มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2541]

บอแรกซ์ สารอันตราย

บุญตา เจนสุขอุดม


วิถีชีวิตที่รีบเร่งในสังคมไทยปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่หันไปพึ่งพาอาหารที่ปรุงออกจำหน่าย จากร้าน ตามท้องตลาด หรือบาทวิถี การซื้ออาหารเหล่านี้มาบริโภคในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเสี่ยง ที่จะได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย จะมีผู้บริโภคสักกี่คน ที่ทราบว่า อาหารบางชนิด ที่เหนียวนุ่ม กรุบกรอบ มีสีสัดสดสวยน่ารับประทาน จะมีสารอันตราย "บอแรกซ์" แฝงอยู่ เพราะความเห็นแก่ได้ เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หรือโดยไม่รู้เท่า ถึงการณ์ของผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายอาหาร ที่นำสารอันตรายนี้ มาใส่เจือปนลงไปในอาหาร

ในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2540 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครโครงการคุณภาพชีวิตได้ติดตามตรวจสอบอาหาร ที่ จำหน่ายในท้องตลาด พร้อมทั้งส่งวิเคราะห์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฏว่า พบสารบอแรกซ์ ปนเปื้อนในอาหารประมาณ 76 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารประเภทเนื้อสัตว์บด ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ขนมต่าง ๆ เช่น สลิ่ม วุ้น ลูกชุบ ทับทิมกรอบ และยังตรวจพบสารนี้ใ นเนื้อหมูสด ที่วางจำหน่ายในตลาดสด รวมทั้งอาหารประเภทลูกชิ้นเด้ง แหนม หมูยอ ทอดมัน อาหารชุบแป้งทอดต่าง ๆ เช่น ถั่วทอด ไก่ กุ้ง และปลาชุบแป้งทอด กล้วยแขก อาหารประเภทผัก เช่น หัวไชโป๊ว ผักกาดดอง เป็นต้น

บอแรกซ์ หรือ น้ำประสานทอง ผงกรอบ หรือเพ่งแซ มีลักษณะเป็นผลึก รูปเหลี่ยมเล็ก ๆ ขาวขุ่นคล้ายผงซักฟอก ไม่มีกลิ่น พบในลักษณะเป็นเม็ด หรือผงสีขาว ละลายน้ำได้อย่างช้า ๆ ปกติจะใช้ในอุตสาหกรรมแก้ว ในทางเกษตรกรรม จะใช้สารนี้ในการป้องกัน และกำจัด ศัตรูพืช ใช้ป้องกันการเจริญของเชื้อรา ที่ขึ้นตามต้นและใบ ใช้เป็นยาเบื่อแมลงสาบ และใช้เป็นตัวเชื่อมทองเส้นเข้าด้วยกัน

บอแรกซ์ เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร แต่ก็ยังมีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารบางราย เห็นแก่ได้ นำสารชนิดนี้มาผสมในอาหาร ให้มีความเหนียวนุ่ม กรุบกรอบ น่ารับประทาน โดยไม่คำนึงถึง อันตรายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคได้รับสารบอแรกซ์เข้าสู่ร่างกาย ถ้าได้รับครั้งละไม่มาก แต่บ่อยครั้ง และเป็นประจำ จะเกิดการสะสมบอแรกซ์ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการพิษแบบเรื้อรัง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น แต่หากได้รับสารนี้ในปริมาณสูง จะทำให้เกิดอาการพิษแบบเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน การทำงานของไตถูกทำลาย เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด

กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจึงขอเตือนผู้ผลิตและจำหน่ายอาหาร ให้คำนึงถึงความปลอดภัย ของผู้บริโภค อย่าใช้สารบอแรกซ์ใส่ในอาหารเป็นอันขาด มิฉะนั้น จะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที โทษฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งปรับทั้งจำ ในส่วนของผู้บริโภค ควรระมัดระวัง ในการซื้ออาหาร ไม่ควรซื้ออาหารที่มีลักษณะสีสดสวย กรุบกรอบ หรือเหนียวนุ่ม เกินความเป็นจริง มารับประทาน เพราะอาจมีสารบอแรกซ์เจือปนอยู่ การซื้อเนื้อหมูสด อย่าซื้อเนื้อหมูที่มีลักษณะ ผิดปกติจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูที่แข็ง กดแล้วเด้ง หรือผิวของเนื้อ ดูเป็นเงาเคลือบคล้ายกระจก และควรหลีกเลี่ยง การซื้อเนื้อหมูบดในตลาด ควรซื้อเนื้อหมูมาบด หรือสับเองที่บ้าน จะปลอดภัยกว่า และหากท่านพบเห็น หรือสงสัยว่ามีการใช้สารบอแรกซ์ในอาหาร ขอได้โปรดแจ้งมายัง สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาได้ทันที ที่หมายเลขโทรศัพท์ "ฮัลโล! สายอย.ปกป้องสิทธิ์" โทร. 590-7354 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งผ่านทางจดหมาย หรือไปรษณียบัตร ส่งตู้ ปณ. "อย.ปกป้องสิทธิ์" 52 ปณจ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านสาย ด่วนผู้บริโภค โทร 202-9333 กดต่อ 005 ในส่วนภูมิภาค สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่พบการกระทำผิดนั้น เพื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะได้ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดี ตามกฎหมายต่อไป


ข้อมูลจาก

บุญตา เจนสุขอุดม


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1