มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



นอน...เรื่องที่ปกติดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไร...
แท้จริงมีรายละเอียดหลากหลายที่คนเป็นพ่อแม่
จำเป็นต้องรู้ ก่อนพาลูกเข้านอน...คร่อก ฟี้...ฟี้คร่อก
...คร่อก

หลับสนิท ในนิทรา

ผศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์


น่าจะเคยมีคนสงสัยว่าระหว่างดวงอาทิตย์ที่ตกตอนเย็น กับการที่คนเราต้องนอนหลับช่วงกลางคืน อะไรเกิดขึ้นในโลกนี้ก่อนกัน เป็นเพราะความมืดคนจึงต้องเข้านอน หรือเป็นเพราะร่างกายคนเรา ต้องการนอนหลับพักผ่อน จึงเป็นสัตว์โลกที่ต้องปรับตัวให้มีการนอน สอดคล้องกับการขึ้นลงของดวงอาทิตย์

นอน...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

สงสัยกันมั้ยคะว่าทำไมคนเราต้องนอนหลับ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้รู้ว่าในระหว่างการนอนนั้น เกิดกระบวนการบางอย่างในร่างกาย มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ มีการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตออกมามาก มีการสร้างเสริมความต้านทานต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากเชื้อไวรัส จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่ออดนอน เรามักจะป่วยโดยเฉพาะเป็นหวัดง่ายขึ้น นอกจากนี้ระหว่างการนอนสมองยังทำงานในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความจำ ซึ่งได้สะสมไว้ตอนกลางวันทำให้เราเก็บความจำใหม่ๆ ไว้ได้ การนอนดูจะสำคัญกว่าที่เราเคยคิดซะแล้ว

การนอนก็มีพัฒนาการ

สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าสู่วัยรุ่น การนอนก็มีพัฒนาการ เช่นเดียวกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านอื่นๆ ไม่แตกต่าง
เด็กแรกเกิดยังปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมนอกท้องแม่ โดยเฉพาะในเรื่องช่วงเวลาที่แตกต่างกันของกลางวันและกลางคืนไม่ได้ดีนัก วงจรการนอนในสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ ช่วงเดือนแรกๆ ของชีวิตจึงยังนอนไม่เป็นเวลา และต้องการเวลานอนมากกว่าวัยอื่น

ทารกต้องการนอนโดยเฉลี่ย 16 ชั่วโมงต่อวัน นอนช่วงกลางวันมากพอๆ กับกลางคืน จนอายุ 3-4 เดือน วงจรการนอนพัฒนามากขึ้น ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของกลางวัน และกลางคืนได้ดีขึ้น เด็กหลายคนเริ่มนอนช่วงกลางคืนนานขึ้น อาจยาวรวดเดียว 6-8 ชั่วโมง เด็กแต่ละคนจะปรับตัวได้ไม่พร้อมกัน แต่ส่วนมากนอนหลับตลอดคืนโดยไม่ต้องตื่นกลางดึก เมื่ออายุ 9-12 เดือน เวลานอนจะค่อยๆ ลดลงมาเป็น 12-14 ชั่วโมง

เด็กวัยเรียนมักนอนประมาณ 10 ชั่วโมง และลดเป็น 8 ชั่วโมงในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ช่วงปฐมวัยเด็กยังต้องการนอนช่วงกลางวัน 1-2 ครั้ง ถ้านอนกลางวันมาก เด็กอาจนอนช่วงกลางคืนน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนมีความต้องการการนอนแตกต่างกันบ้าง เด็กอนุบาลบางคน ไม่ยอมนอนกลางวันเหมือนเพื่อนต้องเดือดร้อนคุณครูมาคอยชวนเล่น เพื่อไม่ให้กวนเพื่อนๆ ตื่น หากเด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย ไม่หงุดหงิดขี้โมโห ดูสดชื่นแจ่มใสดีในช่วงกลางวัน คุณพ่อคุณแม่คงไม่ต้องเป็นห่วงว่าลูกจะนอนไม่พอ

