มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540 ]

ความสำคัญของฟันแท้ซี่แรก

ทญ.สีใบตอง บุญประดับ


เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่าฟันของเรานั้นมี 2 ชุด ฟันชุดแรกเรียกว่าฟันน้ำนม จะเริ่มโผล่ขึ้นมาในช่องปากตรงบริเวณฟันหน้าข้างล่างก่อน จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุได้ ประมาณ 5-8 เดือน ขึ้นครบ 20 ซี่ เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2/1.2 ปี - 3 ปี ฟันชุดที่สองเรียกว่าฟันแท้หรือฟันถาวร ขึ้นซี่แรกเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 ปี โดยขึ้นถัดจากฟันน้ำนมซี่สุดท้ายเข้าไปด้านใน ส่วนฟันแท้ซี่อื่น ๆ นั้นจะทะยอยขึ้นมา แทนฟันน้ำนมจนหมดทุกซี่ ขึ้นครบ 32 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 17-18 ปี ฟันแท้นี้จะทำหน้าที่ อยู่ในช่องปากได้ตลอดชีวิตของเรา ถ้าได้รับการเอาใจใส่ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ

เหตุที่ต้องเน้นถึงความสำคัญของฟันแท้ซี่แรกนั้นเพราะระยะที่ฟันแท้ซี่นี้ขึ้น เด็กมีอายุ ประมาณ 5-6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดในเรื่องการดูแลสุขภาพภายใน ช่องปากของเด็ก คิดว่าเด็กช่วยตัวเองได้เพราะเด็กเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 หรือชั้นประถม ปีที่ 1 จึงปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง โดยไม่ได้ช่วยดูแลว่าเด็กแปรงฟันสะอาดหรือไม่ ที่จริงแล้วเด็กในวัยนี้ผู้ปกครองยังต้องเอาใจใส่ดูแลตักเตือนในเรื่องการทำความสะอาดฟัน การเลือกรับประทานอาหารที่ดีบำรุงฟันและหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายฟัน

ฟันซี่นี้มีความสำคัญมากเพราะ
  • -เป็นซี่ที่สำคัญที่สุดในการบดเคี้ยวอาหารไปตลอดชีวิต หรือจะเรียกว่า เป็นหัวใจ สำคัญในการบดเคี้ยวอาหาร จึงมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในวัยเรียน เป็นอย่างมาก เด็กที่มีฟันผุมักจะมีร่างกายผอม ไม่แข็งแรง จะเจ็บคอและเป็นหวัด อยู่บ่อย ๆ เด็กบางคนอาจมีผลทำให้ขาดอาหารได้ เพราะใช้ฟันเคี้ยวอาหาร ไม่สะดวก ใช้ฟันซี่อื่นไม่ถนัดและไม่แรง ในการบดเคี้ยวดีเท่าฟันซี่นี้ เด็กไม่แจ่มใส และฉลาดเท่าที่ควร จะมีผลต่อการเรียนและอนาคตของเด็ก ในวันข้างหน้า
  • - ฟันแท้ซี่นี้เป็นแนวทางให้ฟันแท้ซี่อื่น ๆ ที่จะขึ้นต่อไป ขึ้นได้ตรง ตามตำแหน่ง ทำให้การสบฟันทั้งปากเป็นปกติ เป็นการป้องกันการเกิดฟันเก และฟันซ้อนในเด็ก
  • - ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรให้สมบูรณ์

