มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ]

โรคมะเร็งป้องกันได้หรือไม่ ?

คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี


"โรคมะเร็ง" ไม่ใช่โรคแปลกใหม่สำหรับสังคมบ้านเรา แต่เมื่อมีใครป่วยหรือเสียชีวิต ด้วยโรคนี้สักคน จะเป็นที่ฮือฮาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ยิ่งคนมีชื่อเสียงรู้จักกันดีในสังคม โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงมีโอกาสรอดยาก การป้องกันแทบมองไม่เห็น ยังเป็นความรู้สึก ที่ฝังใจของคนหลาย ๆ คนตลอดมา

ปัจจุบันวิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้ามากทำให้เรามีความรู้ในเรื่องที่เราไม่รู้ รวมทั้ง โรคมะเร็งด้วย การป้องกันและการควบคุมมะเร็งจึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนและเผยแพร่ ให้สาธารณชน ได้รับรู้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตนเองให้ห่างไกล จากโรคมะเร็งมากที่สุดเพราะเป็นปัญหาสาธารณสุขโลก เป็นสาเหตุ การตายประมาณ 13% ของคนตายทั้งหมดจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน ในปี พ.ศ.2537

ในประเทศไทยมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ ติดต่อกันมาหลายปี อัตราการตายจากโรคมะเร็งมีแนวโน้มว่าสูงขึ้นทุกปี โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ โรคมะเร็งตับ รองลงมามะเร็งปอด ปากมดลูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ช่องปาก ตามลำดับ ถ้าแยกตามเพศแล้วพบว่า

10 อันดับของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย คือมะเร็ง ตับ ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ช่องปาก กระเพาะปัสสาวะ ผิวหนัง หลอดอาหาร กล่องเสียง ต่อมลูกหมาก

10 อันดับ ของมะเร็งที่พบมากในเพศหญิง คือ มะเร็งปากมดลูก ตับ เต้านม ปอด ช่องปาก รังไข่ ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง ต่อมไทรอยด์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ในการควบคุมมะเร็งที่พบบ่อยขององค์การอนามัยโลก ได้ลำดับความสำคัญ และแผนดำเนินการ ของการควบคุมโรคมะเร็งที่พบบ่อยในแต่ละชนิด ซึ่งประเทศไทยโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด ควรดำเนินการป้องกันการเกิดโรค โดยศึกษาวิจัยหาสาเหตุและสารป้องกันการเกิดมะเร็ง ควรกำหนดมาตรฐานการควบคุมและเฝ้าระวังการใช้สารก่อมะเร็งทั้งในแหล่งผลิต และสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม

การป้องกันในระดับที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรก ควรมีการรณรงค์ให้ตรวจหา ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น มะเร็งปากมดลูก เต้านม ช่องปากมากขึ้น การป้องกันในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแล้ว องค์การอนามัยโลก กำหนดจุดมุ่งหมายเอาไว้คือ
  • ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง,
  • ให้คนไข้โรคมะเร็งมีชีวิต ที่ดีอย่างยืนยาว,
  • ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งดีขึ้น

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
เนื้องอก คือ ก้อนหรือตุ่มที่โตขึ้นผิดปกติเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกาย เจริญเติบโต อย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือเนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้าย หรือมะเร็ง
โรคมะเร็ง คือ เซลล์ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นก้อนมะเร็งสามารถบุกรุก ทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียง และกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้

ขบวนการเกิดโรคมะเร็ง
เมื่อร่างกายได้รับสิ่งก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์ เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด เซลล์ปกติจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทาน ของร่างกาย ไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็นก้อนมะเร็งต่อไป

สาเหตุ-การเกิดโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค อยู่หลายประการ เช่น
1. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย
สารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีในควันบุหรี่และเขม่ารถยนต์ สารพิษจากเชื้อรา สารพิษจากการย่าง รมควันอาหาร สีย้อมผ้า สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รังสีต่าง ๆ รวมทั้งรังสีไวโอเลตในแสงแดด

จุลินทรีย์ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบีสัมพันธ์กับมะเร็งตับ, ไวรัสฮิวแมนเพ็พปิลโลมา มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก, ไวรัสเอนสไตน์ บาร์ มีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งหลังโพรงจมูก พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับมีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีตับ

2. สาเหตุจากภายในร่างกาย เช่น
กรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การระคายเคือง ที่เกิดขึ้นช้า ๆ เป็นเวลานาน ภาวะโภชนาการ เป็นต้น

การวินิจฉัย มีหลายวิธี
  • การตรวจร่างกายด้วยตนเอง เช่น การตรวจเต้านม สังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย
  • การตรวจโดยแพทย์
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เสมหะ
  • ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
  • การตรวจทางรังสี เอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ เวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • ตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องโดยตรง เช่น การตวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหาร ลำคอ เป็นต้น
  • การตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษา
มีตั้งแต่การผ่าตัด เจาะหรือตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก
รังสีบำบัด เพื่อหยุดยั้ง การเจริญเติบโต ของเซลล์มะเร็งและบรรเทาอาการปวด
เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ให้เสื่อมสลาย ไปในที่สุด
รักษาโดยการใช้ฮอร์โมน เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือเพื่อให้ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รักษาโดยการปรับปรุงระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้น จนสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายได้
และใช้วิธีผสมผสาน วิธีการดังกล่าวข้างต้น

สำหรับข้อสังเกตในสัญญาณอันตราย 7 ประการ
ทุกคนตรวจสำรวจร่างกายตนเองสม่ำเสมอ ควรให้แพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เช่น
สำหรับข้อสังเกตในสัญญาณอันตราย 7 ประการ
  • มีเลือดออก หรือสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาว มากเกินไป
  • มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโต เร็ว
  • มีแผลเรื้อรัง
  • มีการถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจาก นิสัยเดิม
  • เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง
  • กลืนอาหารลำบาก หรือรับประทานอาหารแล้วไม่ย่อย
  • มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ เป็นต้น

คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1