ทญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล
โรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคที่พบมากที่สุดในช่องปาก คนไทยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจะเป็นกันมาก
โรคเหงือกอักเสบนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียฟันไป บางรายต้องถอนฟันไป ทั้งปากตั้งแต่อายุน้อย ที่เคยพบมีอายุเพียง 20 กว่าปีเท่านั้นที่ต้องใส่ฟันปลอมทั้งปาก ซึ่งการที่ไม่มีฟันเหลืออยู่เลยมักจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร เพราะจะเคี้ยว อาหารได้ไม่ดีเท่าฟันธรรมชาติ จากการศึกษาทางทันตแพทย์พบว่า ฟันปลอมจะใช้งาน ได้ต่างจากฟันแท้เกือบ 10 เท่า
โรคเหงือกอักเสบเกิดจากการแปรงฟันได้ไม่สะอาดพอ เกิดคราบอาหารเกาะอยู่ตามผิวฟัน โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน แล้วในเวลาเพียง 2 วันก็จะเริ่มมี เชื้อแบคทีเรีย สารแคลเซียมและฟอสเฟต ซึ่งมีอยู่ในน้ำลายจะตกตะกอนสะสมลงไปบนคราบอาหาร ที่ตกค้างนั้นเกิดเป็นหินปูนหรือเรียกว่าหินน้ำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เหงือกบริเวณนั้น เกิดการอักเสบ
โรคเหงือกอักเสบนี้ในระยะแรก ๆ จะไม่มีอาการเด่นชัด แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเหงือก
รอบ ๆ คอฟันเริ่มอักเสบ มีสีแดงหรือบวมเล็กน้อย และถ้ามีการสะสมของหินปูนมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีกลิ่นปากเหม็น เหงือกเลือดออดง่าย โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหาร
หรือแปรงฟัน เมื่อเป็นมากขึ้นอาจจะมีเลือดไหลซึมออกมาจากเหงือกรอบ ๆ ฟัน เลยมักทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคเลือดออกเองตามไรฟันหรือที่เรียกว่าโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งความจริงโรคนี้จะเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินซี ซึ่งเป็นสารที่มีมากในผักผลไม้ จึงไม่ค่อยพบในคนไทยเพราะเรามีผักและผลไม้ให้รับประทานกันตลอดทั้งปี
อาการอย่างหนึ่งที่สำคัญของโรคเหงือกอักเสบคือมีกลิ่นปากเหม็น ซึ่งเป็นอาการเตือน ให้เราทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น บางคนจึงพยายามดับกลิ่นปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก หรือยาอมดับกลิ่นปากชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เลยต้องใช้บ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้เสียเงิน โดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
โรคเหงือกอักเสบระยะแรกนี้รักษาให้หายได้โดยการขูดหินปูนออก และรักษาฟัน ให้สะอาดก็พอ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้มีการสะสมของหินปูนมากขึ้น จะทำให้เชื้อแบคทีเรีย มาเกาะมากยิ่งขึ้น และปล่อยสารพิษออกมาทำให้เหงือกอักเสบเกิดเป็นหนอง และกระดูกรอบรากฟันจะละลายตัวไป ในที่สุดก็จะเริ่มโยกระยะนี้เรียกว่าเป็น โรคปริทนต์หรือโรคเหงือกขั้นรุนแรง หรือที่บางคนเรียกว่าโรครำมะนาด จนกระทั่งมีหินปูนเกาะลึกลงไปใต้เหงือกจนถึงปลายรากฟัน ฟันก็จะโยกมากจนไม่สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป
หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมโรคเหงือกถึงได้ลุกลามไปได้มากขนาดนี้ อันนี้เกิดขึ้นเพราะ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง คือเมื่อมีการอักเสบของเหงือกเกิดขึ้น ก็แก้ไขตามอาการนั้น โดยการรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ เหงือกก็จะยุบลงไปดูเหมือนว่า หายแล้ว แต่ถ้ายังมีหินปูนอยู่ก็จะมีอาการขึ้นมากอีก และเมื่อทานยาก็จะหายไป ในที่สุดก็ต้องเสียฟันไปทั้งปาก
การกำจัดหินปูนนั้นทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับขูดหินปูน ซึ่งมีทั้งชนิดใช้แรงมือ และชนิดใช้ไฟฟ้า เครื่องมือขูดหินปูนชนิดใช้แรงมือ ที่ปลายเครื่องมือจะมี ด้านคม สำหรับขูดเอาหินปูนออก ส่วนเครื่องมือชนิดใช้ไฟฟ้าจะไม่คม แต่มีการสั่นสะเทือนที่ปลายเครื่องมือ ใช้กระแทกให้หินปูนหลุดออกได้ เครื่องมือนี้จะต้องมีน้ำพ่นออกมาเพื่อลดความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของเครื่องมือ เป็นการป้องกันอันตรายที่เกิดกับฟัน
การขูดหินปูนจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บบ้าง เนื่องจากส่วนหนึ่งของหินปูนจะเกิดอยู่ ใต้เหงือก เมื่อสอดเครื่องมือลงไปก็อาจจะทำให้เจ็บเหงือกและเสียวฟันได้
ในบางคนที่มีหินปูนมาก ๆ และอยู่ลึกลงไปทางปลายรากฟันนั้น การที่จะขูดเอาหินปูนออกต้องใช้เครื่องมือและวิธีการพิเศษ ทันตแพทย์ก็จะฉีดยาชาให้ก่อนเพื่อลดความเจ็บปวดและการเสียวฟันที่จะเกิดขึ้น
หลังจากขูดหินปูนแล้ว บริเวณเหงือกอาจจะมีเลือดไหลซึมออกมาอยู่สักพักหนึ่ง ซึ่งจะหยุดไปได้เอง และใน 1 สัปดาห์เหงือกที่เคยอักเสบก็จะค่อย ๆ หายเป็นปกติ ในบางคนอาจมีเหงือกร่นหรือเกิดช่องว่างบริเวณซอกฟัน ซึ่งเดิมเหงือกที่อยู่ บริเวณนั้นจะดูเหมือนว่ามีอยู่เป็นปกติ เพราะมีหินปูนอยู่ข้างใต้และเหงือกก็บวมโต เมื่อรักษาโรคเหงือกแล้วเหงือกจะยุบลงกลับเป็นเหงือกที่แข็งแรงไม่มีการอักเสบ แต่เพราะกระดูกถูกทำลายไปทำให้เกิดเป็นช่องว่างและเหงือกร่น เห็นฟันยาวขึ้น เสียความสวยงาม และมีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันได้บ้าง
การขูดหินปูนนี้ทันตแพทย์แนะนำให้ทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ขึ้นกับการแปรงฟันของแต่ละคนว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าการแปรงฟันอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ฟันสะอาด และป้องกันการเกิดหินปูนได้ จะต้องใช้เส้นใยขัดฟันร่วมด้วย จึงต้องใช้อย่างน้อย วันละครั้งเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันซึงเป็นบริเวณที่ขนแปรงเข้าไปไม่ค่อยถึง
หินปูนนับเป็นศัตรูร้ายของช่องปาก จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิด และต้องขจัดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันโรคเหงือกอักเสบ ตลอดจนโรคปริทนต์ ก่อนที่จะต้องเสียฟันไปอย่างน่าเสียดาย
ทญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล
main |