สาเหตุการผุของฟันแท้ซี่แรก
  1. เนื่องจากผู้ปกครองเข้าใจคิดว่า ฟันซี่นี้เป็นฟันน้ำนม เพราะฟันแท้ซี่แรกนี้ ไม่ได้ขึ้นแทนที่ฟันน้ำนม แต่จะขึ้นต่อจากฟันกรามน้ำนมซี่สุดท้าย จึงไม่ได้สนใจดูแล และนำเด็กไปรับการอุดฟันจากทันตแพทย์ ถึงแม้จะเห็นว่า ฟันของเด็กผุเป็นรูดำแล้วก็ตาม เพราะคิดว่า เป็นฟันน้ำนมถึงถูกถอนก็มีฟันแท้ ขึ้นมาแทนที่
  2. ฟันน้ำนมผุอยู่ก่อนเป็นเหตุให้ฟันแท้ซี่แรกผุตามไปด้วย
  3. ลักษณะบนด้านบดเคี้ยวของฟันซี่นี้มีร่องลึกทำให้เศษอาหารไปติดหมักหมม เกิดกรดทำลายเนื้อฟันได้ง่าย และด้านข้างที่ติดกระพุ้งแก้มก็มักจะผุ เนื่องจาก เศษอาหารเข้าไปติด ถึงแม้เด็กแปรงฟันบ้วนปากเองก็มักไม่ออก ต้องอาศัย ผู้ปกครองช่วยแปรงฟันให้เศษอาหารจึงออกมา เพราะตรงตำแหน่งนั้น กระพุ้งแก้มหนีบชิดกับฟันมาก
  4. ในขณะเด็กอายุ 5-6 ปี เป็นระยะที่เด็กไปโรงเรียนเป็นวัยที่ชอบกินจุบกินจิบ โดยเฉพาะขนมหวาน ๆ เช่น ท๊อฟฟี่ ลูกกวาด ช็อคโกแลต น้ำหวาน ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดกรดทำลายฟันให้ผุ ซึ่งบางโรงเรียนจะเป็นแหล่งขายเสียเอง หรือมิฉะนั้น จะมีพ่อค้าหัวใสมาตั้งร้านขายขนมอยู่หน้าโรงเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเจ้าของโรงเรียนบางโรงเรียน ครูบางคนขาดความรู้ และไม่เห็นความสำคัญ ในเรื่องนี้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งผู้ปกครอง เจ้าของโรงเรียน ตลอดจนครูต้องหันมาร่วมมือกัน เพื่อให้บุตรหลาน และนักเรียนของท่าน ไม่เป็นโรคฟันผุ และถูกถอนฟันซี่ที่สำคัญมากซี่นี้ไป โดยทุกคนต้องช่วยกระตุ้นให้เด็ก ดูแลความสะอาดในช่องปาก เลือกรับอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหาร ที่ทำลายฟัน ครูควรแนะนำให้เด็กแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนจะช่วยลด การเกิดฟันผุได้มาก มีหลายโรงเรียนที่เด็กแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียน หลังจากเด็กปฏิบัติตัวเช่นนี้เป็นประจำ ครูได้บอกกับผู้เขียนเองว่าเด็กฟันสะอาดขึ้น โรคฟันผุน้อยลงและมีผลกระทบให้เด็กเป็นไข้หวัดน้อยลงด้วย
  5. ฟันซี่นี้ขึ้นก่อนฟันแท้ซี่อื่น ๆ จึงทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารหนักที่สุด ประกอบกับ ตำแหน่งที่ขึ้นอยู่ติดโคนสุดของกระพุ้งแก้มยากต่อการที่เด็กจะทำความสะอาด เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป เศษอาหารจะติดหมักหมมอยู่ตรงนั้น ทำให้ฟันผุมากยิ่งขึ้น
  6. เด็กขาดความรู้ในการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก การเลือกรับประทานอาหารที่บำรุงฟัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายฟัน
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันฟันผุของเด็กในวัยนี้
การแปรงฟันให้ถูกวิธีและสม่ำเสมอ
การแปรงฟันที่ถูกวิธี นอกจากทำให้เศษอาหารออกจากตัวฟันแล้วยังช่วยกระตุ้นให้เลือด ไปเลี้ยงเหงือกให้แข็งแรง ทำให้ไม่เป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งตรงข้ามกับการแปรงฟันที่ ผิดวิธี นอกจากเศษอาหารไม่ออกแล้วยังทำลายตัวฟันด้วย พวกที่แปรงผิดวิธีจะแปรงถูไปถูมา หรือแปรงขึ้นลง
เลือกอาหารและการกิน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าทั้งผู้ปกครองและครูต้องร่วมมือกันชี้แนะให้เด็กเลือกรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อฟัน ที่สำคัญคือทั้งผู้ปกครองและครูต้องไม่กินเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย เท่าที่ผู้เขียนพบ ผู้ปกครอง ญาติ พี่น้องของเด็กมักจะซื้อของพวกนี้ไปให้เด็กเสียเอง ที่พบมากได้แก่ พวกช็อกโกแลต เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ หลังกินของพวกนี้ ให้เด็กแปรงฟันหรือบ้วนปาก อย่างเร็ว เพื่อลดการเกิดกรด ซึ่งเป็นตัวทำลายฟันผุ
