มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ เริ่ม อาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2541 ]

ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต

โดย ดร. สาทิส อินทรกำแหง


37 ป้องกันโรคโทร.มาราธอน

คำถามอาทิตย์นี้สดๆ ร้อนๆ จากท่านผู้อ่าน ท่านถามว่า "อาจารย์คะ ทำอย่างไรจะแก้โรคพูดโทรศัพท์ยาวๆ ของลูกสาวได้ เขาพูดโทรศัพท์ทุกวัน วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง"

โรคนี้เป็นโรคดึกดำบรรพ์ครับ คือเป็นโรคระบาดมาตั้ง 30-40 ปีมาแล้วเห็นจะได้ เป็นโรคระบาดอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นของฝรั่งก่อน

ฝรั่งก็ตกใจกันมากเหมือนกัน ตอนนั้นผมจำได้ว่ามีคนถามปัญหาไปที่ DEAR ABBY ในหนังสือพิมพ์เยอะแยะ ในโรงเรียนไฮสคูลก็มีการประชุมถกเถียงกัน ในสมาคมครูผู้ปกครองบ่อยครั้ง

ในที่สุดผมจำได้ว่า มีการสอนกันในห้องเรียนกันเลยว่า พวกลูกๆ ควรจะเรียนรู้มารยาทในการใช้โทรศัพท์อย่างไร พูดโทรศัพท์นั้นพูดได้ถ้ามีธุระ แต่คุยกันทางโทรศัพท์ไม่ได้ เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลาการงานไปทั้งวันแล้ว คนอื่นๆ ก็ใช้โทรศัพท์ไม่ได้ ถ้ามีเรื่องธุระสำคัญหรือมีปัญหาฉุกเฉินคอขาดบาดตายขึ้นมา ก็กลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมสาหัส ช่วยชีวิตคน ไม่ได้ เพราะลูกสาวท่านจองโทรศัพท์ไว้คุยกับแฟนตลอดเวลา

แต่เมื่อมีอบรมและมีการตกลงกันระหว่างลูก พ่อ แม่ และโรงเรียนได้ ปัญหาก็จะดูทุเลาเบาบางลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะเรื่องของทีนเอจนั้น ไม่ได้อยู่ที่เรื่องโทรศัพท์เรื่องเดียวเท่านั้น

ข้อสำคัญอยู่ที่พ่อแม่ของลูกด้วย พ่อแม่บางคนตามใจลูก ลูกยืนยันจะต้องใช้ โทรศัพท์ให้ได้ ก็เลยติดโทรศัพท์ส่วนตัวให้ลูกเสียเลย บางคนอายุ 16-17 ทำงานพิเศษนอกเวลา มีรายได้เป็นของตัวเองก็เลยติดโทรศัพท์ของตัวเอง พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไรเหมือนกัน

เมืองไทยผมเข้าใจว่าเรื่องพูดโทรศัพท์มาราธอน เพิ่งจะมาเป็นปัญหาสักสิบกว่าปีมานี้กระมัง ตอนต้นคงจะเป็นปัญหามาก เพราะโทรศัพท์ประจำบ้านมีน้อย จะติดตั้งโทรศัพท์ก็ไม่มีสาย ไม่มีเครื่อง

แต่ตอนหลังนี้การติดตั้งโทรศัพท์ทำได้ง่ายแล้ว ปัญหาเรื่องการพูดโทรศัพท์มาราธอนของลูกๆ คงจะหมดไป ยิ่งสมัยนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่บางคนซื้อให้ลูกเป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำตัว ก็เห็นได้เกลื่อนไปตามศูนย์การค้า

แต่เรื่องของเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งเดี๋ยวนี้หากันได้สะดวกนั้น คงจะไม่ใช่เป็นการตอบปัญหาของคุณผู้อ่าน ที่ถามผมมาว่า จะแก้ปัญหาการพูดโทรศัพท์มาราธอนของลูกสาวได้อย่างไร

แสดงว่าการพูดโทรศัพท์ยาวๆ นานๆ นั้น ทำให้เกิดความเสียหายและเดือดร้อน แก่ตัวเองและแก่ครอบครัว

เดือดร้อนอย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องการเรียน การทำการบ้าน เวลาแทนที่จะมาทบทวนการเรียนการบ้านก็หมดไป เวลาที่จะทำการทำงานให้แก่ตัวเอง หรือช่วยครอบครัวได้บ้างก็หมดไป

และประการที่สำคัญที่สุด ลูกกลายเป็นคนเสียนิสัยไปเลย

เพราะการพูดโทรศัพท์มาราธอนนั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการเพาะนิสัยเสียหลายๆ อย่างให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เสียความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความคิดหลักการของตัวเอง จะทำอะไรก็ทำตามแฟชั่นของเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นทางดี ทางร้าย ก็ต้องขอตามเขาไว้ก่อน

การพูดโทรศัพท์ยาวๆ เป็นการเริ่มต้นทางหนึ่งของแฟชั่นเสียๆ เด็กๆ บางคนไม่มีโทรศัพท์ของตัวเอง แต่ก็จะสะสมการ์ดโฟนเป็นปึกๆ เห็นตู้โทรศัพท์ ที่ไหน ก็พูดจนกว่าการ์ดโฟนหมด จึงจะเลิกพูด

