โดย ดร. สาทิส อินทรกำแหง
อะไรเอ่ย กินก็ได้ เป็นยาก็ได้
ถามง่าย แต่ตอบยาก เพราะคำถามนั้นกว้างเหลือเกิน
ถ้าจะเอาหลักเรื่องอาหารและเภสัชมาพูด เกือบจะทุกอย่างที่เรากินได้ มักจะเป็นยาไปด้วยในตัว
อาทิตย์ที่แล้ว ผมพบผักที่น่าสนใจมากที่เชียงใหม่ กินเป็นอาหารก็อร่อย กินเป็นยาก็แก้อาการผิดปรกติหลายๆ อย่างได้เป็นอย่างดี
ผักที่ว่านั้นก็คือ พลูคาว
ผมไปกินอาหารกลางวันที่ร้าน "คุณเชิญ" ใกล้ๆ มช. ซึ่งเป็นร้านอาหารมังสวิรัติ
สั่งลาบเต้าหู้มาหนึ่งจาน พอเอามาตั้งให้ที่โต๊ะ เขาก็แถมผักหลายๆ อย่างให้มาจานใหญ่สำหรับกินกับลาบ
ผมหยิบผักขึ้นมาก้านหนึ่ง ไม่ทันสังเกตว่าเป็นผักอะไร ก็ส่งเข้าปากก่อน เคี้ยวไปได้คำเดียวก็ต้องคายทิ้ง เพราะเหม็นคาวเหลือเกิน
หยิบในผักที่เหลือออกมาดู ถึงได้รู้ว่ากินใบพลูคาวเข้าไปสดๆ
ปรกติเขาต้องกินกับลาบ มันจึงจะเข้ากันได้ ไม่เหม็นคาว ถ้ากินสดๆ ละก็เหม็นคาวแทบตาย
แต่ชาวบ้านเขาจะบอกว่า ถ้าจะกินเป็นยาก็ต้องกินสดๆ เขาบอกว่าแก้ไอได้ ชาวบ้านจะเรียกตามแบบของชาวเหนือว่า คาวตอง
ผมเริ่มสนใจ "คาวตอง" ขึ้นมาทันที เมื่อทราบว่าเป็นยาพื้นเมือง ซึ่งชาวบ้านใช้กินมานานแล้ว
และยิ่งรู้ว่าเหม็นคาว ผมก็เลยลองเอามากำดูหนึ่งกำ แล้วขยี้เสียเต็มที่ เจ้าประคุณเอ๋ย กลิ่นเหม็นคาวนั้นเหลือหลายยิ่งกว่ากลิ่นปลาช่อนสดๆ สักสิบตัวมารวมกัน
ผักแทบทุกชนิดจะไม่มีกลิ่นคาวเลย มีแต่พลูคาวนี้เท่านั้นที่พอขยี้ ก็จะมีกลิ่นเหม็นคาวฉุนกึกเลย
นี่แหละคือคุณลักษณะพิเศษของเขาล่ะ เพราะกลิ่นเหม็นคาวแสดงว่า ผักชนิดนี้มีโปรตีนซึ่งจะแตกตัวออกเป็นแอมมิโน แอซิค ได้หลายชนิด
ผมตกลงใจว่าจะลองศึกษาดูว่า พลูคาวจะมีลักษณะพิเศษอะไรบ้าง ต่อไปนี้คือการศึกษาแบบเล่นๆ ของผม โปรดทราบนะครับว่าที่เป็นการทดสอบด้วยตัวของผมเอง คือเอาตัวเองเป็นเครื่องทดลอง ผมไม่มีห้องแล็บและเครื่องมือเครื่องไม้ ที่จะมาทดลองแบบวิจัยเลย
ก่อนอื่นผมไปค้นดูตำราเภสัชของไทยหลายเล่ม ได้พบว่าในพลูคาวมีน้ำมัน ซึ่งมีสารหลายตัวอยู่ในนั้น ตัวสำคัญตัวหนึ่ง คือ เควซิติน ซึ่งในเหล้าองุ่นแดงก็มีตัวนี้อยู่ด้วยและเขาอ้างว่าสารตัวนี้ (ในเหล้าองุ่น) จะช่วยในเรื่องโรคหัวใจ เพราะช่วยกำจัดไขมันในเส้นเลือดได้