ดื่มนมอย่างไรฟันถึงไม่ผุ
เด็กมีความจำเป็นต้องดื่มนมทุกวันเป็นประจำ เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แต่นมก็เป็น เครื่องดื่มที่ทำให้เกิดโรคฟันผุได้มากเพราะคราบนมจะจับตัวฟันและขอบเหงือกได้ง่าย แต่เอาออกยาก เมื่อคราบนมผสมกับเชื้อโรคในน้ำลายจะเปลี่ยนเป็นกรดไปกัดฟันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลังเด็กดื่มนมต้องรีบแปรงฟัน หรือบ้วนปากหลาย ๆ ครั้งทันที
กินอาหารจุบจิบกับโรคฟันผุ
กินอาหารบ่อยครั้ง หรือชอบกินจุบจิบจะมีโอกาสเป็นโรคฟันผุได้ง่ายกว่าการกินอาหาร เป็นเวลา เพราะการกินอาหารแต่ละครั้งจะเกิดกรดในปากทุกครั้ง การเกิดกรดมากน้อย อยู่กับชนิดของอาหารที่กิน ดังนั้นนอกจากเลือกกินอาหารแล้ว ควรฝึกเด็กให้กินอาหาร เป็นเวลาวันละ 3 ครั้ง ก็พอแล้ว โดยกินแต่ละครั้งให้เพียงพอเพราะร่างกายมนุษย์ ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น การกินอาหารเป็นเวลา นอกจากจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุแล้ว ยังช่วยให้กระเพาะและลำไส้ได้ทำงานน้อยลงด้วย
ใช้ฟลูออไรด์ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวฟัน
เด็กในวัยนี้ ที่ดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์ไม่เพียงพอต่อการป้องกันฟันผุ ควรจะต้องรับประทาน ยาเม็ดหรือยาน้ำฟลูออไรด์ เพื่อเสริมฟันให้แข็งแรง และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรพาเด็ก ไปพบทันตแพทย์ เพื่อเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ตามระยะที่ฟันแท้ขึ้น
ใช้ฟันให้ถูกหน้าที่
ฟันมีหน้าที่สำคัญในการบดเคี้ยวอาหาร ไม่ควรใช้ฟันผิดหน้าที่ เช่น เด็กจะเอาฟันกัดเล็บ กัดดินสอ กัดของเล่นที่เป็นพลาสติกแข็ง ๆ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้ฟันบิ่น หรือเจ็บฟันได้ นอกจากนั้นควรใช้ฟันเคี้ยวอาหารให้ถูกต้อง เช่น ฟันกรามไว้บดเคี้ยว ฟันหน้าเอาไว้ ตัดและฉีกอาหาร
ตรวจฟันให้เด็กเป็นประจำ
ถ้าพบว่าเริ่มมีจุดดำหรือสีน้ำตาลบนตัวฟัน และใช้อะไรเขี่ยไม่ออก ให้นำเด็กไปพบ ทันตแพทย์เพื่อรับการอุดฟัน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเด็กมีอาการปวดฟัน จะทำให้เด็กถูก ถอนฟันได้ แต่ฟันซี่นั้น ถึงแม้ว่าเด็กมีอาการปวดฟันแล้วก็ควรจะปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรักษาคลองรากฟัน เอาตัวฟันไว้ แต่ถ้าจำเป็นต้องถอนฟันก็ควรใส่ฟันปลอม เพื่อกันฟันข้างเคียงล้มหรือเก เพื่อป้องกันการสบฟันผิดปกติ และป้องกันการเกิดโรคฟันผุ และเหงือกอักเสบตามมาทั้งปาก

จะเห็นว่าฟันแท้ซี่แรกมีความสำคัญต่อสุขภาพในช่องปากของเด็กเป็นอย่างมาก เด็กที่ไม่มีผู้ปกครองและครูคอยดูแลแนะนำจะพบว่า ฟันซี่นี้ผุเกือบทุกคน เพราะฟันแท้ซี่นี้ขึ้นในวัยที่เด็กยังต้องการผู้ปกครอง, ครู เป็นหลักสำคัญในการป้องกัน ฟันแท้ซี่ที่ผุ ถ้าท่านมีลูกหรือนักเรียนอายุ 6 ขวบ ท่านควรตรวจดูฟันซี่สุดท้ายของเด็กว่า ผุหรือไม่จะได้แนะนำกระตุ้นให้เด็กดูแลความสะอาด หรือถ้าฟันผุจะได้ช่วยเด็กได้ทัน ถ้าผู้ปกครองและครูร่วมมือดังที่กล่าวมาแล้ว เด็กของท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีฟันสวยงาม ปราศจากโรคฟันผุ และเหงือกอักเสบซึ่งมีผลต่อสุขภาพร่างกายของเด็กด้วย

ทญ.สีใบตอง บุญประดับ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1