สร้างนิสัยการนอนที่ดี

ถ้าเราลองเปรียบเทียบการนอนกับการกิน จะพบว่าความต้องการพื้นฐานของชีวิตทั้งสองอย่างนี้ มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามวัย แม้จะถูกกำหนดเบื้องต้นจากการทำงานภายในร่างกาย แต่การอบรมเลี้ยงดูโดยคุณพ่อคุณแม่ ฝึกหัดให้ลูกน้อยมีนิสัยที่ดีเหมาะสมตามวัย จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมาได้
การสร้างนิสัยการนอนที่ดีคือ การฝึกให้ลูกเข้านอนและตื่นตามเวลาที่เหมาะสม] นอนได้เพียงพอตามวัย ไม่มีปัญหาการนอนจนขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการที่ดี หรือไม่ขัดขวางการนอนที่แสนสุขของคนอื่นในครอบครัว

เริ่มเสียตั้งแต่ขวบปีแรก

ในขอบปีแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันฝึกนิสัยการนอนยาวรวดเดียว ในช่วงกลางคืนให้แก่ลูก เมื่ออายุ 3-4 เดือน ถ้าลูกไม่ตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อดูดนมอย่างเคย ก็ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกขึ้นมาป้อนนม หากไม่มั่นใจว่าลูกจะได้รับนมเพียงพอหรือไม่ลองปรึกษาหมอดูตรวจสอบว่า น้ำหนักเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์หรือไม่ เด็กส่วนมากเมื่อดูดนมพอในช่วงกลางวัน มักนอนยาวได้ดีขึ้นในช่วงกลางคืน แต่ถ้ายังตื่นมาดูดนมกลางดึกบ้าง เมื่อใกล้ 9-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยการค่อยๆ ลดปริมาณรมที่ให้ในแต่ละครั้ง แล้วค่อยเลิกไปในที่สุด

กิจวัตร...ก่อนเข้านอน

ในช่วงวัยถัดไปที่ลูกเริ่มซุกซนและนอนน้อยลง เขาจะห่วงเล่น ไม่ยอมนอนง่ายๆ บางคนหลับอยู่หน้าโทรทัศน์ บางครั้งพ่อแม่ต้องบังคับขู่เข็ญ ทำให้การเข้านอนเป็นเรื่องไม่น่ารื่นรมย์เลยสำหรับลูก การเตรียมตัวเข้านอนด้วยการสร้างกิจวัตรบางอย่างเป็นประจำในช่วงก่อนนอน จะลดปัญหาได้มาก หลังอาหารเย็นอาจจะเล่นสนุกสนานสักพักระหว่างพ่อแม่ลูก แล้วจึงอาบน้ำ ดื่มนม แปรงฟัน อ่านนิทานหรือเล่นอะไรเงียบๆ อีกสักครู่แล้วเข้านอนทำเช่นนี้เป็นประจำสม่ำเสมอ สักพักลูกก็จะชิน เข้านอนได้โดยไม่ต่อต้าน

แก้ที่เหตุ

การนอนของหนูๆ จะเป็นอย่างไร ยังมีเหตุอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย หากคุณพ่อคุณแม่บางท่านกลับบ้านค่ำ ก็ไม่ค่อยอยากฝึกลูกให้นอนตามเวลา เพราะอยากชดเชยที่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ขอเล่นกับลูกให้สมอยากก่อน ทำเอาเจ้าตัวน้อยติดใจ ไม่ยอมหลับยอมนอน รอพ่อแม่กลับมาเล่นด้วยก็เป็นเหตุหนึ่ง
หรือการนอนกลางวันนาน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายแก่ๆ จะทำให้เด็กไม่งาวงตอนหัวค่ำ นอกจากนี้การเล่นมากจนเหนื่อยเกินไปช่วงกลางวัน อาจจะไม่ทำให้เด็กง่วงนอนและหลับได้ดีเสมอไป เด็กบางคนจะยิ่งงอแงมากขึ้นในช่วงเข้านอน

แยก...ห้องนอน

คนไทยหรือคนตะวันออกมีวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกต่างจากคนตะวันตกหลายเรื่อง การนอนก็เป็นเรื่องหนึ่ง ความแตกต่างนี้น่าจะมีมาจากสาเหตุหลักๆ คือในสมัยที่ครอบครัวยังขาดแคลนปัจจัยสี่ ที่อยู่อาศัยหรือห้องนอนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เมื่อมีห้องนอนจำกัดสมาชิกในครอบครัวก็ต้องนอนรวมกัน

