พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ
"ลูก" คือ แก้วตา แก้วใจ สุดสวาทของพ่อแม่ ยามที่ลูกน้อยเจ็บไข้ได้ป่วย บุคคลที่เป็นทุกข์ใจมากที่สุด ก็คือ พ่อแม่นั่นเอง ถ้าลูกน้อยมีปัญหาทางผิวหนังเกิดขึ้นมา เป็นผื่นคัน ลุกลามใหญ่โต ทายาอย่างไรก็ไม่หายหรือมีปัญหาเกิดเป็นด่างเป็นดวงขึ้นมา ก็พลอยทำให้กังวลใจ คิดมากว่าจะเป็นโรคด่างขาวหรือไม่ บางคนลูกยังเป็นเด็กทารก ยังแบเบาะอยู่เลย สู้อุตส่าห์ดูแล ฟูมฟักเลี้ยงดูทะนุถนอมเป็นอย่างดี มดไม่ให้ไต่ เชื้อโรคไม่ให้ตอม พอได้เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม อ้าว ! เหตุไฉน ลูกฉันถึงมีผื่นแดง ที่ซอกขาหนีบกับก้นได้ ต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสารพันปัญหาของลูกสุดที่รัก ของท่านทั้งหลาย แต่ท่านไม่ต้องกังวลใจ มีหนทางแก้ไขได้ เราน่าจะลองมาทำความรู้จัก กับผื่น ผิวหนังอักเสบพุพอง ผื่นผ้าอ้อมและกลากน้ำนม กันดีกว่านะคะ ถ้าสงสัยอย่างไร หรือไม่แน่ใจ ก็ควรจะพาบุตรหลานของท่านมาปรึกษาแพทย์ เพื่อความสบายใจ ไร้กังวล
โรคผิวหนังอักเสบตุ่มพุพอง ติดเชื้อแบคทีเรีย (Impettigo)
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดพบบ่อยที่สุดคือ เบต้า ฮีโมไลติค สเตรปโตคอคคัส (group A, B-hemolytic streptococcus) รองลงมาคือ เชื้อสแตปไฟโลคอคคัส ออเรียส (staphylococcus aureus) ซึ่งเชื้อโรค 2 ชนิดนี้ จะก่อความวุ่นวายให้กับหนูน้อยดังนี้
ลักษณะผื่น
ระยะแรก จะมีผื่นสีแดง ต่อมาลุกลามกลายเป็นตุ่มน้ำพองออก จากนั้นกลายเป็นตุ่มหนอง บางครั้งตุ่มหนองนี้อาจมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจนมาก
ระยะต่อมา ตุ่มน้ำและตุ่มหนอง นี้ จะแตกออก และจะมีสะเก็ดเหลืองกรังคลุมอยู่ด้านบน (golden-yellow crust) ต่อมาเมื่อสะเก็ดหลุดลอกออกอาจทิ้งร่องรอยสีดำคล้ำขึ้นได้ ทำให้ผิวหนังสีไม่เสมอกัน
ใครเป็นกันบ้าง
ส่วนใหญ่เป็นกันในวัยเด็กเล็กถึงวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ พบทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ไม่พบในผู้ใหญ่
ตำแหน่งที่พบ
ส่วนใหญ่มักพบที่แขน ขา ใบหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มือของเด็กเกาได้ถึง
อาการที่พบ
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ทำให้เด็กต้องเกาบ่อย ซึ่งการเกา การแกะนี้จะทำให้เชื้อโรค ลุกลามไปติดบริเวณใหม่ที่เกาไว้ ทำให้ลุกลามไปได้ทั่วบริเวณใบหน้า แขน ขา
ข้อควรระวัง
จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่น่ากลัวอะไรมาก เพียงแต่สร้างความรำคาญใจให้กับพ่อแม่ และตัวหนูน้อย แต่ปัญหาที่สำคัญคือ โรคนี้อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้คือ โรคไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomeru lonephritis) แต่พบไม่บ่อย เพราะฉะนั้นอย่าพึ่งตกใจมากนะคะ
การรักษาและการป้องกัน
|
ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis)
เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก เกือบ ๆ จะเป็นของคู่กันกับเด็กทารก
สาเหตุของผื่นผ้าอ้อม
สาเหตุมักเกิดจากผิวหนังของเด็กทารกซึ่งบอบบางมาก สัมผัสอยู่กับปัสสาวะอุจจาระ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นผื่นแพ้ขึ้นมา
ตำแหน่งที่พบ
มักจะพบบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม บริเวณขาหนีบ ก้น ต้นขา
ลักษณะผื่น
เป็นผื่นสีแดงชัดเจน ลามออกมา ไม่มีตุ่มหนองหรือสะเก็ดลอก
ข้อสังเกต
จะพบเด็กทารกมักจะร้องให้กวนบ่อยกว่าปกติ ร้องกระจองอแง ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ค่อยสบายตัว ไม่สบายก้นนั่นเอง เนื่องจากมีผื่นแดงระคายเคืองอยู่
ปัญหาแทรกซ้อน
ถ้าเด็กทารกเป็นผื่นมานานมากกว่า 72 ชั่วโมง อาจจะพบเชื้อยีสต์แคนดิดา (Candida albicans) ร่วมด้วย
ข้อแนะนำ
ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และทาแป้งเด็กทำให้ผิวหนังบริเวณนี้แห้งไม่อับชื้น
การรักษา
ควรพามาพบปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าเป็นผื่นแพ้ผ้าอ้อมจริง แพทย์จะให้ใช้ยาทากลุ่ม
สเตียรอยด์อย่างอ่อนทา ผื่นแดงจะลดลง แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม ผื่นนี้เกิดจากเชื้อยีสต์แคนดิดา ถ้าใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ผื่นจะยิ่งลุกลามเป็นมากขึ้นกว่าเดิม จึงควรจะให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยดู จะดีกว่า ซื้อยามาทาเองนะคะ
โรคกลากน้ำนม (Pityriasis alba)
โรคนี้ชื่อว่า "กลากน้ำนม" แต่ความจริงไม่ใช่โรคกลากเกลื้อนที่เกิดจากเชื้อราใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่เกี่ยวกับน้ำนมหรือกินนมหก เลอะเทอะเรี่ยราดแต่อย่างใด โรคนี้เป็นภาวะที่ผิวหนัง ค่อนข้างจะไวต่อสายลม และแสงแดดและไม่เหมาะสมกับการว่ายน้ำ
ลักษณะผื่น
ลักษณะเป็นวงด่างขาว ขอบเขตไม่ชัดเจน อาจพบขุยลอกได้บ้างเล็กน้อย
ตำแหน่งที่พบ
ส่วนใหญ่พบที่บริเวณใบหน้า
ใครกันบ้างที่เป็นกลากน้ำนม
ส่วนใหญ่มักจะพบในวัยเด็ก ตั้งแต่อายุประมาณ 6-14 ปี พบทั้งในเด็กหญิงและเด็กชาย ในผู้ใหญ่พบได้บ้าง แต่น้อยกว่าในวัยเด็ก
อาการ
ไม่ค่อยมีอาการใด อาจคันได้บ้างแต่น้อย นอกจากนี้ โรคกลากน้ำนม ยังมักพบร่วมกับ โรคภูมิแพ้ผื่นคันในเด็ก (Atopic dermatitis) ได้บ่อยมาก
ข้อแนะนำ
|
วิธีการรักษา
|
พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ
main |