียกับตัวคุณได้เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว เราแบ่งยาลดกรดออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรก เป็นยาลดกรด ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ที่รู้จักกันดี เช่น โซดามินต์ หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาตัวนี้จะดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็ว มักใช้ในคนที่มีกรด ในเลือดสูง เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน
กลุ่มที่สอง เป็นชนิดที่ไม่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาในกลุ่มนี้ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ป่วยที่มีกรดหลั่งมาก หลังการรับประทาน อาหารแล้ว มีอาการปวดจุกเสียด แน่นท้อง ได้แก่ เกลืออะลูมิเนียม เช่น อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ เกลือของแมกนีเซียม และแคลเซียมคาร์บอเนต สำหรับยาในกลุ่มหลังนี้ มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด

ยาลดกรดประเภทเกลืออะลูมิเนียมและแคลเซียมคาร์บอเนต เมื่อเราใช้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องผูกได้ ส่วนยาลดกรดประเภทเกลือของแมกนีเซียม ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นยาลดกรดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จึงนิยมที่จะนำยา ทั้งสองประเภท มารวมกันเพื่อลดผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้นของกันและกัน เมื่อเรากินยาลดกรด ยาจะช่วยทำให้ ความเป็นกรดในร่างกายของเราลดลง เนื่องจากคุณสมบัติของตัวยา ที่เป็นด่างนั่นเอง ผลคืออาการ ปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง อันเนื่องมาจากกรดหลั่งมากเกินไป ก็จะดีขึ้น

ยาลดกรดรูปแบบเม็ด ก่อนที่คุณจะกินยา ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
ส่วนยาน้ำ ก่อนกินยา ควรเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง เพื่อทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และควรกินยา หลังอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือเลือกกินยา เฉพาะเมื่อมีอาการ นอกจากนี้แล้ว เมื่อคุณจะเลือกซื้อหายามาใช้ คุณต้องรู้ก่อนว่า ขณะนี้คุณมีโรคประจำตัว หรือใช้ยาประจำ อะไรอยู่บ้าง เพื่อทำให้ไม่เกิดผลเสียกับตัวคุณ เช่น ถ้าคุณมีโรคไต โรคความดัน หรือโรคหัวใจ การใช้ยาลดกรดโดยมิได้ปรึกษากับแพทย์หรือ เภสัชกรก่อน อาจทำให้โรคเดิมที่คุณเป็นอยู่ แย่ลง ได้

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในการใช้ยาลดกรดคือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น ถ้าคุณใช้ยา เททราไซคลิน นอร์ฟลอกซาซิน สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และใช้ยา โพรพราโนลอล ดิจ๊อกซิน สำหรับโรคหัวใจ และความดัน เมื่อคุณกินยาเหล่านี้พร้อมกับยาลดกรด ผลคือ ยาลดกรดจะลดการดูดซึมของยาเหล่านี้ ทำให้ยาดังกล่าวออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้การควบคุมอาการของโรคดังกล่าว แย่ลง ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาลดกรด พร้อมกับยาเหล่านี้ แต่ถ้าจำเป็น ให้กินห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และถ้าคุณมีข้อสงสัย ก็สามารถซักถามเภสัชกรที่โรงพยาบาลหรือร้านขายยาได้

ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ยาลดกรดไม่ได้ช่วยป้องกัน หรือรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่เป็นเพียง ยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด จุกเสียด แน่นท้อง อันเนื่องมาจาก กรดหลั่งในกระเพาะมากเกินไปเท่านั้น ดังนั้นนอกจากการใช้ยาลดกรด เพื่อบรรเทา อาการแล้ว การลดปัจจัยเสี่ยง อันที่จะทำให้กรดในกระเพาะหลั่งมากกว่าปกติ เช่น ลดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ไม่กินให้อิ่มมากเกินไป กินให้เป็นเวลา ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือยาชุดมากินเอง โดยมิได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน พักผ่อนให้พอเพียง ปัจจัยเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ถ้าคุณปฏิบัติได้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาลดกรดอีกต่อไป

เภสัชกรวิศาล สุทธิพัฒนากูร


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1