โดย ดร. สาทิส อินทรกำแหง
แชมป์วิ่ง 100 เมตร 2 คนมาพบกัน สถิติของสองคนเท่ากัน คือ 8.4 วินาที ทำอย่างไรคนใดคนหนึ่งซึ่งจะเป็นแชมป์ชนะเลิศได้
สมมติว่าคนหนึ่งในแชมป์ 2 คนนี้เป็นคนไทย คำถามนี้ก็คือ ทำอย่างไร คนไทยจึงจะได้เป็นแชมป์วิ่ง 100 เมตร ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์คราวนี้
ผมไม่ใช่นักวิ่ง แต่ถ้าหากให้ผมเป็นผู้สร้างนักวิ่ง คือเป็นผู้สนับสนุน และสร้างแชมป์ชนะเลิศขึ้นมาให้ได้ ผมก็จะต้องตอบว่าสร้างวินาทีทองขึ้นมาให้ได้
วินาทีทองนั้นก็คือ ถ้าแชมป์ทั้งสองคนสถิติเท่ากัน คือ 8.4 วินาที แชมป์ไทยเราก็จะต้องเร่งความเร็วขึ้นมา ให้เร็วกว่าแชมป์อีกคนหนึ่งอย่างน้อย .1 วินาที (จุดหนึ่ง) คือวิ่งให้ได้อย่างน้อย 8.3 วินาที
.1 (จุดหนึ่ง) วินาทีนี่แหละครับวินาทีทอง หรือถ้าจะให้ปลอดภัยว่าชนะร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เอาเสีย 8.0 วินาทีถ้วนๆก็แล้วกัน
ซึ่งนักวิ่งแชมป์โลกย่อมจะรู้ว่ายากเหลือแสน กว่าจะเร่งความเร็วขึ้นมาได้ต่ำกว่า 9 วินาทีนั้น แทบเลือดตากระเด็น ต้องอาศัยการสร้างตัวและการทดลองเทคนิคใหม่ๆ นับเป็นเวลาสิบๆ ปี
เพราะฉะนั้น ระหว่างแชมป์ต่อแชมป์ ด้วยกัน เฉือนกันเพียง .1 (จุดหนึ่ง) วินาทีก็เหลือเกินแล้ว
เอาล่ะ เมื่อคุยกันมาถึงขั้นนี้แล้ว คำถามก็คือวินาทีทองเช่นนี้สร้างขึ้นได้หรือเปล่า
คำตอบก็คือสร้างได้แน่นอน คนที่เป็นแชมป์อยู่แล้ว เราสร้างวินาทีทองแห่งความเป็นเลิศให้แก่เขาได้
สำหรับนักกีฬานั้น เราสร้างความเป็นเลิศให้แก่เขาได้หลายวิธี
เราสร้างความแข็งแรง (STRENGTH) ให้แก่นักกีฬา แล้วเราก็ต้องสร้างความอึด (STAMINA) ให้แก่เขา ต่อจากนั้นเราต้องสร้างพลัง (ENERGY) ให้เกิดต่อเนื่องกันไป
เราต้องสร้างพลัง กล้ามเนื้อ (MUSCLE ENERGY) แล้วเราก็ต้องสร้าง ความแคล่วคล่องว่องไว (MOBILITY)
ต่อจากนั้นเราต้องสร้างพลัง และการประสานงานระหว่างร่างกายและจิตใจ (CONCENTRATION AND COORDINATION)
นี่เราพูดกันอย่างคร่าวๆ นะครับ
และเชื่อไหมครับว่า การสร้างโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้นั้น จะต้องสร้างจากพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก่อน
พื้นฐานที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ อาหาร
ครั้งหนึ่งนักเทนนิสที่โด่งดังที่สุดหลายคน เกือบจะได้เป็นแชมป์โอเพ่นต่างๆ หลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้เป็นแชมป์สักที อย่างเช่น มาร์ตินา นาฟาเรทติโลวา จิมมี่ คอนเนอร์ เฟรด สตอลร์ จีน เมเยอร์
ตั้งแต่ก่อนปี 1980 เป็นต้นมา นักเทนนิสมือดีเหล่านี้ไม่เคยได้เป็นแชมป์โอเพ่นเลยสักที แต่เมื่อเขาได้เปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหาร ตามสูตรสร้างนักกีฬาตามแบบของ ดร.โรเบิต ฮาส เขาก็กลายเป็นแชมป์โอเพ่น และกลายเป็นแชมป์ แกรนด์ สแลม (GRANDSLAM) ได้
จิมมี่ คอนเนอร์ กลายเป็นแชมป์ฝ่ายชาย และมาร์ตินา นาฟาเรทติโลวา กลายเป็นแชมป์แกรนด์สแลมฝ่ายหญิงติดต่อกันถึง 7 ปี
นั่นก็เพราะนักกีฬาเหล่านี้ เปลี่ยนมาใช้สูตรอาหารสำหรับนักกีฬา
และยังมีนักกีฬาประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่กลายเป็นแชมป์ และนักกีฬาดังก้องโลก
