มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



ลูกล่อลูกชน สยบจอมป่วน

มัณฑนา



ทั้งๆ ที่จอมซนของเรา
ออกจะพูดเก่ง
เข้าใจอะไรต่ออะไร
ได้ตั้งมากมาย
แต่ทำไม๊ ทำไม คุยกันทีไร
ไม่ได้เรื่องสักที
แม่พูดเป็นไม่ฟัง
พ่อบอกเป็นไม่เชื่อ
เอ...พ่อแม่จะใช้วิธีสื่อสาร
กับจอมป่วนยังไงดี

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย เกิดคำถามนี้ก่อกวนให้กังวลใจอยู่ล่ะก็ ใจเย็นๆ กันก่อน เรื่องอย่างนี้ต้องให้เวลา สมาชิกตัวน้อยเขาบ้าง จะให้เปิดปุ๊บติดปั๊บได้ไง เห็นช่างฉอเลาะเข้าหน่อย ก็เหมารวมเอาว่าหนูๆ จะเข้าใจ รู้เรื่องไปซะหมดทุกอย่าง คงไม่ได้หรอกนะคะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เด็กหญิงขนมผิง จะใช้ผนังบ้านแทนกระดาษ ระบายสีอวดฝีมืออนาคตจิตรกรน้อย ทั้งๆ ตอนที่คุณแม่ห้ามทีไร ก็พยักหน้ารับปาก ตั้งใจฟังตาแป๋วทุกที

จริงอยู่ที่วัย 2-3 ขวบอย่างนี้ ภาษาของลูกกำลังเบ่งบาน มีคำใหม่ๆ หลุดปากเจื้อยแจ้ว อวดให้ได้ยินกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทว่าสิ่งที่ฟังหรือพูดออกมา ในความคิดของเด็กๆ อาจจะ

ไม่ตรงกับของผู้ใหญ่ก็เป็นได้ และที่สำคัญวัยนี้เป็นช่วงเวลาของการ สำรวจโลกกว้าง สนุกกับการทดลองอำนาจ และอิสระที่มีในตัว การพูดจาสื่อสารกับจอมป่วนให้ได้ผล จึงต้องมีอาศัยลูกล่อลูกชนกันอยู่สักหน่อย

วิธีที่เอามาแนะนำนี้ ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อน จะว่าไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนเป็นพ่อแม่หลงลืม มองข้ามไปกันเสียมากกว่า

  • สั้นง่ายไว้เป็นดี

ถึงลูกจะเริ่มพูดเป็นประโยคเอาคำนี้มารวมกับคำนี้ได้คล่องขึ้นแล้ว แต่สำหรับพ่อแม่แล้วการใช้คำพื้นๆ สั้นกระชับ ไม่ซับซ้อนพูดกับลูก โดยเฉพาะเมื่อคราวที่ต้องการความร่วมมือหรือเชื่อฟัง วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันมาว่าได้ผลดีนัก เพราะคำพูดที่สั้นกระชับ จะมีพลังสื่อสิ่งที่ต้องการถึงเด็กได้ดีกว่า ส่วนคำอธิบายที่จะสอนลูก น่าจะเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง ลองนึกเปรียบเทียบเล่นๆ ดูเอาเองก็ได้ว่า ถ้าคุณเห็นลูกชายจอมแก่นยืนยิ้มแป้นถือมีดเล่นอยู่อย่างสนุกสนาน หากคุณมัวแต่พูดปาวๆ ว่ามีดมันอันตราย เล่นไม่ได้ ให้วางลงซะ กับการพูดสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "วางมีดลง" อย่างไหนจะทำให้ลูกเข้าใจและปล่อยมือจากมีดที่ถืออยู่ได้มากกว่ากัน