(ไม่ใช่อ้างข้อนี้เพื่อให้กินเหล้านะครับ เพราะถ้าจะให้กินเป็นยาแล้ว เขาให้กินเพียงครั้งละแก้วหรือสองแก้ว และอาทิตย์หนึ่งกินได้ไม่ควรเกิน 2 ครั้ง)
แค่เพียงทราบว่าพลูคาวมีสารเควซิตินนี้อยู่ด้วย ผมก็เลยยิ่งรู้สึกสนุกมากขึ้น ต้องทดลองกับตัวเองให้ได้
ก่อนอื่นผมไปศึกษาดูอีกว่า ตำราไทยโบราณของเรานั้น ใช้พลูคาวแก้อะไรบ้าง ปรากฏว่าตัวสำคัญใช้ร่วมกับยาอื่นๆ รักษากามโรค ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ทั้งยังช่วยขับปัสสาวะด้วย
ผมก็เลยชวนเพื่อนๆ 3-4 คน มาร่วมทดลองด้วย คือเรากินทั้งเป็นอาหาร คือกินเป็นผักประกอบกับลาบเต้าหู้ แล้วก็เอาพลูคาวไปคั้นเป็นน้ำครึ่งแก้วดื่มเข้าไปด้วย
เพราะคั้นเอาแต่น้ำเราจะได้เอนไซม์จากผักเข้าไปด้วย แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับ คั้นเป็นน้ำอย่างนี้ มันเหม็นคาวเหลือประมาณ เวลาจะดื่มคุณต้องกลั้นหายใจให้เก่งๆ จึงจะดื่มได้
ที่คั้นเอาน้ำเพื่อเอาเอนไซม์นั้นเพื่อไปช่วยในการย่อย และเพื่อช่วยในการแยกสารต่างๆ เช่น เหล็ก และทองแดง ออกมาช่วยในการสร้างเลือดด้วย
ถ้าหากคุณไม่แยกน้ำออกมาด้วยวิธีคั้น บางคนชอบเอาไปใส่เครื่องปั่น ก็จะทำให้เอนไซม์มันเสียไปครับ ก็จะได้แต่น้ำผักเฉยๆ ประโยชน์ที่จะได้ ก็คงมีแต่พวกวิตามินและสารอื่นๆ บ้างเท่านั้น จะไม่ได้เอนไซม์
ผลที่ได้จากการดื่มน้ำพลูคาวครึ่งแก้วหนึ่งวันล่วงไปแล้ว
1.อาการไอ จากเป็นหวัดดีขึ้น ไอแห้งลงทันที
2.ขับปัสสาวะดี ปัสสาวะคล่อง ปริมาณน้ำที่ถ่ายมามากกว่าปรกติ
ข้อเสียก็คือ มีอาการปวดตามข้อ เหมือนกับจะเป็นเกาต์ ตอนแรกก็สงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะกินลาบเต้าหู้มากไป เพราะในเต้าหู้มีกรดไฟติค ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกรดยูริค
แต่คราวหลังดื่มน้ำพลูคาวเฉยๆ โดยไม่กินเต้าหู้ ก็ยังมีอาการปวดข้ออยู่ดี แสดงว่าในน้ำพลูคาวอาจจะมียูริค แอซิค ได้
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการทดลองอย่างไม่จริงจังนัก จุดประสงค์เพื่อจะดูว่า ตามตำราที่พูดถึงคุณประโยชน์ของพลูคาวนั้นจริงหรือเปล่า
ปรากฏว่าช่วยเรื่องไอ และขับปัสสาวะนั้นใช้ได้ แต่เรื่องปวดข้อนั้นในตำราไม่ได้พูดถึงเลย
ถ้าใครก็ตามอยากจะลองดูแบบเป็นยาจริงๆ ผมขอแนะนำว่า อย่าทำอย่างชนิดดื่มเป็นยาประจำกินทุกวัน อาจจะเป็นโทษได้
