มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2541 ]

การเคลือบฟัน

ทญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล


วิธีการป้องกันฟันผุที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดก็คือ การแปรงฟันให้สะอาด ปราศจากคราบอาหาร ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฟันผุดังคำที่ว่า รักฟันให้หมั่นแปรงนั่นเอง

การแปรงฟันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องรู้หลักการที่ถูกต้อง และฝึกความชำนาญจึงจะสามารถแปรงฟันได้สะอาดพอ

การเกิดฟันผุมักจะเกิดขึ้นบริเวณผิวฟันที่ไม่เรียบ เช่นบริเวณที่เป็นหลุม หรือร่องฟัน เนื่องจากร่องฟันนี้มักจะแคบจนขนแปรงสีฟันไม่สามารถแทรกเข้าไปทำความสะอาดได้ ฉะนั้นเมื่อมีเศษอาหารตกค้างอยู่ก็จะทำให้ฟันซี่นั้นผุได้

เด็กในช่วงระหว่าง 3-7 ปี จะเป็นระยะที่ฟันน้ำนมขึ้นทั้ง 20 ซี่ และเริ่มมีฟันกรามถาวร ขึ้นมาในช่องปากแล้ว แต่เป็นช่วงอายุที่เด็กยังไม่สามารถใช้มือทำอะไรได้คล่องแคล่ว จึงมักจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดพอ อีกทั้งฟันน้ำนมหรือฟันถาวรที่เพิ่งขึ้น นั้นมักจะมีหลุม หรือร่องฟันค่อนข้างลึก จึงเกิดฟันผุได้ง่าย จนทำให้ต้องสูญเสียฟันนั้นไปก่อนเวลา อันสมควร ฉะนั้นเพื่อช่วยป้องกันฟันผุ ทันตแพทย์จึงใช้วิธีการเคลือบฟันที่เรียกว่า ซีลแลนท์ (Sealant) ซึ่งมักจะทำบนด้านบดเคี้ยวของฟันกราม ทั้งฟันน้ำนมและฟันกรามถาวร

สารซีลแลนท์มีลักษณะเป็นของเหลว เมื่อนำมาทาเคลือบฟันแล้วจะแข็งตัวได้เอง โดยขบวนการทางเคมี หรืออาจเป็นชนิดที่แข็งตัวโดยการถูกฉายแสงสีฟ้า ในปัจจุบันสารเคลือบฟันนี้มีใช้อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดพลาสติกเรซิน และชนิดแก้วไอโอโนเมอร์ มีให้เลือกใช้ตามความพอใจของทันตแพทย์แต่ละคน คือมีทั้งชนิดสีขาวขุ่น และชนิดใส ซึ่งชนิดมีสีขาวขุ่น จะทึบแสงแลดูไม่ค่อยสวย และจะบังไม่ให้เห็นรอยผุใต้สารซีลแลนท์ที่อาจเกิดได้หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง ส่วนชนิดใส จะแลดูสวยงามกว่า แต่จะมองเห็นขอบเขตไม่ชัดเจน ยากที่จะตรวจสอบ หากทามากหรือหนาเกินไป

ก่อนทำการเคลือบฟัน ทันตแพทย์จะตรวจให้แน่ใจว่าฟันซี่นั้นไม่ผุอยู่ก่อนแล้ว จึงขัดฟันให้สะอาดด้วยผงขัดฟัน หลังจากล้างแล้วเป่าให้แห้ง แล้วจึงทากรด สำหรับกัดผิวฟัน ทิ้งไว้สักครู่ล้างออก จากนั้นใช้พู่กันทาสารซีลแลนท์ตรงบริเวณที่ต้องการ ให้วัสดุแข็งตัว ติดแน่นกับผิวฟัน

สารเคลือบหลุมและร่องฟันนี้มีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี แต่อาจสึกกร่อนหรือหลุด ออกไปก่อนเนื่องจากการเคี้ยว จึงควรให้ทันตแพทย์ตรวจเป็นระยะอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก 6 เดือน ถ้าพบว่าชำรุดไปก็สามารถทำใหม่ได้ หรือถ้าเกิดฟันผุขึ้นก็ต้องอุดฟัน ด้วยวัสดุอุดฟัน ที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตามการเคลือบฟันนี้ ก็ยังไม่สามารถป้องกันฟันผุได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จำเป็นที่เราจะต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี รับประทานอาหารที่ช่วยในการทำความสะอาดฟัน เช่น ฝรั่ง หรือสับปะรด เป็นต้น เพื่อให้ปลอดจากโรคฟันผุได้นอกจากการเคลือบฟันเพื่อป้องกันฟันผุแล้ว การเคลือบฟันยังช่วยในการป้องกันอาการเสียวฟันได้อีกด้วย

การแปรงฟันที่ผิดวิธี เช่น การใช้แปรงสีฟันทีแข็ง หรือแปรงฟันแรงเกินไป การแปรงไปมาตามแนวขอบเหงือก ก็จะทำให้เหงือกร่น ฟันสึกบริเวณใกล้ขอบเหงือก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้นมาได้ เนื่องจากโดยปกติผิวฟันชั้นนอกจะปิดทับเนื้อฟันชั้นเดนทีนเอาไว้ เมื่อหายไปเนื้อฟันซึ่งไวต่อความรู้สึกจะถูกเปิดออก เมื่อสัมผัสกับน้ำลาย อาหารเปรี้ยว หรือหวานจัดก็เกิดเสียวฟันขึ้นมาได้ โดยปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้ลดอาการเสียวฟันโดยการใช้ยาสีฟันเฉพาะที่มี ตัวยาลดการเสียวฟัน โดยต้องแปรงฟันให้สะอาดเพื่อตัวยาจะได้สัมผัสกับฟัน และออกฤทธิได้เต็มที่ ซึ่งต้องใช้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์

ถ้าฟันที่มีอาการเสียวนั้นมีการสึกเป็นร่องลึกด้วย ก็จะต้องอุดฟันบริเวณนั้นเสียก่อน แต่ในบางครั้งผู้ป่วยมีอาการเสียวฟันมากทันตแพทย์จำเป็นต้องบรรเทาอาการให้ก่อน โดยทายาเคลือบฟันให้ ยาเคลือบฟันนี้มีส่วนผสมของสารคลอเฮกซิดีน และสารอื่น นอกจากจะช่วยลดการเสียวฟันได้แล้วยังมีฤทธิในการยับยั้งการเจริญของเชื้อในช่องปาก ป้องกันการเกิดคราบอาหารเกาะติดฟันได้อีกด้วย

วิธีการเคลือบฟันในกรณีนี้ทำได้ง่าย โดยทันตแพทย์จะทายาที่ผิวฟัน ที่ได้ขัดทำความสะอาด ดีแล้ว หลังจากนั้นปล่อยให้แห้ง ประมาณ 15-30 วินาที แต่การทาเคลือบเพื่อลดอาการ เสียวฟันนี้จะได้ผลในระยะไม่นานนักเนื่องจากหลุดง่าย จำเป็นต้องทำซ้ำในกรณีที่ยังไม่ดีขึ้น จึงควรแก้ปัญหาด้วยการดูแลสุขภาพฟันให้ถูกต้องโดยการแปรงฟันให้สะอาด ถูกวิธี และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นประจำก็จะช่วยให้เรามีฟันและเหงือกที่แข็งแรง ไม่มีการเสียวฟัน และห่างไกลจากโรคฟันผุได้แน่นอน

ทญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1