นอกจากเรื่องนี้ การเลี้ยงดูเด็กที่เน้นการพึ่งตนเองได้และเป็นตัวของตัวเอง ของคนตะวันตก ก็เป็นสาเหตุหลักที่จับลูกแยกห้องนอนกับพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆ ครอบครัวไทยยุคใหม่บางครอบครัวมีแนวโน้มที่จะทำตามตะวันตกบ้าง แต่ก็มีบางครอบครัวที่พ่อแม่ยังอยากให้ลูกนอนห้องเดียวกับตนไปเรื่อยๆ ก่อน ผู้เชี่ยวชาญ (ฝรั่ง) บางคนเชื่อว่าการนอนด้วยกันหลายๆ คน จะขัดขวางไม่ให้เด็กเรียนรู้ที่จะหลับได้เอง และนอนหลับสนิทตามธรรมชาติ การแยกห้องนอนต้องทำก่อนลูกจะมีความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจาก นั่นคือควรแยกก่อน 6 เดือน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสังคมไทยซึ่งพ่อแม่ส่วนมากยังให้ลูกเล็กๆ นอนด้วย มีเด็กที่ต้องปรึกษาหมอด้วยปัญหาการนอนน้อยมาก ตลอดจนการเกิดโรค SIDS (SUDDEN INFANT DEATH SYNDROME) ก็มีน้อยมาก (แม้จะยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบในบ้านเราก็ตาม) การให้ลูกนอนด้วยจึงน่าจะมีข้อดี คุณพ่อคุณแม่ลองพิจารณาดูค่ะว่า หากเราให้ลูกนอนด้วย แล้วไปเสริมทักษะการพึ่งตนเองให้ลูกเอาจากกิจกรรมอื่นๆ ด้วยจะดีกว่า

ฝันร้าย

เด็กก็ฝันเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเป็นฝันร้ายมักจำได้เสมอหลังตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ถ้าเป็นฝันที่น่ากลัวมากอาจทำให้ตกใจตื่นกลางดึก
เราเชื่อว่า เด็กเริ่มมีฝันร้ายหลัง 1 ขวบ แต่ในช่วง 1-2 ขวบ เด็กยังแยกแยะเหตุการณ์ในความฝันกับความจริงไม่ได้ เมื่อมีฝันร้ายในวัยนี้ พ่อแม่จึงควรช่วยปลอบประโลมและสร้างความมั่นคงปลอบประโลม

วัย 2-3 ขวบเป็นต้นไป เด็กจะค่อยๆ แยกความฝันกับความจริงได้ อย่างไรก็ตามแต่ยังตื่นตระหนกหรือกลัวอยู่ ถ้าตื่นขึ้นกลางดึก เมื่อ 6 ขวบไปแล้ว มักไม่ค่อยฝันร้าย แต่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กฝันร้ายคือ ความเครียด เขาอาจเหนื่อยมาก ได้รับสิ่งเร้าที่ตื่นเต้นระหว่างวันหรือก่อนนอน อาจเป็นรายการทีวีหรือถูกขู่จากผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมีโอกาสฝันร้ายมากขึ้น

การสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ลูก การไม่ให้มีสิ่งเร้ามากเกินไป จะช่วยป้องกันการฝันร้ายให้ลูกได้เป็นอย่างดี เมื่อลูกฝันร้ายจนตกใจตื่นกลางดึก ถ้าลูกแยกห้องนอนไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเข้ามาปลอบให้เขาสงบ บางครั้งอาจต้องยอมให้เขากลับไปนอนกับพ่อแม่ได้ชั่วคราว ถ้าเขาไม่อาจนอนหลับต่อได้เองตามลำพัง

