จารุณี ชัยชาญชีพ
ชีวิตประจำวันที่รีบเร่ง บวกกับความด่วนได้ เอาแต่ความสะดวกสบายในการปรุงอาหาร ทำให้หลายคน มองข้ามคุณค่าของอาหารไปอย่างน่าเสียดาย จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่า สิ่งที่ครองแชมป์ อาหารยอดนิยม มาช้านานก็คือ อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป ที่แพร่หลาย ทั้งในกลุ่มคน วัยหนุ่มสาว คนในวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเอาใจใส่มากกว่าปกติ เพราะเด็กวัยนี้ มักกินบะหมี่ ในลักษณะเป็นขนม กล่าวคือ เด็กจะกินโดยไม่ต้ม หรือลวกเพราะชอบความกรอบมันของเส้นบะหมี่
การกินผลิตภัณฑ์ชนิดนี้โดยไม่ผ่านการต้ม นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่เพียงพอแล้ว ยังทำให้รู้สึกคอแห้ง ดื่มน้ำมาก จนกินอาหารอื่น ที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ และหากกินมากเกินไป โดยไม่ได้กินน้ำ อาจมีผลให้บะหมี่เหล่านี้ ดูดน้ำในกระเพาะอาหาร จนเกิดขาดน้ำ และเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ นอกจากนี้ ถ้ามือเด็กสกปรก ก็อาจทำให้ เกิดอาการท้องเสียได้อีก เพราะการกินในลักษณะเคี้ยวกรอบ เด็กมักจะใช้มือหยิบกิน อย่างสนุกสนาน
เมื่อปี พ.ศ.2537 คณะกรรมการรัฐร่วมเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขมูลฐาน มีมติให้ศึกษา ถึงความเป็นไปได้ ในการเสริมอาหาร 3 ชนิด ซึ่งมีปัญหาขาดแคลน ในประเทศได้แก่ ธาตุไอโอดีน ธาตุเหล็ก และวิตามินเอ ลงในซองเครื่องปรุงรส ของผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยจะระบุไว้อย่างชัดเจน ที่ซองบะหมี่ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เป็นตัวการ ในการนำสารอาหารทั้ง 3 ชนิด ไปยังกลุ่มประชากร ที่มีปัญหาขาดแคลนอาหาร เพราะสามารถหาซื้อได้สะดวก ตามกำลังทรัพย์ และเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยม
ถ้าจะพูดถึงความเพียงพอทางคุณค่าของอาหารผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ 1 ห่อ/ถ้วย/ชาม สำหรับใช้ แทนอาหาร 1 มื้อ จะพบว่า ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีสารอาหาร ไม่เพียงพอ กับความต้องการ ของร่างกาย แม้จะเป็นชนิด ที่มีการเติมผัก เนื้อสัตว์อบแห้งแล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้บริโภค จึงควรเติมเนื้อสัตว์ ไข่ และผักสดลงไปบ้าง แต่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็ต้องกิน อาหาร มื้ออื่นให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงคุณค่า อาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ด้วย ข้อสำคัญ ไม่ควรกินอาหาร ประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อย่างเดียว เป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ร่างกาย ได้รับแต่แป้ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดสารอาหาร ที่จำเป็นอย่างอื่นได้
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมี แป้ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่ร้อยละ 60-70 และอย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ที่ทำจากแป้งสาลี จึงมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ จากแป้งชนิดอื่น ซึ่งมักให้คุณค่าทางโภชนาการ ในแง่คาร์โบไฮเดรตเท่านั้น ส่วนประกอบอื่น ๆ นอกจากแป้ง ได้แก่ น้ำมัน นิยมใช้น้ำมันปาล์ม เพราะหืนช้ากว่า น้ำมันพืชชนิดอื่น ในกรณีบะหมี่ ที่แช่น้ำร้อน มีปริมาณน้ำ ค่อนข้างสูงกว่าชนิดที่ต้องต้ม นอกจากนี้ น้ำมันอีกส่วนหนึ่ง ก็บรรจุอยู่ในรูปน้ำมันเจียวหอม แยกใส่ถุงพลาสติก เครื่องปรุงรสส่วนใหญ่ มีเกลือป่นอยู่ในปริมาณร้อยละ 3-7 ส่วนผสมคล้ายซุปผง รสต่าง ๆ ส่วนผสมที่มักขาดไม่ได้คือ ผงชูรส โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 0.6-1 กรัม (ซึ่งมีไดโซเดียม- 5-กัวไนเลต (Disodium-5-inosinate) และโซเดียม-5-ไอโนซิเอต (Disodium-5-inosinate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การชูรสของผงชูรส) นักวิชาการในปัจจุบัน สรุปว่าการเติมผงชูรสแท้ ในปริมาณดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อผู้บริโภค ยกเว้นในผู้ที่มีอาการแพ้ผงชูรสเท่านั้น นอกจากนี้ส่วนประกอบจูงใจ ในผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูป ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น หน่อไม้แห้ง สาหร่ายแห้ง ผักแห้ง เนื้อสัตว์อบแห้ง กุ้งอบแห้ง ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากภาชนะบรรจุ ในถ้วย หรือชาม แต่ก็มีส่วนทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากรูปแบบและรสชาติแล้ว ควรพิจารณา ภาชนะบรรจุ ต้องไม่มีรอยแตกรั่ว เพราะจะตามมาด้วยกลิ่นหืน และความชื้น ที่จะทำให้เกิด เชื้อรา และจุลินทรีย์ นั่นหมายถึงโรคทางเดินอาหาร ที่จะได้เป็นของแถม โดยไม่ตั้งใจ ฉลาก ต้องระบุชื่อของผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีเลขทะเบียน อาหาร ป้าย อย. ป้ายบอกปริมาณ เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบ กับสินค้ายี่ห้ออื่นได้ วัน เดือน ปี ที่ผลิต หรือวันหมดอายุ
ราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับรูปแบบและความแปลกของรสชาติ ซึ่งผู้บริโภค ต้องพิจารณา ประกอบ ในแง่ทุนทรัพย์ รสนิยม และความสะดวกในการเตรียมด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดที่บรรจุในถ้วย/ชาม ราคาจะค่อนข้างสูงกว่าแบบบรรจุในถุงพลาสติก และภาชนะบรรจุก็มีส่วน ในการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อนซื้อ จึงควรไตร่ตรองให้ดี อย่าเอาแต่สะดวกไปตามแฟชั่น จนลืมนึกถึงสภาพแวดล้อม ที่จะโยงใยสุขภาพ และเงินที่เสียมากขึ้นโดยใช่เหตุ
จารุณี ชัยชาญชีพ
นักโภชนาการ 8 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
main |