มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอังคารที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2541 ]

การทุจริตซ้ำซาก ในกระทรวงสาธารณสุข

โดย น.พ.สุวิทย์ วิบูลย์ประเสริฐ
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์


ข่าวการทุจริตเรื่องการสั่งการให้โรงพยาบาลต่าง ๆ จัดซื้อยาที่ไม่มีความจำเป็น ในราคาแพงลิบลิว จากบริษัท ที่ผู้ใหญ่กำหนด ที่กำลังฉ่าวโฉ่ในกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ สะท้อนปัญหาความพิการ ของระบบ การเมือง และบริหารราชการในกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะแม้บ้านเเมือง จะประสบ ปัญหาวิกฤต เศรษฐกิจ จนบอบช้ำถึงเพียงนี้ ก็ยังมีความพยายาม ที่จะแสวงหาผลประโยชน์ จากงบประมาณ ที่มีผลกระทบโดยต่อคนไข้ อย่างปราศจากความละอายเช่นนี้

ในภาวะที่ค่าเงินบาทตกต่ำ ทำให้ราคายาแพงขึ้น ในขณะที่ประชาชนทั้งตกงาน และถูกลดชั่วโมง การทำงาน จำนวนนับล้าน เมื่อยามเจ็บไข้ ต้องไปพึ่งพาโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่าย จากการไปของรับบริการ จากโรงพยาบาลเอกชนได้ การที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ให้แก่กระทรวง สาธารณสุข เป็นจำนวนถึง 2,700ล้านบาท จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และการที่กระทรวงสารธารณสุข ตัดสินใจใช้งบประมาณนี้ จำนวน 1,400 ล้านบาท เพื่อจัดการซื้อยา และเวชภัณฑ์ ก็เป็นการเหมาะสม

แต่การที่จะพยายามฉ้อฉลงบประมาณก้อนนี้โดยการกดดันให้มีการซื้อยาราคาแพงเช่นนี้ จะเป็นการ ซ้ำเติม ประชาชน ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้ประสบความเดือดร้อนมากขึ้น เพราะตามปกติ กระทรวงสาธารณสุข มีหลักเกณฑ์ ในการคิดราคายา จากคนไข้ โดยบวกสิบเปอร์เซ็นต์ จากราคาที่จัดซื้อ เมื่อโรงพยาบาล ต้องซื้อยาราคาแพง ประชาชนจึงต้องเป็นผู้แบกรับภาระ โดยเสียค่ายา ในราคา ที่แพงขึ้น เป็นเงาตามตัว

การทุจริตในรอบทศวรรษ

หากติดตามข่าวคราวในกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่า การทุจริต การจัดซื้อ เวชภัณฑ์ ในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำครั้งแรก แต่มีมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุด ในแง่ที่เป็น การกินเลือด กินเนื้อ จากคนไข้โดยตรง ที่รุนแรงที่สุด ในภาวะที่ประชาชน กำลังเดือดร้อนอย่างยื่ง

นอกจากข่าวการซื้อเครื่องชั่งในราคาเครื่องละ 15,000 บาท ทั้งที่ราคาท้องตลาดเพียง 4,900 บาท และเครื่องมืออื่น ๆ โดยกรมอนามัย แจกไปทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. 2536 ตามที่ น.พ.วีระพันธุ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองผู้อำนวย การฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผย เมื่อเร็ว ๆ นี้แล้ว การทุจริตในรอบทศวรรษนี้ เริ่มเป็นข่าวครึกโครม ในปี พ.ศ. 2536 เมื่อมีความพยายาม ของฝ่ายการเมือง บีบให้ฝ่ายข้าราชการประจำ จัดซื้อ สารกำจัดยุงลาย โดยผู้เสนอ ผลิตภัณฑ์ "ลาร์คอสต์" ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ ที่สามารถทำลาย ลูกน้ำยุงได้ แต่มีปัญหา 3 ประการ คือ 1. ไม่เหมาะสำหรับกำจัดยุงลาย 2. ต้องใช้ทุกสัปดาห์ ในขณะที่ สารเคมีที่ใช้อยู่เดิม ใช้ครั้งเดียว อยู่ได้ 3 เดือน และ 3. ราคาแพง ความพยายามครั้งนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะข้าราชการ ประจำ ระดับอธิบดี ยอมหักไม่ยอมงอ จนเกิดเป็นข่าวฉาวโฉ่ เมื่อมีการเปิดโปงเรื่องนี้ขึ้น ในสภาผู้แทนราษฎร โดยว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี และอธิบดี กรมควบคุมโรคติดต่อ ในขณะนั้นคือ น.พ.ประยูร กุนาศล ถูกคำสั่งย้ายจากอธิบดี ไปเป็น รองปลัดกระทรวง พร้อม ๆ กับเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คือ น.พ.มรกต กรเกษม ซึ่งถูกคำสั่งย้าย โดยอำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกัน เพราะไม่ยอมหาเงิน ให้ฝ่ายการเมือง ที่บอกว่า ต้องใช้เงินวันละสองแสน
หลังจากเรื่องนั้นก็มีข่าวทุจริตรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะเรื่องที่ถูกเปิดโปงเป็นข่าว ได้แก่

  1. ข่าวพยายามทุจริตในการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์โครงการแพทย์ทางไกลผ่านดาว เทียม ซึ่งมีการออกมาแฉโพยจนผู้แฉโพยถูกย้าย ลดตำแหน่ง
  2. ข่าวการทุจริตมนการก่อสร้าง โดยบุคคลที่ใกล้ชิดรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้มีการฮั้ว โครงการ ก่อสร้างต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ตึกคนไข้เดิมราคา 200 ล้าน แต่ต้องก่อสร้าง ในราคาถึง 360 ล้านบาท เป็นต้น
  3. ข่าวการทุจริตการจัดซ้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ ให้โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข ทั่วประเทศ โดยแทนที่ จะกระจายอำนาจ ให้จังหวัดจัดซื้อเอง ตามที่เคยปฏิบัติ กลับรวมอำนาจ จัดซื้อไว้ที่ส่วนกลาง
  4. ข่าวการทุจริตโครงการเงินกู้จากต่างประเทศโดยวิธีการคล้ายคลึงกับเรื่องเรือดำน้ำ จากบริษัท ค็อคคูมส์ ของประเทศสวีเดน ทำให้เกิดเหตุการประหลาดคือ โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้รับเครื่องมือ ที่ไม่มีความจำเป็น ไปกองทิ้งอยู่จำนวนมาก รถพยาบาล ที่โรงพยาบาลได้รับ เหมาะสำหรับ ขนศพ มากกว่า และรถพยาบาลอีกรุ่นหนึ่ง มีประตูเปิดอยู่ด้านขวา แทนที่จะเป็นด้านซ้าย
  5. ข่าวทุจริตการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และเครื่องชันสูตรโรค โดยความพยายาม ที่จะดึงงบประมาณ ที่จัดสรรให้จังหวัดจัดซื้อ กลับเข้ามาดำเนินการในส่วนกลาง จนสมาคมที่เกี่ยวข้อง ออกมาร้องเรียน คัดค้าน
  6. ข่าวความไม่ชอบมาพากลในการสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติ โดยการบีบบังคับ ดูดดึงเงินบำรุง ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงิน ที่เก็บมาจากคนไข้ แต่นำเงินนั้น มาตกแต่ง ด้วยจำนวนเงิน ที่แพงเกินเหตุ เช่น ต้นปาล์ม ราคาต้นละ 10,000 บาท
  7. ข่าวการซื้อขายตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ระบบการโยกย้ายแต่งตั้ง ไม่เป็นตาม ระบบคุณธรรม ถึงขั้น ดึงดันแต่งตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติ ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวง
ที่สำคัญคือ ความพยายามแต่งตั้งคนของตัว เข้าไปดำรงตำแหน่ง ที่ต้องรับผิดชอบ งบประมาณ จำนวนมาก เพื่อเอื้อเฟื่อให้การทุจริตทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
วิกฤตภาวะผู้นำ

น.พ.มรกต กรเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา และ น.พ.ประยูร กุนาศล อดีตอธิบดี กรมควบคุมโรคติดต่อ รวมทั้ง น.พ.ปัญญา สอนคม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดูจะเป็นผู้ใหญ่ 3 คนสุดท้าย ในกระทรวงสาธารณสุข ที่ยื่นหยัดต่อสู้ กับความไม่ถูกต้อง ในกระทรวงสาธารณสุข จนสองท่านแรก ถูกสั่งย้าย นับว่าเป็นโชคดี ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการต่อสู้ขัดขวาง จนคำสั่งย้ายนั้น เป็นหมัน แต่หลังจากสามท่านนี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ตกอยู่ในยุคมืดโดยสิ้นเชิง

ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ยอมศิโรราบให้แก่ผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล เพียงเพื่อรักษาเก้าอี้เอาไว้ให้ได้ โดยการยอมตาม หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือแม้กระทั่ง อำนวยความสะดวก ให้มีการทุจริตโดยราบรื่น ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ บางคน ถือโอกาสฉ้อฉลไปกับผู้มีอำนาจด้วย

หลังจากนั้นการทุจริตก็ทำมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงเรื่องการทุจริตงบประมาณซื้อเวชภัณฑ์ 1,400 ล้านบาท ครั้งนี้ และยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข

ทางออก

รัฐมนตรีสาธารณสุขได้ออกมายืนยันหลายครั้งว่า ไม่มีการทุจริตมนการจัดซื้อเวชภัณฑ์ ในครั้งนี้ โดยยืนยัน ทั้งต่อหน้าสภาผู้แทนฯ อันทรงเกียรติ และสาธารณชน ล่าสุดได้สั่งการ ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 12 เขตออกไปสอบหาข้อเท็จจริง

ปัญหาการทุจริตครั้งนี้ ต้นตอมาจากกลุ่มที่อยู่สูงกว่าผู้ตรวจราชการกระทรวง จะให้กลไกของผู้ตรวจราชการมาแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

การแต่งตั้งผู้ตรวจราชการจากสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เข้าเป็นกรรมการ ก็ไม่มีหลักฐานประกอบกันว่า จะสอบข้อเท็จจริงออกมาได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มีฝ่ายการเมือง พัวพันอยู่ ด้วยทั้งสิ้น ผู้ตรวจราชการ ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการประจำ จะมีใครกล้า เอากระพรวนไปผูกคอแมว

ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจริงใจ และบริสุทธิ์ใจจริง จะต้องคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง "คณะกรรมการศึกษา และเสนอแนะ มาตรการ เพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ ระบบการเงินของประเทศ" (ศปร.) โดยแต่งตั้ง บุคคลภายนอก ที่สาธารณชน ให้ความเชื่อถือ และไม่อยู่ในอำนาจ ของกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธาน ทำการสอบข้อเท็จจริงย้อนหลังไปรอบทศวรรษ

มีแต่หนทางนี้เท่านั้นจึงจะแสดงว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และคณะมีความบริสุทธิ์ใจจริง และตั้งใจที่จะแก้ปัญหาภายในกระทรวงอย่างจริงจัง

น.พ.สุวิทย์ วิบูลย์ประเสริฐ
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1