ถ้าจะทดลองดูก็กินเป็นแบบกินอาหาร คือกินกับลาบหรือกินกับน้ำพริกอย่างนั้น จะได้ประโยชน์กว่า คือจะได้ทั้งอาหารและได้ทั้งเป็นยาพร้อมกันไปด้วย
ถ้ากินเป็นอาหารแล้วรู้สึกช่วยในเรื่องไอได้ และปัสสาวะคล่องขึ้น ก็อาจจะลองใช้วิธีคั้นเอาน้ำดื่มดู ครั้งละครึ่งแก้วสัก 3 ครั้ง อย่าให้มากกว่านั้น อย่าลืมนะครับว่า เราดื่มเพียงช่วยให้ปัสสาวะคล่องขึ้น และการไอ การหายใจคล่องขึ้นเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้านี้เป็นหน้าร้อน คุณต้องดื่มน้ำมากอยู่แล้ว ถ้าดื่มน้ำพลูคาวเข้าไปด้วย ก็จะช่วยให้การปัสสาวะคล่องขึ้นได้
แต่ไม่ควรจะเอามาใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับไต หรือการปัสสาวะเป็นอันขาด
ใช้เพียงแต่เป็นอาหาร และเป็นยาไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ดีกว่า
ผมได้ทราบมาว่า ในตำราพื้นเมืองของแม่หมอบางคนทางภาคเหนือ ท่านได้ใช้พลูคาวผสมกับสมุนไพรอย่างอื่น ช่วยในการบรรเทาโรคบางอย่างที่เกี่ยวกับโลหิต และภูมิต้านทานบกพร่องได้
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับเลือดนั้นมีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะกลิ่นคาวของพลูคาวแสดงว่ามีโปรตีน และคงจะมีเอนไซม์ซึ่งจะช่วยทำให้เลือดบริสุทธิ์ขึ้นได้ (เอนไซม์ก็จะประกอบไปด้วยโปรตีนเหมือนกัน)
สำหรับท่านเภสัชกร หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในแล็บ น่าจะลองสนใจกับผักพลูคาวนี้ดูบ้าง ผมว่าน่าสนใจนะครับ โรคบางอย่างที่ว่าร้ายแรงอย่างเหลือเกินนั้น พลูคาวอาจจะมีส่วนช่วยได้
สำหรับท่านที่ไม่ใช่เภสัชกร แต่อยากจะทดลองดู ก็ใช้วิธีกินเป็นอาหารอย่างที่ผมแนะนำดูเถิดครับ จะไม่มีอันตราย
เพราะการกินเป็นอาหารนั้น ก็ต้องกินประกอบกับอาหารอย่างอื่น ในกรณีของพลูคาว ต้องกินกับลาบ แต่ขอแนะนำนะครับว่า กินลาบแบบมังสวิรัติจะปลอดภัยกว่า อย่ากินกับลาบสดๆ เช่น ลาบเนื้อหรือลาบเลือดเลย อันตราย
แทนที่จะได้ประโยชน์กลับจะป่วยไปเลยนะครับ
ขอแถมอีกสักนิดว่า หน้าร้อนๆ อย่างนี้ กินอาหารที่มีสมุนไพรเยอะๆ ก็จะดี เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา แมงลัก สะระแหน่ เป็นต้น อร่อยด้วย หอมด้วย และท้องไส้สบายดีด้วย
สาทิส อินทรกำแหง
main |