มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2541 ]

"นอนไม่หลับ ปัญหาโลกแตก"

มานพ ประภาษานนท์


คุณเป็นคนหนึ่งที่มักจะนอนไม่หลับหรือหลับยากหรือเปล่า ?

ถ้าตอบว่าไม่ คุณก็เป็นคนโชคดี แต่รู้สึกจะไม่ค่อยทันสมัย เพราะปัจจุบัน นอนไม่หลับ เป็นอาการฮิต ติดอันดับ แพทย์ใหญ่แพทย์น้อยบ่นเหมือน ๆ กันว่า จะต้องมีผู้ป่วยมาบ่นเรื่องนอนไม่หลับทุกวัน แพทย์ผู้หนึ่งบอกว่า เจอผู้ป่วยประเภทนี้นาน ๆ เลยทำท่าจะนอนไม่หลับไปด้วย สงสัยจะติดต่อได้แฮะ

แล้วถ้าคุณเกิดนอนไม่หลับ หรือหลับยากตื่นง่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกวิจารณ์ให้มากมายอะไรนัก

จากรายงานการศึกษาผู้ป่วย 26,000 คน ใน 15 ประเทศกระจัดกระจายไปทั่วโลก พบว่าประมาณร้อยละ 27 หรือเกือบ 1 ใน 4 ราย มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่นานก็ตื่น - ที่บ่นกันว่านอนไม่เต็มอิ่ม

สถิตินี้ได้มาจากการศึกษาในประชากรทั้ง 6 ภูมิภาคในโลก รายงานไว้ในการประชุมวิชาการ ระหว่างประเทศว่า ด้วยปัญหานอนไม่หลับ จัดโดยองค์การอนามัยโลกร่วมกับสมาพันธ์โลก ในการค้นคว้าวิจัยการนอนหลับ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับในส่วนต่าง ๆ ในโลก มีจำนวนแตกต่างกันไปตั้งแต่ร้อยละ 1 ในญี่ปุ่น จนถึงมากที่สุดร้อยละ 40 ในบราซิล (คงจะเต้นแซมบ้ากันครึ่งค่อนคืน) ส่วนสหรัฐอเมริกาค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 33 ส่วนที่ไทยของเราไม่มีตัวเลขแสดงไว้ แต่ก็คงไม่น้อย เพราะไม่อย่างนั้น ร้านอาหารประเภทโต้รุ่ง คงทนเปิดอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนไทยในชนบทหรือทั่ว ๆ ไป คงไม่สูงเท่าเมืองอื่น คนไทยเราถือคติที่ช่วยให้หลับได้ง่าย ได้แก่ "ไม่เป็นไร-เย็นไว้โยม เอาทางพระเข้าข่ม" พูดง่าย ๆ ว่าไม่จริงจังกับปัญหามากเกินไป

ตามการวิจัยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนมากที่สุด มักเป็นสตรีวัยกลางคนขึ้นไป เหตุผลสำคัญมาจากความเครียด เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงการวิจัยเจริญพันธุ์สู่วัยอาวุโส เกิดความไม่แน่ใจกลัวสารพัด ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ผิวพรรณไม่สวยเหมือนเมื่อก่อน เกรงว่าจะถูกทอดทิ้งให้อยู่เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย นอกจากนั้นหลายรายถูกซ้ำเติมด้วยกลุ่มอาการ เลือดจะหมดลมจะมา หรือเมนโนพอส เกิดซูซ่าตามผิวกาย ตกใจง่าย ใจสั่นหวาดผวา ลงท้ายด้วยอาการนอนไม่หลับ หลับยากแต่ตื่นง่าย

ยิ่งกว่านั้น ในวัยสูงอายุ ยังมีโรคที่ซ้ำเติมอีกหลายโรค เช่น โรคปวดข้อจากข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อมตามวัย โรคเบาหวานที่ทำให้ต้องลุกจากที่นอนไปถ่ายปัสสาวะคืนละหลายครั้ง เป็นต้น

ที่บ่นกันเสมอคือ หลับยาก กว่าจะหลับได้ก็ค่อนสว่าง แล้วเลยมาง่วงต่อเอาตอกลางวัน พูดง่าย ๆ ว่า กลางคืนกลายเป็นกลางวันและกลางวันเป็นกลางคืน ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องมีผู้คอยเฝ้าดูแล ญาติบ่นพึม ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนมาก เกิดจากความกังวลและเปล่าเปลี่ยว เวลากลางวันมีลูกหลานผู้คนอยู่ใกล้เคียง ก็หลับได้ หลับมากกลางวัน ตกลางคืนเลยนอนไม่หลับ ถ้าเล่าให้แพทย์ฟังก็มักได้ยาคลายเครียดบ้าง ยานอนหลับบ้างมากิน ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ วิธีที่น่าจะดีกว่าคือ หาอะไรทำเวลากลางวัน อย่าให้นอนมากและอย่าให้เข้านอนเร็วนัก อาจแก้ปัญหาได้

หลายคนไม่มีโรคทางกาย แต่ถูกรบกวนจากเหตุภายนอกเช่น ติดอินเตอร์เนตจนไม่เป็นอันนอนบ้าง ข้างบ้านเปิดวิทยุเสียงดังบ้าง บางคนถูกบังคับด้วยงานอาชีพ เช่นต้องเข้าเวรเป็นกะ บางครั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ทำให้เกิดอาการเจ๊ตแลก ปรับตัวให้เข้ากับเวลาไม่ทัน เลยง่วงกลางวันตาสว่างกลางคืน