ที่นี่ก็เป็นเรื่องของการตามแฟชั่น ถ้าตามตู้โทรศัพท์ศูนย์การค้า เห็นทีนเอจเหล่านี้รอโทรศัพท์อยู่ ลองสังเกตเครื่องแต่งกายและท่าทาง ก็จะเห็นเหมือนฝาแฝดถอดแบบออกมาพิมพ์เดียวกัน รองเท้า เสื้อ กางเกง ทรงผม เครื่องประดับ เครื่องสำอาง

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กิริยา ท่าทาง การพูดและวิธีพูดจา นั่นเมื่อมองดูเผินๆ ก็จะเห็นภาพฝาแฝดออกมาเหมือนๆ กันทั้งกลุ่มอีกเหมือนกัน

ภาพรวมที่ออกมาในลักษณะนี้ บอกความสำคัญอะไรบ้าง ผมว่าภาพรวมเฉยๆ คงไม่มีความสำคัญอะไร ความสำคัญอยู่ที่ว่าเสียหายหรือไม่มากกว่า

ถ้าการยึดติดแฟชั่น รวมทั้งความประพฤติ ส่วนตัวเป็นไปชั่วระยะหนึ่ง พอพ้นวัยรุ่นไปแล้วก็เปลี่ยนไป รู้จักปรับปรุงตัวเอง เอาการเอางาน มีความรับผิดชอบ แฟชั่นวัยรุ่นก็คงเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะหนึ่ง ที่ทำให้เขารู้จักโลกและชีวิตดีขึ้น

แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงไม่เป็นตัวของตัวเอง รู้จักแต่จะตามแฟชั่น คลั่งไคล้แฟชั่นอยู่ตลอดไป อนาคตก็คงน่าเป็นห่วง

ผมเสียดายที่ไม่ได้คุยกับคุณแม่ ที่ถามคำถามมาเป็นส่วนตัว เพราะท่านโทร.มาในขณะที่ผมไม่อยู่ ท่านได้แต่ทิ้งคำถามไว้ให้ เท่านั้น

ผมเดาเอาว่า การพูดโทรศัพท์มาราธอนของลูกสาว คงเป็นเรื่องเดือดร้อนสำหรับท่านและครอบครัว ท่านจึงถามมาว่า "จะแก้โรคพูดโทรศัพท์ยาวๆ ของลูกสาวได้อย่างไร"

ถ้าจะเอาประสบการณ์ของผมเป็นคำตอบ ก็คงจะเป็นการป้องกันมากกว่าการแก้

เพราะผมวางกฏไว้ให้ลูกของผมสมัยยังเด็กๆ ว่า ห้ามไม่ให้คุยทางโทรศัพท์ ถ้าพูดธุระพูดได้ แต่ไม่เกิน 5 นาที

และก็คงจะต้องอาศัยการรักษากฎอย่างเคร่งครัดด้วย เมื่อไหร่ที่ลูกออกนอกกฎเกณฑ์ก็ถูกลงโทษ โดนตัดสิทธิ์อะไรหลายอย่าง

แต่ผมก็โชคดี เพราะลูกผมไม่มีนิสัยชอบคุยทางโทรศัพท์ ยิ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะลูกทำงานทำการและแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้ว มีโทรศัพท์ของตัวเอง อยากจะพูดโทรศัพท์ 24 ชั่วโมงก็ตามสบายของเขา

เพราะฉะนั้น คำตอบของผมสำหรับคุณแม่ที่ถามมาก็คือ จะลองวางกฎแบบคนละครึ่งทางกับลูกดีไหมครับ

คืออธิบายเสียก่อนว่าการใช้โทรศัพท์มาราธอนนั้น เสียหายและเดือดร้อนผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะลดการพูดโทรศัพท์มา ด้วยการให้พูดวันละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 5 นาที อย่างนี้จะพอตกลงกันได้ไหม

และสิ่งที่ผมอยากจะชวนคุณแม่ ให้ลองพิจารณาภาพรวมของคุณลูกให้ละเอียดสักนิดก็คือ ลูกมีแต่เรื่องโทรศัพท์มาราธอนอย่างเดียวหรือเปล่า หรือว่ามีเรื่องแบบแฟชั่นทีนเอจ รวมทั้งการจับกลุ่มกันด้วยหรือเปล่า

ถ้ามีอะไรแปลกๆ ก็ลองสัมมนากันดูบ้างเป็นอย่างไร ช่วงระยะปิดเทอมอย่างนี้ สัมมนากันในครอบครัวมีผล ซึ่งน่าจะชื่นใจหลายอย่างนะครับ

แล้วก็อย่าลืมคุยเรื่องวิถีชีวิต ตามแนวชีวจิตกับลูกๆ บ้างนะครับ เอาเพียง 2 หัวข้อก็พอ คือ

1. การใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากๆ ตอนนี้ก็ลองพาลูกๆ ออกเที่ยว เที่ยวเขาดูบ้างซิครับ

2. ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและมีความพอดี ข้อนี้แหละครับที่จะแก้โรคพูดโทรศัพท์ มาราธอนและการทำตามแฟชั่น แบบไม่ลืมหูลืมตาได้เป็นอย่างดี

ดีไม่ดีการแต่งตัวแบบเรียบง่าย และพอดีนั่นแหละก็จะกลายเป็นแฟชั่นใหม่ของทีนเอจ

อย่างนี้ "จ๊าบ" กว่าการแต่งตามแฟชั่นเป็นไหนๆ.

สาทิส อินทรกำแหง

[กลับไปสารบัญชีวจิต]   [BACK TO LISTS - FOODS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1