มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ]

การกลับมาของ…แอนแทรกซ์

จารุณี ชัยชาญชีพ


ข่าวการระบาดของโรคแอนแทรกซ์หรือโรคกาลีที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้หลายคน เกิดความหวาดกลัว เนื่องจากเป็นโรคร้ายที่ทำให้ถึงตายได้ บางคนถึงขนาดเลิกกินเนื้อวัว กันเลย เพราะคิดว่าเป็นหนทางเดียวที่จะป้องกันโรคชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์จำพวก โค กระบือ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เชื้อนี้สามารถทำลายได้ง่าย เช่นเดียวกับแบคทีเรียทั่วไป แต่ถ้าเชื้อถูกกับอากาศ จะสร้างเกราะขึ้นมาห่อหุ้มป้องกันตัวเอง เรียกว่า สปอร์ ซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี คุณสมบัตินี้เอง ที่ทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้นานหลายสิบปี ในพื้นดิน หนังสัตว์ ขนสัตว์ การระบาดมักเกิดขึ้นภายหลังจากภาวะอากาศแห้งแล้ง ร้อนจัด เมื่อมีฝนตกลงมาชะล้าง หน้าดิน เชื้อที่อยู่ในดินจะโผล่มา และติดอยู่ เมื่อสัตว์มากินหญ้าอ่อน ทำให้ได้รับเชื้อนี้ เข้าไปในร่างกาย

การติดต่อมาสู่คนเกิดได้หลายทาง ส่วนใหญ่มักติดจากการชำแหละซากสัตว์ที่ป่วย ด้วยโรคแอนแทรกซ์ หรือผิวหนังสัมผัสกับเชื้อที่ติดมากับผลิตภัณฑ์หนังสัตว์หรือขนสัตว์ แต่ในประเทศไทย สาเหตุของการติดเชื้อมักเกิดจากการชำแหละซากสัตว์ที่ป่วย และการกินอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ โดยปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ ลู่ และจากการรายงานยังไม่เคยพบว่ามีการติดเชื้อจากคนไปสู่คน

อาการ หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1-7 วัน มักจะพบว่า เกิดอาการภายในเวลา 48 ชั่วโมง เริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อมาเป็นตุ่มบวม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสภายใน 2-6 วัน ตรงกลางตุ่มนี้จะยุบลงเป็นเนื้อตายสีดำ คล้ายแผลที่ถูกบหรี่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักไม่ปวดแผล ถ้าไม่ได้รับการรักษา ที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ทำให้ตายได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยการกิน กระเพาะ และลำไส้จะอักเสบ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ ถ้าหลอดอาหารอักเสบจะทำให้กลืนอาหารลำบากร่วมด้วย

สาเหตุของการระบาด ส่วนใหญ่เกิดจากการลักลอบนำโค กระบือจากชายแดนเข้ามาขาย ดังนั้น ทางที่ดีควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื้อถือได้ เช่น จากร้านที่ซื้อเป็นประจำ หรือในซุปเปอร์มาเก็ต ไม่กินอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ถ้าสงสัยว่าได้รับเชื้อ หรือมีอาการ ของการติดเชื้อ ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น ผู้ที่ทำงานห้องปฏิบัติการเชื้อแอนแทรกซ์ คนงานโรงงาน ผลิตภัณฑ์สัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยใส่ถุงมือ สวมรองเท้าบู๊ต

เกษตรกรหรือผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรสังเกตลักษณะอาการสำคัญในโค กระบือ สัตว์ที่เป็นโรคนี้มักแสดงอาการป่วยเฉียบพลันและตายกระทันหัน มีเลือดสีดำคล้ำ ออกทางทวารต่าง ๆ เลือดไม่แข็งตัว ซากเน่าเร็ว เมื่อพบสัตว์มีอาการเช่นนี้ ให้รีบแจ้ง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือสัตวแพทย์ และห้ามผ่าซากสัตว์หรือห้ามเคลื่อนย้าย โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อถูกอากาศแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ดังนั้น การทำลายซากสัตว์ ที่ปลอดภัยที่สุด คือ การเผาซากตรงที่สัตว์ตาย หรือฝังดินให้ลึกอย่างน้อย 1.5 เมตร แล้วโรยหน้าดินหลุมฝังด้วยปูนขาวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนวิธีทำลายเชื้อโดยวิธีอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จะให้คำแนะนำอย่างละเอียด สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาด ต้องนำโค กระบือ ไปรับการฉีดวัคซีนทุก ๆ 6 เดือนติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี ในพื้นที่ทั่วไปฉีดปีละครั้ง

การช่วยกันสอดส่องดูแลพ่อค้าที่ลักลอบนำโค กระบือ เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ผู้จำหน่ายเนื้อโค กระบือ ต้องมีความรู้และดูแลกันเอง เพราะหากเกิดการระบาดของโรคนี้จะส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงผู้ขาย ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งหลาย สุดท้ายคือ ประชาชนผู้บริโภคที่จะรับเคราะห์ กลายเป็นผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์โดยไม่รู้ตัว


ข้อมูลจาก: สัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ กรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข

จารุณี ชัยชาญชีพ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1