  • สำคัญที่น้ำเสียง

ลีลาน้ำเสียงที่ใช้พูดคุยกับเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ให้เหมาะ อย่ามองข้ามและนึกขำเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระเชียวนะคะ โทนเสียงสูงต่ำที่แสดงอารมณ์ของพ่อแม่ เด็กรับรู้ได้ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้เสียด้วยซ้ำ พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวจึงต้องระวังการใช้น้ำเสียงที่ถูกต้องขณะพูดกับลูกให้ดี เด็กวัยช่างจำ ชอบเลียนแบบอย่างนี้จะได้รู้จักแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างน้ำเสียงของการพูดเล่นสนุกๆ กันในบ้าน และน้ำเสียงเข้มๆ จริงจังเฉียบขาดได้ถูกและถ้าลูกไม่สับสน รับรองว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่พ่อแม่โมโหจนลมออกหู แต่เจ้าลูกกลับนั่งหัวเราะร่วน เพราะเข้าใจผิดนึกว่าผู้ใหญ่ล้อเล่นด้วย

  • เลือกเวลาให้เหมาะ

อย่างที่บอกตอนแรกว่า การพูดอธิบายเหตุผลกับเด็ก ในตอนที่กำลังแผลงฤทธิ์ออกเดชรับรองว่าร้อยทั้งร้อยลูกไม่มีทางฟังคุณแน่ เผลอๆ ทำเอาพ่อแม่เก็บอารมณ์ไม่อยู่ เป็นได้ลงไม้ลงมือให้มานั่งเสียใจตอนหลังกันเสียเปล่า ] ถ้าจะสอนลูกขอแนะให้เลือกช่วงเวลาดีๆ อย่างตอนก่อนเข้านอน ชวนเจ้าตัวเปี๊ยกคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ ว่าลูกไปพบหรือทำอะไรมาบ้าง เช่น "ไปเที่ยวบ้านคุณลุงพงษ์กับแม่ สนุกมั้ยคะ" แล้วก็ลองคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น "เอ๊ะ...แล้วหนูแย่งตุ๊กตาของน้องน้ำอบด้วยใช่มั้ยคะ แย่งของคนอื่นไม่ดีหรอก ถ้าลูกอยากเล่นต้องบอกน้องดีๆ แล้วจะได้แบ่งกันเล่นไงคะ" วิธีพูดคุยกับลูกอย่างนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาในการใช้ภาษาของลูกแล้ว บรรยากาศที่ผ่อนคลายสบาย ยังเป็นโอกาสทองที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนสิ่งที่ดี และไม่ดีให้ลูกตัวน้อยได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น

  • อธิบายให้เข้าใจ

การพูดคุยกับเจ้าตัวซนวัยขนาดนี้ถึงการใช้คำพื้นๆ ง่ายๆ จะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประโยคซับซ้อนที่มีคำศัพท์แปลกหู จะเป็นของต้องห้าม แรกๆ อาจจะยังงงๆ ไม่เข้าใจความหมาย จังหวะนี้แหละที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำหน้าที่เป็นไกด์ที่ดีของลูก ช่วยยกตัวอย่าง อธิบายความหมายของคำใหม่ให้ลูกเข้าใจ หรือชี้ชวนให้ได้เห็นของจริงประกอบ และที่สำคัญต้องเจาะจง ชี้เฉพาะให้เห็นกันชัดๆ ด้วยโดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่เด็กสับสนได้ง่าย เพียงเท่านี้ภาษาของลูกรักก็จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พูดคุยกันเข้าใจได้ง่ายขึ้น

  • พูดซ้ำ ย้ำกันลืม

เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ของลูกวัยเซี้ยวเฮี้ยวอย่างนี้ จะต้องปากเปียกปากแฉะ พูดกันไม่รู้กี่หนกี่ครั้ง กว่าที่เจ้าตัวเล็กจะเชื่อ ยอมทำตามโดยดี อาการฟังหูซ้ายทะลุหูขวา เหมือนไม่สนใจที่กวนโมโหนี้ ความจริงแล้วลูกเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พร่ำบอก แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ความต้องการอยากเล่น อยากทำที่อยู่ในใจ ก็มักจะชนะ ทำให้ลืมสิ่งที่พ่อแม่บอกเสียทุกที ฉะนั้นเราจึงต้องขยันสอนลูกซ้ำๆ เช่นว่า "เล่นของเล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่" "น้ำในห้องน้ำกินไม่ได้" เพื่อให้แกค่อยๆ ซึมซับ และจดจำสิ่งที่คุณบอกได้แม่นยำ เด็กวัยนี้ความจำยังสั้นนัก อย่าไปหวังว่าพูดครั้งสองครั้งแล้วจะจำได้ไปเสียหมด คุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาขยันเตือนกันสักนิดนะคะ

