พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง
หลังจากชาวบ้านชุมชนคลองสะแก เขตสวนหลวง กทม.นี้เอง ได้ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์ 11 คน และเสียชีวิตแล้ว 1 คน ได้ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่ผู้คนละแวกนั้น สื่อมวลชนได้ประโคมข่าวทั้งในเมืองไทย และกระจายข่าวไปยังสำนักข่าวต่างประเทศ ก็น่าตกใจอยู่หรอก เพราะเหตุเกิดในเมืองหลวง ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ของ หน่วยราชการ ไม่ทั่วถึง จึงดูเสมือนว่าชาวบ้านและปศุสัตว์ถูกทอดทิ้งจากภาครัฐ แต่ถ้าติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดจึงจะทราบว่า ทางการได้พยายามดูแลอยู่แล้ว แต่มิได้ ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางพอ
แอนแทรกซ์ เป็นโรคที่มีมานานแล้วนับร้อยปีก็ว่า จนกระทั่ง ท่านหลุยส์ ปาสเตอร์ ได้คิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ขึ้นมาได้และทำการฉีดให้สัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย มานานจนดูเสมือนโรคนี้เกือบจะหายไปจากโลกกลม ๆ ใบนี้นานแล้ว แต่เมื่อนาน ๆ ไป เราพลั้งเผลอ รับซื้อวัวเถื่อนจากเขตพรมแดน เช่น พม่า กะเหรี่ยง หรือจากประเทศ ที่ไม่มี การสาธารณสุขที่ดีพอ ก็จะได้โรคนี้ติดมาด้วย อย่างเช่นกรณีนี้ คนในชุมชนซื้อวัว มา 3 ตัว จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ใกล้พรมแดนพม่า 1 ใน 3 ของวัวถึงแก่ความตาย โดยผู้เลี้ยง ก็ไม่ทราบสาเหตุ เหมือนกัน จึงทำการชำแหละเป็นอาหาร ชายเจ้าของวัว ลงมือชำแหละเอง และถูกมีดบาดที่มือ แต่ไม่ใช่บาดแผลธรรมดา เพราะวัวป่วยด้วยโรค แอนแทรกซ์โดยเจ้าของไม่ทราบ 3 วัน ต่อมาเมื่อเชื้อฟักตัวได้เต็มที่ ชายคนนั้นจึงมี อาการ ไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีตุ่มที่มือ และนอกร่มผ้า ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 1-2 ซม. คันเล็กน้อย เจ็บ ๆ ร้อน ๆ ต่อมามีอาการบวมแดง ตรงตุ่มบริเวณนั้นมากขึ้น แผลแตกออก ต่อมาเริ่มไอ หอบเหนื่อย ตัวมีสีเขียวคล้ำ หายใจไม่ออก นอกจากนี้ยังโชคร้ายซ้ำ เข้าไปอีก คือถ่ายเป็นเลือด ความดันตกต่ำ และถึงแก่กรรมในที่สุด ส่วนวัวอีก 2 ตัว ได้แบ่งให้คนอื่นเอาไปฆ่าทำอาหารเช่นกัน จึงมีผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ อีกหลายราย บางรายเข้าทำการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว
โรคนี้เกิดจากเชื้อชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Bacillus Anthracis เป็นแบคทีเรีย รูปร่างรี ๆ ถ้าย้อมด้วย สีย้อมเชื้อฮีมาทอกซีลิน จะติดสีชมพูแดง ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงจะเห็น ได้ชัดเจน โดยเฉพาะ ถ้าขยาย 100-1000 เท่า จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สัตว์ที่เป็นโรคนี้มีหลายชนิด เช่น วัว ควาย สัตว์ป่าทุกชนิด เมื่อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีเชื้อโรคดังกล่าวทุกอวัยวะของสัตว์นั้น ๆ ตั้งแต่ ขนสัตว์ เขา งา หนัง ตับไตไส้พุง มันสมอง ดังนั้นถ้าคนไปสัมผัสอาจจะเป็นการเลี้ยงดู หรือนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของสัตว์ ไปใช้ในการทำอุตสาหกรรม รวมถึงการทำรองเท้ากระเป๋า จะมีโอกาสติดเชื้อโรคชนิดนี้ ได้ทุกขั้นตอน การทำเนื้อสัตว์และเครื่องในวัวมาประกอบอาหาร ถ้าไม่ใช้ความร้อน สูงพอที่จะทำให้เนื้อสุกและเชื้อโรคตาย ก็จะก่อให้เกิดโรคแอนแทรกซ์ ในคนได้เช่นกัน
นอกจากนี้การหายใจหรือสูดดมในบริเวณที่มีสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ หรือในโรงฆ่าสัตว์ ที่ติดเชื้อเหล่านี้อยู่บ้าง จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายคนที่โชคร้ายเหล่านั้น ทำให้มีอาการ หายใจติดขัดหอบเหนื่อย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะเสียชีวิต
เมื่อชุมชนใดเกิดมีวัวหรือความล้มตายด้วยโรคนี้ สัตวแพทย์จากกรมควบคุมโรคติดต่อ จะต้องรีบเข้าไปดำเนินการจัดการกับการแพร่กระจายของโรค โดยจัดให้เขตนั้น เป็นเขตของโรคระบาดร้ายแรง ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคออกจากพื้นที่ และขณะเดียวกันก็ห้ามนำสัตว์ตัวใหม่ ๆ เข้าไปในเขตนั้น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้แก่ สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ทุกตัว เช่น วัว ควาย หมู แพะ แกะ บริเวณทุ่งหญ้าที่เคยเลี้ยงสัตว์หรือโรงฆ่าสัตว์ต้องทำการล้างทำความสะอาดและโรยปูนขาว หรือสารเคมีอื่น ๆ เพื่อทำการฆ่าเชื้อให้ตายหมด นอกจากนี้ต้องพยายามสืบค้นหาสัตว์ หรือคนที่ป่วยด้วยโรคนี้เพื่อนำมารักษา ที่สำคัญที่สุดต้องบอกให้ผู้นำชุมชนแจ้งให้ลูกบ้านทราบว่า ได้มีการระบาดของโรคนี้แล้ว ทุกคนต้องระวังดูแลตัวเอง ในกรณีที่จะซื้อหาเนื้อหรือเครื่องในสัตว์มารับประทานต้องทำให้สุกเสียก่อน โดยต้มเดือดอย่างน้อย 15-30 นาทีขึ้นไป ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ในสภาพสุก ๆ ดิบ ๆ แม้จะอร่อยเพียงใดก็ควรงด เพื่อความลปอดภัยของตนเอง
เมื่อพลาดพลั้งเกิดป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ก็อย่าท้อถอย ยังมียาที่ได้ผลดีในการฆ่าเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ แม้โรคนี้ในอดีตจะเป็นโรคร้ายแรงเพราะเมื่อมีการล้มป่วยแล้ว มักระบาดรวดเร็ว จะมีผู้คนล้มตายกันมากเป็นร้อยเป็นพัน จึงมีสมญาอีกชื่อว่า โรคกาลี แต่ปัจจุบันการสาธารณสุขดีมากขึ้นเรื่อย ๆ การระบาดของโรคลดลงมาก จนกระทั่ง แพทย์รุ่นใหม่ ๆ อาจไม่เคยพบโรคนี้ในคนจนกระทั่งวันนี้จึงได้เห็นอาการของโรคอีกครั้ง
พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง
main |