นอนละเมอ

เด็กเล็กๆ ก็มีอาการคล้ายละเมอได้หลังเข้านอนไป 1-4 ชม. ก็อาจร้องเบาๆ บางคนกรีดร้อง ฟาดแขนฟาดขากับเตียง หรือลุกขึ้นนั่งตาเบิ่งมองอย่างไร้จุดหมาย เหงื่อแตก อาการต่างๆ นี้ อาจเป็นอยู่นานไม่กี่นาทีจนถึงครึ่งชั่วโมง พ่อแม่มักตกใจเมื่อเห็นลูกมีอาการแบบนี้ พยายามปลุกให้ตื่น แต่มักปลุกยาก ถ้าพ่อแม่พยายามเข้าไปกอดเพื่อปลอบ เขามักจะผลักไสออกและเมื่อตื่นรู้สึกตัว ลูกจะบอกไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าอาการคล้ายละเมอในเด็กเล็กๆ นี้เกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการมีสิ่งเร้าเกิดขึ้น (ซึ่งอาจเป็นสิ่งเร้าภายใน หรือภายนอกร่างกายก็ได้) ในช่วงรอยต่อของการนอนที่ลึกมาสู่ระยะที่ตื่นขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ขณะมีอาการนี้ถือว่าลูกยังคงหลับอยู่ ควรสังเกตห่างๆ คอยดูไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้น ในที่สุดลูกจะหลับได้เอง โดยจำอะไรไม่ได้ในตอนเช้า

แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยหรือมีแนวโน้มอาจเกิดอันตราย ก็ควรพาลูกไปพบหมอ โดยเฉพาะถ้าลูกมีอาการเกร็งหรือกระตุกคล้ายชัก แม้สาเหตุหลักจะไม่เกี่ยวข้องกับความเครียด แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรง ความเครียดก็อาจเป็นปัจจัยเสริมหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข

เด็กส่วนมากจะมีอาการคล้ายละเมอบ้างเป็นครั้งคราวและหายไปเมื่อเข้าวัยเรียน
เนื่องจากเด็กอยู่ในวัยที่เจริญเติบโตและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นอกจากการเลี้ยงดูในช่วงตื่น เช่น การให้อาหารหรือส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมแล้ว การเข้าใจความสำคัญของการนอน และช่วยสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ลูก จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจค่ะ


ขวดนมที่รัก...ขอลาไปนอนก่อน

เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง เด็กส่วนมากดื่มน้ำจากแก้วหรือดูดจากหลอดได้ดีพอสมควรแล้ว จึงควรค่อยๆ ให้ลูกเลิกขวดนม เด็กบ้านเราส่วนใหญ่เลิกขวดนมช่วงกลางวันได้ โดยไม่มีปัญหา แต่ตอนนอนยังต้องดูดนมจากขวดต่อไปอีกพักใหญ่ บางคนต้องเอาขวดนมไปโรงเรียนช่วงเข้าอนุบาล มิฉะนั้นจะนอนกลางวันที่โรงเรียนไม่หลับ ถ้าคุณครูที่โรงเรียนช่วยฝึกให้ลูกเลิกดูดขวดนมก่อนนอนได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบถือโอกาสเลิกขวดนมที่บ้านไปด้วยเลย

การดูดขวดนมจนเกินวัย มีผลทำให้ฟันผุ มีปัญหาฟันสบกัน อาจติดเชื้อของหูชั้นกลางง่าย และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนอนคือ มีปัญหาปัสสาวะรดที่นอนนานกว่าเด็กวัยเดียวกัน และนอนหลับเองยาก ถ้าไม่มีขวดนมให้ดูด ตามปกติคนเราอาจรู้สึกตัวกลางดึกช่วงสั้นๆ และมักหลับต่อได้เองโดยจำเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ เด็กที่ต้องดูดขวดนมแล้วจึงจะหลับ ถ้าเผอิญตื่นรู้สึกตัวกลางดึกอาจหลับต่อยาก พ่อแม่บางคนจะให้ขวดนม เพื่อทำให้ลูกหลับต่อในที่สุดกลายเป็นความเคยชินของลูกที่จะหลับได้ เมื่อดูดขวดนมเท่านั้น

การติดดูดนมช่วงก่อนนอนหรือกลางดึกเป็นประจำ ลูกมีโอกาสเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในกรณีที่เด็กคนไหนโชคดี ได้ดูดนมแม่จนถึง 1-2 ขวบ การค่อยๆ เลิกนมแม่ช่วงนี้แล้วให้ลูกดื่มนมจากแก้ว เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเลิกขวดนมเช่นเดียวกัน




[ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่   ปีที่ 4 ฉบับที่ 45 กรกฎาคม 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1