  • คำสื่อความรู้สึก

เวลาไม่พออกพอใจแล้วเจ้าตัวแสบออกฤทธิ์อาละวาด ปาข้าวของหรือร้องกรี๊ดชนิดไม่ลืมหูลืมตา พูดเท่าไรไม่ยักฟัง ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ต้องท่องคาถาให้ใจเย็นเป็นน้ำแข็งเข้าไว้ แล้วค่อยๆ สอนลูกให้ใช้คำพูดบอกความรู้สึกแทนการกระทำ เช่น "แม่รู้ว่าต้นโกรธที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้แต่ต้นจะมาตีแม่แบบนี้ไม่ได้นะลูก ลูกบอกว่าโกรธแม่ก็รู้แล้ว" เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก แต่ถ้าคุณเข้าใจอารมณ์ของลูกและพยายามบอกสอนให้ลูกแสดงความรู้สึกออกมา ด้วยคำพูดแทนการออกงิ้วอาละวาด ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง และระบายความรู้สึกในใจออกมาได้ด้วยวิธีที่เหมาะสม

  • ไม่ห้ามจนติดปาก

ไม่ซน ไม่เล่น ไม่ไป ...ไม่ ไม่ ไม่ เคยลองนึกสังเกตดูบ้างหรือเปล่าว่า เราใช้คำว่า "ไม่" ห้ามลูกทำโน่นหยิบนี้วันละกี่ครั้ง คุณพ่อคุณแม่รู้มั้ยคะว่า การที่จอมซนนักสำรวจน้อยประจำบ้านถูกจำกัดอิสระด้วยคำว่า "ไม่" บ่อยๆ นั้น จะค่อยๆ ทำลายความมั่นใจในการเรียนรู้สิ่งรอบตัวของเด็ก รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกด้วย อย่าลืมซิคะว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยท้าทาย รักอิสระ อยากทดสอบอำนาจที่มีอยู่ในตัว ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ลองไปถามอะไรเข้า ก็จะได้ยินคำว่า "ไม่ ไม่ ไม่" ออกจากปากเป็นประจำเหมือนกัน และถ้าจะว่าไปแล้วการปฏิเสธสำหรับเด็กแล้วคือการแสดงอำนาจ บ่งบอกความมีอิสระอย่างหนึ่ง และเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่คุณปฏิบัติกับลูกด้วย แน่นอน "ไม่" ของลูกก็ได้แบบอย่างจากพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
ถ้าจะให้ดีพ่อแม่ไม่ควรใช้คำว่า "ไม่" กับลูกจนติดปาก ต้องรู้จักพลิกแพลงใช้คำพูดอื่นแทน เช่น แทนที่จะพูดว่า "พ่อบอกว่าไม่ให้เตะฟุตบอลในบ้านนะ" ลองใช้ "พ่อว่าเตะลูกบอลให้สนุก ต้องเตะที่สนามกว้างๆ ออกไปเตะนอกบ้านดีกว่านะลูก"

นอกจากนั้นการให้ทางเลือกใหม่หรือหาสิ่งอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกห้ามหรือบีบบังคับ ก็จะเป็นทางหนึ่ง ที่จะทำให้ลูกกับคุณคุยกันได้เข้าใจมากขึ้นอีกด้วย

ถ้าจับจุดได้ไม่ว่าจะคุยกันครั้งไหนรับรองว่าคุณกับลูกก็ต่อกันติด สื่อสารกันเข้าใจ ไม่มีวัยเป็นอุปสรรคแน่เทียวค่ะ



[ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่   ปีที่ 4 ฉบับที่ 45 กรกฎาคม 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600
1