บานเช้า เครือโรงพยาบาลพญาไท
เรียนคุณหมอเดลินิวส์ บ้านของดิฉันรับเดลินิวส์ประจำ มีปัญหาจะถามดังนี้ คุณพ่อดิฉันอายุ 71-72 ปีแล้ว ท่านป่วยเป็นโรคหอบหืด และถุงลมโป่งพอง ก่อนนี้ท่านมีอาการหายใจไม่ออก ตัวแดงไปหมด หน้าซีด หายใจเสียงดัง ดิฉันจะพาท่านไปหาหมอท่านก็ไม่ไป โปกมืออย่างเดียว และนั่งตัวแข็งด้วย จนซักประมาณ 15-20 นาที ท่านถึงพูดได้ และค่อยยังชั่ว
ท่านอยู่กับดิฉันมา 6-7 ปีแล้ว ไม่เคยเป็นให้เห็นเลย ดิฉันสงสารท่านมาก อยากให้ท่าน อยู่กับดิฉันไปนาน ๆ มีวิธีใดให้ท่านไม่เป็นอีก ถ้าเป็นแล้วดิฉันจะแก้ไขอย่างไร ท่านจะแก้อย่างไร ในขณะที่เป็น ช่วยกรุณาตอบให้ละเอียดด้วยนะคะ เพราะดิฉันมีท่านคนเดียว เวลาเหนื่อยท่านจะมียาพ่นทางปาก ช่วยขยายหลอดลม และท่านยังทานเหล้าอยู่ประมาณวันละครึ่งแบน จะมีผลต่อร่างกายหรือไม่
ขอถามเรื่องส่วนตัวหน่อยนะคะ คือ ดิฉันมีอาการปวดเข่าไม่มากปล่อยทิ้งไว้ เป็นอะไรไหม โรคเกาต์เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่าเพราะแม่ดิฉันท่านเป็นเกาต์กับปวดเข่า สุมลทิพย์ |
บานเช้า ตอบ คุณสุมลทิพย์
บานเช้ารู้สึกเห็นใจคุณสุมลทิพย์เป็นอย่างมากที่ต้องดูแลคุณพ่อซึ่งอายุ 71-72 ปี และเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังอยู่ โรคหอบหืด อันเกิดจากถุงลมโป่งพองนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วการแก้ไขให้ปอดยุบลงมาดังเดิมเป็นเรื่องทำไม่ได้ แต่สามารถรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาหรือระงับอาการหอบหืดได้ รวมทั้งจะต้องทำนุบำรุงสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจให้เข้มแข็งสมบูรณ์ไว้ อย่างสม่ำเสมอ
โรคถุงลมโป่งพองมักจะเกิดในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสูบบุหรี่ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือมีปัญหาสูดดมควันพิษอยู่บ่อย ๆ บางรายหอบหืดจากโรคภูมิแพ้ในระยะท้าย ๆ ก็อาจจะเกิดถุงลมโป่งพองตามมาด้วย บางรายมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจซ้ำซาก ผู้ที่ยังไม่มีโรคนี้จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวมานั้น
สำหรับคุณพ่อของคุณสุมลทิพย์ เมื่อเกิดอาการหายใจไม่ออก หน้าซีด หายใจมีเสียงดัง (แบบนกหวีด) แสดงถึงอาการหอบที่รุนแรง ซึ่งอาจมีอันตรายมาก หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ทันท่วงทีการป้องกันอาการหอบรุนแรงจะต้องใช้ยาขยายหลอดลม อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง อาจเป็นยารับประทานหรือยาพ่น และบางกรณีอาจต้องใช้ ทั้ง 2 อย่างร่วมกัน บางรายที่มีอาการมากต้องใช้เครื่องพ่นยาขยายหลอดลมที่บ้าน แทนที่จะใช้ พ่นเองทางปาก ซึ่งอาจจะได้ผลน้อยในระยะที่หอบรุนแรง การรักษาควรต้องได้รับการดูแล จากแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นประจำ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคระบบทางเดินหายใจ จึงจะได้ผลดีที่สุด
ส่วนมากการดื่มเหล้าซึ่งอาจดื่มอย่างต่อเนื่องมายาวนานแล้วนั้น หากหยุดกะทันหัน อาจจะมีผลทางจิตใจหรือทางร่างกายอยู่บ้าง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่การดื่มเหล้าวันละครึ่งแบน ในผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป อาจจะมากเกินไป ขอแนะนำให้ค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งเหลือวันละ 1 จอก (1 ก๊ง-ประมาณ 1-2 ฝาจุกขวดเหล้า) ก็เพียงพอ สำหรับแนวคิดใหม่ ๆ ที่ว่าดื่มเหล้าน้อย ๆ อาจมีส่วนขยายหลอดเลือดและกระตุ้นหัวใจ
สำหรับอาการปวดเข่าของคุณสุมลทิพย์ บานเช้าคิดว่าไม่น่าจะเป็นโรคเกาต์ เพราะโรคเกาต์ในระยะแรกมักปวดที่ข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อที่นิ้วเท้า หรือนิ้วมือมากกว่า หากสงสัยควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง โรครูมาติสซั่ม เพื่อตรวจเช็กโดยเฉพาะ และโรคนี้พบว่ามีส่วนของพันธุกรรมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ของให้คุณสุมลทิพย์จงโชคดี
บานเช้า เครือโรงพยาบาลพญาไท
main |