มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2541 ]

แพ้เสื้อผ้า

น.พ.ประวิตร พิศาลบุตร


ตามปกติแล้ว เนื้อที่ผลิต ตามธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การแพ้จะเกิด ต่อเมื่อมีการเติมสารเคมีลงในเนื้อผ้า ระหว่างกระบวนการตัดเย็บ เป็นเสื้อผ้า ตำแหน่งที่ก่อให้เกิดการแพ้ มักเป็นตำแหน่งที่เสื้อผ้าสัมผัสผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ ตามลำคอของผู้ชายที่สวมเสื้อเชิ้ต ที่ทำให้คอเสื้อแข็ง หรือในผู้หญิง อาจพบผื่นที่ด้านหลัง ของรักแร้ ที่สัมผัสกับเสื้อผ้าที่ใช้น้ำยา ทำให้ผ้าเรียบหรือแพ้สีย้อมผ้า

ในกรณีของการแพ้กางเกง อาจพบผื่นผิวหนังอักเสบด้านใน และด้านหน้าของต้นขา ทั่วไปแล้วถือว่า เสื้อผ้าที่ทำจาก ผ้าฝ้าย (Cotton) โดยไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่ผ้าฝ้าย "บริสุทธิ์" แบบนี้ มักยับยู่ยี่ และหดได้ง่าย
ผ้าขนสัตว์ (Woolen)  มักทำให้ผิวหนังระคายเคือง และเกิดลมพิษจากการสัมผัสได้
ผ้าไหม  มักไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการแพ้
ผ้าไนล่อน (Nylon)  มักก่อให้เกิดผดได้ เพราะเนื้อผ้า จะไม่ให้เหงื่อซึมผ่านออกมา

สารหลายอย่างที่เติมลงในเนื้อผ้า เพื่อคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ทำให้เนื้อผ้านุ่ม ทำให้เนื้อผ้า มีน้ำหนัก ไม่เปียกน้ำ, สารกันเชื้อรา, กันไฟฟ้าสถิต ทำให้เนื้อผ้าติดผิว, กันแมลง เหล่านี้ มักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนการแพ้ผงซักฟอก ที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ที่นำไปทำความสะอาด นั้น พบได้น้อย และมักเป็นการแพ้น้ำหอมที่เติมลงในผงซักฟอก

ส่วนน้ำยาที่ซักแห้ง มักทำให้ผิวแห้งระคายเคือง แต่ไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ การทดสอบว่าแพ้เสื้อผ้าหรือไม่? อาจทำได้โดยตัดเศษเสื้อผ้าที่สงสัยขนาด 1x1 นิ้ว แช่น้ำไว้ 10 นาที แล้วนำมาแปะติดผิวหนังของผู้ที่สงสัยว่าจะแพ้ไว้นาน 3-4 วัน

สตรีที่สวมเสื้อผ้ารัดรูปมากจะทำให้ขาบวมได้ และยังทำให้เกิดอาการคันจากการระคายเคือง และเกิดจ้ำเลือดออกได้

บางครั้งแมลงที่อาศัยในเสื้อผ้าจะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดผื่นผิวหนัง เช่น เหา หิด ซึ่งมักชอบอาศัย ตามเสื้อผ้า ที่ทำจากขนสัตว์ หรือเสื้อผ้าที่หนา พบว่าแมลงบางอย่าง เช่น ผึ้ง จะชอบต่อย คนที่สวมเสื้อผ้าสีเข้ม เนื้อขรุขระ หรือผ้าขนสัตว์ มากกว่าคนที่สวมเสื้อสีขาว สีอ่อน หรือผ้าเนื้อเข้ม เสื้อผ้าที่มีกลิ่นเหม็นของเหงื่อไคล, น้ำหอม หรือสเปรย์ฉีดเส้นผม จะกระตุ้นให้ผึ้งต่อยมากขึ้น

การแพ้ พบว่าซิป, กระดุม, ตะขอ ที่มีส่วนผสมของนิกเกิล (Nickel) ก่อให้เกิดการแพ้ได้ นอกจากนั้น ยาง (Rubber) ที่ใช้หนุนไหล่, รองปก ใช้ในยกทรง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ บางคนมีเหรียญ อยู่ในกระเป๋ากางเกง อาจแพ้นิกเกิลในเหรียญได้เช่นกัน

ปัจจัยที่มีผลต่อการแพ้เสื้อผ้า
การสัมผัสเสียดสี ความร้อน ความชื้น และเหงื่อที่ออกมาก ล้วนกระตุ้นให้เกิดการแพ้เสื้อผ้า ได้มาก เสื้อผ้าที่รัดรูป อาจก่อให้เกิดผื่นผิวหนัง แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้าที่หลวม หรือเมื่อลดน้ำหนักตัวลง ผื่นคันอาจหายไปได้ หากสวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายเหงื่อ ก็จะเกิดผดขึ้น เหงื่ออาจจะละลายสารเคมี และสีย้อมในเนื้อผ้า ทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้ได้

การป้องกันการแพ้เสื้อผ้า

  1. การซักล้างเสื้อผ้าอย่างสะอาดหมดจด จะลดการแพ้เสื้อผ้าลงได้ เสื้อผ้า ถุงเท้า ถุงน่อง เสื้อชั้นใน ควรชำระล้างให้สะอาด และต้องล้างผงซักฟอก เศษเหงื่อไคล และไขมันผิวหนังออกให้หมด
  2. เสื้อผ้าที่ส่งซักแห้ง ก่อนสวมใส่ควรนำออกจากถุงพลาสติก แล้วเป่าให้แห้งสนิท เพื่อให้สารต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการซักแห้งระเหยไปให้หมด
  3. ลดน้ำหนักตัวเอง คนที่อ้วนมาก หากลดน้ำหนักตัวลง จะทำให้ผิวหนังสัมผัส เสียดสีเนื้อผ้าน้อยลง และลดการเกิดผื่นคันลงได้
  4. ลดเหงื่อ ผู้ที่มีเหงื่อออกมากอาจทำให้เกิดการแพ้เสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น การใช้ยาลดเหงื่อ การไม่ดื่มของร้อนจัด การไม่อยู่ในที่อุณหภูมิสูง จะช่วยให้เหงื่อออกน้อยลง และลดการแพ้เสื้อผ้าได้
  5. การสวมเสื้อผ้าอีกชั้นเพื่อป้องกัน หากจะใส่เสื้อขนสัตว์ อาจใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวชั้นในก่อน หรือถ้าจะใส่เสื้อผ้าจากเฟอร์ (Fur) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่คอ อาจต้องใช้ผ้าพันคอสีขาวพันรอบคอก่อน
  6. การใช้สเปรย์ คนที่แพ้เสื้อผ้าบางราย หากใช้สเปรย์พ่นตามรักแร้และข้อพับผิวหนัง อาจลดการแพ้ลง เพราะสเปรย์จะไปเคลือบผิวหนังไม่ให้สัมผัสกับเนื้อผ้าโดยตรง
  7. สตรีที่สวมใส่เครื่องรัดรูป เพื่อลดหน้าท้องอาจเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ ที่ท้องด้านล่าง และขาหนีบ เพราะการแพ้สัมผัสสารเคมีในเนื้อผ้า และอาจเกิดการติดเชื้อของยีสต์ได้ และยังมีเชื้อราที่ชอบเจริญเติบโตในที่อับชื้น และยังอาจทำให้เกิดขาบวม เกิดผิวหนังอักเสบเป็นผื่นดำที่ขาด้านล่าง จึงควรงดเว้นการใช้เครื่องรัดรูป

น.พ.ประวิตร พิศาลบุตร


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1