การที่นอนไม่หลับ จะก่อให้เกิดผลเสียมาถึงการปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางวันด้วย คนที่นอนไม่พอ ถึงเวลาทำงานก็ย่อมง่วง อารมณ์บูดง่าย การตัดสินใจเชื่องช้า ถ้าขับรถยนต์โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ จะเพิ่มสูงขึ้น 2.5 เท่า อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อย ๆ ในกลุ่มดารานักแสดงที่เข้ากล้องถ่ายทำทั้งคืน แล้วขับรถกลับตอนค่อนรุ่ง

จากการศึกษาติดตามผล ของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติที่เบเทศดา แมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ยังพบต่อไปว่า ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับบ่อย ๆ มีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการผิดปกติทางจิต และมีความโน้มเอียงสูงที่จะกลายเป็นผู้ติดสุรา

จากการประมาณอย่างคร่าว ๆ ความเสียหายอันเป็นผลพวงจากเรื่องนอนไม่หลับ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวตกถึงปีละ 15 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ไม่รวมความเสียหาย จากการทำงาน และประสิทธิภาพของงาน ถ้ารวมความเสียหายหมดทั่วโลก ลองคิดดูก็แล้วกันว่าจะมากมายเพียงไหน

คนเราเมื่อนอนไม่หลับ ก็ย่อมดิ้นรนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ไข เช่น หาแพทย์บ้าง หมอดูบ้าง กินยาที่มีคนแนะนำบ้าง อะไรที่คิดว่าพอช่วยได้ก็รับไว้หมด จากการติดตามผลพบว่าประมาณร้อยละ 40 หันเข้าหาแอลกอฮอล์ แรก ๆ ก็ดื่มเล็กน้อยนานไปก็เพิ่มมากขึ้นจนติดเหล้า เพราะถ้าไม่ดื่มมาก ๆ ก็นอนไม่หลับ อันที่จริงเหล้าไม่ใช่ยานอนหลับ แต่ดื่มเข้าไปแล้วจะไปกดการทำงาน ของระบบประสาท จนกระทั่งเมาหลับไปในที่สุด ผลร้ายของสุรามีมากเพียงใด เห็นจะไม่ต้องกล่าวรายละเอียด สรุปได้ว่า เสียทั้งเงิน งาน อวัยวะของร่างกายโดยเฉพาะตับ และบั่นทอนคุณค่าของชีวิต

บางคนใช้วิธีหากินเอง ใครบอกมียาช่วยให้หลับได้ก็เชื่อง่าย ๆ ส่วนมากก็หนีไม่พ้นยาระงับประสาท คลายกังวล บางทีก็เป็นยานอนหลับอย่างแรง ยาเหล่านี้ตามกฎหมายร้านขายยา จะขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ไม่ได้ แต่ในเมืองเรารู้สึกจะไม่เข้มงวดกันนัก แอบขายใต้โต๊ะกัน

ยาบางตัวแรก ๆ ก็ได้ผลดี กินแค่ครึ่งเม็ดก็หลับได้ แต่นานเข้าชักเคยยาต้องเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ บางรายซื้อยาเองเพิ่มขนาดเองคิดว่าไม่เป็นไรหรอกน่า ผู้ป่วยรายหนึ่งกินยานอนหลับตามสบาย แรก ๆ ก็ทีละเม็ด เมื่อชักไม่ค่อยได้ผล ก็เพิ่มขนาดเป็นลำดับ ท้ายสุดถึง 4 เม็ด ยังไม่หลับ เลยเทที่เหลือในซองยากินรวดเดียวหมด ผลคือหลับไปหลายวันกว่าแพทย์จะแก้ไขให้ฟื้นกลับมาได้ ฟื้นแล้วยังป้ำเป๋อไปอีกนาน เสียเวลาเสียทรัพย์ไปมากมาย

จากการศึกษาวิจัยพบว่า การนอนไม่หลับส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากสาเหตุอย่างเดียว การรักษาจึงต้องหาสาเหตุทุกอย่างให้พบ และแก้ไขให้ครบหมดทุกสาเหตุ บางสาเหตุอาจเพียงแนะวิธีแก้ไขโดยไม่ต้องใช้ยา เช่น กำหนดเวลานอนเวลาตื่นให้เป็นเวลา ห้องนอนควรมีความสงบปราศจากเสียงรบกวนจากภายนอก ไม่ใช้แสงสว่างมากนัก อาจใช้ดนตรีเบา ๆ หรือหนังสือเป็นเครื่องช่วยให้หลับง่ายขึ้น

ควรใช้ห้องนอนสำหรับการพักผ่อนเต็มที่ ไม่ใช่นั่งดูโทรทัศน์ วิดีทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ถ้ายังสนใจเครื่องเล่นเหล่านี้ควรออกไปดูหรือเล่นเกมส์นอกห้องนอน

ในรายที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้นานอนหลับ หรือยาระงับประสาทช่วย ควรปรึกษาแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง ยานอนหลับไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เคยยาหรือติดยาได้

จากต้นเหตุทั้งหลายแหล่ที่กล่าวแล้ว นักวิจัยกล่าวคล้าย ๆกันว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นอนไม่หลับก็คือ ความกลัว กลัวว่าจะนอนไม่หลับนั่นเอง จะบอกให้

มานพ ประภาษานนท์


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1