อย่างเช่น แนนซี่ ลิบเบอร์แมน นักบาสเกตบอลหญิง เจมส์ และโจนาธาน ดิโดนาโต นักว่ายน้ำสองพี่น้อง ซิลเวียน และแพตตริเซีย ปุนตัส นักกีฬาลู่และลานฝาแฝดพี่น้อง เป็นต้น
นักกีฬาเหล่านี้สมัยก่อนสูตรอาหารเป็นได้ แต่เพียงนักกีฬาเกือบเป็นแชมป์ แต่ไม่ได้เป็นแชมป์สักที แต่เมื่อเขาเปลี่ยนสูตรอาหาร เขาก็ได้เป็นแชมป์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าติดต่อหลายๆปี
สูตรอาหารนั้นคืออะไร
สูตรอาหารนั้นก็คือ สูตรที่เราเรียกว่า คาร์โบ-ไดเอท (CARBO-DIET) เป็นสูตรซึ่ง ดร.โรเบิต ฮาส ดร.เฟรดเดอริค แฮทฟิลด์ และมาร์ติน ซุคเกอร์ ได้คิดค้นขึ้นมาสำหรับนักกีฬาตั้งแต่ปี 1980
และบัดนี้ก็ได้กลายเป็นสูตรสำคัญ สำหรับนักกีฬาในยุโรปและอเมริกา
คาร์โบ ย่อมาจากคาร์โบไฮเดรต ไดเอท ก็คือสูตรอาหาร หมายถึงการใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเสียทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
อาหารสูตรนี้ อนุญาตให้กินอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะพวกเนื้อต่างๆนั้น อนุญาตให้กินหมด เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องจัดจังหวะอาหารทุกอย่างให้ลงตัว
และจุดสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อใกล้วันแข่งขัน คือก่อนการแข่งขันประมาณสองเดือน ต้องเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และอาหารชนิดไม่ขัดขาว (WHOLE GRAIN) เท่านั้น
ความสำคัญอีกประการหนึ่ง ต้องให้เวลาสำหรับการสร้างพละกำลังให้แก่ร่างกาย เป็นระยะยาวนานพอดูด้วย
ดร.เฟรดเดอริค แฮทฟิลด์ และมาร์ติน ซุคเกอร์ เชี่ยวชาญในเรื่องสร้างนักกีฬาประเภททุ่มน้ำหนัก ขว้างจาน พุ่งแหลน เหวี่ยงลูกตุ้ม และยกน้ำหนัก
เขากะระยะเวลาสำหรับสร้างนักกีฬาเหล่านี้ไว้ถึงสองปี
ปีแรกเขาจะให้อาหารประเภทโปรตีน นอกจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่ หนักมาก อัตราส่วนสำหรับอาหารเนื้อต่ออาหารประเภทอื่น คือ แป้ง ผัก ถั่ว ผลไม้ จะเป็นประมาณ 60-40
หมายความว่า ระยะปีแรกจะให้กินเนื้อเป็นส่วนมาก พอระยะปีที่สองจะลดจากเนื้อลงเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 6 เดือนหลัง เกือบจะไม่มีเนื้อเลย
ยิ่งระยะ 3 เดือน ก่อนอาหาร เกือบจะเป็นอาหารแป้ง ผัก ถั่ว ผลไม้ เกือบทั้งหมด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะระยะปีแรก แฮทฟิลด์และซุคเกอร์ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ให้มากที่สุดที่จะมากได้ พอเข้าปีที่สอง เราต้องการสร้างพลังและความอึดจากแป้ง (ข้าว) ผัก และถั่ว
ความสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ วันเวลาการแข่งขัน เขาต้องกะเวลาที่ร่างกายจะต้องมีสภาพเหมือนลูกระเบิด ที่ถูกอัดแรงระเบิดเข้าไปอย่างเต็มที่จนเก็บไว้ไม่ได้ ถึงวันที่จะต้องใช้ก็ระเบิดตูมออกมาอย่างเต็มที่ นั่นก็คือกะวันระเบิดให้ตรงกับวันแข่งขันพอดี
แต่ทั้งหมดนี้ต้องขอเรียนให้ทราบเสียก่อนว่า สูตรสร้างนักกีฬากับสูตรชีวจิต นั้นเป็นคนละสูตรกัน
สูตรชีวจิตนั้น เป็นสูตรเพื่อสุขภาพ แต่สูตรนักกีฬา เป็นสูตรซึ่งเราต้องการสร้างแชมป์ เป็นสูตรซึ่งเราต้องการอัดพละกำลัง และความสามารถเข้าไปในนักกีฬาอย่างเต็มที่
เพื่อที่เราจะได้แชมป์เอเชียนเกมส์มากๆ ให้เลื่องระบือสมกับที่เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์เสียนี่.
main |